‘ILLIT’ สะท้อนเทรนด์ แค่คิดดี ชีวิตก็จะดี ผ่านเพลง ‘Lucky Girl Syndrome’

‘ILLIT’ สะท้อนเทรนด์ แค่คิดดี ชีวิตก็จะดี ผ่านเพลง ‘Lucky Girl Syndrome’

ทำความรู้จัก “Lucky Girl Syndrome” แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่า “เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน” ผ่านเพลงของ “ILLIT” เกิร์ลกรุ๊ปใหม่มาแรง เจ้าของสถิติชนะรายการเพลงเร็วที่สุดหลังจากเดบิวต์ของเจน 5 

KEY

POINTS

  • แนวคิด “Lucky Girl Syndrome” ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นชาวเจน Z ที่ว่า การมีทัศนคติที่ดีในชีวิตจะทำให้ในการใช้ชีวิตในแต่ละวันมีแต่เรื่องราวดี ๆ และสมหวัง นับเป็นการส่งเสริมการมองโลกในแง่ดีและเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้แนวคิด Lucky Girl Syndrome ทุกคนสามารถสร้างเป้าหมาย มีความหวัง หรือแม้พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องลงมือทำด้วย อย่ารอหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าทุกอย่างสำเร็จได้เพียงเพราะเราตั้งจิตอธิษฐาน หรือแค่เปลี่ยนวิธีคิด
  • สำหรับ “ILLIT” (ไอลิท) เกิร์ลกรุ๊ป K-POP น้องใหม่ เจ้าของเพลงฮิต “Magnetic” ที่สามารถขึ้นอันดับ 1 ชาร์ตเพลงเกาหลีแบบเรียลไทม์ของทุกชาร์ต และชนะถ้วยรางวัลรายการเพลง หลังจากเดบิวต์ได้เพียง 8 วันเท่านั้น นับเป็นศิลปินเจน 5 ที่คว้าถ้วยได้เร็วที่สุด 

25 มี.ค. 2567 “ILLIT” (ไอลิท) เกิร์ลกรุ๊ปวงแรกภายใต้สังกัด “BELIFT LAB” ได้เดบิวต์ด้วยมินิอัลบั้มแรก “SUPER REAL ME” สำหรับสมาชิกของ “ILLIT” มีทั้งสิ้น 5 คน ประกอบไปด้วย ยุนอา (Yunah) มินจู (Minju) โมกะ (Moka) วอนฮี (Wonhee) และ อิโรฮะ (Iroha) ซึ่งเป็นผู้ชนะจากรายการ “RU Next?” รายการเซอร์ไววัลหาศิลปินหน้าใหม่ โดยชื่อวงมาจากการผสมผสานคำว่า “I’ll” (ฉันจะ) และ “It” (มัน) มีความหมายว่า พวกเธอมีศักยภาพที่จะเป็นอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ ทั้งนี้ ILLIT นับเป็นเกิร์ลกรุ๊ปวงที่ 3 ของเครือ “HYBE Corporation

 

“ILLIT” ความเป็นธรรมชาติของหญิงสาว

ILLIT แตกต่างจากเกิร์ลกรุ๊ปอื่น ๆ ตรงที่พวกเธอมาในคอนเซ็ปต์ที่แสดงความจริงใจ แท้จริง (authenticity) และ ความเป็นธรรมชาติ (naturalness) โดยมินจูได้กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวของพวกเธอว่า “เราจะแสดงตัวตนที่แท้จริงของเราทั้งบนเวทีและหลังเวทีต่อไป” 

ขณะที่ยุนอากล่าวเสริมว่า “เรามุ่งมั่นที่ให้แฟน ๆ ได้สัมผัสกับความมั่นใจ ความแปลกใหม่ และมีชีวิตชีวาของพวกเรา และปล่อยผลงานเพลงที่หลากหลาย”

ในอัลบั้มเดบิวต์ของพวกเธอมีด้วยกันทั้งหมด 4 เพลง ได้แก่ “My World” เพลงป๊อปฟังสบาย ตามมาด้วย “Magnetic” เพลงฮิตติดหู “Midnight Fiction” เพลงฟังง่ายชวนโยก และ “Lucky Girl Syndrome” เพลงสดใสน่ารัก ซึ่งในอัลบั้มนี้ได้ บังชีฮยอก ผู้ก่อตั้ง HYBE มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพลงให้ด้วย และยังมีโปรดิวเซอร์รุ่นใหม่ของค่ายมาร่วมทำเพลงเพื่อนำเสนอภาพของเด็กสาววัยรุ่นที่กำลังมีความรักได้อย่างลงตัว

“ILLIT” (ไอลิท)

ด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส แนวเพลงที่ฟังง่ายและติดหู จึงทำให้เพลง “Magnetic” ซิงเกิลหลักของพวกเธอสามารถไต่ชาร์ตได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขึ้นอันดับ 1 ชาร์ตเพลงเกาหลีแบบเรียลไทม์ของทุกชาร์ต หรือที่เรียกว่า RAK (Real-Time All-Kill) ได้สำเร็จ อีกทั้งเพลงนี้ยังทำให้พวกเธอชนะถ้วยรางวัลรายการเพลง หลังจากเดบิวต์ได้เพียง 8 วันเท่านั้น นับเป็นศิลปินเจน 5 ที่คว้าถ้วยได้เร็วที่สุด และทำยอดขายอัลบั้มไปมากกว่า 420,000 ชุดแล้ว

นี่จึงเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของพวกเธอ ตามที่วอนฮีได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า อยากชนะรายการเพลงด้วยเพลง Magnetic “เพลงนี้เป็นเพลงเดบิวต์ของพวกเรา ฉันคงมีความสุขมากหากเราทำสำเร็จ” เป้าหมายต่อไปของพวกเธอคืออยากไปพบปะแฟนเพลงในต่างประเทศ และได้รับรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ซึ่งดูแล้วไม่ไกลเกินเอื้อม

 

 

“Lucky Girl Syndrome” แค่คิดดีก็จะมีแต่โชคดี

นอกจากเพลง Magnetic ที่ฮิตติดลมบนไปแล้ว อีกหนึ่งเพลงที่น่าจับตามอง คือเพลง “Lucky Girl Syndrome” เพลงน่ารักที่หยิบเอาแนวคิด Lucky Girl Syndrome ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นชาวเจน Z ที่ว่า การมีทัศนคติที่ดีในชีวิตจะทำให้ในการใช้ชีวิตในแต่ละวันมีแต่เรื่องราวดี ๆ และสมหวัง นับเป็นการส่งเสริมการมองโลกในแง่ดีและเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง

เหล่าวัยรุ่นต่างพากันแชร์สิ่งดี ๆ ที่เกิดเกิดขึ้น ผ่าน #LuckyGirlSyndrome บน TikTok จนมียอดเข้าชมมากกว่า 2,000 ล้านครั้ง จุดเริ่มต้นของกระแสดังกล่าวมาจากลอรา กาเลบ ครีเอเตอร์วัย 23 ปี ที่โพสต์เรื่องราวอัศจรรย์ในชีวิตของเธอ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

“ฉันพูดอยู่เสมอว่าสิ่งดี ๆ มักจะเกิดขึ้นกับฉันโดยไม่คาดคิดเสมอ แค่พยายามทำเข้าข้างตัวเองให้มากที่สุดและเชื่อว่าสิ่งที่คุณต้องการจะมาหาคุณ” กาเลบกล่าวในคลิประหว่างแต่งหน้า

สำหรับคนรุ่นเจน Z นี่ถือเป็นคำแนะนำที่เรียบง่ายที่สุดในการดำเนินชีวิต แต่ความจริงแล้ว แนวคิด Lucky Girl Syndrome ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “กฎแห่งการดึงดูด” (law of attraction) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ยุค 1800 โดยเชื่อว่าจิตของเรามีพลังมากพอที่จะดึงดูดสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิต ซึ่งถ้าเราคิดแต่เรื่องดี ๆ ชีวิตก็จะพานพบแต่สิ่งที่ดี และประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ถูกหักล้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียม แต่ว่าจะมีคำอธิบายอยู่บ้างว่าทำไมคนถึงยังเชื่อในทฤษฎีนี้ และยังกลับมาเป็นที่พูดถึงในชื่อใหม่ ๆ เสมอ

การฝึกมองโลกในแง่ดีช่วยให้เพิ่มภูมิคุ้มกันในจิตใจและมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับการสร้างเป้าหมายและคอยย้ำเตือนอยู่เสมอเพื่อปลุกความสงบหรือความมั่นใจ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะที่ “การพูดคุยกับตัวเอง” (self-talk) จะช่วยให้เข้าใจตนเองมากขึ้น และจะช่วยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้

บางคนเชื่อว่าการเปลี่ยนความคิดช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ เพราะมันสอดคล้องกับประสบการณ์เชิงบวกที่พวกเขาสังเกตเห็นในแต่ละวัน คริสโตเฟอร์ ชาบริส นักประชานศาสตร์ กล่าวว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากอคติทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า “สหสัมพันธ์ลวง” (illusory correlation) ซึ่งเรามักจะเชื่อมเหตุการณ์หรือสถานการณ์สองอย่างเข้าด้วยกัน คิดว่ามันจะต้องเกี่ยวข้องกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเพียงเรื่องบังเอิญเท่านั้น ดังนั้นการที่เราย้ำเตือนตัวเองบ่อย ๆ หรือภาวนาให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น แล้วมันเกิดขึ้นจริง จึงถือว่าเป็นสหสัมพันธ์ลวงด้วยเช่นกัน

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น แนวคิด Lucky Girl Syndrome ยังคงมีประโยชน์ในบางสถานการณ์ และเป็น “แสงนำทางแห่งชีวิต” ได้ในระยะสั้น ๆ โดยมาร์ก แมนสัน นักเขียนหนังสือแนวพัฒนาตนเอง กล่าวว่า “ในวันนี้การคิดแบบนี้อาจจะช่วยคุณรู้สึกดี แต่ในระยะยาว ผมว่ามันไม่ช่วยใครเลย เพราะว่ามันคือกฎแห่งการดึงดูดเวอร์ชันหวาน ๆ ต้องระวังให้ดี เพราะมันมีเส้นบาง ๆ ระหว่างการใช้มันเป็นตัวช่วยให้เราสบายใจ หรือจะเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง เป็นการค้นพบความลับแห่งจักรวาล”

 

อย่ามัวแต่ฝันกลางวัน ต้องลงมือทำด้วย

แรงบันดาลใจและฝันกลางวันของผู้คนสะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการจากชีวิต กาเบรียล เอิททิงเกน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า การฝันถึงเป้าหมายและอนาคตสามารถสร้างแรงกระตุ้น และทำให้เราพึงพอใจได้แค่ชั่วขณะหนึ่ง แต่จินตนาการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายในท้ายที่สุด

ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาชาย 83 คนในเยอรมนีถูกขอให้ทำนายความเป็นไปได้ที่จะได้งานในสาขาวิชาที่ตนเรียน และดูว่าพวกเขาจะฝันกลางวันถึงเกี่ยวกับงานที่พวกเขาต้องการหรือไม่  เอิททิงเกนพบว่านักเรียนชอบเพ้อฝันจะส่งใบสมัครงานน้อยลง ทำได้รับการเสนองานน้อยลง และมีรายได้น้อยกว่านักเรียนคนอื่น ๆ ในสองปีต่อมา

“จินตนาการเชิงบวกและฝันกลางวันเป็นเรื่องปกติสำหรับการปิดบังอารมณ์ปัจจุบันของเรา แต่มันจะเป็นปัญหา หากเราคาดหวังว่าเราจะสมหวังโดยเราไม่ต้องทำอะไรเลย และในขณะเดียวกันวิธีคิดแบบนี้จะคอยกัดกินเรา และทำให้โอกาสในการทำให้ฝันเป็นจริงน้อยลงไปทุกที” 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้แนวคิด Lucky Girl Syndrome ทุกคนสามารถสร้างเป้าหมาย มีความหวัง หรือแม้พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องลงมือทำด้วย อย่ารอหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าทุกอย่างสำเร็จได้เพียงเพราะเราตั้งจิตอธิษฐาน หรือแค่เปลี่ยนวิธีคิด


ที่มา: Korea Joongang DailyKorea TimesThe ConversationVoxWashington Post

“ILLIT” (ไอลิท)