ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง 'ละครเวที' ‘ลำนำชีวิต’

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง 'ละครเวที' ‘ลำนำชีวิต’

ในวาระ 150 ปี ชาตกาล 'มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี' จัดแสดง 'ละครเวที' เรื่อง ลำนำชีวิต กว่าจะมาเป็นละครเวทีร่วมสมัย ทายาทรุ่นหลาน 'ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ' บอกเล่าเบื้องหลังและความเป็นมา

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษามระ เป็นหลานตาของ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ ‘ครูเทพ’ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้อยู่เบื้องหลังของการทำ ละครเวทีร่วมสมัย เรื่อง ลำนำชีวิต

จุดเริ่มต้นของละครเวที มาจากแรงบันดาลใจและผลงานอันมากมายหลากหลายของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นำมากลั่นกรอง และตกผลึกเป็น ละครเวที 3 ตอน เป็นละครพูดที่มีบทเพลงประกอบ ประพันธ์โดย สินนภา สารสาส กำกับโดย นิกร แซ่ตั้ง

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’     เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (Cr.photo: Dae Warunee)

“เนื่องในโอกาสครบ 150 ปี ชาติกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ในปี พ.ศ.2569 บรรดาลูกหลานวางแผนจะจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง ท่านเขียนตำราและบทความด้านการเรียนการสอนมากมาย ลูกหลานเลยคิดว่าอีกสองปีจะครบ 150 ปี ชาติกาล ควรจัดกิจกรรมที่ช่วยให้คนรู้จักเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ ครูเทพ มากขึ้น” ศ.ดร.นทีทิพย์ หรืออาจารย์จุ๊บเล่า

“ตัวดิฉันเป็นหลานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แต่เกิดไม่ทันท่าน คุณแม่เป็นหนึ่งในบุตรสาวของท่าน

ครูเทพ เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาสมัยใหม่ สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทุนไปศึกษาด้านการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ กลับมาเมืองไทยได้เป็นเจ้ากระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’    ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ (Cr.photo: Dae Warunee)

ปัจจุบันตำรับตำราที่ ‘ครูเทพ’ เขียนไว้ ทั้งด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ ความรู้รอบตัว จรรยาบรรณ จริยธรรม ฯลฯ มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ยังนำมาตีพิมพ์เพื่อแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ จากเหนือจรดใต้

นอกจากผลงานด้านการศึกษา ท่านยังเขียนบทละครสั้น ๆ เป็นละครพูด ภายในซ่อนไว้ด้วยวิสัยทัศน์ ท่านมีความคิดสมัยใหม่ด้านการศึกษามาก เช่น เน้นให้ผู้หญิงได้เข้าเรียน ออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับประถมศึกษา ให้ทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยต้องเรียนหนังสือ เข้าเรียนอายุ 7 ขวบ

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’      ซ้อมการแสดง

และก่อตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษา ที่จริงการส่งเสริมด้านการศึกษาเป็นความคิดของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 อยู่แล้ว คุณตาท่านเป็นผู้สานต่อ

ด้านการละคร ละครของท่านก็จะนำเสนอเกี่ยวกับผู้หญิง เพราะคุณพ่อท่านเป็นพระยา (พระยาไชยสุรินทร์ - ม.ล.เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) แต่คุณพ่อเสียตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จึงต้องช่วยคุณแม่ทำงานหลายอย่าง ทำสวน ค้าขาย เย็บผ้าก็จะช่วยเย็บรังดุม

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’

   ละครเวที "ลำนำชีวิต"

ท่านมีความรักคุณแม่มากได้เขียนบทกลอนเกี่ยวกับผู้หญิงไว้มากมาย มูลนิธิฯ เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นละครเวที ส่วนตัวดิฉันเป็นนักวิทยาศาสตร์ ได้รู้จัก คุณนิกร แซ่ตั้ง และเคยไปดูละครของคุณนิกร คิดว่านี่คือสไตล์ละครของคุณตา ถ้าเป็นสมัยนี้เรียกว่า ละครเวทีร่วมสมัย เป็น Contemporary เป็นละครที่มีบทพูด และมีเนื้อหาที่จะฝากคนดูให้คิด อาจยกปัญหาบางอย่างในสังคมและไม่บอกว่าคำตอบคืออะไร ให้คนดูไปคิดต่อเอง”

หลังจากผู้กำกับละคร ศึกษาประวัติและผลงานของ ‘ครูเทพ’ ก็เห็นพ้องต้องกันว่าต้องเป็นละครเวทีร่วมสมัย 3 ตอน

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’     ซ้อมการแสดง

“มูลนิธิฯ ตัดสินใจว่าจะทำละครในปี 2567 เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และวิสัยทัศน์ของท่าน พอถึงวันที่จัดเฉลิมฉลองปี 2569 ก็ไม่ต้องอธิบายมากว่าท่านคือใคร

อีกอย่างศิลปิน ผู้กำกับ นักแสดง คอสตูม อ่านบทแล้วอยากทำมาก หลังจากเราปรึกษากัน มาดูรูปเก่า ๆ ที่คุณแม่เก็บไว้ หนังสือที่ครูเทพเขียน คุณนิกร บอกว่าจะไม่ขอทำเรื่องประวัติของท่านนะ เราก็บอกว่าใช่เลย ไม่ต้องการให้ทำละครเรื่องชีวประวัติ

ลองนึกภาพว่าถ้าใครทำละครเกี่ยวกับชีวประวัติแล้วคนไม่ค่อยรู้จักก็จะไม่มีคนดู ด้วยละครเวทีคนดูน้อยอยู่แล้ว ยิ่งร่วมสมัยยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ ในต่างประเทศก็นับว่าน้อย เพราะคนส่วนใหญ่ชอบดูละครแนวมิวสิคัล หรือละครที่สร้างจากนิยายดัง ๆ”

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’    ลำนำชีวิต

ละครเวทีร่วมสมัย จึงจัดอยู่ในหมวดคนดูกลุ่มเล็ก ๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ท้าทายยิ่ง

“เราเชื่อในฝีมือของคุณนิกร ละคร ลำนำชีวิต หรือ Ballad of Life คือการเอาหลายอย่างมารวมกันเป็น 3 ส่วนชีวิต เป็น 3 ตอนเล่นไม่มีหยุดพัก ผู้กำกับบอกว่าบทละครได้มาจากวิสัยทัศน์ของครูเทพ

เช่นยกย่องผู้หญิง คิดว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ มีความคิด ความเก่งในตัวเอง จากชีวิตจริงของคุณตา ท่านจะผลักดันลูกสาวทุกคนให้เรียนจบมหาวิทยาลัย ในสมัยนั้นคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งพระราชบัญญัติด้านการศึกษา ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าเรียนตั้งแต่ 7 ขวบ วางรากฐานการเรียนด้านอาชีวะศึกษา รวมถึงก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เพื่อให้คนเรียนจบระดับต่าง ๆ ได้ทำงานร่วมกัน

ก่อนเข้าชมละครมี วิดีโอและนิทรรศการเกี่ยวกับโคลงกลอนของท่านให้ชม ระหว่างรอชมละครบริเวณโถงใหญ่จะเปิดชีวประวัติฉายวนไปทั้งสองด้าน มีรูปของท่าน บทกลอน คติของท่าน พอไปดูละครแล้วจะเข้าใจยิ่งขึ้น”

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’     ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ

เนื้อหาลำนำชีวิต 3 ตอน (แบบไม่สปอยล์ โดย ศ.ดร.นทีทิพย์ )

“ตอน 1 ตัวละคร (Role) : ผู้กำกับ “อิน” มากกับบทกลอนชื่อ รามรันทด ในหนังสือ โคลงกลอนครูเทพ เล่าถึงพระรามในแง่มุมที่ต่างออกไป เป็นความรู้สึกในใจของพระราม ตอนช่วยนางสีดากลับจากกรุงลงกา พวกข้าราชบริพาร ประชาชน ครหาว่านางสีดาไม่บริสุทธิ์ ไปอยู่เมืองยักษ์มาตั้งนาน แต่นางสีดาบอกว่าบริสุทธิ์ พระรามก็เชื่อ แต่เมื่อเป็นกษัตริย์ก็ต้องพิสูจน์โดยให้นางสีดาลุยไฟ แม้พิสูจน์แล้วประชาชนก็ยังไม่เชื่อ จนท้ายสุดต้องประหารชีวิต แต่ในเรื่องจริง ๆ ให้เนรเทศไปในป่าไม่ให้คนรู้ ภายหลังถึงเชิญกลับมา แต่นั่นคือความรันทด ความเศร้าของพระรามที่สวมหัวโขน

ตอนแรกเหมือนกับว่าผู้แสดงละครกำลังถกเถียงกันว่าจะซ้อมละครกันดีมั้ย คนหนึ่งรับบทพระราม แล้วก็มีแม่ กับผู้ช่วยผู้กำกับ สามคนตีความว่าเรื่องราวควรเป็นยังไง ซ้อมแบบไหน เหมือนละครซ้อนละคร

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’ ตอน 2 วิชาชีวิต (Wisdom) : แม่ลูก 4 คู่ พูดถึงการศึกษา เช่น ลูกจะเรียนต่อก็จะมีแม่ประเภทที่รู้ดีว่าลูกจะเรียนอะไร แม่อีกคนบอกลูกอยากเรียนอะไรแม่จะส่งให้เรียนสูง ๆ หรือลูกอีกคนบอกว่า เด็กต้องคิดเอง มีอิสรภาพ อยากเป็นยูทูบเบอร์ ตกลงแล้วพ่อแม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการศึกษาลูกแค่ไหน ให้เขาคิดเอง แล้วเขาจะคิดได้ทะลุมั้ย จะเป็นปัญหามั้ย

จะสนุกไปอีกแบบหนึ่ง เป็นตอนที่กล่าวถึงกระแสความคิดของคนที่ตั้งคำถามต่อโครงสร้างการศึกษา ปริญญาสำคัญแค่ไหน

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’     โคลงกลอนของครูเทพ

ตอน 3 รอยมนุษย์ (Legacy): เราจะทิ้งอะไรไว้ข้างหลัง เป็นละครที่เรียกว่า Physical Theater การแสดงด้วยอากัปกิริยา คุณนิกรได้ไปเรียนจากฝรั่งเศส จะค่อนข้างแอ็บสแตร็คท์ มีภาพบรรยากาศและการแสดงความรู้สึก ในที่สุดคนดูจะคิดว่า ตกลงเราจะทิ้งอะไรไว้ให้คนข้างหลังมั้ย

ผู้กำกับได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของครูเทพว่า ท่านทิ้งผลงานไว้ให้คนรุ่นหลังเยอะเหลือเกิน ทั้งการศึกษา ละคร คำประพันธ์ เด็กรุ่นใหม่จะคิดถึงอะไร ยุคนี้เช่าคอนโด ไม่ซื้อบ้านแล้วเพราะแพง ดูแลไม่ไหว หรือผลงานก็ไปอยู่ในคลาวด์หมดแล้ว”

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ทายาทเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ทิ้งท้ายว่า

“ละครไม่ซีเรียส จะมีตลก หัวเราะบ้าง ขณะเดียวกันมีความสะใจ เมื่อเจอตัวละคร บทละคร ซึ่งจะมาชนใจเรา แล้วแต่ว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ด้านไหนมา มีเสียดสีสังคมนิดหน่อย เรื่องผู้ชายมองผู้หญิง ผู้หญิงมองผู้หญิง การศึกษา แม่ลูก คนรุ่นใหม่จะฟังเราแค่ไหน บางตอนมีท่าร่ายรำ ประกอบเสียงดนตรี

         พระรามรันทด เชื่อว่าจะต้องมีคนน้ำตาหยดแน่ ๆ...”

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’    ระหว่างซ้อมการแสดง

เปิดใจผู้กำกับละคร นิกร แซ่ตั้ง

“เป็นละครที่ไม่ได้เล่าชีวประวัติของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แต่นำเสนอผลงานของท่านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต เลือกผลงานที่เด่น ๆ มา เช่น การศึกษา บทกลอน มุมมองสิทธิสตรี เรื่องกีฬา

จุดที่ยากคือต้องสังเคราะห์จากผลงานที่มากมายของท่าน ออกมาเป็นบทละครเวที ทำให้เป็นเรื่องราว เป็นเหตุการณ์ย่อย ๆ หลายอัน ให้ดูแล้วเข้าใจ

ตั้งใจให้เป็นละครเวทีร่วมสมัยที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทย มีพาร์ทรำไทยอยู่ จากบทกลอนที่ท่านเขียนถึงเหตุการณ์ตอนพระรามรบชนะกลับมา หลังจากสีดาลุยไฟแล้ว ท่านมาเขียนกลอนเพิ่มบอกถึงความในใจของพระราม ซึ่งเป็นมุมมองที่ร่วมสมัยมาก

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’

ละครลำนำชีวิต แบ่งเป็น 3 ตอน ดูแล้วไม่ซีเรียส ความซีเรียสมีบ้างเช่น มีความคาดหวังของตัวละครต่อตัวละคร ซึ่งตรงกับสมัยปัจจุบัน ทุกวันนี้พ่อแม่ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และมีพาร์ทที่สะท้อนสังคมเชิงเสียดสีนิดหน่อย มีลูกเล่นบ้าง เพราะโดยธรรมชาติของ คณะละคร 8x8 จะเชื่อมโยงบริบทกับชีวิต เป็นการตั้งคำถามมากกว่า แต่ไม่กดดันคนดู ไม่ใช่ละครแบบดราม่าจัด ๆ ไม่มีทางออก

นักแสดงมีทั้งนักแสดงละครเวทีที่เคยทำงานร่วมกัน 6 คน กับอีก 2 คนเปิดออดิชั่น ให้เด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบหรือที่ยังเรียนอยู่มาสมัคร คนหนึ่งรำได้ อีกคนเป็นนักแสดงที่จบเอกการละคร ผ่านการคัดเลือกมาเป็นน้องใหม่ 2 คน

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’    ระหว่างซ้อมการแสดง

อยากให้คนมาดูละครเวทีมากขึ้น ถามว่าทำไมคนดูละครเวทีน้อย อันดับแรกคนไม่รู้ข่าว การรับรู้สื่อของคนเปลี่ยนไป ข่าวด้านศิลปวัฒนธรรมลดน้อยลง จะนำเสนอแต่ข่าวบันเทิงและแนวซุบซิบมากกว่า

ถัดมาคือรัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนสำหรับการแสดงสดอย่างละครเวที ทุกวันนี้ที่เปิดการแสดงเป็นของเอกชน หรือเป็นอิสระดำเนินด้วยตัวเอง โรงละครขนาดเล็กมีไม่มาก เพราะฉะนั้นที่จะให้ซ้อม ให้สร้างสรรค์ก็ไม่มี พอมีน้อยคนดูก็ไม่รู้ว่าจะไปดูที่ไหน

มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ทำละครเวทีเพื่อสนับสนุนศิลปิน ให้ทุนทำ ขายบัตรราคาถูก เชิญนักเรียนมาดู ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในอีกรูปแบบหนึ่ง ผมมองว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เป็นการสนับสนุนเพื่อประโยชน์ของศิลปะ”

ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เล่าเบื้องหลัง \'ละครเวที\' ‘ลำนำชีวิต’ ละครเวทีร่วมสมัยในรูปแบบละครพูดผสมการแสดงแบบภาษากาย (Physical Theatre) เรื่อง ลำนำชีวิต (Ballad of Life)

เขียนบทและกำกับ : นิกร แซ่ตั้ง จากคณะละคร 8x8 (Theatre8x8)

ผลงานที่ผ่านมา : ไร้พำนัก, ใจยักษ์, เมาท์, พระเจ้าเซ็ง, สามสาวทราม ทราม, กรุงเทพน่ารักน่าชัง, ทารกจกเปรต ฯลฯ

แนวละคร : ละครสั้น 3 ตอนต่อกัน ความยาว 60 นาที ชวนให้นึกถึงความเปลี่ยนแปลงจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่ กระเทาะเปลือกของความเป็นมนุษย์ ผ่านสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

นักแสดง : ดวงใจ หิรัญศรี, สุชาวดี เพชรพนมพร, สุมณฑา สงวนผลรัตน์, ตรึงตรา โฆษิตชัยมงคล, ศักดิ์ชาย เกียรติปัญญาโอภาส, วิภู บุนนาค, ณัฐวุฒิ เมืองมูล

ประพันธ์ดนตรี : สินนภา สารสาส

สถานที่ : ศูนย์ศิลปะการละครสดใส พันธุมโกมล ชั้น 6 อาคารจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รอบการแสดง : วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 เวลา 19.30 น. / วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 19.30 น. / วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. และ 19.30 น.

ราคาบัตร : บุคคลทั่วไป 500 บาท / นักเรียน, นักศึกษา 350 บาท จองบัตรที่

https://www.ticketmelon.com/ballad-of-life/theatre8x8 สอบถามเพิ่มเติมอีเมล: [email protected]