ไป 'เกาหลีใต้' อย่าเพิ่งตกใจ! หากโดนบวกเพิ่มค่ากาแฟ 300 วอน
เมื่อซื้อกาแฟแบบเทค-เอ้าท์แล้วจ่ายค่ามัดจำ 300 วอน หรือราว 7 บาท จะเป็นแรงจูงใจมากน้อยขนาดไหนให้ลูกค้าคืนแก้วกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อรับเงินค่ามัดจำคืน ยังเป็นคำถามคาใจในเกาหลีใต้
ภาวะบูม ๆ ของตลาดธุรกิจกาแฟใน 'เกาหลีใต้' ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คาเฟ่ร้านรวงกาแฟที่เปิดตัวกันอย่างคึกคัก ถือว่ามีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยับเดินไปข้างหน้าได้ไม่น้อย แต่ในด้าน 'สว่าง' ย่อมมีด้าน 'มืด' เป็นของคู่กัน อัตราการบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ปัญหา 'ขยะพลาสติก' ในระดับวิกฤติ เป็นขยะที่เกิดจากแก้วใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทั้งในแบบพลาสติกและกระดาษ
หลายปีมาแล้วที่รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นทุกที โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บรรดา 'ร้านกาแฟ' และ 'ร้านฟาสต์ฟู้ด' ที่ขายเครื่องดื่มกาแฟ หันไปใช้แก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (disposable cup) เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อไวรัสมหาภัย
หนึ่งในแนวทางบริหารจัดการขยะล่าสุดของกระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ที่มีรมว.หญิงชื่อว่า 'ฮัน วา-จิน' คือ นำ 'ระบบรับเงินมัดจำ' (deposit refund system) มาใช้ อันเป็นวิธีการจูงใจให้ผู้บริโภคนำแก้วที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งกลับมาคืนให้กับร้าน เพื่อจัดการนำแก้วพลาสติกไปล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ก่อนนำกลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง แต่เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีนำแก้วมาส่งคืนที่ร้าน จึงมีการเก็บ 'ค่ามัดจำ' เพิ่มเติมจากราคาเครื่องดื่มตามปกติ ซึ่งก็อย่าเพิ่งตกใจไปครับ เพราะจะได้ค่ามัดจำคืนต่อเมื่อนำแก้วไปคืนที่ร้านค้า
ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง เกาหลีใต้ประกาศนำร่องใช้ระบบดังกล่าวในร้านกาแฟและร้านฟาสต์ฟู้ดของ 2 พื้นที่ก่อน หนึ่งนั้นคือ 'เกาะเชจู' แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติชั้นนำของประเทศ สองคือ 'เมืองเซจง' หรือนครปกครองตนเองพิเศษ ทางร้านค้าเหล่านี้เริ่มก็บค่ามัดจำแก้วจากลูกค้า 300 วอน หรือราว 7.7 บาทไทย เพิ่มจากราคาเครื่องดื่ม
เช่น หากซื้อกาแฟแก้วละ 3,000 วอน เฉพาะที่สั่งเป็นแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งเท่านั้น ก็โดนบวกค่ามัดจำ 300 วอน ลูกค้าก็ต้องจายเงินค่าเครื่องดื่มเพิ่มเป็น 3,300 วอน และเมื่อนำแก้วกาแฟมาคืนที่ก็สามารถทำได้ในทุกร้านของแบรนด์นั้น ๆ (ซื้อจากแบรนด์นี้แล้วเอาไปคืนอีกแบรนด์ยังทำไม่ได้นะครับ) ทางร้านก็จะคืนค่ามัดจำให้ครบจำนวนตามระเบียบ แต่ถ้าไม่นำมาคืน ก็ถือว่าทางร้านได้ประโยชน์ส่วนนี้ไป
ปริมาณการใช้แก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้นชัดเจน ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 (ภาพ : Ron Lach//pexels.com)
จริง ๆ แล้ว ระบบรับเงินมัดจำนี้ไม่ใช่ 'ของใหม่' ถอดด้ามแต่อย่างใด มีการนำมาใช้กันแล้วในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในยุโรป บางประเทศก็กำลังคิดแต่ยังไม่นำมาใช้สักที ที่เกาหลีใต้เองก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่นำระบบนี้มาใช้
จะว่าไป แดนกิมจินี่แหละเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มนำระบบรับเงินค่ามัดจำมาใช้ตั้งแต่ปีค.ศ. 2002 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีการนำแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งมาคืนในอัตราไม่ถึง 50% เลยยกเลิกไปในอีก 6 ปีต่อมา ตอนนั้น มีการเก็บค่ามัดจำแก้วในอัตรา 50-100 วอน
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการ 'บริโภคกาแฟ' สูงมากทีเดียว เฉลี่ยต่อปีตกในราว 400 แก้วต่อคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ ๆ 3 เท่า ส่วนร้านกาแฟก็ขยายตัวรวดเร็วในทุกเซกเมนต์ ตอนนี้ทั่วประเทศมีจำนวนร้านเฉียด ๆ 100,000 แห่งเข้าไปแล้ว ไม่แปลกใจเลยที่แม้จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 และปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลกในปีค.ศ. 2021 แต่ยอดนำเข้ากาแฟของเกาหลีใต้ในปีนั้นกลับพุ่งขึ้นทะลุหลัก 1 ล้านล้านวอน (7,700 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นเกือบ 25% จากปีก่อนนั้น
ระบบรับเงินมัดจำค่าแก้วใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนั้น มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากในช่วงไวรัสโควิดระบาด เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั้งระบบ หลังปริมาณการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารและเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้นสูงมาก ส่งผลให้ระดับการผลิตขยะทั่วประเทศขยับขึ้นเป็นเฉลี่ย 55,000 ตันต่อวันเข้าไปแล้ว
จำนวนขยะพลาสติกในระดับวิกฤติ ส่งผลให้เกาหลีใต้ปัดฝุ่นระบบรับเงินมัดจำแก้วกาแฟแบบเทค-เอ้าท์มาใช้อีกครั้ง (ภาพ : Jas Min on Unsplash)
ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ระบุว่า นับแต่เกิดวิกฤติโควิดเป็นต้นมา จำนวนแก้วเครื่องดื่มที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทั้งแบบพลาสติกและกระดาษ ในเชนกาแฟ 14 แห่ง และร้านอาหารจานด่วน 4 แบรนด์ มียอดการใช้เพิ่มขึ้น 30% ทำสถิติพุ่งผ่านหลัก 1,000 ล้านแก้วต่อปีเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 2021 ส่วนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขยืนอยู่ที่ 4,340 ล้านแก้ว
จำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้รื้อฟื้นเอาระบบรับเงินมัดจำกลับมา 'ปัดฝุ่น' ใช้อีกครั้งนั่นแหละ คราวนี้ตั้งเป้าขอตัวเลขการคืนแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งในอัตรา 90% จัดว่าเป็นการตั้งเป้าที่สูงทีเดียว
มาตรการที่นำมาใช้ครอบคลุมร้านกาแฟและร้านอาหารจานด่วนบนเกาะเชจูและเมืองเซจง ทั้งสิ้น 532 แห่ง จาก 51 แฟรนไชส์ แน่นอนว่าในจำนวนนี้รวมไปถึงแบรนด์ดังอย่าง'สตาร์บัคส์'และ'แมคโดนัลด์' ด้วย หากว่าประสบผลสำเร็จ เชื่อว่าคงมีการขยับออกไปใช้ตามเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นย่านธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยว เช่น โซล, ปูซาน, อินช็อน และแทกู ก่อนขยายมาตรการนี้ไปทั่วประเทศแบบเดินหน้าเต็มสูบ
ส่วนวิธีได้รับเงินคืนของลูกค้าหลังจ่ายเงินค่ามัดจำแก้วตามระบบนั้น ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะในแก้วใช้แล้วทิ้งแบบเทค-เอ้าท์ทุกประเภท จะมี 'บาร์โค้ด' ติดอยู่ ลูกค้าก็เพียงแต่นำแก้วไปคืนที่แคชเชียร์ ซึ่งก็จะสแกนบาร์โค้ดและคืนค่ามัดจำเป็นเงินสด แต่หากต้องการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยดาวน์โหลดและลงทะเบียนเปิดบัญชีผ่านแอพลิเคชั่นชื่อ 'Resource Recirculation Deposit' ของค่ายคอสโม
ฮัน วา-จิน รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานีทำความสะอาดแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง บนเกาะเชจู เมื่อปลายปีที่แล้ว พร้อมโชว์ดื่มน้ำจากแก้วในระบบดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจ (ภาพ : eng.me.go.kr)
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตรัฐบาลมีแผนเปิดจุดรับเงินมัดจำอีกกว่า 30 จุดในเมืองเซยง เพื่อให้ลูกค้าสามารถคืนแก้วนอกร้านได้ เช่น ที่ศูนย์ราชการ, ศาลากลาง, ชุมชนต่าง ๆ และที่จอดรถสาธารณะ ส่วนในเชจู จะมีการเพิ่มจุดรับเงินมัดจำอีกอย่างน้อย 40 แห่ง เช่น อาคารผู้โดยสารสนามบิน, ท่าเรือ, ลานจอดรถเช่า และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ
นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลโสมขาวยังมีแผนติดตั้งเครื่องรับคืนแก้วซิงเกิ้ล-ยูส และคืนเงินค่ามัดจำแบบอัตโนมัติ ตามร้านที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
จริง ๆ แล้ว มาตรการเก็บเงินค่ามัดจำแก้วต้องนำมาใช้กันตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่มีเหตุจำเป็นให้เลื่อนออกไปเป็นปลายปี เพราะมี 'เสียงคัดค้าน' มาจากเจ้าของร้านจำนวนหนึ่ง ที่ต่างพร้อมใจกันออกมาบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ระบบรับเงินมัดจำทำให้ร้านมีต้นทุนและปริมาณงานเพิ่มขึ้น
ไหนจะต้องหาคนมาจัดเก็บ, ล้างทำความสะอาดเบื้องต้น และขนส่งแก้วคืน เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลและทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามโครงการ ทำให้กำไรจากการขายเครื่องดื่มลดน้อยลง ไหนจะต้องมาเสียเวลาแนะนำวิธีใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อทำเรื่องขอค่ามัดจำคืนให้กับลูกค้าซึ่งยังไม่ชำนาญอีก
เรื่องนี้รัฐบาลตอบกลับไปว่า ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนี่ แม้ทางร้านจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ก็เงินค่ามัดจำแก้วที่ร้านเก็บเพิ่มจากลูกค้าที่ไม่ได้กลับมาส่งคืนนั่นแหละ น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ร้านสาขาสตาร์บัคส์ในเกาหลีใต้ กับลูกค้าที่นำแก้วกาแฟแบบพกพามาซื้อเครื่องดื่ม (ภาพ : Starbucks Korea)
กระนั้น เชนกาแฟใหญ่ ๆ บางร้านก็ 'สมัครใจ' ช่วยกันลดขยะพลาสติกโดยไม่ต้องมาบังคับกันให้มากความ อย่างร้าน 'สตาร์บัคส์' ในเกาหลีใต้เป็นต้น
เชนกาแฟยักษ์ใหญ่ข้ามชาติรายนี้มีสาขาอยู่ในแดนกิมจิมากกว่า 1,700 แห่ง ผุดแคมเปญรณรงค์ให้ลูกค้าใช้ 'แก้วกาแฟแบบพกพา' (reusable cup) แล้วล่าสุดในปีค.ศ. 2022 ยอดใช้แก้วพกพาจากลูกค้ามีจำนวนกว่า 25 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 16% จากในปีก่อนหน้านั้น ขณะที่สาขาทั้ง 23 แห่งบนเกาะเชจูก็ให้บริการเสิร์ฟเครื่องดื่มเฉพาะแก้วมัคและแก้วแบบพกพาเท่านั้น
ส่วนร้านกาแฟราว 20 แห่ง รอบศาลาว่าการกรุงโซล ร่วมรณรงค์ลดขยะพลาสติกด้วยการเสิร์ฟเครื่องดื่มแบบเทค-เอ้าท์ให้เฉพาะลูกค้าที่มีแก้วพกพาเท่านั้น ขณะที่โครงการนำร่อง 'คาเฟ่ปลอดพลาสติก' หลายโครงการประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งในโซลและตอนใต้ของเกาะเชจู ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นคำถามที่ 'ค้างคาใจ' มาตั้งแต่ระบบรับเงินมัดจำเคยล้มเหลวมาแล้วครั้งหนึ่งก็คือ จำนวนเงินค่ามัดจำ 300 วอน หรือประมาณ 7 บาท
ร้านกาแฟสัญชาติเกาหลีใต้หลายแห่งรอบศาลาว่าการกรุงโซล เข้าร่วมโครงการนำร่อง 'คาเฟ่ปลอดพลาสติก' (ภาพ : rawkkim on Unsplash)
คิดว่าพอจะสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้านำแก้วที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งกลับมาขอรับเงินค่ามัดจำคืนได้มากน้อยขนาดไหน และกระตุ้นให้ลูกค้านำแก้วแบบพกพา ติดตัวมาซื้อเครื่องดื่มกาแฟจากร้านตามเป้าหมายของรัฐบาล ได้จริง ๆ หรือ
ทว่าปัญหาขยะพลาสติกนั้นสาหัสสากรรจ์เกินกว่าจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ช่วงปลายปีค.ศ. 2566 นี้ เกาหลีใต้วางแผนประกาศ'ห้าม' ร้านกาแฟและร้านฟาสต์ฟู้ดทั้งหมด ใช้แก้วเครื่องดื่มที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง, ถุงพลาสติก, หลอด, และก้านคนกาแฟแบบใช้แล้วทิ้ง พร้อมมีการแนะนำให้ร้านค้าที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการให้บริการลูกค้า รวมถึงการไม่แสดงแก้วเครื่องดื่มแบบใช้แล้วทิ้งในร้านค้าอีกด้วย
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางไปเยือนเกาะเชจูกับเมืองเซยงตอนนี้ หากโดนชาร์จค่ากาแฟแบบแก้วเทค-เอ้าท์เพิ่ม 300 วอนเป็นเงินมัดจำ ก็อย่าเพิ่งตกใจไป พอเราเอาแก้วพลาสติกหรือแก้วกระดาษที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งไปคืนที่ร้าน ก็จะได้เงินมัดจำกลับคืนมา บริบทเหล่านี้เป็นสิ่งนักท่องเที่ยงต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์
อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมในการลดด้านมืด/เพิ่มด้านสว่างให้กับตลาดกาแฟของประเทศที่เราเดินทางไปเยือนครับ