‘ดื่มชาละลายไขมัน’ จริงหรือ พึงรู้... ‘ประโยชน์ของชาอูหลง’
หลายคนเชื่อว่า ‘ดื่มชาละลายไขมัน’ ที่จริงใน ‘น้ำชา’ อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะ ‘ชาอูหลง’ (乌龙茶) ชาจีนยอดนิยมที่มีสรรพคุณรักษาและป้องกันโรคมากมาย จึงควรรู้ ‘ประโยชน์ของชาอูหลง’
ชา เป็นเครื่องดื่มที่มนุษย์ดื่มมากที่สุด (ไม่นับน้ำเปล่า) ชาวจีนมักดื่มชาหลังอาหาร บ้างดื่มระหว่างมื้อ บางคนก็ดื่มทั้งวันเหมือนน้ำเปล่า บางคนเชื่อว่า ดื่มชาช่วยละลายไขมัน ชาลดไขมันได้จริงหรือ
โดยเฉพาะ ชาอูหลง (หรืออู่หลง) มาจาก 乌龙茶 (จีนตัวย่อ / ตัวเต็ม 烏龍茶 wūlóng chá) อ่านว่า อูหลงฉา (ไม่ใช่อู่หลง ถ้าออกตามสำเนียงแมนดาริน) เป็นหนึ่งในชาจีนยอดนิยมที่หลายคนรู้จัก มักเป็นเครื่องดื่มประจำร้านอาหารจีน ดื่มแล้วตัดเลี่ยนตัดมันในอาหารจีน และช่วยเสริมรสชาติอาหารด้วย
จึงควรรู้ ประโยชน์ของชาอูหลง และ ดื่มชาตอนไหนดีที่สุด
ดื่มชากับขนมหรือติ่มซำเข้ากันดี (Cr.image by Freepik)
ที่มาของอูหลงฉา แปลตรงตัวคือ ชามังกรดำ ซึ่งมีเรื่องเล่าหลายตำนาน อย่างที่รู้ว่า ชาวจีนดื่มชามากว่า 2,500 ปี ในบันทึกของชาอูหลง (Oolong Tea) ระบุว่าถือกำเนิดยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ในหุบเขาสูงของมณฑลฝูเจี้ยน เวลานั้นเรียกว่าชาเมฆขาว มีคุณภาพดี หายาก และกลายเป็นของบรรณาการแด่จักรพรรดิในราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279)
ต่อมาสมัยราชวงศ์หมิง (1368 – 1644) ชาอูหลงอีกประเภทหนึ่งก็โด่งดังไม่แพ้กันคือ อู่อี๋เหยียนฉา 武夷岩茶 ชาที่ปลูกในพื้นที่ที่มีภูเขาหินและธารน้ำ ต้นชาขึ้นตามซอกหิน เป็นชาที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง (1644 – 1911)
ชงชาแบบออริจินัล (Cr.saratogateaandhoney.com)
อีกตำนานหนึ่งบอกว่า ที่จริงคนจีนยุคก่อนดื่มชาเขียวและชาแดง (ฝรั่งเรียกชาดำ) ก่อนจะรู้จักกระบวนการทำชาอูหลง มีบันทึกว่า ชาอูหลง ผลิตขึ้นเมื่อปี 1796 ทางภาคเหนือของมณฑลฝูเจี้ยน และไต้หวัน
ส่วนที่มาของชื่อ ชามังกรดำ มาจากขุนศึกยุคราชวงศ์ชิง มีชื่อว่า “หลง” เป็นคนร่างใหญ่ ผิวดำ ชาวบ้านขนานนามเขาว่า อูหลง (อู แปลว่า ดำ / หลง - มังกร)
วันหนึ่ง อูหลง ตามไล่ล่ากวางผ่านทุ่งชา ในขณะที่ตัวเขาเองกำลังเก็บใบชา มีตะกร้าชาสะพายอยู่บนหลัง แต่พอวิ่งไล่กวางเขาก็ทิ้งตะกร้าชาไว้ ตื่นมาวันรุ่งขึ้น อูหลงพบว่า ใบชาในตะกร้าของเขาที่ไม่ได้นำมาตากแดดผึ่งลม แปรสภาพจากสีเขียวกลายเป็นสีเขียวคล้ำ แต่ส่งกลิ่นหอมมากกว่าเดิม
จึงเป็นที่มาของการพัฒนาชาอูหลง โดยการหมัก คั่ว และนวด ผ่านกระบวนการออกซิเดชั่น ได้ชาอูหลง ที่หอมนุ่มนวล รสชาติอยู่ระหว่างชาเขียวกับชาแดง เป็นที่ชื่นชอบของทุกคน
ชาอูหลง (Cr.seriouseats.com)
ชามาจากไหน : ชามี 2 สายพันธุ์หลักคือ ชาใบเล็กหรือชาจีน (Camelliea sinensis) ต้นกำเนิดจากยูนนาน เสฉวน กวางตุ้ง ปลูกในหลายพื้นที่ในจีนและไต้หวัน และชาใบใหญ่ที่เรียกว่า ชาอัสสัม ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ศรีลังกา เป็นสายพันธุ์ย่อยของตระกูลชา นิยมเอาไปทำชาฝรั่ง
ชาเขียว ชาอูหลง ชาเหลือง ชาแดง ชาขาว ทิกวนอิม (เถี่ยกวานอิน-จีนกลาง) สุ่ยเซียน ผู่เอ๋อ (普洱茶 - ชาดำ) (ไม่นับชาแต่งกลิ่นและชาสมุนไพร) เรียกชื่อต่างกันไปตามกระบวนการผลิต หากทั้งหมดมาจากต้นชาสายพันธุ์เดียวกัน คือชาพันธุ์ใบเล็ก
อีกทั้งจากสภาพดินฟ้าอากาศ พื้นที่ปลูก บวกกับกระบวนการเก็บ ตาก หมัก บ่ม ผึ่ง คั่ว อบไฟ ทำให้เกิดกระบวนการออกซิเดชั่นกับอากาศ ทำให้เกิดกลิ่น สี รส ที่แตกต่างกัน
(Cr.rawpixel.com)
ประโยชน์ของชาอูหลง : อูหลง เป็นชากึ่งหมัก รสไม่ขมเข้มเกินไป ดื่มแล้วชุ่มคอ นุ่มนวล หอมและให้ความสดชื่น มีสรรพคุณรักษาและป้องกันโรค เช่น ลดความอ้วน ป้องกันเบาหวาน ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และอาจช่วยพัฒนาการทำงานของสมอง ช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ป้องกันเบาหวานประเภท 2 และป้องกันมะเร็งบางชนิด
จากวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แมงกานีส โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม ไนอาซิน ฟลูออไรด์ และสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล ได้แก่ ฟลาโวนอยด์, ทีอะฟลาวิน, ทีรูบิจิน, คาเทชิน และมีคาเฟอีน ช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ส่งเสริมการทำงานของหัวใจและกล้ามเนื้อ
(Cr.blogtheteakitchen.com)
ความเชื่อ ดื่มชาละลายไขมัน : ทางการแพทย์บอกว่า สารโพลีฟีนอลในชาอูหลง ช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญไขมันให้ดีขึ้น จึงอาจป้องกันภาวะอ้วน มีงานวิจัยให้ผู้มีภาวะอ้วน ดื่มชาติดต่อกัน 6 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักตัวลดลง แต่จริง ๆ ดื่มชาแล้วตรงเข้าไปละลายไขมันไม่น่าเป็นไปได้
แต่การดื่มชาช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร แก้เลี่ยนแก้มัน และทำให้ร่างกายสดชื่น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า
ดื่มชาตอนไหนดี : เวลาดื่ม ชาอูหลง ของแต่ละคนให้ผลไม่เท่ากัน แต่พอประมวลได้ว่า
ตอนเช้า ดีที่สุด คาเฟอีนในชาช่วยสร้างความมีชีวิตชีวา สร้างสมาธิ ส่งเสริมระบบการเผาผลาญ
(Cr.saratogateaandhoney.com)
บ่าย สาร L-Theanine คือกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติช่วยให้ผ่อนคลาย สมองลื่นไหล อารมณ์ดี
เย็นและก่อนนอน บางคนดื่มชาแล้วรู้สึกง่วงเร็ว (ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน) แต่ไม่ควรดื่มก่อนนอนทันที
ดื่มตอนท้องว่าง, ดื่มก่อนอาหาร ไม่มีข้อห้าม บางคนเชื่อว่าดื่มก่อนอาหารช่วยย่อย แต่ถ้าดื่มตอนท้องว่างแล้วไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างนานเกินไป ควรหาอะไรกินสักเล็กน้อย
ดื่มก่อนออกกำลังกาย 30-45 นาที จะช่วยสร้างพลังงาน ทำให้รู้สึกตื่นตัว
ดื่มชาวันละกี่แก้วดี : ชาอูหลง 1 แก้ว ราว 8 ออนซ์ มีคาเฟอีน 30-50 มิลลิกรัม ปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่าชาแดงและชาเขียว ปริมาณที่ดื่ม 2-3 แก้ว ต่อวัน ไม่ควรเกิน 5 แก้ว อาจมีผลทำให้รู้สึกกระวนกระวาย รู้สึกไม่ผ่อนคลาย บางคนอาจนอนไม่หลับ
ชาอูหลง ดื่มเพื่อสุขภาพ (Cr.britannica.com)
ข้อควรระวัง : ผู้ใช้ยากระตุ้นประสาท เช่น แอมเฟตามีน, โคเคน, เอฟีดรีน ไม่ควรดื่มชาอูหลง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาเฟอีน เนื่องจากชาอูหลงมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท หากรับประทานร่วมกันอาจทำให้รู้สึกกระวนกระวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ สตรีมีครรภ์และเด็กไม่ควรดื่ม
อ้างอิง: poppad.com, blendartteas.com, saratogateaandhoney.com