'Madagascar coffee' ไม่ดัง! แต่มีกาแฟป่าพันธุ์ใหม่เพียบ

'Madagascar coffee' ไม่ดัง! แต่มีกาแฟป่าพันธุ์ใหม่เพียบ

'มาดากัสการ์' ไม่ได้มีเฉพาะสิงสาราสัตว์และธรรมชาติอันงดงาม แต่ยังมี 'กาแฟ' เครื่องดื่มที่มีความสำคัญในระดับวัฒนธรรมของประเทศ

หลายคนอาจเคยชมภาพยนต์การ์ตูนแอนิเมชันเรื่อง 'มาดากัสการ์' (Madagascar) ที่ออกฉายครั้งแรกในวันนี้เมื่อ 19 ปีก่อน ผลิตโดยบริษัท ดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชัน พล็อตหนังเล่าถึงเกาะกลางมหาสมุทรแสนสวยแห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด นั่นแหละครับคือประเทศมาดากัสการ์ ที่ไม่ได้มีเฉพาะสิงสาราสัตว์และธรรมชาติอันงดงาม แต่ยังมี 'กาแฟ' เครื่องดื่มที่มีความสำคัญในระดับวัฒนธรรมของประเทศอีกด้วย

เกาะ 'มาดากัสการ์" ประเทศเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันออกของแอฟริกา ไม่ได้ถูกปักหมุดเอาไว้ในฐานะแหล่งปลูกกาแฟ 'ชื่อดัง' บนแผนที่กาแฟโลก ไม่ใช่เพราะไม่มีกาแฟ แต่กาแฟที่ปลูกและผลิตส่วนใหญ่เป็นการบริโภคในประเทศ

กาแฟที่ปลูกในมาดากัสการ์ส่วนใหญ่เป็นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่เรียกกันว่า 'มาลากาซี โรบัสต้า' (Malagasy robusta) แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการปลูกกาแฟอาราบิก้าเพิ่มมากขึ้น ทว่าสัดส่วนการของอาราบิก้านั้นมีประมาณ 10% ที่เหลืออีก 90% เป็นกาแฟโรบัสต้า

การผลิตกาแฟทั้งสองสายพันธุ์นี้ยังคงอยูในรูปกาแฟ 'ออร์แกนิค' ซึ่งได้รับความนิยมสูงในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งยังไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้าไปพัฒนากระบวนการผลิตกาแฟมากมายอะไรนัก

\'Madagascar coffee\' ไม่ดัง! แต่มีกาแฟป่าพันธุ์ใหม่เพียบ การผลิตกาแฟในมาดากัสการ์ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ โรบัสต้า, อาราบิก้า (เยลโล่ เบอร์บอน) และกาแฟป่า  (ภาพ : pexels.com/Michael Burrows)

ที่น่าแปลกใจสำหรับผู้เขียนคือ แม้เป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟอันดับที่ 23 ของโลก มีกำลังผลิตเฉลี่ยปีละ 520,000 กระสอบ(กระสอบละ 60 กิโลกรัม) ซึ่งใกล้เคียงกับไทยเรา แต่กลับแทบไม่ปรากฏว่ามีบรรดา คอฟฟี่ ฮันเตอร์ หรือนักล่ากาแฟ เข้าไปตามหา 'เพชรในตม' กัน

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ที่โดดเด่นเหนือสิ่งอื่นใด มาดากัสการ์ ถือเป็นบ้านอีกหลังของสายพันธุ์ 'กาแฟป่า' เกือบครึ่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว จากการศึกษาทางพันธุกรรม พบว่ากาแฟป่าทางตอนเหนือของมาดากัสการ์มีต้นกำเนิดมาจากสายพันธุ์กาแฟที่กระจายตัวมาจากแผ่นดินใหญ่ของทวีปแอฟริกาเมื่อนานมาแล้ว

เดือนกันยายน ค.ศ. 2021 มีการค้นพบกาแฟป่าเพิ่มเติมอีก 6 สายพันธุ์ในป่าทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ รวม ๆ แล้วเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้มีสายพันธุ์กาแฟจนถึงตอนนี้ก็ 65 สายพันธุ์ ทำให้มีสายพันธุ์กาแฟที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 130 สายพันธุ์

\'Madagascar coffee\' ไม่ดัง! แต่มีกาแฟป่าพันธุ์ใหม่เพียบ แผนที่เกาะมาดากัสการ์ ประเทศเล็กๆที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันออกของแอฟริกา  (ภาพ : google.com/maps)

การแพร่กระจายพันธุ์กาแฟป่าไปทั่วทั้งเกาะนี้ส่วนใหญ่ต้องขอบคุณสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของมาดากัสการ์ที่กินเนื้อผลกาแฟสุกเป็นอาหาร รวมถึงค้างคาวผลไม้ และตัว 'ลีเมอร์หางแหวน' สัตว์ที่มีรูปร่างทั่วไปคล้ายลิง มีส่วนหัวคล้ายหมาจิ้งจอก มีหางยาวเป็นพวงเหมือนกระรอก เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ไม่พบในธรรมชาติของประเทศอื่น ๆ นอกจากสวนสัตว์

กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าจำนวนน้อยที่ปลูกบนเกาะแห่งนี้ เป็นสายพันธุ์ที่รู้จักกันดีอย่าง 'เยลโล่ เบอร์บอน' (Yellow Bourbon) เจ้าของฟาร์มกาแฟส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็ก ๆ หรือไม่ก็รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ผลิตกาแฟ เช่น สหกรณ์ซานตาทร้า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตวาคินานคารัทนา ตอนกลางของเกาะ

ระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ฟาร์มกาแฟบางแห่งเริ่มปรับกระบวนการผลิตทั้งระบบให้อยู่ในรูปกาแฟพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะโรงคั่วกาแฟในสหรัฐและยุโรป

ต้นปีค.ศ. 2021 สารกาแฟสายพันธุ์เยลโล่ เบอร์บอน จากไร่ 'เซบู เอสเตท' (Zebu Estate) ถูกนำเข้าไปในสหราชอาณาจักรโดยบริษัทค้ากาแฟ ออมวานี ก่อนกระจายไปถึงมือโรงคั่วต่าง ๆ เช่น ฟิกเมนต์ คอฟฟี่ โรสเตอร์ ในอเบอร์ดีน, แมนิเฟสโต้ ในเพิร์ธไชร์, ทริปเปิล โค โรสต์ ในบริสตอล และไวลด์ ฮาร์ต คอฟฟี่ โรสเตอร์ส ในไอร์แลนด์เหนือ

\'Madagascar coffee\' ไม่ดัง! แต่มีกาแฟป่าพันธุ์ใหม่เพียบ การดื่มกาแฟของคนบนเกาะมาดากัสการ์ฝังรากลึกมานมนาน แผงขายกาแฟเล็ก ๆ พบได้ทั่วไปตามตรอกซอกซอย นิยมคั่วเอง ชงเอง ขายเอง  (ภาพ : Milo Miloezger on Unsplash)

ปรากฎการณ์นี้เปิดหน้า 'ประวัติศาสตร์' ครั้งสำคัญให้กับวงการกาแฟมาดากัสการ์ เพราะกาแฟจากไร่เซบู เอสเตท ถือเป็นการผลิตในขั้นตอนตามรูปแบบกาแฟพิเศษเป็นล็อตแรกของประเทศ โดยในปีแรกนั้น ผลผลิตมีน้อยมาก น้ำหนักรวมกันเพียง 30 กิโลกรัมเท่านั้น นอกจากนั้น ยังเป็นสารกาแฟพิเศษล็อตแรกที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน โรงคั่วกาแฟกาแฟพิเศษในรัฐมินนิโซตา ชื่อ พาราไดซ์ โรสเตอร์ส ก็นำเข้าสารกาแฟเยลโล่ เบอร์บอน จากสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟซานตาทร้า ไปคั่วจำหน่ายเป็นเมล็ดกาแฟบรรจุถุง ระดับคั่วอ่อนค่อนกลาง ตั้งราคาขายไว้ในเว็บไซต์ออนไลน์ของบริษัทที่ประมาณ 20 ดอลลาร์ ต่อ 8 ออนซ์ หรือ 226 กรัม

โดยภาพรวมแล้ว มาดากัสการ์จึงประกอบด้วยกาแฟ 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ โรบัสต้า, อาราบิก้า (เยลโล่ เบอร์บอน) และสายพันธุ์กาแฟป่าที่ยังไม่ได้ถูกหยิบไปพัฒนาเป็นกาแฟเชิงพาณิชย์

ตามปูมกาแฟนั้น ต้นกาแฟเชิงพาณิชย์ถูกนำเข้ามายังมาดากัสการ์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 จากฝีมือผู้ตั้งถิ่นฐานชาวฝรั่งเศส  ที่นำกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าและอาราบิก้ามาจากเอธิโอเปีย รวมถึงพันธุ์ 'เบอร์บอน ปวงตูว์' (Bourbon Pointu) มาจากเกาะรียูเนียน (เดิมเรียกว่าเกาะเบอร์บอน) หลังจากกองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดครองมาดากัสการ์เป็นอาณานิคมในปีค.ศ. 1896 ก็ผลักดันให้มีการปลูกกาแฟมากกว่าพืชผลอื่น ๆ ส่งผลให้กาแฟกลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจบนเกาะในช่วงทศวรรษที่ 1930

\'Madagascar coffee\' ไม่ดัง! แต่มีกาแฟป่าพันธุ์ใหม่เพียบ กาแฟสายพันธุ์เยลโล่ เบอร์บอน จากไร่เซบู เอสเตท ถือเป็นการผลิตกาแฟคุณภาพสูงตามรูปแบบกาแฟพิเศษเป็นล็อตแรกของมาดากัสการ์  (ภาพ : Facebook/Zebu Coffee)

มาดากัสการ์ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1960 แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิดกันไว้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การผลิตกาแฟบนเกาะนี้พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดปีค.ศ.1980 เป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่อันดับ 8 ของโลก

ทว่าภาวะตกต่ำของราคากาแฟในทศวรรษ 1990 มีผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตกาแฟ เกษตรกรจำนวนมากหันมา 'ปลูกข้าว' แทน ปัจจุบัน มาดากัสการ์ผลิตเมล็ดกาแฟได้ประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยผลิตได้มากที่สุด

'กาเฟนดราซานา' (kafendrazana) เป็นโซนปลูกกาแฟดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งยังคงเป็นที่รู้จักในเรื่องกาแฟโรบัสต้าคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังเป็นบ้านของค้างคาวผลไม้ที่ชอบกินเนื้อผลกาแฟสุก จนเป็นที่มาของการเก็บกาแฟมาคั่วจำหน่ายในชื่อ 'Bat spit coffee' นัยว่าน้ำลายของค้างคาวนั้นทำให้รสชาติกาแฟดีขึ้น กลายเป็นอีกธุรกิจหนึ่งไป รูปแบบคล้าย ๆ กาแฟขี้ชะมด

\'Madagascar coffee\' ไม่ดัง! แต่มีกาแฟป่าพันธุ์ใหม่เพียบ ที่มาดากัสการ์ ร้านกาแฟพิเศษจัดว่าหายากสักหน่อย แต่ถ้าเป็นคาเฟ่มาตรฐานสากลในสไตล์ตะวันตกพบได้ทั่วไปตามเมืองใหญ่ ๆ  (ภาพ : facebook.com/expressbleu)

เรื่องกาแฟค้างคาวนี้ ผู้เขียนแค่นำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ไม่แนะนำให้ลองดื่ม หรือใครสนใจอยากลิ้มลอง แบบไม่กลัวน้ำลายค้างคาว ก็ไม่ว่ากัน  ถ้าลองแล้วเห็นว่าโอเค ก็หลังไมค์มาบอกกันได้ครับ

ส่วนสายพันธุ์อาราบิก้าบนเกาะนี้ ปลูกกันในโซนพื้นที่สูงตอนกลาง ส่วนใหญ่อยู่ในอันตานานาริโว เมืองหลวงของประเทศ และรอบ ๆ ทะเลสาบอเลาตรา

ขณะที่ธุรกิจกาแฟพิเศษเริ่มแจ้งเกิดในมาดากัสการ์ ทว่าการดื่มกาแฟของคนบนเกาะนี้ 'ฝังรากลึก' มานมนาน แผงขายกาแฟเล็ก ๆ พบได้ทั่วไปตามตรอกซอกซอย ที่ผู้ขายมักคั่วกาแฟเองในกระทะ แล้วนำลงต้มในหม้อใบใหญ่ ชงเองผ่านถุงผ้ามีด้ามจับที่บ้านเราเรียกว่าถุงผ้าชงกาแฟโบราณ

เมนูที่นิยมดื่มคือกาแฟสูตรร้อนดำเข้มข้นใส่นมข้นหวานคล้าย ๆ กาแฟโบราณ 'โกปี๊' ซึ่งเป็นเมนูร่วมรากเหง้าวัฒนธรรมกาแฟอาเซียน แน่นอนว่า ที่มาดากัสการ์ใช้กาแฟโรบัสต้าเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะปลูกกันมากประมาณ 90%

\'Madagascar coffee\' ไม่ดัง! แต่มีกาแฟป่าพันธุ์ใหม่เพียบ ฟาร์มกาแฟบางแห่งในมาดากัสการ์ เริ่มปรับกระบวนการผลิตให้อยู่ในรูปกาแฟพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการจากตลาดต่างประเทศ  (ภาพ : Sabri Tuzcu on Unsplash)

ที่นี่ ร้านกาแฟพิเศษยังมีอยู่น้อย หาได้ไม่ง่ายนัก แต่ถ้าเป็นคาเฟ่มาตรฐานสากลในสไตล์ตะวันตกพบได้ทั่วไปตามเมืองใหญ่ ๆ ร้านที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งคือร้าน La Pâtisserie Colbert  ในเมืองอันตานานาริโว สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1946 ขึ้นชื่อในด้านกาแฟ, ช็อคโกแลต และขนมหวาน+เบเกอรี่ นอกจากนั้น ก็มีร้านเก่าแก่อย่าง TAF Le Gourmet, Café Liégeois และ  L’Express Bleu พิจารณาจากชื่อร้านแล้วน่าจะได้รับอิทธิพลฝรั่งเศสมากทีเดียว

มาดากัสการ์ถือเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่เงียบ ๆ ยังไม่โด่งดัง แต่มีกาแฟหลากหลาย รวมทั้งสายพันธุ์ใหม่ ๆอีกเพียบ

และน่าเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ของบรรดานักล่ากาแฟ ที่ดั้นด้นไปตามแหล่งปลูกกาแฟทั่วโลก เพื่อแสวงหากาแฟแบบ 'นิวไอเท็ม' พร้อมรสชาติแปลกใหม่ มาตอบสนองความต้องการลูกค้า ตามวิถีทางหนึ่งของธุรกิจกาแฟพิเศษในปัจจุบัน

...............................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี