เช็คเลย! ราคากาแฟต่อแก้ว ประเทศไหน 'แพงสุด-ถูกสุด'
แมนโด มีเดีย เปิดข้อมูลราคากาแฟต่อแก้วทั่วโลกพบ เดนมาร์ก แชมป์แพงสุดแก้วละ 5.45 ดอลลาร์ ถูกสุดคือ ตูนิเซีย 0.56 ดอลลาร์ ส่วนไทยราคาเฉลี่ยแก้วละ 1.38 ดอลลาร์
กาแฟเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มระดับโลกเพียงไม่กี่ชนิดที่ได้รับความนิยมสูงในทุกประเทศทั่วโลก ด้วยสรรพคุณกาแฟเป็นเลิศในข้อที่ว่าดื่มได้ทุกที่ทุกเวลา แต่สำหรับกับราคากาแฟต่อแก้วแล้ว การนำเปรียบเทียบว่าของประเทศไหนมีระดับราคาสูงหรือถูกกว่ากันมากน้อยขนาดไหน อย่างในสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น หรือไทยเรา โดยเฉลี่ยขายกันในราคาแก้วละเท่าไหร่ ไม่ค่อยจะมีคนทำข้อมูลตรงนี้กันมากนัก
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เขียนไปเจอข้อมูลชุดหนึ่งของบริษัท 'แมนโด มีเดีย' (Mandoe Media) บริษัทนี้ทำธุรกิจด้านสื่อโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบดิจิตอล โฟกัสไปที่ภาคธุรกิจและบริการ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นข้อมูลเกี่ยวกับราคากาแฟในร้านกาแฟตามเมืองหลวงของแต่ละประเทศ ครอบคลุมแทบทุกทวีปทั่วโลก ผู้เขียนเห็นว่าวิธีการแสวงหาให้ได้มาซึ่งราคากาแฟน่าสนใจมาก ๆ เรียกว่าเป็นผลสำรวจในอีกแบบหนึ่งก็น่าได้ครับ
แม้รูปแบบการประมวลผลข้อมูล อาจไม่ถูกต้องแม่นยำ 100% แต่ก็อยากนำมาบอกเล่าเก้าสิบให้กับท่านผู้อ่านได้รับทราบ ในฐานะที่เป็นคนรักชอบเครื่องดื่มกาแฟเหมือนๆกัน
ข้อมูลหรือผลสำรวจของแมนโด มีเดีย ตั้งหัวข้อเรื่องไว้ว่า 'ราคากาแฟทั่วโลกและแนวโน้มปี 2024' พูดถึงต้นทุนกาแฟต่อแก้วและเทรนด์การบริโภคในทุก ๆ ทวีปประจำปีนี้ พบว่าใน
- 'เดนมาร์ก' เป็นแชมป์ประเทศที่ราคากาแฟต่อแก้วในร้านกาแฟสูงสุดในโลก ตกเฉลี่ยแก้วละ 5.45 ดอลลาร์สหรัฐ
- 'ตูนิเซีย' มีราคากาแฟต่อแก้วถูกสุดในโลก คือ 0.56 ดอลลาร์สหรัฐต่อแก้ว
แมนโด มีเดีย กับข้อมูลหรือผลสำรวจล่าสุด ในหัวข้อราคากาแฟทั่วโลกและแนวโน้มปี 2024 (ภาพ : mandoemedia.com)
ส่วนราคากาแฟต่อแก้วใน 'ประเทศไทย' จากข้อมูลของแมนโด มีเดีย พบว่า ราคาเฉลี่ยตามร้านกาแฟในกรุงเทพฯตกแก้วละ 1.38 ดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างสิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
การเปรียบเทียบราคากาแฟต่อแก้ว ในแต่ละประเทศนั้น เคยมีการนำร้านกาแฟสตาร์บัคส์มาใช้เป็นมาตรฐาน แล้วเลือกเมนูกาแฟและไซส์แก้วมาเปรียบเทียบราคากัน เช่น กาแฟลาเต้แก้วเล็กที่สุด ทำให้เกิดศัพท์แสงใหม่ขึ้นมาว่า 'ดัชนีลาเต้สตาร์บัคส์' คงคล้าย ๆ กับ 'ดัชนีบิ๊กแม็ค' ของนิตยสารเดอะ อิโคโนมิสต์ ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อสะท้อนค่าครองชีพในแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า เนื่องจากสตาร์บัคส์เป็นร้านกาแฟ 'ระดับไฮเอนด์' ราคาสูงกว่าร้านกาแฟทั่วไป ดังนั้น การใช้ราคากาแฟของแบรนด์นี้มาเป็นเครื่องมือวัดราคาเฉลี่ยต่อแก้วของร้านกาแฟ อาจสะท้อนภาพความเป็นจริงได้ไม่แม่นยำเท่าใดนัก
ระยะหลังมีคนคิดค้นสูตรใหม่ ๆ ในการคำนวณหาค่าเฉลี่ยราคากาแฟในแต่ละประเทศ อย่างสูตรของแมนโด มีเดีย ใช้วิธีเข้าไปส่องร้านกาแฟใน 'เมืองหลวง' ซึ่งมีรายชื่อปรากฎอยู่ใน 'ทริปแอดไวเซอร์' (TripAdvisor) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในโลก แล้วเลือกร้านกาแฟยอดนิยม 3 แห่งที่มีการบอกราคาเมนูเอาไว้ทางออนไลน์ ดูเฉพาะเมนูลาเต้ (หรือเอสเพรสโซ่) อเมริกาโน่ และคาปูชิโน่ จากนั้นนำราคาทั้ง 3 เมนู มาบวกกันแล้วหารหาค่าเฉลี่ยเป็นราคาต่อแก้ว โดยราคาที่ถูกระบุไว้ในสกุลเงินท้องถิ่น จะถูกแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐด้ว
... นี่คือที่มาที่ไปของข้อมูลราคากาแฟเฉลี่ยตามร้านในเมืองหลวงแต่ละประเทศ โดยวิธีของแมนโด มีเดีย
เอสเพรสโซ่และอเมริกาโน่ เป็นสองเมนูกาแฟที่ถูกนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยราคากาแฟต่อแก้วในประเทศต่าง ๆ (ภาพ : NATHAN MULLET on Unsplash)
จากนั้นแมนโด มีเดีย นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์แนวโน้มราคาอีกครั้ง เพื่อประเมินเทรนด์หรือ 'พฤติกรรมผู้บริโภคกาแฟ' ของประเทศนั้น ๆ รวมไปถึงในระดับทวีป อย่างในกรณีเดนมาร์ก ซึ่งมีราคากาแฟต่อแก้วเฉลี่ยสูงสุดในโลก ก็จะมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวเดนมาร์กดื่มกาแฟโดยเฉลี่ย 8.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เป็นประเทศบริโภคกาแฟมากสุดอันดับ 8 ของโลก หรือในกรณีตูนิเซียที่คนนิยมดื่มชามากกว่ากาแฟ เมนูที่ชอบคือเอสเพรสโซ่
แมนโด มีเดีย เน้นย้ำให้ทราบกันว่า ราคากาแฟในชุดข้อมูลนี้เป็นราคาเฉลี่ยในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ แล้วในแต่ละเมืองแต่ละสถานที่ ราคากาแฟจะแตกต่างกันไป ในเมืองที่มีขนาดเล็กกว่า มีแนวโน้มที่ราคาจะถูกกว่าเล็กน้อย
นอกจากแมนโด มีเดีย ที่ใช้วิธีการนี้ในการคำนวณหาราคากาแฟต่อแก้วของประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังมี 'เซฟวิ่ง สป็อท' (Savings Spot) บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินส่วนบุคคลในสหรัฐ ที่เคยทำสำรวจเมื่อปีค.ศ. 2021 แต่เซฟวิ่ง สปอท เลือกใช้ร้านกาแฟ 5 ร้าน ในเมืองหลวงของ 104 ประเทศ
ข้อมูลแมนโด มีเดีย ระบุค่าครองชีพที่สูงมีผลกระทบอย่างมากต่ออันดับราคากาแฟของประเทศต่าง ๆ เช่น เบอร์มิวดา และสวิตเซอร์แลนด์ ขณะเดียวกัน ประเทศที่บริโภคกาแฟปริมาณมาก ไม่ได้หมายความว่ากาแฟจะถูกลงเสมอไป เช่นในยุโรปตอนเหนือ
คราวนี้มาลงราคากาแฟต่อแก้วรายประเทศกันบ้าง แต่เนื่องจากมีเป็นร้อยประเทศ ไม่สามารถนำเสนอได้ครบถ้วน ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอเป็นบางส่วนนะครับ ท่านใดต้องการพิจารณาข้อมูลแบบเต็ม ๆ สามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของแมนโด มีเดีย ได้ครับ
เดนมาร์กเป็นประเทศที่ราคากาแฟต่อแก้วในร้านกาแฟสูงสุดในโลก ตกเฉลี่ยแก้วละ 5.45 ดอลลาร์สหรั ฐ (ภาพ : Nick Karvounis on Unsplash)
'ราคากาแฟ ทวีปยุโรป'
- เดนมาร์ก มีราคากาแฟเฉลี่ยสูงสุด 5.45 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- สวิตเซอร์แลนด์กับโมนาโก 5.02 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 3.72 ดอลลาร์ต่อแก้ว,
- ฝรั่งเศส 3.61 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- ออสเตรีย 3.58 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- เยอรมนี 3.45 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- สเปน 2.08 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- อิตาลี 1.89 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เป็นประเทศที่มีราคากาแฟถูกสุดคือ เฉลี่ย 0.95 ดอลลาร์ต่อแก้ว
'ราคากาแฟ ทวีปอเมริกา'
ผู้เขียนพบข้อมูลที่น่าแปลกใจมาก ๆ เพราะไม่ใช่กาแฟในสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดาที่มีราคาต่อแก้วมากที่สุด แต่กลับเป็น
- 'แอนติกาและบาร์บูดา' ประเทศในทะเลแคริบเบียน ราคากาแฟต่อแก้วสูงถึง 4.56 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- เกาะเคย์แมน 4.45 ดอลลาร์
- เบอร์มิวดา 4.40 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 3.77 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- แคนาดา 2.90 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- เม็กซิโก 2.27 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- บราซิล 1.80 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- คิวบา คือ สถานที่ดื่มกาแฟที่ถูกที่สุดในทวีปอเมริกา ราคา 1.05 ดอลลาร์ต่อแก้ว
'ราคากาแฟ โซนโอเชียเนีย'
- นิวซีแลนด์ ราคากาแฟต่อแก้วใน ตกเฉลี่ย 2.94 ดอลลาร์
- ออสเตรเลีย ต่ำกว่าเล็กน้อย 2.76 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- ปาปัวนิวกินี 2.0 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- ปาเลาคือ ราคากาแฟ ต่ำสุด 1.53 ดอลลาร์ต่อแก้ว ประเทศนี้เป็นประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก จัดเป็นสวรรค์ของบรรดานักดำน้ำเลยทีเดียว
'ราคากาแฟ ทวีปแอฟริกา'
- ประเทศที่เป็นหมู่เกาะอย่างเซเชลส์ มีราคากาแฟต่อแก้ว 3.43 ดอลลาร์ แพงสุดในทวีปนี้
- กาบองและเบนิน เฉลี่ยแก้วละ 3.33 ดอลลาร์
- ตูนิเซีย ราคากาแฟ ต่ำสุด 0.56 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- เอธิโอเปีย แหล่งปลูกกาแฟดังระดับโลก ราคาแก้วละ 0.67 ดอลลาร์
- แทนซาเนีย 1.76 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- รวันด้า 1.66 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- อียิปต์ ราคาต่อแก้ว คือ 0.78 ดอลลาร์
ราคากาแฟในไทยเฉพาะกรุงเทพฯ ตกเฉลี่ยแก้วละ 1.38 ดอลลาร์สหรัฐ เกือบ ๆ 50 บาท ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย (ภาพ : Lex Sirikiat on Unsplash)
'ราคากาแฟ ทวีปเอเชีย'
แมนโด มีเดีย ให้ข้อมูลว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าคนเอเชียดื่มกาแฟกันไม่มากนัก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ยิ่งประวัติกาแฟของเอเชียยาวนานเท่าไร คนที่นี่ยิ่งดื่มมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น 'ชาวญี่ปุ่น' ซึ่งเป็นกลุ่มนักดื่มกาแฟรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ดื่มกาแฟมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1800 ปัจจุบันคนญี่ปุ่น 38% ดื่มกาแฟอย่างน้อย 2 แก้วต่อวัน อัตราเฉลี่ยของราคากาแฟต่อแก้วของเอเชียอยู่ที่ 2.21 ดอลลาร์
- ปากีสถาน เป็นประเทศที่มีราคากาแฟต่ำสุด 0.96 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- อัฟกานิสถาน 0.98 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- อุซเบกิสถาน 1.07 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- อิหร่านและอินเดีย 1.11 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- กาต้าร์ เป็นประเทศที่มีราคากาแฟ สูงสุด 4.32 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- ไต้หวัน 3.78 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- คูเวต 3.66 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- จีนอยู่ที่ 3.60 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- เกาหลีใต้ 3.56 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- ญี่ปุ่น 3.11 ดอลลาร์ต่อแก้ว
'ราคากาแฟ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้'
แมนโด มีเดีย ชี้ว่า การบริโภคกาแฟย่านนี้กำลังเติบโต จากการขยายตัวของชุมชนเมือง, รายได้ที่เพิ่มขึ้น และอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ดื่มกาแฟกันมากขึ้น มีราคากาแฟเฉลี่ยต่อแก้วที่ 2.09 ดอลลาร์ แต่คนในภูมิภาคนี้ก็มีวิถีกาแฟเป็นของตัวเอง เช่น ปัจจุบันชาวอินโดนีเซียดื่มกาแฟมากกว่าชาวออสเตรเลีย แต่เป็นกาแฟดริปสไตล์ดั้งเดิมที่เรียกว่า 'โกปี๊ ตุบรุค' (Kopi Tubruk)
ราคากาแฟต่อแก้วในสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา ไม่ได้มีราคาสูงสุดในทวีปอเมริกา ตามที่ข้อมูลของแมนโด มีเดีย ระบุไว้ (ภาพ : Brooke Cagle on Unsplash)
- อินโดนีเซีย ราคากาแฟต่อแก้วต่ำสุด ของอาเซียน คือ ตกแก้วละ 1.30 ดอลลาร์
- สิงคโปร์ ราคากาแฟต่อแก้วสูงสุด ตกเป็นของ 3.75 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- มาเลเซีย 3.0 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- ฟิลิปปินส์ 2.46 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- กัมพูชา 1.68 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- เวียดนาม 1.65 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- ลาว 1.59 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- ไทย 1.38 ดอลลาร์ต่อแก้ว
- เมียนมาร์และบรูไน ไม่พบข้อมูล
เห็นข้อมูลด้านบนนี้ ผู้เขียนก็อดตั้งคำถามไม่ได้เหมือนกันว่า ทำไมกาแฟต่อแก้วของไทยจึงมีราคาต่ำกว่าหลาย ๆ ประเทศ ทั้งที่ไทยมี 'ค่าครองชีพ' สูงกว่า อัตราของไทยคือ 1.38 ดอลลาร์ แปลงเป็นเงินบาทก็ตกเกือบ ๆ 50 บาท ราคาเอสเพรสโซ่หรืออเมริกาโน่ประมาณนี้ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่ต้องเป็นสูตรร้อน ถ้าสูตรเย็น ราคาสูงกว่านี้แน่นอน
ตอนท้ายของชุดข้อมูลนี้ แมนโด มีเดีย ได้ยกข้อมูลมาจากองค์กรกาแฟสากล (ICO) ที่ระบุว่า ตัวเลขการบริโภคกาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4.2% เป็นจำนวน 175.6 ล้านกระสอบ ในปีการผลิตกาแฟ 2021/22 โดยไตรมาสแรกของปี 2023 ตัวเลขยังคงมีการเติบโตเช่นกัน แต่การเติบโตได้ชะลอตัวลงประมาณ 1.7% สาเหตุหลักมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในหลายประเทศ
ปัจจัยลบผลักดันให้ราคากาแฟสูงขึ้นจนเกินเอื้อมสำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก ดังนั้น แม้คนยังดื่มกาแฟกันมากขึ้น แต่อัตราการบริโภคจะเติบโตช้าลง (ภาพ : Tim Mossholder on Unsplash)
การบริโภคกาแฟยังมี 'ปัจจัยลบ' จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิต, การแปรรูป, การขนส่ง, การคั่ว และการเตรียมกาแฟ นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้ผลผลิตกาแฟลดลงอีกด้วย
ปัจจัยทั้งหมดนี้ เป็นแรงผลักดันให้ราคากาแฟสูงขึ้นจน 'เกินเอื้อม' สำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก ดังนั้น แม้ว่าผู้คนยังต้องการดื่มกาแฟมากขึ้น แต่อัตราการบริโภคจะเติบโตช้าลง
กับสูตรคำนวณราคาต่อแก้ว เปรียบเทียบประเทศไหนกาแฟแพงสุด-ถูกสุด พร้อมบทสรุปเรื่องแนวโน้มการบริโภคในอนาคต ของบริษัทแมนโด มีเดีย ท่านผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือคิดเห็นประการใดกันบ้างครับ
..................................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี