‘ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต’ ไวน์ทรงโปรดของ ‘พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3’
สถาบันประมูลคริสตีส์ (Christie’s) กรุงลอนดอน เปิดประมูลแรร์ไวน์ (Rare Wines) ครั้งล่าสุด มีไวน์ ‘ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต’ ซึ่งผลิตเป็นพิเศษในวโรกาสที่ ‘พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3’ แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนชาโตแห่งนี้ เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว
Christies’s สถาบันประมูลในลอนดอน เปิดประมูล ไวน์ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต (Chateau Smith-Haut-Lafitte) จำนวน 6 ขวด ซึ่งผลิตเป็นพิเศษในวโรกาสที่ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 (King Charles III) เสด็จเยือนชาโตแห่งนี้เมื่อปีที่แล้ว
ต้นเดือนมิถุนายนข่าวคราวของ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร จะปรากฏตามหน้าสื่อต่าง ๆ บ่อยครั้ง เนื่องด้วยตรงกับวันพระราชสมภพของพระองค์ ซึ่งมีการเฉลิมฉลองกันในวันเสาร์ที่สองของเดือนมิถุนายน ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2567
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กับพระราชินีคามิลลา เสด็จทอดพระเนตรไวน์รุ่นพิเศษ
แต่จริง ๆ แล้ววันพระราชสมภพของพระองค์คือวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์จะฉลองวันพระราชสมภพ 2 ครั้ง แต่ที่ฉลองอย่างเป็นทางการคือวันเสาร์ที่สองของเดือนมิถุนายนดังกล่าว เรียกว่า Second Birthday แด่พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3
เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 ทรงโปรด ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต มาก ในงานฉลองวันพระราชสมภพของพระองค์ และงานราชาภิเษก รวมทั้งพระราชพิธีสำคัญ ๆ ก็ใช้ไวน์จากชาโตแห่งนี้เป็นหลัก
Christie’s เปิดให้ประมูลไวน์ดังกล่าวทางเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 7-20 มิถุนายน 2567 รายได้จากการประมูลจะมอบให้กับ The King’s Trust Group เครือข่ายการกุศลที่พระองค์เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เพื่อช่วยเหลือเยาวชนในทั่วโลก
ทอดพระเนตรการบีบองุ่น
พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 พร้อมด้วย พระราชินีคามิลลา เสด็จเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ เป็นเวลา 3 วัน เมื่อวันที่ 20-22 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นการเลื่อนมาจากกำหนดเดิมในเดือนมีนาคม 2567 หนึ่งในหมายกำหนดการคือการเสด็จไปเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) เป็นเมืองที่มีชาวอังกฤษไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
พระราชินีคามิลลา ทรงแวะทักทายลามา
ณ เมืองบอร์กโดซ์ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปเยือน ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต ในคอมมูนเปสซัค ลีญอง (Pessac-Léognan) ในอำเภอกราฟส์ โดยมี Florence -Daniel Cathiard สองสามีภรรยาเจ้าของชาโตถวายการต้อนรับ ทอดพระเนตรไร่ออร์แกนิค และทักทายลามาชื่อโกดา (Koda)
เจ้าของไร่องุ่นได้ถวายไวน์ให้ทั้งพระองค์ชิมคือ ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต วินเทจ 2005 ซึ่งเป็นปีที่ทั้งสองพระองค์ทรงหมั้นกัน และทางชาโตได้ถวาย ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต รูจ คูเว สเปเชียล ชาร์ลส์ ที่ 3 (Château Smith Haut Lafitte Rouge Cuvée Spéciale Charles III) เป็นของกำนัลพิเศษแด่ทั้งสองพระองค์ด้วย
ชิมไวน์วินเทจ 2005
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ ทรงออกแบบฉลาก ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ 2004 (Chateau Mouton Rothschild 2004 ) 1 ใน 5 เสือเมด็อก ซึ่งหลังจากราชาภิเษกเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ 2004 ก็กลายเป็นไวน์ที่ตลาดไวน์ทั่วโลกมีความต้องการสูงขึ้นมาทันที
ประติมากรรมในไวเนอรี
ผมไป ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต มาแล้ว 3 ครั้ง นอกจากไวน์แดงแล้ว ไวน์ขาวดราย (Dry) ยังอร่อยอีกด้วย ขณะเดียวกันยังได้รับการยกย่องว่าเป็นไร่องุ่นที่งดงามมากแห่งหนึ่งในบอร์กโดซ์ ภายในอาณาบริเวณมีงานประติมากรรมของศิลปินหลายชาติตั้งไว้ตามที่ต่าง ๆ
หนึ่งในนั้นคือ ชาร์ลส์ แฮดคอร์ค (Charles Hadcock) ประติมากรชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งมีผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่รวมเอาองค์ประกอบของธรณีวิทยา วิศวกรรม และคณิตศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน
ประติมากรรมจากศิลปินดังในไร่องุ่น
ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต อยู่ในเขตเปสซัค ลีญอง (Pessac-Leognan) ซึ่งเป็นคอมมูนและเอโอซี (AOC) หนึ่งของอำเภอกราฟส์ (Graves) เมืองบอร์กโดซ์ เป็นถิ่นที่อยู่ของไวน์ระดับเทพอย่าง ชาโต โอต์ บริออง (Chateau Haut-Brion) ไวน์ชั้น 1 บัญชี บอร์กโดซ์ 1855 (Bordeaux Classification 1855) และเป็น 1 ใน “5 เสือเมด็อก” โดยกราฟส์เป็นหนึ่งในอำเภอที่อยู่ทางใต้ของเมืองบอร์กโดซ์
กราฟส์ได้ชื่อว่าเป็นเขตเดียวในบอร์กโดซ์ ที่ทำไวน์ได้ยอดเยี่ยมทั้งไวน์ขาวดราย ไวน์แดง และไวน์ขาวหวาน ที่สำคัญมีการจัดเกรดไวน์ของตัวเอง ไม่นำไปรวมกับบัญชีเมด็อก 1855
ประติมากรรมของ Charles Hardcock
ซึ่งตามบัญชีปี 1959 แบ่งเป็นประเภท Crus Classes - Great Growths (แดงและขาว) มี 7 ตัว ประเภท Crus Classes - Great Growths (เฉพาะแดง หนึ่งในนั้นคือชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต) มี 6 ตัว Crus Classes - Great Growths (เฉพาะขาว) มี 3 ตัว มีเพียง ชาโต โอต์-บริออง เท่านั้นที่ไปเป็น 1 ใน 5 ชั้น 1 ของ Bordeaux Classification 1855
ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต ก่อตั้งในศตวรรษที่ 14 เปลี่ยนเจ้าของมาหลายตระกูล กระทั่ง Daniel Cathiard เจ้าของคนปัจจุบันซื้อมาในปี 1990 มีพื้นที่ทั้งหมด 67 เฮกตาร์ ในจำนวนนี้ 56 เฮกตาร์ ใช้ปลูกองุ่นแดงกาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) 55% แมร์โลต์ (Merlot) 35% และกาแบร์เนต์ ฟรอง (Cabernet Franc) 10%
ไวน์ที่นำออกประมูล
ส่วนองุ่นเขียวบนพื้นที่ 11 เฮกตาร์ ปลูกโซวีญอง บลอง (Sauvignon Blanc) 90% เซมิลลง (Sémillon) 5% และโซวีญยอง กรีส์ (Sauvignon Gris) 5% ผลิตชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต ไวน์แดง 10,000 ลัง ไวน์ขาว 2,500 ลัง ส่วนไวน์ฉลากสองชื่อ เลส์ โอต์ส เดอ สมิธ (Les Hauts de Smith) 5,500 ลัง ต่อปี
อีกหนึ่งในมนต์เสน่ห์ของชาโตแห่งนี้คือ ในปี 2567 สด ๆ ร้อน ๆ นี่เอง มิชลินไกด์ ได้ประกาศเปิดตัวรางวัลมิชลินคีย์ (MICHELIN Keys) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อนำเสนอความแตกต่างใหม่ล่าสุด ด้วยการยกย่องโรงแรมอันโดดเด่นที่สุดทั่วโลก และ โรงแรมเลส์ ซูร์ซ เดอ โกดาลี (Les Sources de Caudalie) ซึ่งเป็นโรงแรมในตระกูลเดียวกับ ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต ได้ MICHELIN Keys 3 ดอก ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในฝรั่งเศสที่ได้รางวัลกุญแจมิชลินถึง 3 ดอก
โรงแรม Les Sources de Caudalie
โรงแรม Les Sources de Caudalie อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับ ชาโต สมิธ โอต์ ลาฟิต เป็นโรงแรมเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมากในฝรั่งเศส มีห้องพัก 60 ห้อง สปาขนาดใหญ่ และร้านอาหาร 3 แห่ง สร้างขึ้นโดยความร่วมมือกับแบรนด์ Caudalie ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอางจากธรรมชาติที่เน้นการบำบัดด้วยไวน์ เป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าจะพบได้ที่ไหนในฝรั่งเศส (หรือทั่วโลก)
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จทอดพระเนตรถังบ่มไวน์
ร้านอาหาร 3 แห่ง โรงแรม Les Sources de Caudalie มีคอนเซปต์ที่แตกต่างกัน คือ La Grand Vigne (ได้ 2 ดาวมิชลิน) ตามด้วย La Table du Lavoir เป็นร้านอาหารบิสโทรสไตล์กูร์เมต์ และ Rouge เป็นไวน์บาร์และร้านอาหารบรรยากาศสบายๆ เน้นเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส
2005 วินเทจทรงหมั้น
ขณะที่วงการวิสกี้ก็ขอเฉลิมฉลองด้วยเช่นกัน โดยนายโคลิน สก็อตต์ (Colin Scott) มาสเตอร์ เบลนเดอร์ (Master blender) ชื่อดังของสก็อตแลนด์ ได้ปรุงวิสกี้ที่ชื่อฺ Blend of 75 โดยเบลนด์จาก 75 แรร์วิสกี้ (Rare Whiskiey) หรือวิสกี้ที่หายาก ในจำนวนนี้เป็น 19 วิสกี้ จากโรงกลั่นที่สาบสูญไปแล้ว (Lost Distillery) เช่น Imperial, Glenlochy และ Convalmore เป็นต้น
วิสกี้ Blend of 75
ส่วนตัวเลข 75 คือพระชนมายุของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หลังจากผ่านกระบวนการและพิธีการต่าง ๆ แล้ว วิสกี้นี้จะออกประมูลนำรายได้มอบให้องค์กรกุศลที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงอุปถัมภ์อยู่