กาแฟจะแพงขึ้นอีก? เปิด 3 ปัจจัยรุมเร้าราคา
บิ๊กบอสลาวาซซา แบรนด์กาแฟดังอิตาลี ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยง โลกร้อน ปัญหาขนส่ง พ่วงกฎใหม่อียู เพิ่มภาระต้นทุน ดันราคากาแฟพุ่งสูงต่อเนื่องถึงปีหน้า
"ราคากาแฟจะปรับตัวขึ้นสูงอีกจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย... การเพิ่มขึ้นของราคากาแฟทั่วโลกรอบนี้ไม่เหมือนกับที่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรม ราคากาแฟยังผันผวนสูง ทำนายอะไรไม่ได้เลย ประชาคมกาแฟคงต้องทำใจยอมรับในเรื่องนี้"
ประโยคข้างต้นนี้ที่เหมือนจะบอกว่ากาแฟแพงแล้วและจะแพงขึ้นอีกนั้น ผู้เขียนไม่ได้มโนขึ้นเองนะครับ แต่เป็นความคิดเห็นล่าสุดของ 'จูเซปเป้ ลาวาซซา' ประธานบริษัทลาวาซซา (Lavazza) หนึ่งในแบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากอิตาลี
แน่นอน ราคากาแฟใน 'ประเทศไทย' ก็เคลื่อนไหวไปตามราคากาแฟในตลาดโลกอย่างชนิดแยกกันไม่ออก คนไทยมียอดบริโภคกาแฟปีละ 90,000 ตัน แต่ผลิตในไทยได้เพียง 30,000 ตัน จำเป็นต้องนำเข้ากาแฟนอกเพิ่มเติมอีกถึง 60,000 ต้น นี่เป็นข้อมูลจากสมาคมกาแฟพิเศษไทย
ชัดเจนว่าถ้าราคากาแฟต่างประเทศสูงขึ้น ราคากาแฟในไทยก็ต้องเพิ่มขึ้นไปด้วย นี่ยังไม่นับรวมปัญหาจากต้นทุนด้านอื่น ๆ ที่ขยับขึ้นด้วย
ราคากาแฟจะปรับตัวขึ้นอีกจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย คอกาแฟคงต้องทำใจยอมรับเรื่องนี้... จูเซปเป้ ลาวาซซา ประธานบริษัทลาวาซซา ทำนายทายทักเอาไว้ (ภาพ : Elin Melaas on Unsplash)
จูเซปเป้ ลาวาซซา รับช่วงบริหารธุรกิจกาแฟของ 'ครอบครัวลาวาซซา' ถือเป็นทายาทรุ่นที่ 4 แล้วของตระกูลใหญ่แห่งเมืองตูริน
ลาวาซซานั้นเปิดกิจการมาตั้งแต่ปีค.ศ.1895 หรือเกือบ 130 ปีมาแล้ว ทำธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร ตั้งแต่เครื่องดื่มกาแฟทุกประเภท, เมล็ดกาแฟคั่ว, อุปกรณ์เครื่องชงกาแฟ, ร้านกาแฟหรือเอสเพรสโซ่บาร์ และอื่น ๆ เหนือสิ่งอื่นใดลาวาซซาเป็น 'ผู้นำเข้า' สารกาแฟรายใหญ่จากแหล่งปลูกทั่วโลก
ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอังกฤษหลายรายในประเด็น 'ความท้าทายที่อุตสาหกรรมกาแฟกำลังเผชิญ' ระหว่างการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันที่แบรนด์ลาวาซซาเป็นสปอนเซอร์อยู่ด้วยนั้น จูเซปเป้ ลาวาซซา ยอมรับตรงไปตรงมาว่า เรื่องที่เขาเคยพูดว่าราคากาแฟจะลดลงในปีนี้นั้น ถือเป็นความผิดพลาด
จูเซปเป้ ลาวาซซา ประธานบริษัทลาวาซซา (Lavazza) หนึ่งในแบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากอิตาลี (ภาพ : lavazzagroup.com)
ประธานลาวาซซามองมุมใหม่ว่า ราคากาแฟจะไม่ลดลง ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก ผลพวงจาก 'ห่วงโซ่อุปทาน' (supply chain) ของธุรกิจกาแฟ อยู่ภายใต้แรงกดดันรุนแรง
ลองคนระดับบิ๊กบอสของวงการกาแฟโลกที่คลุกคลีอยู่กับธุรกิจกาแฟมานาน ออกมาปรับมุมมอง เปลี่ยนคำทำนายใหม่ เกี่ยวกับสถานการณ์ราคากาแฟในตลาดโลกเยี่ยงนี้แล้ว ก็คงต้องรับฟังไว้ ด้วยความอยากรู้ว่าอะไรหรือเพราะเหตุใดที่ทำให้เขามองเช่นนั้น
มีปัจจัยหลัก ๆ อยู่ 3 ตัวที่ประธานลาวาซซา มองว่ามีอิทธิพลส่งผลกระทบหนัก ๆ ต่อตลาดกาแฟโลกในปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ภาวะชะงักงันด้านการขนส่งกาแฟ และ กฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าด้วยเรื่องสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า
กราฟฟิกแสดงความเคลื่อนไหวรอบ 2 ปี ของราคากาแฟโรบัสต้าในตลาดล่วงหน้าระหว่างประเทศ (ภาพ : www.ice.com)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งบางทีก็เรียกกันว่าโลกเดือดบ้าง โลกร้อนบ้าง นี่แหละเป็นปัญหา 'หนักอก' ของตลาดกาแฟโลกมานานหลายปีแล้ว วิกฤติสภาพอากาศทั้งภัยแล้งและน้ำค้างแข็งในบราซิล เคยทำให้ผลผลิตกาแฟลดลงฮวบฮวบ นำไปสู่ภาวะกาแฟขาดตลาดทั่วโลก ราคาจึงถีบตัวขึ้นพรวดพราด เพิ่มต้นทุนทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการกาแฟแทบทุกประเภท รวมไปถึงผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระราคากาแฟที่แพงขึ้นด้วย
ท่านผู้อ่านคงจำได้ดีนะครับ เมื่อ 2 ปีก่อน ราคากาแฟอาราบิก้าที่ซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าระหว่างประเทศ พุ่งขึ้นถึงระดับ 2.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ก่อนปรับตัวลงไปแกว่งในช่วง 1.5-2.0 ดอลลาร์สหรัฐตลอดปีที่แล้ว แต่ขณะนี้สวิงตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.3-2.4 ดอลลาร์สหรัฐอีกแล้วครับ
ปีนี้ไม่ใช่อาราบิก้าที่ร้อนแรง แต่เป็น 'โรบัสต้า' ต่างหากที่ทำเอาวงการกาแฟอินสแตนท์ 'ปั่นป่วน' ไปทั่วหน้า หลังราคากาแฟโรบัสต้าในตลาดล่วงหน้าลอนดอนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4,866 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้เอง พุ่งขึ้นไปแล้ว 70% นับจากปีที่แล้วเป็นต้นมา
กราฟฟิกแสดงความเคลื่อนไหวรอบ 2 ปี ของราคากาแฟอาราบิก้าในตลาดล่วงหน้าระหว่างประเทศ (ภาพ : www.ice.com)
รอบนี้เป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ่ทำให้เกิดภัยแล้งใน 'เวียดนาม' กระทบแรงต่อการผลิตกาแฟโรบัสต้าของชาติผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล
บิ๊กบอสลาวาซซาให้สัมภาษณ์สื่ออังกฤษว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคากาแฟโรบัสต้านั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และก่อให้เกิดปัญหามากขึ้นในอุตสาหกรรมกาแฟ โดยเฉพาะความปรวนแปรไม่แน่นอนด้านอุปทาน
เมื่อบิ๊กบอสกาแฟอิตาลีไปให้สัมภาษณ์ที่อังกฤษ จึงมีการฟันธงว่า ปัจจัยความเสี่ยงในตลาดกาแฟโลก บวกกับภาวะเงินเฟ้อของอังกฤษเอง จะส่งผลให้ 'ราคากาแฟ' ในซูเปอร์มาร์เก็ตแดนผู้ดีเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปีหน้า จากที่ได้ปรับตัวขึ้นไปแล้ว 15% ในปีนี้ รวม ๆ แล้วก็ 25%
ภัยแล้งทำเวียดนามผลิตกาแฟได้น้อยลง ดันราคากาแฟโรบัสต้าในตลาดล่วงหน้าพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ภาพ : pexels.com/Michael Burrows)
"ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อการผลิตกาแฟโรบัสต้าตามแหล่งปลูกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย ทำให้ปริมาณโรบัสต้าที่ใช้ทำกาแฟสำเร็จรูปและเอสเพรสโซ่ลดลงฮวบฮาบ ปริมาณกาแฟในตลาดหายไปหลายล้านกระสอบ ยิ่งกว่านั้น การเก็บเกี่ยวกาแฟรอบต่อไปของเวียดนามอาจไม่มากพอที่จะทดแทนส่วนที่ขาดหายไปได้" ประธานแบรนด์ดังอิตาลี ให้ความเห็น
ผู้เขียนขอเสริมประเด็นนี้ด้วยข้อมูลจาก 'โวลคาเฟ่' เทรดเดอร์ค้ากาแฟเจ้าใหญ่จากแดนสวิส ที่ระบุว่า เวียดนามมีกำลังผลิตกาแฟประมาณ 24 ล้านกระสอบในฤดูกาลนี้ ต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากภัยแล้ง ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กบอกว่า การผลิตกาแฟโรบัสต้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะลดลง 4.6 ล้านกระสอบ เป็นการผลิตได้ต่ำกว่าเป้าปีที่สี่ติดต่อกันแล้ว
นอกจากนี้แล้ว บิ๊กบอสลาวาซซายังมองว่า 'ต้นทุนขนส่ง' กาแฟจากเอเชียและแอฟริกา ผ่านคลองสุเอซเข้าสู่ยุโรป ก็มีส่วนผลักดันราคากาแฟด้วยเช่นกัน
บริษัทค้ากาแฟยุโรปกำลังประสบปัญหาด้านการขนส่งกาแฟจากเอเชียและแอฟริกาเข้าสู่แผ่นดินยุโรป (ภาพ : Diego Catto on Unsplash)
ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว กองกำลังติดอาวุธฮูตีในเยเมน ประกาศโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านอ่าวเอเดนและทะเลแดง เพื่อตอบโต้อิสราเอลที่ทำสงครามสู้รบกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ทำให้เรือสินค้าต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางใหม่ โดยอ้อมเข้าทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา สร้างปัญหา 'ยุ่งยาก' ให้กับบริษัทยุโรปที่นำเข้ากาแฟจากเอเชียและแอฟริกาตะวันออก ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว และทำให้สต๊อกกาแฟในยุโรปลดลง
การเพิ่มขึ้นของราคากาแฟในตลาดล่วงหน้านี่แหละที่จูเซปเป้ ลาวาซซา บอกว่า ทำให้ส่วนต่างผลกำไรของบริษัทลดลง จากที่มีกำไรสุทธิ 95 ล้านยูโรในปี 2022 ลดลงเหลือกำไรสุทธิ 68 ล้านยูโรในปี 2023
ในส่วนยุโรปอีกเช่นกัน ประธานลาวาซซาแสดงความ 'วิตกกังวล' อย่างมากต่อกฎระเบียบใหม่ของอียูที่ห้ามนำเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า กฎหมายนี้กำหนดให้มีการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสินค้ากาแฟทุกชนิดที่นำเข้ามาในอียู และตั้งค่าปรับเป็นเงินไม่น้อยสำหรับบริษัทที่ละเมิดกฎดังกล่าว
เรื่องนี้ จูเซปเป้ ลาวาซซา บอกว่า เขาเห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็เตือนว่าอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมกาแฟ จนมีผลให้ราคากาแฟสูงขึ้น การติดตามห่วงโซ่อุปทานกาแฟ ทำได้ยากมากในหลายประเทศ บางประเทศแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกให้ทำเช่นนั้น
ผลผลิตกาแฟโรบัสต้าที่ลดลง กระทบโดยตรงต่อธุรกิจกาแฟผงสำเร็จรูปและกาแฟเอสเพรสโซ่ (ภาพ : Frank Leuderalbert on Unsplash)
"คุณต้องทำพิกัดไร่กาแฟโดยใช้ดาวเทียมและป้อนข้อมูลทั้งหมดบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เรื่องแบบนี้เกษตรกรในยุโรปอาจทำได้ แต่ไม่ใช่กับเกษตรกรในหลาย ๆ ประเทศ ปัญหาคือระบบที่อียูตัดสินใจนำมาใช้นั้น ใช้ไม่ได้กับเกษตรกรจำนวนมากทั่วโลก" บิ๊กบอสลาวาซซา ว่าเอาไว้
ทั้งนี้ มีเพียงบราซิลเท่านั้นที่พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว ดังนั้น บรรดาโรงคั่วกาแฟยุโรปจำเป็นต้องจัดหากาแฟเกือบทั้งหมดจากบราซิล ส่วนการซื้อกาแฟจากบางประเทศถือว่ามีความเสี่ยงสูงเกินไป นี่เป็นเรื่องอันตรายที่สุดแล้วที่เราต้องรับมือ บิ๊กบอสลาวาซซาจึงขอเรียกร้องให้อียู 'ชะลอ' การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน หาไม่แล้วเกษตรกรประมาณ 8 ล้านราย จะถูกตัดขาดโอกาสในการขายกาแฟให้ยุโรป แล้วตอนนี้มีเกษตรกรเพียง 20% ที่พร้อมปฏิบัติตามระเบียบใหม่
จูเซปเป้ ลาวาซซา ยังชี้ว่า เนื่องจากตลาดกาแฟเกิดปัญหาอุปทานลดลงและราคาก็สูงขึ้น กองทุนเฮดจ์ฟันด์และนักเก็งกำไรอื่น ๆ ก็เข้ามาในตลาดเช่นกัน ซึ่งการที่ราคากาแฟในตลาดล่วงหน้าพุ่งสูงขึ้นนั้น การเก็งกำไรเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญเช่นกัน
นี่แหละครับคือปัจจัยทั้งหมดทั้งมวล ภายใต้การวิเคราะห์สถานการณ์ราคากาแฟในตลาดโลกของจูเซปเป้ ลาวาซซา ประธานบริษัทลาวาซซา ที่ฟันธงลงไปแล้วว่า ราคากาแฟจะยังคงสูงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย
................................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี