จากโมร็อกโกสู่สายตาชาวโลก 'Bacha Coffee' ร้านกาแฟสไตล์เฮอริเทจ
กลุ่มการค้าสิงคโปร์จับร้านกาแฟเก่าแก่โมร็อกโก มารีโนเวตใหม่ ปั้นแบรนด์ บาชา คอฟฟี่ ขายสตอรี่ความเป็นร้านกาแฟยุคใหม่ในคอนเซปต์เฮอริเทจ
2-3 วันก่อน ผู้เขียนข่าวไปเจอข่าวจากเกาหลีใต้ มียูทูบเบอร์หนุ่มชื่อดังรายหนึ่งตั้งใจไปซื้อกาแฟร้อนจากร้านกาแฟต่างประเทศในกรุงโซล พอเห็นตัวเลขราคาต่อแก้วเข้า ก็ทำเอาผู้เขียน 'สะเทือนใจ' ไปบ้างเล็กน้อย เพราะเสิร์ฟกันในราคาแก้วละ 200,000 วอน หรือราว 5,000 บาท และถ้าขายเป็นเมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงปริมาณ 100 กรัม ก็ตก 1.4 ล้านวอน เฉียด ๆ 35,000 บาท
ราคาแรงขนาดนี้...ยอมรับเลยว่าผู้เขียนไม่เคยลองชิมมาก่อนจริง ๆ
บางคนอาจตั้งข้อสังเกตว่ายูทูบเบอร์ชาวเกาหลีคนนี้ต้องมีรายได้มากขนาดไหนถึงกล้าสั่งกาแฟแก้วละ 'ครึ่งหมื่น' มาดื่ม บางคนอาจมองไปในอีกแง่มุมหนึ่งว่า น่าจะเป็นข่าวมาร์เก็ตติ้งโปรโมทร้านกาแฟมากกว่าไหม ยุคสมัยนี้อินฟลูเอนเซอร์หรือผู้มีอิทธิพลทางโลกออนไลน์ รับงานรีวิวสินค้ากันก็มากมายก่ายกอง...หรือเปล่า
เมล็ดกาแฟที่ถูกพาดพิงถึงนี้ เป็นของบราซิล ชื่อว่า 'ปาไรไซ โกลด์ คอฟฟี่' (Paraiso Gold Coffee) แปลเป็นไทยก็ประมาณกาแฟสวรรค์สีทอง ถือเป็นเมล็ดกาแฟแบบซิงเกิ้ล ออริจิ้น ที่มีราคาสูงสุดของร้าน ส่วนถูกที่สุดของร้านก็เป็นชุดกาแฟร้อน ดื่มกันได้ 2 คน ราคาตกประมาณ 16,000 วอน หรือ 400 กว่าบาท เสิร์ฟแบบเป็นเหยือกกาแฟมาในปริมาณ 350 มิลลิลิตร
ชุดเมนูกาแฟร้อนในร้านบาชา คอฟฟี่ เสิร์ฟมาในกากาแฟสีทอง พร้อมน้ำตาลแท่ง (ภาพ : facebook.com/BachaCoffeeOfficial)
ร้านกาแฟแห่งนี้ก็เพิ่งเข้าไปเปิดสาขาในเกาหลีใต้เมื่อกลางปีมานี้เอง ชื่อของร้านก็คือ 'บาชา คอฟฟี่' (Bacha Coffee) เน้นตกแต่งร้านในรูปแบบศิลปะโมร็อกโก ย้อนยุคสุดคลาสสิคโดนใจสายอาร์ต มีบริษัท 'วีทรี กูร์เมต์' (V3 Gourmet) กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านอาหารและเครื่องดื่มแนวไลฟ์สไตล์จากสิงคโปร์ เป็นเจ้าของแบรนด์ เช่นเดียวกับแบรนด์ชาสุดหรูทีดับบลิวจี (TWG Tea) นั่นแหละครับ
บาชา คอฟฟี่ กับร้านโทนสีส้มอมน้ำตาล เปิดตัวเมื่อไม่กีปีมานี้เอง แต่โมเดลธุรกิจน่าสนใจทีเดียว ไม่ค่อยเห็นใครทำกันมากนัก ขายสตอรี่ความเป็นร้านกาแฟคอนเซปต์ 'เฮอริเทจ' นำศิลปะและสถาปัตยกรรมของ 'โมร็อกโก' จากแอฟริกาตอนเหนือ หรือที่เรียกกันติดปากว่าศิลปะแบบมัวร์ มานำเสนอ ต่างไปจากร้านกาแฟทั่วไปที่มักเปิดเป็นสไตล์โมเดิร์น แล้วก็แข่งกันในเรื่องเมล็ดกาแฟและเมนูกาแฟ
รูปแบบบริการและพื้นที่ภายในร้านบาชา คอฟฟี่ แยกออกเป็น 3 โซนชัดเจน ให้ความสำคัญเท่าเทียมกัน แบ่งเป็นโซนจำหน่ายเมล็ดกาแฟและอุปกรณ์ชงกาแฟ, โซนนั่งดื่มกาแฟซึ่งรวมไปถึงอาหารและเครื่องดื่ม และโซนเคาน์เตอร์กาแฟเทคอะเวย์ หรือ คอฟฟี่-ทู-โก
บาชา คอฟฟี่ กับร้านสาขาแรกในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งอยู่บนถนนชองดัมดง ย่านช้อปปิ้งชื่อดัง (ภาพ : facebook.com/BachaCoffeeOfficial)
ในโซนแรก จะมีพนักงานประจำคอย 'แนะนำ' เมล็ดกาแฟแต่ละชนิดและวิธีใช้อุปกรณ์ชงกาแฟต่าง ๆ สำหรับลูกค้าที่ให้ความสนใจอยากจะซื้อหรือถามไถ่ ซึ่งไม่ค่อยเห็นกันนักตามร้านกาแฟสากลทั่วไป ถามว่างานในส่วนนี้สำคัญไหม ก็ขึ้นอยู่ปริมาณสินค้าที่วางอยู่ในร้าน
ถ้ามีเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแบบซิงเกิ้ล ออริจิ้น จากแหล่งปลูกทั่วโลกให้เลือกมากกว่า 200 รายการอย่างที่ผู้บริหารบาชา คอฟฟี่ ให้สัมภาษณ์ไว้ พนักงานแนะนำสินค้าก็ขาดไม่ได้แล้วล่ะครับ
รูปแบบกาแฟเทคอะเวย์ที่ซื้อกลับบ้านหรือไปจิบนอกร้าน ก็ออกแนว 'บูติก' มาก ๆ จัดมาเป็นชุดแบบรวมแพ็จเกจ แยกเป็นแก้วกาแฟกับถ้วยเล็ก ๆ ใส่ครีมวนิลาสูตรลับเฉพาะของร้าน ตามด้วยน้ำตาลแท่ง และช้อนไม้ อย่าถามราคานะครับ แน่นอนเลยว่าย่อมสูงกว่ากาแฟเทคอะเวย์ของร้านทั่ว ๆ ไป
ภายในร้านบาชา คอฟฟี่ มีพนักงานคอยให้คำแนะนำเมล็ดกาแฟและอุปกรณ์ชงกาแฟที่วางจำหน่ายในร้าน (ภาพ : facebook.com/BachaCoffeeOfficial)
ตลาดกาแฟเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความ 'พิเศษ' ตรงที่เป็นทั้งประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้บริโภคกาแฟ แนวโน้มการบริโภคในย่านนี้จากอดีตถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การนำเสนอกาแฟเกรดพรีเมียมและกาแฟแบบพิเศษ เนื่องจากผู้บริโภคแสวงหารสชาติกาแฟที่ต่างไปจากเดิม อัตราการบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้นในแต่ละปี มีแบรนด์ยักษ์จากนอกและในภูมิภาคเปิดเครือข่ายขยายสาขากันอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่รูปแบบร้านที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย มีความสุขกับการแชร์ทุกสิ่งให้เพื่อนรับรู้ หรือคนที่ชอบตระเวนไปตามร้านคาเฟ่ต่าง ๆ เพื่อให้ได้เช็คอินพร้อมถ่ายรูป ที่เรียกว่า 'Cafe Hopping' ก็ถือเป็นอีกรูปแบบการโปรโมทร้านโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงสำหรับร้านหรือสินค้าที่มีความสวยงาม ดีไซน์ออกมาให้มีสีสัน หรือแปลกแหวกแนว
จะว่ามีทุนหนาหรือเห็นช่องว่างทางการตลาดอย่างไรก็แล้วแต่ เชนร้านกาแฟที่วางสถานะตนเองเป็นร้านแบบลักชัวรี่มีความหรูหราในสไตล์เฮอริเทจอย่าง 'บาชา คอฟฟี่' ขยายสาขาออกไปค่อนข้างรวดเร็วทีเดียว จากร้านแรกในสิงคโปร์เมื่อปลายปีค.ศ. 2019 ตามมาด้วยฮ่องกง, มาเลเซีย, อินโดนิเซีย, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ และคูเวต รวมแล้ว 24 สาขา ใน 12 เมืองใหญ่
กาแฟเทคอะเวย์ของร้านบาชา คอฟฟี่ เสิร์ฟกันมาเป็นชุด พร้อมครีมวนิลาในถ้วย ตามด้วยน้ำตาลแท่ง (ภาพ : facebook.com/BachaCoffeeOfficial)
เห็นว่าบริษัทมีแผนว่าในปลายปีนี้ จะเปิดสาขาแรกในแผ่นดินยุโรปที่กรุงปารีส และโตเกียว, มาเก๊า และซาอุดิอาระเบีย ในปีหน้า
แล้วบริษัทจากสิงคโปร์ไปเกี่ยวข้องกับร้านกาแฟสไตล์โมร็อกโกได้อย่างไรกัน....
เรื่องราวต้องย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1910 เป็นปีที่ร้านกาแฟบาชา คอฟฟี่ เปิดตัวเป็นครั้งแรกในเมือง 'มาร์ราเกช' ในโมร็อกโก ตำแหน่งของร้านตั้งอยู่ใกล้กับวังดาร์ เอล บาชา สถานที่อยู่อาศัยของขุนน้ำขุนนางในสมัยนั้น เคยมีนักการคนสำคัญระดับโลกแวะเข้ามานั่งจิบกาแฟอาระเบียกันหลายคนทีเดียว เช่น อดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ แห่งสหรัฐ และอดีตนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล แห่งอังกฤษ รวมไปถึงชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลกระดับตำนานของวงการฮอลลีวู้ด
ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ร้านกาแฟแห่งนี้ถูกปิดลงไปและถูกทิ้งให้ทรุดโทรม จนกระทั่งปีค.ศ.2019 กลุ่ม 'วีทรี กูร์เมต์' ได้เข้าไปซื้อกิจการร้าน แล้วนำมารีโนเวทใหม่ จนร้านดั้งเดิมกลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบอีกครั้งในปีเดียวกันนั่นเอง จากนั้นก็ปลุกปั้นเชนร้านกาแฟหรูหราแบบเฮอริเทจในสไตล์โมร็อกโก ออกสู่สายตาชาวโลก โดยประเดิมร้านแรกในต่างประเทศที่สิงคโปร์ ฐานใหญ่ของกลุ่ม
รูปแบบร้านบาชา คอฟฟี่ เน้นตกแต่งภายในด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมโมร็อกโก ย้อนยุคสุดคลาสสิคโดนใจสายอาร์ต (ภาพ : facebook.com/BachaCoffeeOfficial)
การตกแต่งภายในอย่างหรูหราของเชนร้านกาแฟบาชา ดูจะมีความใกล้เคียงกับร้านชาทีดับบลิวจีอยู่ไม่น้อย รวมไปถึงการจัดพื้นที่ภายในร้านด้วย ถือเป็นคอนเซปต์ร้านชา-กาแฟในกลุ่มวีทรี กูร์เมต์ เลยทีเดียว แต่สำหรับร้านกาแฟค่อนข้างให้ความสำคัญกับตัวผลิตภัณฑ์กาแฟบรรจุหีบห่อและอุปกรณ์ชงกาแฟมาก ๆ เช่น ร้านใหม่ที่เปิดในกรุงโซล เป็นร้านสองชั้น ออกแบบให้ชั้นล่างเป็นช็อปขายสินค้า ส่วนชั้นบนเป็นร้านกาแฟแบบนั่งโต๊ะ
เรียกว่าเดินเข้าร้านเมื่อไหร่ ก็เห็นผลิตภัณฑ์หลากหลายของร้านก่อนเลย
ซองบรรจุภัณฑ์ก็ออกแบบได้โดดเด่นมีเอกลักษณ์ในแบบ 'กิ๊ฟท์บ็อกซ์' มองปุ๊บชอบปั๊บ น่าซื้อกลับมาบ้านหรือเป็นของขวัญของฝากยิ่งนัก แล้วก็มีให้เลือกได้หลายแบบด้วย นี่น่าจะเป็นอีกกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มวีทรี กูร์เมต์ แล้วโลเคชั่นหรือสถานที่ตั้งร้านส่วนใหญ่เลือกทำเลใจกลางย่านธุรกิจ หรือตามแหล่งท่องเที่ยว เสียด้วย
อย่างในสิงคโปร์ก็เลือกเปิดสาขาอีกแห่งที่สนามบินชางงี พร้อมโฆษณาว่าเป็นร้านสาขาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่ 7,000 ตารางฟุต ส่วนในกรุงโซล เกาหลีใต้ ก็เปิดสาขาแรกที่ถนนชองดัมดง อันเป็นย่านช้อปปิ้งชั้นนำ ขณะที่ในจาการ์ต้าของอินโดนิเซีย ก็เลือกทำเลในศูนย์การค้าเสนายัน พลาซ่า
บาชา คอฟฟี่ เน้นเสิร์ฟและจำหน่ายกาแฟอาราบิก้า จากแหล่งปลูกทั่วโลก รวมแล้วกว่า 200 รายการ (ภาพ : facebook.com/BachaCoffeeOfficial)
สำหรับเมล็ดกาแฟคั่วแบบซิงเกิ้ล ออริจิ้น ก็นำเข้ามาทำตลาดมากมายทีเดียว นอกจากกาแฟระดับไฮโซอย่าง ปาไรไซ โกลด์ ตัวแพงจากบราซิลแล้ว ก็มีกาแฟหายากตัวดัง ๆ อีกหลายตัว บรรจุแพจเกจจิ้งขนาด 100 กรัม ราคาตั้งแต่ 17-34 ดอลลาร์สหรัฐ (570-1,150 บาท) เช่น จาเมก้า บลู เม้าเท่น, เอธิโอเปีย เยอร์กาเชฟ แฮร์ลูม, อินโดนีเซีย จาวา บลู, คิวบา เตอร์ควิโน, รวันด้า ไนมาเชค ไฮแลนด์, เปรู ตุงกี วัลเลย์ และ นิคารากัว แกรนด์ มาราโกกิป ซึ่งตัวหลังนี่เป็นสายพันธุ์กาแฟเมล็ดใหญ่ที่เรียกกันว่าเมล็ดช้าง
พวกอาหารและเบเกอรี่หลาย ๆ เมนู ก็เป็นสูตร 'ต้นตำรับ' จากโมร็อกโกด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับคอนเซปต์ร้านเป๊ะ ๆ
ร้านชาสุดหรูแบรนด์ทีดับบลิวจีของกลุ่มวีทรี กูร์เมต์ มาเปิดสาขาในประเทศแล้ว แต่ร้านกาแฟบาชายังไม่มา ก็น่าแปลกใจครับ เพราะแทบจะเปิดเครือข่ายสาขาตลาดหลัก ๆ ในอาเซียนเกือบหมดแล้ว ข้ามประเทศไทยไปเฉยเลย
ผู้บริหารอาจจะมองว่าธุรกิจร้านกาแฟในไทยนั้นแข่งขันกันรุนแรงมาก จึงยังไม่กล้าเสี่ยงลงทุนเปิดตัวหรือเปล่า? ก็น่าคิดครับ
...........................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี