อีกก้าวของกาแฟเวียดนาม เริ่มเปิดประมูล Specialty Coffee
เวียดนามรุกธุรกิจกาแฟพิเศษเต็มตัว เปิดประมูลกาแฟคุณภาพสูงทั้งโรบัสต้าและอาราบิก้าจากงานประกวดเวียดนาม อะเมซิ่ง คัพ มั่นใจดันยอดส่งออกพุ่งลิ่ว
ทราบกันดีว่า 'เวียดนาม' เป็นผู้ผลิตกาแฟมากสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากบราซิล ร้อยละ 95 เป็นสายพันธุ์โรบัสต้า ที่ดูเหมือนจะเน้นไปที่ปริมาณมาก ๆ เป็นสำคัญ แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คนในวงการกาแฟประเทศนี้เริ่มหันมาพัฒนาคุณภาพกาแฟอย่างจริงจัง พยายามยกระดับขึ้นสู่เกรดสเปเชียลตี้ทั้งสายพันธุ์โรบัสต้าและอาราบิก้า จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่งในฐานะที่เวียดนามเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของประเทศไทยเราในภาคธุรกิจหลาย ๆ ด้าน
ผู้เขียนอ่านข่าวออนไลน์จากสื่อเวียดนามแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า 'กาแฟพิเศษ' (specialty coffee) ของเวียดนาม เปิดการประมูลกันเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคากาแฟประมูลสูงที่สุดอยู่ที่ 48 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,600 บาท ต่อกิโลกรัม กาแฟล็อตนี้มีจำนวน 30 กิโลกรัม เป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าของ 'ปัน คอฟฟี่' (Pun Coffee) ไร่กาแฟจากจังหวัดกว๋างจิ ทางตอนกลางของประเทศ
การเปิดประมูลกาแฟพิเศษของเวียดนามในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยปีก่อนทางผู้จัดบอกว่าอยู่ในขั้นทดลอง มาปีนี้จึงเดินงานแบบฟูลอ็อปชั่น มีการประมูลทั้งกาแฟโรบัสต้าและอาราบิก้าที่ปลูกในประเทศ กาแฟที่เข้าประมูลทั้งหมดฝ่ายผู้จัดคัดเลือกมาจากการประกวดกาแฟพิเศษประจำปี คือ 'เวียดนาม อะเมซิ่ง คัพ' (Vietnam Amazing Cup)
รายการเวียดนาม อะเมซิ่ง คัพ แรก ๆ ที่เห็นชื่อผู้เขียนนึกว่าเป็นการแข่งขันกีฬาพวกฟุตบอลหรือวอลเลย์บอลเสียอีก แต่ต้องยอมรับว่าผู้จัดตั้งชื่องานได้เก๋ไก๋ ดึงดูดความสนใจได้มาก ๆ คล้ายต้องการสื่อให้เห็นถึงความมหัศจรรย์หรือน่าทึ่งของกาแฟเวียดนาม
คนทำกาแฟเวียดนามเริ่มเปิดประมูลกาแฟพิเศษอย่างเป็นทางการทั้งสายพันธุ์อาราบิก้าและสายพันธุ์โรบัสต้า (ภาพ : pexels.com/Michael Burrows)
มีบริษัทส่งออกนำเข้ากาแฟรายใหญ่อย่าง 'ซิเม็กซ์โค ดั๊กลัก' กับ 'สมาคมกาแฟบวนมาถ็วต' ร่วมเป็นโต้โผจัดงาน สปอนเซอร์งานค่อนข้างอุ่นหนาฝาคั่งทีเดียว 17-18 บริษัท
วัตถุประสงค์หลักการจัดประกวดกาแฟพิเศษเวียดนาม มีด้วยกันหลายข้อซึ่งก็ไม่ต่างไปจากเป้าหมายของการประกวดในประเทศอื่น ๆ เช่น กระตุ้นให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพกาแฟ, ให้รางวัลต่อเกษตรกรที่มุ่งมั่นผลิตกาแฟได้มาตรฐานพิเศษ, แนะนำกาแฟพิเศษสู่สายตาผู้บริโภครวมไปถึงโรงคั่วทั้งในและนอกประเทศ และส่งเสริมการบริโภคกาแฟพิเศษ เป็นต้น
ทางผู้จัดการประกวดบอกว่า การแข่งขันในรอบแรกจนถึงรอบไฟนอล ยึดตามกรอบมาตรฐานและขั้นตอนการประเมินตามข้อบังคับของสมาคมกาแฟพิเศษ (SCA) และสถาบันเพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟ (CQI)
ส่วน'คณะกรรมการผู้ตัดสิน' การประกวดสุดยอดกาแฟเวียดนาม ก็คัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์สูงและมีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในกาแฟพิเศษ มีทั้งชาวเวียดนามและชาวต่างประเทศ อยากเห็นหน้าค่าตัวว่าใครเป็นใครเข้าไปแวะชมได้ในเว็บไซต์เวียดนาม อะเมซิ่ง คัพ ครับ
ไร่กาแฟออร์แกนิกขนาดเล็กอย่าง 'แอโรโค คอฟฟี่' เริ่มส่งออกกาแฟพิเศษไปยังสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, จีน และญี่ปุ่น (ภาพ : facebook.com/aerococoffee)
ผู้บริหารซิเม็กซ์โค เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะยกระดับสถานะของกาแฟเวียดนามทั้งในด้านคุณภาพและมูลค่าแบรนด์ โดยมีเป้าหมายผลักดันตลาดส่งออกกาแฟเวียดนามทั้งระบบให้มีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 10 ปี จากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ไร่กาแฟออร์แกนิกขนาดเล็กอย่าง 'แอโรโค' (Aeroco) ในเมืองบวนมาถ็วต ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีเวียดนาม อะเมซิ่ง คัพ ถึง 5 ปีติดต่อกัน เริ่มส่งออกกาแฟคุณภาพสูงและชนิดพิเศษไปยังสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, จีน และญี่ปุ่น
ขอเติมข้อมูล 'บวนมาถ็วต' กันนิดนึงครับ เมืองนี้เป็นเมืองหลักของจังหวัดดั๊กลักในที่ราบสูงตอนกลางของประเทศที่เรียกว่า เซนทรัล ไฮแลนด์ มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในฐานะ 'เมืองหลวงกาแฟเวียดนาม' มีประวัติการทำไร่กาแฟมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1920 ย่านนี้แหละที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามากที่สุดประมาณ 95% ส่วนที่เหลือก็เป็นสายพันธุ์อาราบิก้า และสายพันธุ์เอ็กเซลซ่า
โดยอาราบิก้าที่ปลูกกันมากได้แก่ พันธุ์'คาติมอร์' ตอนหลัง ๆ ก็นำพันธุ์'ทิปปิก้า' และ'เบอร์บอน' เข้ามาปลูกกันด้วย
ตัวอย่างสารกาแฟที่นำมาประมูล คัดเลือกจากไร่กาแฟที่ได้อันดับสูง ๆ ในการประกวดสุดยอดกาแฟ เวียดนาม อะเมซิ่ง คัพ ประจำปี 2024 (ภาพ : facebook.com/Simexco)
เวียดนาม อะเมซิ่ง คัพ เริ่มประกวดกาแฟพิเศษกันมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2019 ราวเดือนเมษายน งานจัดกันที่ฮานอย ส่วนการประมูลกาแฟเพิ่งมาเริ่มต้นกันเมื่อปีก่อนเป็นปีแรก จัดในพื้นที่ของบริษัท 'ซิเม็กซ์โค ดั๊กลัก' ที่เมืองบวนมาถ็วต มีการประมูลกันแบบทั้งหน้างานคือไปบิดกันสด ๆ ที่งานเลย กับประมูลทางออนไลน์ผ่านแฟลตฟอร์มโซเชียลดังอย่างติ๊กต็อก
หลังการเปิดประมูลกาแฟพิเศษในปีแรกผ่านไปไม่กี่เดือน ก็มีรายงานข่าวจากสื่อเวียดนามเองว่า กาแฟพิเศษล็อตแรกจากการประมูลเตรียมจัดส่งไปยัง 'ญี่ปุ่น' ผู้จัดส่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ บริษัทซิเม็กซ์โค ดั๊กลัก นั่นเอง
ย้อนกลับมาที่การประมูลครั้งที่ 2 ซึ่งเพิ่งจบลงไปสด ๆ ร้อน ๆ ตอนกลางเดือนสิงหาคม มีกาแฟโรบัสต้าที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่การประมูลด้วยกัน 9 ล็อต และกาแฟอาราบิก้าอีก 6 ล็อต รวมแล้ว 15 ล็อต จากฟาร์มกาแฟทั่วประเทศ คะแนนคัปปิ้งสกอร์ของกาแฟอาราบิก้าอยู่ระหว่าง 84-85 คะแนน ส่วนของโรบัสต้าอยู่ระหว่าง 83-84 คะแนน
รอบนี้ กาแฟโรบัสต้าโพรเซสแบบเนเชอรัลของบริษัท 'เกษตรอินทรีย์' แห่งเวียดนาม จากลิมด่ง จังหวัดในที่ราบสูงตอนกลางของประเทศ ได้ราคาประมูลสูงสุด 29 ดอลลาร์ หรือ 980 บาท ต่อกิโลกรัม
บรรยากาศการเปิดประมูลสุดยอดกาแฟเวียดนาม มีทั้งประมูลสด ๆ หน้างาน และผ่านทางออนไลน์ (ภาพ : facebook.com/Simexco)
ขณะที่สหกรณ์ไร่กาแฟ 'เอ้า ตัน' จากดั๊กลัก ซึ่งร่วมในการประมูลกาแฟครั้งนี้ด้วย บอกว่า รู้สึกตื่นเต้นที่มีโอกาสนำเสนอกาแฟพิเศษโรบัสต้าจากที่ราบสูงดั๊กลักให้กับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟทั้งในและต่างประเทศ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่สหกรณ์ได้เข้าร่วมการประมูล
โรบัสต้าของสหกรณ์ไร่กาแฟแห่งนี้ มีบริษัท 'โปแลนด์'แห่งหนึ่งประมูลไปในราคา 24.4 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 520 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทางเจ้าของไร่บอกว่าสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์
สำหรับกาแฟโรบัสต้าพิเศษ สื่อเวียดนามส่วนใหญ่เรียกว่าโรบัสต้า สเปเชียลตี้ ไม่ได้เรียก 'ไฟน์ โรบัสต้า' (Fine Robusta) แบบบ้านเรา
สำหรับหมวดกาแฟอาราบิก้าอย่างที่เกริ่นนำไปแล้ว ผู้ชนะการประมูลสูงสุดคือ ปัน คอฟฟี่ ในราคากาแฟ 48 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,600 บาท ต่อกิโลกรัม ดูแล้วราคาจะยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา
ทั้งนี้ การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทยประจำปีนี้ทั้งในรายการที่จัดโดย SCATH และ Cup of Excellence Thailand ราคากาแฟประมูลสูงที่สุดอยู่ระหว่าง 5,000-6,000 บาท ต่อกิโลกรัมทีเดียว
อีกตัวอย่างของสารกาแฟจากไร่กาแฟที่เข้าร่วมการประมูลสุดยอดกาแฟเวียดนาม ประจำปี 2024 (ภาพ : facebook.com/hiephoicaphebuonmathuot)
ฝ่ายผู้จัดงานให้ข้อมูลว่า ราคากาแฟที่ชนะการประมูลสูงกว่าราคาตลาดราว 6-7 เท่าตัว และที่สำคัญคือ มีผู้เข้าร่วมงานเยอะมาก ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงคั่ว, บาริสต้า และคอกาแฟ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังได้รับความสนใจจากโรงคั่วกาแฟจาก 'เกาหลีใต้' และ 'จีน' โดยให้ความสนใจในกาแฟโรบัสต้าแบบพิเศษ
เพื่อดึงคนให้เข้ามาร่วมงานเพิ่มสีสันความคึกคัก ฝ่ายผู้จัดนำเสนอกิจกรรมมากมาย ของรางวัลก็เพียบ มีคอร์สสั้น ๆ อบรมชงกาแฟดริปด้วย จัดกัน 3 วันเต็ม ๆ วันสุดท้ายค่อยมาเริ่มประมูลกาแฟ เรียกว่าเป็นงานกึ่งประมูลกึ่งกิจกรรมกาแฟก็ว่าได้
อีกหนึ่งไฮไลต์ของการประมูลครั้งนี้คือ มีการ 'ไลฟ์สด' การประมูลบนแฟลตฟอร์มติ๊กต็อก มียอดผู้เข้าชม 1.7 ล้านวิว โดยผู้ชนะประมูลกาแฟหนึ่งล็อต ก็มาจากการประมูลผ่านช่องทางออนไลน์นี้เอง
ผู้เขียนเข้าไปในเว็บไซต์เวียดนาม อะเมซิ่ง คัพ เพื่อค้นหารายชื่อผู้ชนะการประมูลทั้งสองกระดานคือโรบัสต้ากับอาราบิก้า แต่ไม่พบ เข้าใจว่ายังไม่ได้อัพโหลดลงออนไลน์ พบเฉพาะข้อมูลการประกาศผลสุดยอดกาแฟพิเศษประจำปี 2024 ที่ให้รายละเอียดครบถ้วนทั้งชื่อไร่กาแฟ, ข้อมูลติดต่อ, จำนวนล็อต, รูปแบบโพรเซส และคะแนนคัปปิ้งสกอร์
เกษตรกรชาวไร่กาแฟจากเมืองบวนมาถ็วต เมืองหลวงกาแฟเวียดนาม ประวัติการปลูกกาแฟย้อนกลับไปถึงต้นทศวรรษ 1920 (ภาพ : pexels.com/samuel nay)
ดูจากรูปแบบโพรเซสแล้ว ค่อนข้างหลากหลายทีเดียว นอกจากวิธีแปรรูปหลัก ๆ 3 แบบอันได้แก่ วอช, เนเชอรัล และฮันนี่แล้ว ยังมีโพรเซสแบบหมักยีสต์ และเนเชอรัล แอนาโรบิค ที่น่าสนใจคือ เกษตรกรไร่กาแฟเวียดนามใช้ยีสต์กันหลายรูปแบบในการหมักกาแฟ เช่น 'ยีสต์ทำไวน์ข้าวเหนียว'
และที่น่าพิจารณาก็คือ ในหมวดอาราบิก้านั้น เขียนรวม ๆ กันว่าเป็นกาแฟสายพันธุ์นี้ ไม่ได้แยกว่าเป็นคาติมอร์หรืออื่น ๆ
"นกนางแอ่นร่อนบินตามแสงอันอบอุ่นของแดดยามเช้า" เป็นคำพรรณาโวหารอย่างสวยหรูถึงเส้นทางการพัฒนากาแฟชนิดพิเศษของเวียดนาม จากผู้บริหารซิเม็กซ์โค ดั๊กลัก ผู้นำเข้า-ส่งออกกาแฟรายใหญ่
คนทำกาแฟเวียดนามเริ่มจริงจังกับการพัฒนาคุณภาพตามวิถีแห่งกาแฟพิเศษเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ตอนนี้ก็เริ่มเปิดประมูลกาแฟพิเศษอย่างเป็นทางการ น่าสนใจครับว่า กาแฟจากเพื่อนบ้านชาติอาเซียนด้วยกันกับไทยเรา จะเดินไปถึงไหนและอย่างไร
....................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี