พอราคาดี...ก็มีโจรขโมย เหตุเกิดที่ไร่กาแฟยูกันดา
ประเทศส่งออกกาแฟชั้นนำอย่างยูกันดาเผชิญปัญหาใหญ่ โจรก่อเหตุซ้ำซากลักขโมยผลเชอรี่กาแฟสุกตามไร่ หลังราคาโรบัสต้าพุ่งลิ่ว 100% ในปีนี้
ปีนี้เป็นปีที่ราคากาแฟ "โรบัสต้า" ในตลาดโลกทะยานขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้จากหลายประเทศพอจะมีกำรี่กำไรกันได้บ้าง แต่เกษตรกรใน "ยูกันดา" ประเทศในแอฟริกาตะวันออก กลับต้องเผชิญกับเหตุการณ์สุดเจ็บช้ำระกำใจ เพราะแม้ราคากาแฟหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 60% แต่ก็มาถูกแก๊งโจรร้ายแอบย่องเข้ามาลัก "ขโมย" เชอร์รี่กาแฟกันถึงภายในไร่เลย สร้างผลกระทบทั้งต่อรายได้ของเกษตรกรและเป้าหมายด้านการเพิ่มผลผลิตกาแฟระดับชาติ
บ้านเราเรื่องขโมยเด็ดผลไม้กันถึงในสวนก็มีข่าวให้เห็นเป็นประจำ แต่เคส "โจรกรรม" กาแฟยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ขณะที่ในแอฟริกากลับพบปัญหานี้อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงราคากาแฟแพงๆ อย่างในยูกันดา มาปีนี้ถือว่าปัญหาขโมยกาแฟทวีความรุนแรงถึงระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ไร่กาแฟในยูกันดาโดนขโมยผลกาแฟสุกจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ หลังจากราคากาแฟโรบัสต้าพุ่งลิ่ว 100% ตั้งแต่ต้นปี
(ภาพ : Carlos Felipe Ramírez Mesa on Unsplash)
ทางสมาคมผู้ปลูกกาแฟท้องถิ่นหลายองค์กรถึงกับออกมา "ร้องเรียน" กับรัฐบาลให้รีบเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยด่วน ก่อนจะมีผลกระทบต่อการส่งออกกาแฟซึ่งเป็นรายได้หลักของชาติ
สองสามวันก่อน ผู้เขียนอ่านเจอรายงานข่าวนี้จากเว็บไซต์ท้องถิ่นยูกันดาเอง ก็อดหยิบมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้ด้วยความเป็นห่วงและเห็นอกเห็นใจชาวไร่กาแฟเป็นอย่างยิ่ง เพราะกว่าจะปลูกกาแฟให้ผลิดอกออกผลต้องลงทุนลงแรงเหนื่อยยากไปเท่าไหร่ หวังว่าเมื่อราคากาแฟแพงขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้เข้ามาบ้าง กลับต้องมาเจอบรรดามือเลวลักขโมยผลเชอรี่กาแฟที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวในช่วงกลางคืน เกษตรกรถึงกับต้องเพิ่มมาตรการป้องกันหลายทาง เช่น จัดหาสุนัขมาเฝ้ายาม จ้างคนมาเฝ้าช่วงกลางคืน และทำรั้วล้อมรอบไร่
แผนที่ยูกันดา หนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟชั้นนำของทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะโรบัสต้านั้น ถือเป็นสินค้าส่งออกตัวหลักของประเทศ
(ภาพ : www.google.com/maps)
แต่ปัญหาคือเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากก็มีฐานะยากจน ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการรักษาความปลอดภัยได้อีก
เกษตรกรบางรายถึงกับเพิ่มจำนวน "ผึ้ง" ที่เลี้ยงไว้ช่วยผสมเกสรดอกกาแฟ หวังว่าแก๊งโจรกรรมกาแฟจะกลัวพิษอันร้ายกาจของเหล็กในกันบ้าง ทว่าข่าวก็ไม่ได้บอกเพิ่มเติมว่ามาตรการนี้ใช้ได้ผลหรือไม่อย่างไร
โรนัลด์ บูเล่ ผู้อำนวยการสมาคมเกษตรกรกาแฟกลางของยูกันดาที่มีตัวย่อว่าซีอีซีโอเอฟเอ ให้สัมภาษณ์เว็บข่าว www.independent.co.ug ว่า
ราคากาแฟปีนี้ที่สูงกว่าที่เคยเป็นมา ส่งผลให้เกิดกรณีลักขโมยกาแฟกันมากขึ้น ปัญหาหนักและรุนแรงขึ้นทุกปี ถ้าขืนปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป นอกจากจะส่งผลร้ายต่อชาวไร่กาแฟแล้ว ยังกระทบต่อสถานภาพผู้ส่งออกกาแฟอันดับ 5 ของโลกอีกด้วย
ตัวผู้อำนวยการสมาคมฯรายนี้ ก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ มีไร่กาแฟอยู่ 2 แปลง รวม 40 เอเคอร์ ตกประมาณ 100 ไร่ พอถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟ เขาต้องจ้างคนมาเฝ้าไร่ตอนกลางคืนประมาณ 10 คน
ตามข่าวบอกว่า หัวขโมยไม่ได้ย่องเข้ามาลักผลกาแฟอย่างเดียวนะ หลายๆครั้งก็ "ตัด" หรือ "ทำลาย" กิ่งก้านต้นกาแฟด้วย คือ ไล่ตัดกิ่งที่มีผลเชอรี่สุกๆ ออกไปเป็นกิ่งๆ บางไร่เจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ทำลายอาชีพกันเห็นๆ แบบนี้การผลิตกาแฟในอนาคตลดลงแน่นอน
นี่ไม่ต้องพูดถึง "มาตรฐาน" ของกาแฟว่าจะมีไหม หากว่าผลเชอร์รี่ที่ยังไม่สุกเต็มที่ซึ่งโดนหัวขโมยฉกไป เข้าไปอยู่ในขั้นตอนการแปรรูปเป็นสารกาแฟด้วย แล้วสารเหล่านี้ถูกนำบริโภคหรือถูกส่งออกไปถึงมือผู้ซื้อในต่างประเทศ
ยูกันดาปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าประมาณ 80% ของทั้งระบบ ที่เหลืออีก 20% เป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า
(ภาพ : Paige Laine Elmer on Unsplash)
ยูกันดาเป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นนำของทวีปแอฟริกา ส่งออกกาแฟมากเป็นอันดับสองรองจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเอธิโอเปีย แล้วก็ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ากันเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 80% ของทั้งระบบ นอกจากเป็นสายพันธุ์อาราบิก้า มีเขตปลูกกาแฟมากถึง 108 เขตด้วยกัน เกษตรกรแทบทั้งหมดเป็นรายเล็กๆ รวมแล้วประมาณ 1.7 ล้านคน
รายได้จากการส่งออกของ "ยูกันดา" ส่วนใหญ่ก็มาจากกาแฟนี่แหละ ปีนี้กาแฟทำรายได้ให้มากสุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว หลังราคากาแฟโรบัสต้าในตลาดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ในปีนี้ ทะยานไปแล้วราว 400% จากระดับในปีค.ศ. 2020 จากสถานการณ์โลกร้อนที่กระทบผลผลิตกาแฟของประเทศผู้ส่งกาแฟรายใหญ่ เช่น บราซิล และเวียดนาม
ในไร่กาแฟยูกันดา พอเชอรี่กาแฟเริ่มสุกพร้อมเก็บเกี่ยว ก็จะมีคนมารับซื้อเพื่อเอาไปขายหรือแปรรูปต่อ จึงมีราคาหน้าฟาร์มตั้งกันเป็นมาตรฐานในแต่ละวันซึ่งราคาก็ปรับขึ้นลงตามสถานการณ์กาแฟในตลาดโลก
อย่างปีนี้ ราคาเชอรี่กาแฟที่ยังไม่สีเอาเปลือกออก ขายกันกิโลกรัมละ 7,000 ชิลลิ่ง หรือ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 65% ตั้งแต่ต้นปี ถือเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัตการณ์ แต่ถ้าเป็นสารกาแฟหรือกรีนบีนก็จะขายกันในราคาสูงกว่านี้อีก
ผลกาแฟสุกที่ยังไม่สีเปลือกออก ในยูกันดาเรียกว่า คิโบโก (Kiboko) ในภาพเป็นเชอรี่กาแฟโรบัสต้าที่ผ่านการตากแดดจนแห้ง
(ภาพ : facebook.com/coffeeuganda)
เชอรี่กาแฟที่ยังไม่สีเอาเปลือกออกนี้ มีศัพท์แสงเรียกกันเป็นภาษาสวาฮีลีว่า "คิโบโก" (Kiboko) หมายถึงฮิปโปเตมัส น่าจะหมายถึงฮิโปโปเตมัสพันธุ์ Common Hippo คนละสายพันธุ์กับ "หมูเด้ง" ที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เพราะน้องหมูเด้งนั้นเป็นฮิปโปแคระ หรือ Pygmy Hippo พบในแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น
ส่วนราคาสารกาแฟอาราบิก้าที่ผ่านการแปรรูปแบบดรายโพรเซสและแบบวอชโพรเซส จำหน่ายหน้าฟาร์มกันในราคากิโลกรัมละ 12,000-13,000 ชิลลิ่ง หรือราว 3.2-3.5 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเป็นอาราบิก้าแบบวอช เรียกว่า "อาราบิกา พาร์ชเมนต์" (Arabica Parchment) ส่วนดรายโพรเซส เรียกกันสั้นๆว่า "ดรูก้า" (Drugar)
กรมพัฒนากาแฟยูกันดา (ยูซีดีเอ) จะทำหน้าที่แจ้งราคากาแฟหน้าฟาร์มกันทางออนไลน์ทุกวัน รวมไปถึงราคาสารกาแฟที่โปรเซสกันในประเทศด้วย
กาแฟเป็นสินค้าส่งออกตัวท็อปของยูกันดา ทำรายได้ให้ถึง 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2023/24
(ภาพ : Jose Luis C.R. จาก Pixabay)
ประวัติการทำไร่กาแฟเชิงพาณิชย์ในยูกันดานับย้อนหลังไปถึงต้นศตวรรษที่ 20 ในช่วงที่ตกเป็น "อาณานิคม" ของอังกฤษ มีการนำกาแฟโรบัสต้าเข้าไปปลูกเป็นจำนวนมากแบบไร่กาแฟเชิงเดี่ยว ปลูกไล่เรียงเป็นแถวๆในพื้นที่โล่งทั่วประเทศ เดิมทีก็ส่งออกเพื่อทำกาแฟผงสำเร็จรูปและผสมเป็นกาแฟเบลนด์ แต่ระยะหลายปีที่ผ่านมา มีการนำโมเดลความสำเร็จของกาแฟที่เติบโตใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ (shade-grown coffee) จากอเมริกากลางมาปรับใช้ รวมไปถึงมีองค์ความรู้ใหม่ๆเข้ามา เพื่อ "อัพเกรด" คุณภาพกาแฟให้ขึ้นสู่ระดับพรีเมี่ยมและสเปเชียลตี้
อย่าง "เนสเพรสโซ่" จับเอาโรบัสต้าจากยูกันดา มาทำกาแฟแคปซูล ไฮไลท์ไปที่ความเป็นโรบัสต้าจากแอฟริกาตะวันออก แล้วไม่ใช่คั่วกลางหรือคั่วเข้ม แต่เป็นคั่วอ่อนในแบบสเปเชียลตี้เสียด้วย
บริษัทค้ากาแฟหลายรายเข้าไปพัฒนากาแฟตามพื้นที่ต่างๆในยูกันดา หวังอัพเกรดคุณภาพขึ้นสู่ระดับพรีเมียมและสเปเชียลตี้
(ภาพ : chico明 จาก Pixabay)
"กาแฟป่า"หรือ "กาแฟพื้นเมือง" ที่เติบโตในพื้นที่ต่างๆของยูกันดาก็มีอยู่นะ แล้วก็มีหลายสายพันธุ์ไม่แพ้เอธิโอเปียเลยทีเดียว เพียงแต่ยังไม่มีการนำมาพัฒนาต่อยอดออกสู่สายตาชาวโลก
มีงานวิจัยหลายชิ้นพูดถึงกาแฟพื้นถิ่นสายพันธุ์โรบัสต้าที่พบตามป่ารอบๆทะเลสาบวิคตอเรียและป่าคัมปาลา แถมยังเป็นบ้านของกาแฟพื้นเมืองอีกอย่างน้อย 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ เอ็กซ์เซลซ่า, ยูเจนนอยดิส และนีโอเลอรอย
ขณะที่กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าปลูกกันบริเวณที่ลาดชันแถบภูเขาเอลกอน ทางตอนเหนือของทะเลสาบวิคตอเรีย ตามประวัติบอกว่ากาแฟพันธุ์นี้นำมาจาก "เอธิโอเปีย" ซึ่งในจำนวนกาแฟอาราบิก้า 20% ในยูกันดา แยกเป็น ทิปปิก้า,เอสแอล 14, เอสแอล 28 และเคนท์
มีข่าวว่า "ซูคาฟิน่า" จากสวิส เป็นหนึ่งในบริษัทค้ากาแฟรายใหญ่ที่เข้าไปพัฒนากาแฟในย่านนี้แล้ว
ในอดีตปัญหาความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง เป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางความมั่นคงหลายๆด้านของประเทศ รวมไปถึงการเติบโตของภาคการเกษตรด้วย กาแฟถูกนำไปขายให้เฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันกาแฟกลับมาส่งออกโดยตรงได้แบบเต็มสูบ กลายเป็นสินค้าส่งออกตัวหลักอันดับต้นๆ ทำรายได้ให้สูงถึง 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2023/24
รัฐบาลยูกันดาตั้งเป้าว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตกาแฟให้เป็น 20 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 60 กิโลกรัม) ภายในปีค.ศ. 2030 จากประมาณ 7 ล้านกระสอบในขณะนี้ และเพิ่มรายได้จากการส่งออกเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขืนยังปล่อยให้มีเหตุ “โจรกรรมกาแฟ” กันถี่ขึ้นตามสวนตามไร่ชาวบ้านเยี่ยงนี้ ก็คงยากที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
ผู้เขียนในฐานะคอกาแฟ ขอเอาใจช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยในยูกันดาผ่านพ้นอุปสรรคใหญ่ไปได้โดยราบรื่น สามารถปราบปรามหัวขโมยให้สิ้นซากได้โดยเร็ว