ขนาดนั้นเชียวหรือ? 'ทุเรียน' ต้นเหตุ 'กาแฟแพง' ทั่วโลก!

ขนาดนั้นเชียวหรือ? 'ทุเรียน' ต้นเหตุ 'กาแฟแพง' ทั่วโลก!

เกษตรกรเวียดนามแห่เพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนแทนกาแฟ ทำผลผลิตโรบัสต้าลดลงก็จริง แต่ยังไม่หนักเท่าปัญหาภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 10 ปี

ข่าวออนไลน์ที่เชื่อมโยงราคา 'กาแฟ' กับ 'ทุเรียน' เข้าด้วยกันของเว็บไซต์บีบีซีแห่งอังกฤษ ทำเอาหลายคนงุนงงระคนฉงนสงสัยซึ่งรวมไปถึงตัวผู้เขียนเองด้วย หลังพาดหัวข่าวที่มีการแปลเป็นเวอร์ชั่นไทยได้ใจความว่า

ทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นแรงที่สุดในโลกทำให้กาแฟมีราคาแพงขึ้นได้อย่างไรกัน?  และ ทำไมการปลูกทุเรียนจึงทำให้ราคากาแฟแพงขึ้น?

                         

เว็บไซต์ข่าวออนไลน์แดนผู้ดีเผยแพร่ข่าวชิ้นนี้เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื้อหาส่วนมากของข่าวพูดถึงปัญหาใหญ่ ๆ ที่ส่งผลให้ราคากาแฟในตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ นั่นก็คือ 'ภาวะโลกร้อน' ที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้การผลิตกาแฟลดลงฮวบฮาบในแหล่งปลูกใหญ่ที่สุดในโลก 2 แห่งอย่าง 'บราซิล' กับ 'เวียดนาม' ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตและส่งออกกาแฟ 55% ของโลก นอกจากนั้นก็ยังแตะไปถึงปัจจัยลบต่าง ๆ เช่น กลไกตลาด และสต็อกกาแฟที่หมดลง

บีซีซีให้ข้อมูลในส่วนของเวียดนามเพิ่มเติมว่า การลดลงของผลผลิตกาแฟในเวียดนามที่แทบทั้งหมดเป็นกาแฟสายพันธุ์ 'โรบัสต้า' เกิดจากปัจจัยด้านภัยแล้งในปีนี้ที่รุนแรงในรอบเกือบ 10 ปี ประกอบกับเกษตรกรเวียดนามจำนวนมากเปลี่ยนจากการทำไร่กาแฟมาเป็นไร่ทุเรียนแทน เพื่อส่งออกไปขายยังประเทศจีน เพราะให้กำไรดีกว่ากาแฟมากถึง '5 เท่า' ด้วยกัน

ขนาดนั้นเชียวหรือ? \'ทุเรียน\' ต้นเหตุ \'กาแฟแพง\' ทั่วโลก!

ภัยแล้งในบราซิลและเวียดนาม ส่งผลคุกคามต่อห่วงโซ่อุปทานกาแฟทั่วโลกอย่างรุนแรงในปีนี้  (ภาพ : Brent Ninaber on Unsplash)

พร้อมกันนั้นก็ให้ข้อมูลอีกว่า ขณะที่ส่งออกทุเรียนจำนวนมากไปยังจีน เวียดนามกลับส่งออกกาแฟโรบัสต้าลดลง '50%' ในเดือนมิถุนายนปีนี้ เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้า อันเป็นรายงานขององค์การกาแฟระหว่างประเทศ

ตอนท้ายของข่าวขมวดปมเอาไว้ว่า แม้ผลไม้ที่มีกลิ่นเหม็น (เดาว่าคนเขียนข่าวนี้คงไม่ชอบกลิ่นทุเรียนเป็นแน่แท้) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคากาแฟสูงขึ้น แต่ภาวะโลกร้อนอาจมีผลกระทบกระเทือนไปถึงความสามารถในการซื้อกาแฟในปีต่อ ๆ ไปด้วย

อันที่จริงคนเขียนข่าวนี้สรุปข่าวได้ตรงกับสถานการณ์กาแฟราคาสูงแล้วครับ เพียงแต่ตอนพาดหัวข่าวไปชูเอา 'ทุเรียน' มาเชิดเป็นไฮไลต์ อาจเพราะเพื่อดึงดูดความสนใจหรือจะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ คนที่เห็นเฉพาะพาดหัวข่าวโดยไม่ได้เข้าไปอ่านเนื้อหาทั้งหมด ก็อาจทึกทักเอาได้ว่าทุเรียนเป็น 'ตัวการใหญ่' หรือ 'ต้นเหตุสำคัญ' ทำให้ราคากาแฟในตลาดโลกแพงขึ้น

ลงรายละเอียดตัวเลขขององค์การกาแฟระหว่างประเทศกันสักนิดนึงครับ ในเดือนมิถุนายนปีนี้ การส่งออกสารกาแฟโรบัสต้าทั่วโลกลดลงไป 12.7% สาเหตุเกิดจากเวียดนามมียอดส่งออกโรบัสต้าตกลงแรงมากถึง 50.28% เหลือเพียง 1.11 ล้านกระสอบ(กระสอบละ 60 กิโลกรัม) เทียบกับ 2.23 ล้านกระสอบในเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าบราซิลจะมีตัวเลขส่งออกสูงถึง 254.6% เป็น 0.82 ล้านกระสอบ แต่ก็ไม่สามารถดึงให้ตัวเลขส่งออกสารกาแฟโรบัสต้าโดยรวมในเดือนมิถุนายนติดบวกได้

ขนาดนั้นเชียวหรือ? \'ทุเรียน\' ต้นเหตุ \'กาแฟแพง\' ทั่วโลก!

เวียดนามมีพื้นที่ปลูกกาแฟราว 4 ล้านไร่ เป็นสายพันธุ์โรบัสต้า 95% ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อาราบิก้า  (ภาพ : Rodrigo Flores on Unsplash)

ส่วนกระทรวงการเกษตรฯของเวียดนามก็ให้ข้อมูลใกล้เคียงกัน โดยระบุว่า ตัวเลขส่งออกกาแฟเดือนมิถุนายนลดลง 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในระยะ 7 เดือนแรกของปี 'ปริมาณ' ส่งออกกาแฟอยู่ที่ 964,000 ตัน ลดลงไป 13.8% แต่ 'มูลค่า' ส่งออกกลับเพิ่มขึ้นถึง 30.9% เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปีที่แล้ว

หมายความว่า เวียดนามส่งออกน้อยลง แต่ทำเงินได้มากขึ้น เนื่องจากราคากาแฟในตลาดโลกสูงขึ้นต่อเนื่องนั่นเอง

เวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งกาแฟอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล แต่ก็เป็นผู้ส่งออกกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่สุดของโลก ในช่วงปีนี้เจอเข้ากับปัญหาภัยแล้งหนักสุดในรอบเกือบ 10 ปี จนกระทบต่อผลผลิตและการส่งออก มีการคาดการณ์กันว่า ยอดส่งออกกาแฟของเวียดนามอาจลดลงประมาณ 20% ในปีนี้เพียงปีเดียว

แต่ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ก็ได้ หลังมีรายงานข่าวว่า 'พายุยางิ' ที่พัดถล่มพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศเมื่อต้นเดือนกันยายน ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายไปด้วย รวมไปถึงโซนปลูกกาแฟขนาดใหญ่แถบ 'เซนทรัล ไฮแลนด์' หรือที่ราบสูงตอนกลางของประเทศ ซึ่งก็ยังไม่มีตัวเลขออกมาว่ากระทบไร่กาแฟมากน้อยขนาดไหน

ขนาดนั้นเชียวหรือ? \'ทุเรียน\' ต้นเหตุ \'กาแฟแพง\' ทั่วโลก!

ตารางแสดงประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่สุดของโลก 10 อันดับแรก ในปี 2023/2024  (ภาพ : fas.usda.gov)

โซนเซนทรัล ไฮแลนด์นี้ ปลูกกาแฟมากถึง 80% ของประเทศทีเดียว แทบทั้งหมดเป็นสายพันธฺุ์โรบัสต้า

ก็น่าคิดต่อไปว่า ในปีหน้าและปีถัด ๆ ไป หากไม่มีภัยแล้งรุนแรง หรือไร้ภัยธรมชาติครั้งใหญ่ ตัวเลขส่งออกกาแฟของเวียดนามจะออกมาในทิศทางไหน เพราะตามที่ปรากฎเป็นข่าวจากต่างประเทศและในเวียดนามเอง เกษตรกรจำนวนมากได้ลดพื้นที่ปลูกกาแฟลง หันไปปลูกทุเรียนกันมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

วิล ฟริทธ์ แห่งบิวดิ้ง คอฟฟี่ (Building Coffee) บริษัทที่ปรึกษาด้านกาแฟในโฮจิมินห์ ซิตี้ ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ข่าวบีบีซีว่า สถานการณ์โลกร้อนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาต้นกาแฟและต่อผลผลิตกาแฟในเวียดนาม เป็นปัจจัยผลักดันให้เกษตรกรหันเหไปปลูกพืชชนิดใหม่อย่างทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก 

ตอนนี้เวียดนามถือเป็น 'คู่แข่งสำคัญ' ของไทยและมาเลเซียด้านการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งไปยังตลาดจีน ในช่วง 1-2 ปีนี้ ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนเวียดนามในแดนมังกรเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 100% เลยทีเดียว

ล่าสุด เวียดนามก็ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลจีนให้ส่งทุเรียนแช่แข็งเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคจีนได้มากขึ้น คาดว่าจะทำให้ในปีนี้มียอดส่งออกทุเรียนเกินกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว

ขนาดนั้นเชียวหรือ? \'ทุเรียน\' ต้นเหตุ \'กาแฟแพง\' ทั่วโลก!

ผลทุเรียนที่มีราคาสูง จูงใจให้เกษตรกรเวียดนามตัดต้นกาแฟทิ้งเพื่อทำสวนทุเรียนแทน หวังส่งออกไปยังตลาดจีน  (ภาพ : hartono subagio จาก Pixabay)

ปัจจุบัน เวียดนามมีพื้นที่ปลูก 'กาแฟ' ทั่วประเทศราว 4.40 ล้านไร่ เป็นโรบัสต้า 95% ที่เหลือเป็นอาราบิก้า ส่วนพื้นที่ปลูก 'ทุเรียน' มีประมาณ 940,000 ไร่ ยังไม่ถึงล้านไร่ดี  นี่เป็นตัวเลขของปี 2023 นะครับ ในปีหน้าและปีต่อไปไม่รู้ว่าตัวเลขจะต่างไปจากนี้ขนาดไหนกัน

เมื่อต้นปี สำนักข่าววีเอ็นบิสซิเนสของเวียดนามรายงานว่า พื้นที่ปลูกกาแฟบางจุดบริเวณที่ราบสูงตอนกลางและจังหวัดทางใต้ เกษตรกรต่างเร่งตัดต้นกาแฟเพื่อเปลี่ยนมาปลูกทุเรียน หวังว่าจะได้รับผลกำไรที่สูงขึ้น ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นค่อนข้างเยอะทีเดียว โดยไม่มีการควบคุมและยังไม่ได้รับคำแนะนำใด ๆ จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

สำนักข่าวแห่งนี้ยังข้อสังเกตว่า ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ปลูกกาแฟอาจจะเหลืออยู่ในราว 3.75 ล้านไร่เท่านั้น หายไปประมาณ 600,000 ไร่  พร้อมประเมินว่า การลดลงอย่างรวดเร็วของพื้นที่ปลูกกาแฟ เนื่องจากการเปลี่ยนมาปลูกทุเรียน ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟลดลง 10-15% ในฤดูเพาะปลูกเมื่อปีที่แล้ว

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการจากภาครัฐออกมาว่าการเปลี่ยนไปปลูกทุเรียน ทำให้พื้นที่ไร่กาแฟลดลงมากน้อยขนาดไหน แม้ราคากาแฟโรบัสต้าจะปรับตัวขึ้นแรงในระยะหลัง แต่เมื่อดูตัวเลขรายได้ของทุเรียนเมื่อเทียบกับกาแฟที่ส่วนใหญ่นำไปทำกาแฟผงสำเร็จรูปแล้ว ไม่ว่าจะวัดกันเป็นปอนด์ต่อปอนด์หรือกิโลกรัมต่อกิโลกรัม ก็ชัดว่าขายทุเรียนได้ 'กำไรงาม' กว่ามากนัก

ขนาดนั้นเชียวหรือ? \'ทุเรียน\' ต้นเหตุ \'กาแฟแพง\' ทั่วโลก!

ไร่กาแฟบราซิลโดนผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมาหลายปี สร้างความปั่นป่วนในตลาดกาแฟระหว่างประเทศ  (ภาพ : PROJETO CAFÉ GATO-MOURISCO on Unsplash)

ยิ่งมีตลาดใหญ่อย่างจีนมารองรับการส่งออกด้วยแล้ว ยิ่งเป็นแรงดึงดูดมหาศาลให้หันมาปลูกทุเรียน โดยไม่ต้องพึ่งพาซูเปอร์แม่เหล็กแต่ประการใด

เว็บไซต์ข่าวแชนเนล นิวส์ เอเชีย บอกว่า การปลูกทุเรียนในเวียดนามนั้น สามารถทำกำไรได้สูง โดยพื้นที่หนึ่งเฮกตาร์ (6.25 ไร่) อาจสร้างรายได้ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่การเพาะปลูกไปได้ด้วยดี เทียบกับรายได้ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากการปลูกข้าวหรือกาแฟในขนาดพื้นที่เท่ากัน เพราะเหตุนี้เองจึงส่งผลให้มีการทำสวนทุเรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมกาแฟในประเทศ

ภัยแล้งในบราซิลและเวียดนาม สองผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ส่งผลคุกคามต่อห่วงโซ่อุปทานกาแฟทั่วโลกอย่างรุนแรง ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นตามโรงคั่วและร้านกาแฟ กระเทือนไปถึงผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับซื้อกาแฟในแต่ละวัน 

ก็ชัดเจนว่าถ้าผลผลิตกาแฟในสองประเทศนี้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะทำให้ราคากาแฟทั้งอาราบิก้าและโรบัสต้าในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูง กระทบเป็น 'ลูกโซ่' ไปหมด

เพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารต้นทุนให้คงที่ในภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น ในช่วงสองสามปีมานี้ บริษัทค้ากาแฟรายใหญ่ ๆ ระดับโลก เช่น ลาวาซซา, อิลลี่ และเนสท์เล่ เริ่มหันไปส่งเสริมและฟื้นฟูการปลูกกาแฟในแหล่งผลิตที่มองเห็นศักยภาพสูงในการเติบโต เช่น คิวบา, ฮอนดูรัส, รวันดา, คองโก, ยูกันดา, ซิมบับเว และอีกหลายประเทศ ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนกันเลยทีเดียว

ขนาดนั้นเชียวหรือ? \'ทุเรียน\' ต้นเหตุ \'กาแฟแพง\' ทั่วโลก!

บริษัทค้ากาแฟรายใหญ่ ๆ เข้าไปส่งเสริมการปลูกกาแฟในหลายประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัญหากาแฟขาดสต็อก  (ภาพ : Diego Catto on Unsplash)

ส่วนเวียดนามกับประเด็นการเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนแทนกาแฟ มีผลให้ตัวเลขการผลิตกาแฟในประเทศลดลงไปบ้างในปีนี้ก็จริง แต่ยังไม่แรงถึงขนาดเท่าผลร้ายจากภัยแล้ง ปัจจัยลบหลัก ๆ ที่กดดันให้การส่งออกกาแฟโรบัสต้าหายไป 50% เพียงเดือนเดียว ยังคงเป็นภัยธรรมชาติอันเกิดจาก 'ภาวะโลกร้อน' เป็นสาเหตุสำคัญ

แต่หลังจากนี้ในปีต่อ ๆ ไป คงต้องมาลุ้นกันว่าจำนวนไร่กาแฟในเวียดนามจะหายไปมากน้อยขนาดไหน กระทบต่อผลผลิตเพียงใด แล้วกระเทือนต่อราคากาแฟในตลาดหรือไม่

ณ เวลานั้น น่าจะได้คำตอบชัด ๆ ลงไปให้กับคำถามชวนงุนงงระคนฉงนสงสัยที่ว่าทำไมการปลูกทุเรียนจึงทำให้ราคากาแฟแพงขึ้น?

..........................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี