"นิโคล แมนน์" นักบินอวกาศอเมริกันเชื้อสายอินเดียนแดงหญิงคนแรก
นักบินอวกาศอเมริกันเชื้อสายอินเดียนแดงหญิงคนนี้มีชื่อว่า แมนน์ เป็นหัวหน้าทีมสำรวจอวกาศ เพื่อทำภาระกิจสำคัญให้"นาซา" ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติในอนาคต
องค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม นาซา ของสหรัฐอเมริกามีโครงการจะส่งทีมนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรโลกและเพื่อไปประจำในสถานีอวกาศนานาชาติ 1 ในทีมที่มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน คือ นิโคล อูนาปู แมนน์ วัย 45 ปีซึ่งจะรับหน้าที่เป็นหัวหน้าของภารกิจสำคัญครั้งนี้
เมื่อยานอวกาศ “ดรากอน” ที่มีแมนน์เป็นผู้บังคับบัญชาทะยานขึ้นสู่อวกาศจากฐานในรัฐฟลอริด้าในราวปลายเดือนกันยายนนี้ แมนน์จะกลายเป็นนักบินอวกาศหญิงอเมริกันคนแรกที่มีเชื้อสายชนพื้นเมืองของสหรัฐ หรือ อินเดียนแดง ที่ได้เดินทางออกท่องอวกาศ
การบินสู่อวกาศครั้งแรกของแมนน์
โดยภารกิจนี้จะเป็นการบินสู่อวกาศครั้งแรกของแมนน์ นับตั้งแต่เธอเข้าทำงานกับนาซาเมื่อปี 2013 ทีมของแมนน์ประกอบด้วย จอร์จ คาซซาดา นักบินอวกาศชาวสหรัฐ โคอิชิ วากาตะจากญี่ปุ่นและแอนนา กิกินาจากรัสเซีย งานของทีมนี้ในสถานีอวกาศนานาชาติเกี่ยวข้องกับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์
แมนน์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อินเดียน เค้าน์ตี้ ทูเดย์ว่า “เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ฉันคิดว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราต้องสื่อสารไปยังชุมชนของเรา เพื่อที่ว่าเด็กๆ ที่มีเชื้อสายชนพื้นเมืองจะได้ตระหนักว่า อุปสรรคบางประการที่เคยมีมากำลังถูกทำลายลงแล้ว”
(นิโคล แมนน์ ในชุดนักบินเครื่องบินต่อสู้ของกองทัพเรือสหรัฐ)
(นิโคล แมนน์ระหว่างการฝึกเพื่อออกท่องอวกาศ)
ในการเดินทางออกนอกโลกนี้ นักบินอวกาศแต่ละคนจะได้รับอนุญาตให้นำของใช้ส่วนตัวขึ้นไปได้คนละ 1.4 กิโลกรัม
แมนน์เล่าว่า เธอมีเซอร์ไพรส์ที่จะมอบให้แก่ครอบครัวของเธอ แต่เธอจะยังไม่เปิดเผยในตอนนี้ว่าคืออะไร แต่ที่แน่ๆ คือ เธอจะนำแหวนแต่งงานขึ้นไปด้วยอย่างแน่นอน
เธอบอกอีกว่า เธอจะนำเครื่องรางดักจับความฝันหรือ Dreamcatcher ที่แม่ของเธอให้ไว้ตอนเป็นเด็กขึ้นไปในอวกาศด้วย “เครื่องรางนี้ติดตัวฉันอยู่ตลอดมา”
เครื่องรางดักจับความฝันนี้เป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีและการคุ้มครอง เครื่องรางนี้จะถูกแขวนไว้เหนือที่นอนของเด็กๆ เพราะชาวอินเดียนแดงเชื่อกันว่า จะสามารถดักจับฝันดีไว้และขับไล่ฝันร้ายให้หายไปได้
(เครื่องรางดักจับฝัน (Dreamcatcher)
หลังภารกิจครั้งนี้ แมนน์ยังมีโอกาสที่อาจจะได้เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ด้วย เพราะเมื่อปี 2020 เธอได้รับการคัดเลือกให้เข้าอยู่ในโปรแกรมอาร์ธิมิสของนาซ่า ที่มีภารกิจส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์
เคยไปรบที่อิรักและอัฟกานิสถาน
แมนน์เกิดทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย และจบจากโรงเรียนนายเรือสหรัฐ ก่อนที่จะเข้าเรียนในระดับปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลจากแสตมฟอร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้น แมนน์ก็เข้าทำงานเป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ในหน่วยนาวิกโยธินของสหรัฐ เธอถูกส่งไปรบในอิรักและอัฟกานิสถานและได้เหรียญกล้าหาญถึง 6 ครั้งด้วยกันและปัจจุบันมียศนาวาเอก สามีของเธอก็รับราชการเป็นทหารเรือเช่นเดียวกันและเธอมีลูกชาย 1 คน
(ทีม Crew-5 ซึ่งประกอบด้วย (จากซ้าย) แอนนา กิกินาจากรัสเซีย จอร์จ คาซซาดาและนิโคล แมนน์จากสหรัฐอเมริกา และโคอิชิ วากาตะจากญี่ปุ่น)
แมนน์เป็น 1 ใน 8 สมาชิกของนักบินอวกาศรุ่นที่ 21 ของนาซ่า ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างนักบินอวกาศไปปฏิบัติภารกิจและประจำในสถานีอวกาศนานาชาติ
ทีมของแมนน์มีชื่อว่า Crew-5 เพราะเป็นทีมที่ 5 ที่ถูกส่งไปประจำการที่สถานีอวกาศนานาชาติ ทีมของเธอจะมีหน้าที่ดำเนินการทดลองทางวิทยาศาสตร์ 250 โครงการด้วยกัน
แมนน์เล่าว่า ทีมของเธอจะปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติที่เธอเรียกว่า “ห้องปฏิบัติการลอยฟ้า” เป็นเวลา 6 เดือน
แมนน์ให้สัมภาษณ์ว่า ภารกิจของเธอจะเป็นประโยชน์ต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งมวลและสร้างประโยชน์ให้ชีวิตต่างๆ บนโลกนี้
(สถานีอวกาศนานาชาติ)
การทดลองสร้างอวัยวะเทียมในอวกาศ
นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมการเพื่อการสำรวจนอกโลกของมนุษยชาติ โครงการที่เธอสนใจมากโครงการหนึ่งคือ การสร้างเนื้อเยื่อเทียมแบบสามมิติ ซึ่งสำหรับเธอแล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอนาคตอันเหลือเชื่อ
เธอเล่าว่า “แรงดึงดูดของโลกทำให้การสร้างเนื้อเยื่อเทียมบนโลกนี้เป็นเรื่องยาก แต่เมื่อทดลองเรื่องนี้ในอวกาศน่าจะแตกต่างไป การศึกษาเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายว่า ในอนาคต มนุษย์จะสามารถสร้างอวัยวะเทียมที่มีเซลล์ของมนุษย์ได้”
แมนน์เล่าว่า ตอนนี้ เรายังไม่ไปถึงเป้าหมายนั้น แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างเซลล์ของหัวใจและเซลล์บางส่วนของหมอนรองกระดูกของเข่าได้แล้ว เธอว่า เธออยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาในเรื่องนี้
แมนน์ได้รับการฝึกฝนและอบรมเพื่อเตรียมตัวในการเดินทางสู่อวกาศและปฏิบัติงานที่สถานีอวกาศนานาชาติมาเป็นเวลาหลายเดือน เธอได้รู้เรียนรู้ระบบการทำงานของสถานีอวกาศ ภาษารัสเซีย การออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ การเอาตัวรอดในสภาวะคับขัน
รวมทั้ง Spacewalk ซึ่งหมายถึงการที่นักบินอวกาศออกมานอกยานอวกาศ โดยใส่ชุดนักบินอวกาศและมีสายรัดนิรภัยเชื่อมระหว่างนักบินกับยานอวกาศ นักบินอวกาศต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นสำหรับกิจกรรมนี้ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
แมนน์หวังว่า เธอจะมีโอกาสออกมาเดินในอวกาศได้ เพราะเธอได้รับการฝึกฝนในเรื่องนี้มาแล้ว ซึ่งถ้าเธอได้รับโอกาสนั้น ก็จะเรื่องที่ท้าทายและน่าพึงพอใจที่สุดสำหรับเธอเลยทีเดียว
แมนน์เป็นนักบินอวกาศชาวชนเผ่าคนที่ 2 ที่จะได้เดินทางออกนอกโลก หลังจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นักบินอวกาศ จอห์น แฮร์ริงตัน ซึ่งปัจจุบันอายุ 63 ปี เป็นนักบินอวกาศเชื้อสายอินเดียนแดงคนแรกที่มีโอกาสได้ออกไปท่องอวกาศกับนาซา ตอนนั้น แฮร์ริงตันนำฟลู้ตพื้นเมืองของอินเดียนแดงติดตัวไปในอวกาศด้วย
........
รูปและเรื่อง : เว็บไซต์และเฟซบุ๊ค นาซ่า, บีบีซี, อินเดียน เค้าน์ตี้ ทูเดย์
(จอร์จ คาซซาดา ลูกทีมคนหนึ่งของ Crew-5 ขณะกำลังฝึก)
(ยานอวกาศ "ดรากอน")
(จอห์น แฮร์ริงตัน นักบินอวกาศเชื้อสายชนพื้นเมืองคนแรกที่ได้ออกท่องอวกาศ)