ราคา“รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เคาะสูตรไหน เหมาะสุด ?

ราคา“รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เคาะสูตรไหน เหมาะสุด ?

ค่าโดยสาร"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ควรเคาะราคาเท่าไรเหมาะที่สุดสำหรับผู้บริโภค และเหมาะกับการบริหารจัดการ ฝ่ายกทม. ,สภาองค์กรของผู้บริโภคและนักวิชาการ มีความเห็นที่แตกต่าง

สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเวทีเสวนา ‘เคาะสูตรไหน ? ให้ราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกลง ผู้บริโภคได้ประโยชน์’ โดยมีตัวแทน กทม. ผู้บริโภค และพรรคการเมือง ร่วมเสนอหาทางออก ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า สูตรราคาที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 15 บาท ตลอดสาย

  • สภาองค์กรผู้บริโภค : ส่วนต่อขยาย 15 บาทตลอดสาย

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า แม้การพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะมีความซับซ้อนและเป็นผลจากการตัดสินใจของกรรมการสภากรุงเทพมหานครชุดก่อนหน้า แต่ยังสามารถทำให้ถูกที่ถูกทางได้ 

"หลักการเบื้องต้นอยากให้คิดว่ารถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะที่การคิดค่าโดยสารต้องไม่คำนึงในเรื่องขาดทุนหรือกำไร แต่ต้องคิดราคาค่าโดยสารตามหลักการบริการสาธารณะ ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม

สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เห็นว่า กทม.ไม่ควรจะแบกรับทั้งหมด เนื่องจากส่วนขยายเชื่อมต่อไปถึงจังหวัด ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี ควรเป็นหน้าที่รัฐบาลที่เข้ามารับผิดชอบหนี้สินดังกล่าว”

 

ราคา“รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เคาะสูตรไหน เหมาะสุด ?

ข้อเสนอ 3 ประเด็นสภาองค์กรของผู้บริโภค

1) ให้กทม. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 และเริ่มดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2562 ในส่วนการต่อสัมปทาน และเสนอให้มหาดไทยตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวใหม่โดยมีตัวแทนของสภาองค์กรของผู้บริโภค และหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นกรรมการ

2) เรื่องการจัดการหนี้สินของ กทม. สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่า หนี้สินในส่วนงานโยธาจำนวน 7 หมื่นล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถอีกประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทนั้นกทม.ควรจะเสนอให้กระทรวงการคลัง บันทึกรายการหนี้ไว้ก่อน โดยไม่ต้องชำระหนี้ในตอนนี้

3) การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย 1-2 ก่อนถึงหมดอายุสัมปทานในปี 2572 ควรเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย และสูงสุดในช่วงไข่แดงที่เป็นสัมปทานเดิมไม่ควรเกิน 44 บาท

และไม่เห็นด้วยกับ สูตรราคาค่าโดยสาร 14+2x (14 บาทบวกเพิ่มครั้งละ 2 บาทในแต่ละสถานีรถวิ่งผ่าน) เพราะทำให้ผู้บริโภคแบกรับราคาค่าโดยสารมากขึ้น

  • กทม.เสนอราคาสูงสุดไม่เกิน 59 บาท

ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร พร้อมรับทุกข้อเสนอจากเวทีสภาองค์กรของผู้บริโภค

กทม.เสนอสภากทม. 3 ประเด็น คือ 

1)  การต่อสัมปทานรถไฟฟาสายสีเขียวส่วนที่เป็นไข่แดง คือ หมอชิต-อ่อนนุช ที่จะหมดสัมปทานในปี 2572 ว่าจะต่อสัมปทานหรือไม่

2) การพิจารณาสัญญาเดินรถในส่วนต่อขยาย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 

-ส่วนต่อขยาย 1 อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งส่วนนี้มีสัญญาชัดเจนว่า กทม.จ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่าจ้าง BTSC ในการเดินรถ ซึ่งเป็นการทำสัญญาที่ผ่าน สภากทม. แล้ว 

ส่วนต่อขยาย 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังไม่อยู่ในรูปแบบสัญญาที่ชัดเจน เป็นเพียงบันทึกข้อความมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมจ้าง BTSC เดินรถ และยังไม่มีการพิจารณาผ่านสภา กทม.

3) การพิจารณาเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายแบ่งออกเป็น 2 สูตรคือ 

-การคำนวณค่าโดยสารแบบ 14+2x หรือเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 15 บาทตลอดสาย หากรวมกับราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนไข่แดงต้องไม่เกิน 59 บาท

ด้านประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร อธิบายว่า เพราะแม้ กทม. จะเก็บค่าโดยสารในราคาใด ก็ยังไม่สามารถสะท้อนต้นทุน เพราะยังต้องเข้าใช้งบประมาณในการอุดหนุน

ทั้งนี้หากเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย 15 บาท กทม. จะมีรายได้ประมาณ 1,899 ล้านบาท ซึ่งส่วนต่างที่ กทม. ต้องชดเชยต่อปีอยู่ที่ 6,324 ล้านบาท

หากใช้สูตร 14+2x ราคาสูงสุดไม่เกิน 59 บาท กทม. จะมีรายได้ประมาณ 1,917 ล้านบาท และต้องตั้งงบประมาณอุดหนุนจำนวน 6,305 ล้านบาท

ราคา“รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เคาะสูตรไหน เหมาะสุด ?

  • เพื่อไทย-ภูมิใจไทย เคาะ 15 บาท

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย แสดงความเห็นว่า กทม.ควรเสนอให้ ครม. ทบทวนมติเรื่องการถ่ายโอนการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน

รวมถึงการให้ กทม. ไปก่อหนี้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งในทางนิตินัยมติดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน เนื่องจาก กทม. ยังไม่ก่อหนี้ ดังนั้นจึงอยากให้ สภา กทม.พิจารณาและทบทวน มติดังกล่าว เนื่องจากการให้ กทม. จ่ายหนี้สินในส่วนต่อขยายที่ 2 นั้นไม่เป็นธรรม

ส่วนประเด็นเรื่องการเก็บอัตราค่าโดยส่วนต่อขยาย 2 นั้น ดร.สิริพงศ์ มองว่า ควรจะใช้ราคา 15 บาท ตลอดสายในส่วนต่อขยาย เพราะผู้บริโภคได้ประโยชน์มากกว่าการคำนวณแบบ 14+2x ที่มีราคาสูงกว่า

เช่นเดียวกับ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่มองว่า ในช่วงที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทาน สูตรราคาค่ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ คือ ราคา 15 บาทตลอดสาย

ส่วนในระยะยาว ค่าโดยสารรถไฟฟ้าควรจะเป็นราคาเดียวในทุกสาย และรัฐบาล หรือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ควรเป็นหน่วยงานเดียวที่การบริหารจัดการถ เพื่อให้สามารถควบคุมราคาค่าโดยสารได้

ทั้งนี้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่เสนอมาโดยตลอดคือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ต้องไม่คิดรวมต้นทุนค่าโครงสร้างพื้นฐาน เพราะถือเป็นบริการสาธารณะที่รัฐต้องบริการประชาชน จึงไม่ควรคิดเรื่องต้นทุน – กำไร ดังนั้น ที่ผ่านมา เพื่อไทยจึงเสนอให้เก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เกิน 30 บาท

  • นักวิชาการเสนอยกเลิก คำสั่ง คสช. 3/2562

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาในการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มี 3 ประเด็นสำคัญคือ 

1) ปัญหาการจัดการจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 1 ที่มีการทำสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถ เกินจากช่วงเวลาสัมปทาน

ซึ่งในเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาขอ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากตัดสินไปในทิศทางที่ดีก็จะทำให้ กทม. สามารถบริการจัดการรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น

2) การจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติสภา กทม. ทั้งยังไม่ได้รับโอนทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ จาก รฟม. ซึ่งมองว่า กทม. ควรจะยกเลิกการลงนามดังกล่าว

รวมถึงไม่ควรเก็บค่าโดยสารในส่วนนี้เพื่อไม่ให้มีส่วนผูกพัน โดยควรจะคืนหนี้และกรรมสิทธิ์ดังกล่าวให้กับ รฟม. เนื่องจากหาก กทม. รับหนี้จะกระทบต่อสัมปทานที่จะจบในปี 2572 ทำให้มีปัญหาได้ในอนาคต

3) การดำเนินการตามคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ซึ่ง กทม .ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเจตนารมน์ทั้งในเรื่องของการก่อหนี้และเรื่องของเจตนารมณ์ในการเก็บราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรม

ดังนั้นกทม.ควรเสนอกลับไปครม.ทบทวนยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เพราะไม่สามารถดำเนินการตามเจตนารมณ์ได้