ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย “นวนุรักษ์” แพลตฟอร์มของชาติ “เก่าเก็บเพื่อก่อเกิด”
คุยกับ “ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” ผู้อยู่เบื้องหลัง “นวนุรักษ์” แพลตฟอร์มคลังข้อมูลทางวัฒนธรรมและชีวภาพของประเทศไทย ที่ตลอด 5 ปีผ่านมาทุกคุณค่าของชาติกำลังทยอยเข้าคลังดิจิทัล
องค์ความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ล้วนเป็นเรื่องเปราะบางที่พริบตาเดียวอาจสูญหายไปอย่างถาวรหากไม่รับความสนใจ ใส่ใจ หรือจัดเก็บเอาไว้ ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยความหลากหลายและมีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า แต่เชื่อได้เลยว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างถูกหลงลืมและเลือนหายไปเรียบร้อยแล้วทั้งที่มีคนรู้และไม่รู้
ดังนั้นการตระหนักถึงคุณค่าของข้อมูลต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และการศึกษารวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ ทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ทว่าวิธีการจัดเก็บยุคใหม่จะอยู่ยงคงกระพันได้ก็ต้องเป็นรูปแบบดิจิทัล ที่ทั้งทันสมัย น่าสนใจ และนำไปต่อยอดได้ง่าย
จุดประกาย Talk ชวน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) คุยถึง นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม ซอฟท์แวร์แพลตฟอร์มเพื่อการจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลได้ด้วยตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ให้ข้อมูลวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่น ยังคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเข้าถึงได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น หรือว่าง่ายๆ นวนุรักษ์ เปรียบเสมือน Encyclopedia ของประเทศไทยในด้านนี้ แต่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ มีบทบาททั้งการจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างเต็มที่
หน้าเว็บไซต์นวนุรักษ์
แพลตฟอร์มนวนุรักษ์คืออะไร
นวนุรักษ์ เป็นเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นมา โดยเป็นการรวมกันระหว่างคำว่า นว กับ อนุรักษ์ นวแปลว่าใหม่ อนุรักษ์คือเราเน้นเรื่องการอนุรักษ์ เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมในแนวใหม่ เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งเน้นในเรื่องการให้ชุมชนหรือหน่วยงานใดๆ ก็แล้วแต่ที่ต้องการจะเก็บข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ
จริงๆ แล้วข้างในจะมีหลายหัวข้อมากเลย ทั้งจดหมายเหตุ ข้อมูลใบลาน ข้อมูลภาพถ่ายทางชีวภาพ หรือวิดีโอ คือทุกรูปแบบของการเก็บข้อมูล เก็บไว้ในระบบของนวนุรักษ์ ก็จะกลายเป็นคลังข้อมูล
สำหรับที่มา ผมต้องเล่าย้อนนิดหนึ่ง ตั้งแต่สมัยประมาณปี 2552 น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ NECTEC เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำข้อมูลวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปของดิจิทัล ซึ่งเรารับโจทย์ใหญ่มาจากทางกระทรวงวัฒนธรรม ทำคลังข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม เราเรียกโครการนั้นว่า Digitized Thailand เป้าหมายก็อยากจะสร้างและจัดระบบข้อมูลของประเทศไทยและของชาติ ให้เป็นข้อมูลดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาปรับปรุงมาเรื่อย จนกระทั่งเป็นหลายระบบ เป็นระบบนำชมพิพิธภัณฑ์ ระบบคลังข้อมูลวัฒนธรรม จนกระทั่งมาเป็นแพลตฟอร์มที่เรียกว่านวนุรักษ์ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
นอกจากประเด็นวัฒนธรรม ก็มีเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพด้วย?
นี่เป็นส่วนขยายที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรม ซึ่งพูดถึงข้อมูลทางวัฒนธรรมก็มีข้อมูลที่เป็นวัตถุ ข้อมูลที่ไม่ใช่วัตถุ เช่นเรื่องประเพณี วิถีชีวิต ก็เก็บในรูปของสตอรี่ หรือไม่ก็ในรูปแบบภาพถ่ายการดำเนินกิจกรรม หรือเป็นวิดีโอ ถ้าเป็นวัตถุก็เป็นวัตถุโบราณ เป็นใบลาน เป็นจดหมายเหตุ เป็นอุปกรณ์อะไรก็แล้วแต่ที่จับต้องได้ซึ่งเราจะเห็นในพิพิธภัณฑ์อยู่บ่อยๆ
ปรากฏว่าเราพบว่าส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กลับกลายเป็นส่วนที่เป็นวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างเช่น พืชท้องถิ่น สัตว์ท้องถิ่น หรือแม้แต่จุลินทรีย์ เห็ดราทั้งหลาย ซึ่งแต่ละที่มันจะแตกต่างกันมาก ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นต้นกำเนิดของหลายๆ อย่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่ด้วย เพราะฉะนั้นการขยายนวนุรักษ์ให้รองรับการเก็บทั้งวัฒนธรรมด้วย การเก็บความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ก็เป็นสิ่งสำคัญ
เชื่อมโยงกับอุทยานธรณีโลกสตูลอย่างไร
จริงๆ แล้วมันตรงมาก ปีนี้ 2565 เป็นปีที่อุทยานธรณีโลกสตูลได้รับการขึ้นทะเบียนยูเนสโก ยิ่งใหญ่มากนะครับ เป็นพื้นที่ที่ค้นพบฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ 500 ล้านปีก่อน แปลว่าเป็นพื้นที่ที่เก่าแก่มาก
ก็ประกอบด้วยอุทยานหลักๆ สองอุทยาน ถ้าจำไม่ผิดก็จะเป็นอุทยานแห่งชาติเภตรากับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา หลายคนไปเที่ยวกันบ่อย แต่เชื่อไหมว่าในนั้นมีความหลากหลายทั้งทางด้านวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ก็ไม่แปลกใจที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะความหลากหลายนั้น ระดับวิชาการเรียกว่าต้องมาศึกษากันยาวๆ เลยทีเดียว
อย่างเช่นชีวิตในถ้ำ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในถ้ำ 500 กว่าสปีชีส์ เยอะมากๆ นะครับ แล้วมันนำมาสู่พัฒนาการเป็นสัตว์บริเวณริมทะเล สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในถ้ำ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมไปถึงวิถีชาวบ้านก็สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การย้อมผ้าบาติก เขาใช้ดินในการย้อมผ้าบาติก ในดินนั่นแหละมีส่วนผสมของจุลินทรีย์ต่างๆ สอดรับกับการหมักของผ้าที่เหมาะสม
เพราะฉะนั้น ผมว่านวนุรักษ์ ซึ่งจะเอาเรื่องราวเหล่านี้เข้ามาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล มันจะเป็นบันไดสำคัญที่จะทำให้ความรู้ องค์ความรู้ รวมทั้งมัลติมีเดียต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ในรูปแบบที่เป็นอนาล็อก เป็นสิ่งของ หรือเป็นวัฒนธรรมที่อยู่ที่นั่น ผ่านเข้ามาในโลกดิจิทัล เราใช้คำนี้กันบ่อยมากว่า “เก่าเก็บเพื่อก่อเกิด” เพราะว่าถ้าเราเก็บข้อมูลเหล่านี้เข้ามาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้ ข้อมูลเหล่านี้นำไปสร้างนวัตกรรมต่อได้อีกมากมาย
กลุ่มเป้าหมายของแพลตฟอร์มนี้คือใคร
เราทำนวนุรักษ์แพลตฟอร์มให้ใช้งานง่ายที่สุดเท่าที่จะใช้งานได้ เราพัฒนานวนุรักษ์แพลตฟอร์มมาประมาณห้าปีแล้ว เราขยับให้มันใช้งานง่ายที่สุดในการที่จะเปิดดูเว็บไซต์นี้ และการสร้างเว็บไซต์ของพื้นที่ขึ้นให้ง่ายที่สุด เป้าหมายคือต้องการให้คนในชุมชน อาจจะเป็นคนที่พอมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ เด็กรุ่นใหม่ หรือครูอาจารย์ หรือแม้แต่ผู้นำชุมชน เปิดเว็บไซต์และสร้างระบบคลังข้อมูลนั้นขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง สำคัญที่สุดคือฟรีครับ ทั้งหมดนี้เราทำขึ้นด้วยความหวังว่ามันจะเป็นแหล่งที่จะเก็บคลังข้อมูลวัฒนธรรมขนาดใหญ่ได้
หลังจากที่เราเก็บข้อมูลแล้ว การแสดงผลข้อมูลเราก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น การแสดงผลข้อมูลในรูปแบบของ VR หรือ AR การแสดงข้อมูลในรูปแบบ 360 องศา 3D หรือแสดงผ่าน Mobile Application ก็ล้วนแล้วแต่รองรับอยู่ในระบบนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม
ถ้าคนในชุมชนหรือคนทั่วไปมีสิทธิ์เอาข้อมูลไปเก็บได้ แบบนี้จะมีปัญหาเรื่องความถูกต้องของข้อมูลหรือไม่
ในระบบนิเวศของการพัฒนานวนุรักษ์แพลตฟอร์ม โดยปกติเราจะไปแต่ละที่ อย่างกรณีเราไปที่เชียงใหม่ เราไปโดยที่ไปคุยกับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ได้ทำ อย่างกรณีของสตูลเราลงไปคุยกับสามหน่วยงานทางด้านวิชาการ คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และวิทยาลัยชุมชนสตูล ทั้งสามที่นี้มีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะให้ข้อมูลและลงไปช่วยพาร์ทเนอร์ชุมชนในการพัฒนาคลังข้อมูลนี้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และทันสมัย เอาไปสร้างนวัตกรรมต่างๆ ได้
หมายความว่าบทบาทของ NECTEC ไม่ใช่แค่การนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาใส่แพลตฟอร์ม แต่สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วย?
ใช่ครับ กลุ่มเป้าหมายของการนำไปใช้งานน่าจะสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกแน่นอนคือเรื่องของการศึกษา เพราะการที่เราเริ่มต้นทีเดียว คุยกับชุมชนไปพร้อมกับนักวิชาการ ซึ่ง สวทช. ดึงเข้ามาด้วย ก็เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นหลักวิชาการและมีองค์ความรู้ที่ครบสมบูรณ์ หลังจากนั้นทางฝั่งวิชาการเขาจะเอาไปวิจัยต่อ ว่าความหลากหลายทางชีวิภาพบริเวณอุทยานธรณีโลกสตูลมันหลากหลายมากจนนักวิชาการจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษามากพอสมควร เอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกมากมาย นั่นก็จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ
แต่องค์ความรู้เหล่านั้นมันนำมาซึ่งสตอรี่ สตอรี่ที่เรียงร้อยไว้กับสตอรี่ดั้งเดิม ตำนานต่างๆ ที่เกิดขึ้น อธิบายกันได้ พออธิบายกันได้ มันสนุกขึ้น ทำไมถึงได้ใช้ดินแบบนี้มาย้อมผ้าบาติก ใช้วิทยาศาสตร์อะไรเข้าไปจับ พวกนี้จะเกิดเป็นสตอรี่ สตอรี่สำคัญมากในโลกปัจจุบัน ในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่เอาข้อมูลในท้องถิ่นมาเป็นตัวดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากขึ้น
ปัจจุบันเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งในการที่นักท่องเที่ยวไปเที่ยวโดยต้องการรู้สตอรี่ของชุมชน และสตอรี่ก็เอามาสร้างเป็นคลิปขนาดสั้นลง TikTok หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยวมาก เพราะฉะนั้นเป้าหมายสำคัญก็คือสร้างนวัตกรรมเรื่องการท่องเที่ยว แน่นอนว่าควบคู่กับการท่องเที่ยวคือเรื่องการค้า มูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอาศัยสตอรี่เหล่านี้มาสร้างกิมมิกต่างๆ เพื่อเป็นของขายในชุมชน หรือทำเป็นหนังสือ ทำเป็นภาพถ่าย ซึ่งจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน เหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการทางดิจิทัล
ผมคิดว่านวนุรักษ์มันสมชื่อนะ ก็คือการอนุรักษ์แนวใหม่ อนุรักษ์ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชน
จะเรียกว่าความโดดเด่นกับความแตกต่างของแพลตฟอร์มนี้กับแพลตฟอร์มทั่วไป คือความน่าเชื่อถือ?
อันนี้สำคัญ จุดตั้งต้นของนวนุรักษ์มาจากการอนุรักษ์ และมาจากการที่เราได้รับโจทย์สำคัญจากกระทรวงวัฒนธรรม นั่นหมายความว่ามันเริ่มต้นจากงานทางวิชาการ ทีมงานที่ทำนวนุรักษ์เป็นทีมงานที่ศึกษามาตรฐานสากลในการเก็บข้อมูล และไม่แปลกที่นวนุรักษ์ถูกเข้าไปรวมอยู่กับการทำงานร่วมกับยูเนสโก เพราะเราอาศัยมาตรฐานสากล ชุมชนไม่ต้องกังวลในเรื่องความรู้ความสามารถในเชิงของมาตรฐานสากล เพราะเราจัดการไว้ให้ แต่ว่าตรงนี้ส่วนหนึ่งที่สำคัญ อย่างกรณีอุทยานธรณีโลกสตูล เขาขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ยูเนสโกจะกลับมาตรวจสอบอยู่เป็นระยะว่ายังมีคุณค่าที่จะขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกอยู่ไหม ผมเชื่อว่าการเอานวนุรักษ์แพลตฟอร์มเข้าไปเป็นหลังบ้านของการจัดเก็บข้อมูล จะทำให้ยูเนสโกเชื่อถือมากขึ้น
ถือว่าตอบโจทย์ความยั่งยืน BCG ?
ตรงครับ เพราะนวนุรักษ์เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งซึ่งวาระแห่งชาติดึงเข้าไปอยู่ในเครือข่ายของการทำงาน เพราะ BCG จุดหลักๆ คือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากข้อมูลชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีทางด้าน Circular economy และ Green economy มาสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ อันนี้จะตรงมากกับการที่เราเอาความหลากหลายทางชีวภาพมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยว การศึกษาสมัยใหม่
การพัฒนางานวิจัยของ NECTEC ทั้งปัจจุบันและอนาคตมีเป้าหมายที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมโดยรวมด้านใดบ้าง อย่างไรบ้าง
NECTEC มีความสนใจเรื่องวัฒนธรรมค่อนข้างเยอะในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่เราก็ไม่ได้ทำแต่เรื่องนี้ เรามีจุดเด่นจุดหลักคือมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ที่เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างประเทศ แล้วก็กลับมาทำงานที่ไทย ผมเชื่อว่านักวิจัย NECTEC จะมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ จะเอามาช่วยแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาประเทศได้ สร้างมูลค่าทางธุรกิจใหม่ๆ ได้
ตัวอย่างที่ผ่านมาเราก็จะเห็นเยอะแยะเลยไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรู้ทางด้าน AI Big Data ความรู้ทางด้าน Sensor มาสร้างนวัตกรรม ซึ่งส่งผลกระทบให้สังคมและประเทศแล้ว อย่างเช่น ระบบดูแลสุขภาพเขื่อน 14 แห่งทั่วประเทศ ก็ร่วมกับทาง กฟผ. เราก็พัฒนาให้ 7-8 ปีแล้ว ก็ยังใช้งานดีอยู่จนถึงปัจจุบัน หรือเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรเพื่อชี้เป้าคนจนให้ทางสภาพัฒฯ ช่วยในการวางแผนนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำ
หรืออย่างที่เคยได้ยิน Traffy Fondue (ทราฟฟี ฟองดูว์) เป็นนวัตกรรมการรับเรื่องร้องเรียน จนกระทั่งนำไปสู่การพัฒนา Back end ของระบบบริหารจัดการในภาครับสมัยใหม่ ผ่านทางแชทบอท เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก้าวกระโดด คือเราเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสิ่งใหม่ๆ แล้วพลิกเลย พลิกการทำงาน พลิกประสิทธิภาพของการทำงาน
NECTEC ก็ยังเชื่อมั่นว่าเราเองจะศึกษาเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เรื่อยๆ ในอนาคตน่าจะถูกนำมาใช้ได้ อย่างเช่น เรื่อง Quantum Computing เราก็มีแล็บทางด้านนี้ หรือที่กำลังศึกษาเรื่อง Terahertz Technology เป็นคลื่นย่านใหม่ที่น่าจะเป็นคลื่นของ 6G ก็หวังว่าในอนาคตจะทยอยมาใช้ในประเทศได้
นวนุรักษ์กำลังบอกเราว่า ไม่ว่าจะการอนุรักษ์หรือด้านวัฒนธรรม ก็ปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ มันคือเรื่องเดียวกัน?
ผมว่ามันเป็น Main Stream ด้วยซ้ำ เพราะโลกยุคนี้ถ้าไม่ก้าวสู่ดิจิทัลมันช้า เราพูดถึง Metaverse อย่างนี้ นวนุรักษ์เป้นจุดตั้งต้นได้เลยนะครับ เพราะการนำข้อมูลเข้าสู่ดิจิทัล นวนุรักษ์ก็นำเสนอวิธีการ Visualize สมัยใหม่ เช่นการทำ VR ทำ AR หรือว่าการใส่ระบบ AI เพ่อทำตัว Avatar ต่างๆ ที่อยู่ในการแสดงผลของนวนุรักษ์ ก็เป็นตัวตั้งต้นเข้าไปยัง Metaverse
ไม่ว่ามันจะเรียกว่า Metaverse หรือไม่ก็ตาม การขยับข้อมูลต่างๆ เข้าสู่โลกดิจิทัล เป็นความจำเป็นของโลกยุคใหม่ เพราะว่ามันเป็นประสิทธิภาพสูงมากในการเข้าถึงสังคมและผู้คน
ฝากถึงคนที่ยังไม่รู้จักนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม หรือยังรู้จักไม่ดีพอ?
ผมพยายามบอกกับทีมเสมอว่าเราจะต้องพัฒนาระบบที่ใช้งานง่าย ใช้งานง่ายมากๆ การเก็บข้อมูลวัฒนธรรม หรือแม้แต่การเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชุมชน ความหลากหลายทางชีวภาพ ชีวิตสัตว์ ชีวิตพืช มีมูลค่าสูงมาก ตอนนี้เราอาจจะยังคิดไม่ถึงนะครับ แต่ท่านใดที่เริ่มก้าวเข้ามาจะรู้ว่า เวลาที่เราเริ่มทำสมาร์ทฟาร์ม เวลาที่เราเริ่มทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สุดท้ายเราต้องการ Back end ที่เป็นดิจิทัล เพื่อเอาข้อมูลเหล่านี้ออกไปส่งต่อให้สังคมรับรู้ ออกไปทำการตลาด ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลยครับ ไม่ว่าจะผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำการแสดงวัฒนธรรมชุมชน ไม่ว่าจะการเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมหรือทางชีวภาพของชุมชน อาศัยแพลตฟอร์มที่ง่าย ที่ฟรี ที่ใช้ได้โดยเร็ว นวนุรักษ์เป็นแพลตฟอร์มที่เริ่มหยิบใช้ได้เลย เข้าไปที่ navanurak.in.th ก็สร้างแอคเคาท์แล้วประสานมาที่ทีมงานของ NECTEC เราก็จะมีทีมที่ให้คำปรึกษา เราจะจับคู่นักวิชาการที่อยู่ในพื้นที่ให้เข้าไปช่วยดูแลได้เพื่อที่จะเกิดการสร้างคลังข้อมูลตรงนี้ขึ้นมา
หลังจากมีคลังข้อมูล ท่านจะคิดต่อได้เยอะเลยว่าจะสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์หรือว่าวัฒนธรรมชุมชนของท่านต่ออย่างไร
ครอบคลุมแค่ไหนแล้วสำหรับคอนเทนต์ต่างๆ
หน่วยงานที่เข้ามาอยู่ในนวนุรักษ์ตอนนี้น่าจะ 80 กว่าแห่ง มีทั้งหน่วยงานขนาดใหญ่และหน่วยงานขนาดเล็ก ขนาดใหญ่เช่น หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือว่าพิพิธภัณฑ์หลายที่ เช่น พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา หน่วยงานขนาดเล็ก เช่นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วัดวาอารามต่างๆ เข้ามาเยอะมาก มีชิ้นงานทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้น่าจะหลายหมื่นชิ้นแล้ว น่าสนุกครับเพราะบนฐานของนวนุรักษ์เราเชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้าหากันได้ในพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ เราวิเคราะห์ได้ในเชิงยุคสมัย วิเคราะห์ได้ในเชิงของตัววัตถุที่มีลักษณ์เดียวกัน ผมเชื่อว่าจะเป็นวิธีการศึกษาวัฒนธรรมในแบบดิจิทัลที่รวดเร็ว
อยากเห็นอะไรจากนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม
ความฝันของผมตั้งแต่ 2552 ที่บอกว่าเข้าไปคลุกคลีกับกระทรวงวัฒนธรรม ที่ยุโรปข้อมูลวัฒนธรรมเป็นข้อมูลที่สร้างผลกระทบทางด้านมูลค่าของการท่องเที่ยวอย่างมาก และไม่น่าเชื่อว่าเว็บไซต์ที่ European commission ที่เขารวมตัวกันทำมาตรฐานข้อมูลวัฒนธรรมร่วมกัน มีการเอาไปกระจาย แต่ละประเทศก็เอาไปสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มใช้ในการเก็บข้อมูลวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ ผมไปเห็นของเยรมนีมันสุดยอดมาก เขาเรียก Europeana มีข้อมูลวัฒนธรรมของทุกจุดทุกเมือง เปิดดูผมนี่ละลานตามากเลย เข้าไปแต่ละอันจะเห็นเลยว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีข้อมูลวัฒนธรรมอะไรบ้าง และแต่ละอันนำไปสู่การสร้างมูลค่า เกิดสตาร์ทอัพมากมายเลยนะ ผมอยากเห็นแบบนั้นในประเทศไทย มีข้อมูลวัฒนธรรมเติมเข้ามา และสดใหม่ ทุกจุดทุกเมืองของประเทศไทย นำไปสู่การสร้างมูลค่าให้กับชุมชนตัวเองได้