"อินฟลูเอนเซอร์" รักษ์โลก กับแรงบันดาลใจเพื่อสังคมยั่งยืน
ไลฟสไตล์ของ"อินฟลูเอนเซอร์"รักษ์โลก อย่างครูลูกกอล์ฟ ,ผู้ผลิตรายการ"หนังพาไป"ฯลฯ ที่ชวนให้มาสนใจเรื่องกรีนๆ ความยั่งยืน ซึ่งทำจนอยู่ในชีวิตประจำวัน
แม้เรื่องกรีนๆ จะเป็นเรื่องอินเทรนที่ใครๆ ก็พูดถึง แต่เรื่องเหล่านี้ต้องอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่การพูด และนี่คือเรื่องราวคนดังหลากหลายวงการที่อยากมีส่วนผลักดันเรื่องกรีนๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ในงาน Chula Sustainability Fest 2022 งานที่ขอร่วมกระแสความยั่งยืนครั้งแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับเรื่องราวไลฟ์สไตล์เพื่อความยั่งยืนของอินฟลูเอนเซอร์รักษ์โลกที่อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ
#Wear วนไป (ใส่วนไป ไม่ซ้ำลุค!)
ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ เจ้าของเพจ Little Big Green ที่เชื่อ ณ วันนี้ว่า Wear วนไป ใส่เสื้อผ้าวนไป ไม่ซ้ำลุค! ถ้ารู้จักมิกซ์แอนด์แมทซ์ ก็ดูดีได้ไม่แพ้เสื้อผ้าใหม่ๆ
“ใช้หรือใส่วนไป สิ่งของบางอย่างไม่ได้ถูกสร้างมาให้เราใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง...”
(ครูลูกกอล์ฟจากเฟซบุ๊ค Little Big Green )
ใช่ว่าครูลูกกอล์ฟ จะเป็นเช่นนี้ตั้้งแต่แรก คนเราก็ต้องมีจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาใส่ใจเรื่องกรีนๆ เพื่อความยั่งยืน
"ที่สนใจสิ่งแวดล้อมเพราะสามี เราไม่ได้โตมาในสังคมที่พูดว่าโลกใบนี้เป็นโลกใบเดียวของเรา หลายคนไม่ได้แคร์เรื่องโลก เราเป็นอีกคนหนึ่งที่โตมากับโลกทุนนิยม ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องนี้"
(จากเฟซบุ๊คLittle Big Green)
สารภาพกันตรงๆ บนเวที เมื่ออยากเอาใจคนรัก จึงต้องเปลี่ยนตัวเอง เพราะแฟนเป็นมังสวิรัติ
"ที่เขาเป็นแบบนั้น เหมือนเขาต้องการประท้วงกลายๆ ว่าอยากให้คนหันมากินเนื้อสัตว์น้อยลง โลกจะดีกว่านี้อีกหลายมิติ ก่อนจะเปลี่ยนแปลงตัวเรา ก็เคยถามเขาว่า เป็นแบบนั้นทำไม เขาก็บอกว่า คุณรู้ไหม...อุตสาหกรรมเนื้อ ทำลายโลกแค่ไหน กว่าจะเลี้ยงวัวจนเติบใหญ่ต้องถางป่าเท่าไร
เราก็ค่อยๆ ซึมซับ และเคยสงสัยว่าทำไมเขามีรองเท้าคู่เดียว จะเป็นแบบนี้ไปตลอดชีวิตเลยหรือ ทั้งๆ ที่มีการงานมั่นคง มีกระเป๋าใบเดียว ขาดแล้วก็ยังหิ้วใบนั้น ดังนั้นถ้าเราไม่ปรับบางอย่าง แฟนคงทิ้ง(หัวเราะ)"
อ่านถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ต้องขนาดนั้นเชี่ยวหรือ นั่นเป็นวิถีครูลูกกอล์ฟ เขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อชีวิตและโลก ประกอบกับมีเด็กๆ ติดตามทางเฟซบุ๊คเยอะ และเรื่องกรีนๆ มีคนพูดน้อย
"เวลาเด็กๆ ติดตามเรา แค่เขาเห็นเราใส่เสื้อผ้าแล้วดูดี ก็อยากทำตาม เพราะเซเลบฯรอบตัวส่วนใหญ่มีคอลเลคชั่นใหม่ตลอดเวลา จึงอยากบอกว่า เสื้อผ้าก็ใส่ซ้ำได้"
ครูลูกกอล์ฟ ก็ไม่ถึงกับหักดิบเป็นมังสวิรัติซะทีเดียว แรกๆ ก็เริ่มจากลดเนื้อแดงและซีฟู้ด ส่วนในเรื่องแฟชั่นก็ลดการใช้สิ่งของสิ้นเปลือง แต่สิ่งที่ทำไม่ดี ก็คือ การนั่งเครื่องบินให้น้อยลง
“อย่างคนไทยหกสิบล้านคนบอกจะไม่ใช้หลอด ถ้ากลุ่มทุนไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภค ไม่คิดต้นทุนสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจ คนก็มีทางเลือกเป็นพลาสติกเหมือนเดิม ถ้ารัฐบาลทั่วโลกไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ ปัญหาก็จะวนเวียนแบบนี้”
ถ้าคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดเรื่องการเมือง ในอังกฤษไม่ได้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีทุกเรื่อง มีการออกกฎหมายว่าห้ามใช้หลอดพลาสติก ทุกคนก็อยู่กันได้ แม้จะมีหลอดกระดาษยุ้ยๆ"
(ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ เจ้าของเพจ Konggreengreen)
แยกขยะ จังหวะสนุก
ทั้งๆ ที่รู้ว่า การแยกขยะไม่ได้ทำให้ดูหล่อขึ้นกว่าเดิม แต่ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ เจ้าของเพจ Konggreengreen ก็ยังผลิตสื่อให้ความรู้เพื่อให้คนหันมาดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการแยกขยะ
เขาเริ่มจากแยกขยะลงติ๊กต๊อก แล้วชวนคนมาเรียนรู้การแยกขยะ เพราะเชื่อว่า ความรู้เปลี่ยนคนได้
“เมื่อความรู้เปลี่ยนเราได้ ก็อยากบอกคนอื่น เพราะเคยทำสารคดี ก็อยากทำให้ข้อมูลต่างๆ มันง่ายที่สุด และพยายามทำให้คนมีแรงบันดาลใจในเรื่องการแยกขยะ จึงมีกลุ่มแยกขยะ" ก้อง เล่า และย้อนชีวิตวัยเด็กว่า
"ตอนเด็กๆ เวลาพ่อซื้อไอศกรีมใส่กล่องพลาสติกให้ เราก็ล้างเก็บกล่องไว้ใช้ต่อ บางคนมองว่าเป็นขยะ แต่เรารู้สึกว่าเป็นภาชนะ เป็นคนชอบใช้ของซ้ำ ตอนอยู่ต่างประเทศก็แยกขยะ จนวันหนึ่งได้ทำรายการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็เลยไปดูที่ปลายทางบ่อขยะในพื้นที่ 50 ไร่ จ.นนทบุรี เต็มไปด้วยกองขยะ
คนแยกขยะมองว่ามันคือทรัพยากร บางอย่างขายได้ บางอย่างรีไซเคิล จนมาทำเพจเรื่องนี้ ค่อยๆ หาความรู้ วันหนึ่งทำรายการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราก็พยายามชั่งน้ำหนักให้เรื่องกรีนๆ เป็นไปได้กับคนทุกระดับ ดีกว่าที่จะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของฉัน เรามีบทบาทส่วนไหนก็ทำตรงนั้น"
นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ก้องเลือกที่จะบริโภคเท่าที่จำเป็น เพราะเชื่อว่าการกระทำทุกอย่างมีผลต่อโลก ดังนั้นการบริโภคแบบยั่งยืน จึงเป็นทางเลือกให้คิดก่อนซื้อ แล้วใช้และทิ้งเมื่อถึงเวลา ก็เท่านั้นเอง
"ผมเคยดูสารคดี มีชะนีพันธุ์หนึ่งที่ป่าอเมซอน แม่ลูกเกาะบนต้นไม้ ส่วนอีกด้านของสารคดีให้เห็นว่า มีทุ่งเกษตรที่เป็นระเบียบ นี่คือการรุกล้ำของธรรมชาติ"
(บอล-ทายาท เดชเสถียร และยอด-พิศาล แสงจันทร์ กับรายการหนังพาไป)
หนังพาไป : ใช้เท่าที่จำเป็น
ก่อนจะมาทำรายการหนังพาไป บอล-ทายาท เดชเสถียร และยอด-พิศาล แสงจันทร์ อยากทำตามความฝัน อยากทำรายการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ใช้งบน้อยๆ แต่ให้แง่มุมที่น่าสนใจ และตอนนั้นไม่ค่อยมีเงิน
"ตอนนั้นมีเงินน้อยมาก ตกงานและอยากทำตามความฝัน เหมือนฝึกการใช้ของน้อยไปโดยปริยาย เสื้อผ้าก็ใช้ซ้ำๆ อาหารก็แค่ประทังชีวิต คือเวลาเดินทางไปต่างประเทศไปทำรายการ จะพักหรูหรือพักแย่ๆ เราผ่านมาหมดแล้ว คนเราถ้าเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบยั่งยืน ของใช้ที่จำเป็นในชีวิตมีไม่กี่อย่าง เวลาไปเมืองนอกเราไม่ได้เอาไปทุกอย่าง บางอย่างไม่มีก็ได้ " ยอด เล่าและนั่นทำให้เขาไม่ตัดสินใจทันทีเมื่ออยากซืื้อของใหม่ๆ ในชีวิต
อีกประสบการณ์ที่“ยอด”เล่า นั่นก็คือ ทะเลสาปที่หายไปที่อุซเบกีสถาน
“ทะเลสาบในอุซเบกิสถาน ใช้เวลาไม่ถึงร้อยปี เหลือเพียงซากเรือ ความอุดมสมบูรณ์หายไปเพราะฝีมือมนุษย์ เพราะมีการปันน้ำมาทำการเกษตรปลูกฝ้าย ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล ปี 2009 ทะเลสาบหายไป เพื่อปลูกฝ้ายนำมาทำเสื้อผ้า ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีส่วนทำให้ทะเลสาบหายไป"
ส่วน บอล ยกตัวอย่างเมืองตากอากาศบนภูเขาของอินเดีย ที่นั่นมีจุดเติมน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน ใช้ถุงพลาสติกแบบหนาใช้หลายๆ ครั้ง และบางรัฐในอินเดียกำหนดว่า แพคเกจจิ้งที่ใช้ต้องย่อยสลายตามธรรมชาติ ถ้าทำไม่ได้ไม่ต้องนำมาขาย
เหล่านี้คือตัวอย่างที่ใครอยากเลียนแบบ ก็ไม่หวง เพราะโลกต้องการคนกรีนๆอีกเยอะ