HEALTHTECH X นวัตกรรมเปลี่ยนโลก "เหลื่อมล้ำ" ให้เป็น "สุขล้ำ"
"HEALTHTECH X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ" เวทีพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับ "กลุ่มเปราะบาง"
เชื่อว่าในมุมมองหลายคน เมื่อเอ่ยถึง "เทคโนโลยี" คงมองว่าเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน นั่นคือ มีทั้งด้านมืดที่กลายเป็นภัยต่อสังคม แต่ในขณะเดียวกัน หากเลือกที่จะหยิบนำ "ด้านสว่าง" ของเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็ไม่แน่ว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นอาจช่วยสร้าง "โอกาส" หรือ "ความได้เปรียบ" ไปจนถึงช่วยลดข้อจำกัด หรือความเหลื่อมล้ำให้กับตนเอง และคนอื่นๆ ในสังคมได้อีกมากมายก็เป็นได้
ปัจจุบันมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อเช่นนั้น พวกเขาเป็นคนที่มองเห็นโอกาสของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกใบนี้
หลายคนเรียกว่าพวกเขาว่า "สตาร์ทอัพ" หรือผู้ประกอบการนวัตกรรม เป็นอีกกลุ่มคนที่เชื่อว่า เทคโนโลยีจะช่วยอำนวยความสะดวก ไปจนถึงยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนในสังคมได้
ในวันนี้ ได้เห็น "สตาร์ทอัพ" หน้าใหม่สร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพในฝันของใครหลายคน
หากเอ่ยถึงหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ทั่วโลกยังต้องการมากที่สุดเวลานี้ คงไม่พ้นกลุ่มที่เรียกว่า HealthTech นั่นคือกลุ่มนักนวัตกรที่สนในพัฒนารูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่คน
สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ
เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตื่นตัว หันมาสนใจเป็นนวัตกรเตรียมพร้อมสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ ต่อยอดและโชว์ศักยภาพนวัตกรรมไทยออกสู่ตลาดโลก ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาวะ อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจับมือกับบริษัท ซีนเนอร์ยี่ อินโนเวชั่น จำกัด (SYNHUB) ริเริ่มโครงการพัฒนารูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จัดประกวดผลงานนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แนวคิด "HEALTHTECH X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ" อีกเวทีพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง
วีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานกรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสสร้างเสริมสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตวิถีใหม่ เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกช่วยประชาชน
สสส. เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นวัตกรรมการสื่อสารต่อสังคมที่เรียกว่า "สุขภาวะ" โดยมีเป้าหมายเปิดเวทีสร้างสรรค์โอกาสในการมีส่วนร่วม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีได้ช่วยแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต แต่สำหรับกลุ่มคนเปราะบาง การเข้าถึงและการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลยังมีข้อจำกัด
"เรามีความคาดหวังคำว่า การจัดงานครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่เราสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสามกลุ่มที่ สสส. มองว่ายังเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเด็กเยาวชน และกลุ่มผู้สูงอายุ"
HEALTHTECH X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคล ชุมชน ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป พัฒนานวัตกรรมสุขภาพเพื่อกลุ่มคนเปราะบาง โดยมีเป้าหมายสนับสนุนทุน 25 โครงการ โครงการละไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงานถึง สิงหาคม 2566 ซึ่งหลังเปิดตัวมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมมากถึง 105 ทีม ซึ่งได้คัดเลือกไอเดียให้เหลือนวัตกร X-Innovator ที่มีคุณสมบัติและความพร้อม 25 ทีม
ผ่านการคัดเลือกภายใต้หลักเกณฑ์ 4 ขั้นตอนแบบเจาะลึก 1. เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง 2. การจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ 3. ความคิดสร้างสรรค์ ใช้งานได้จริง 4. สื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ
"เราได้เห็นตัวอย่างไอเดียที่เข้ารอบน่าสนใจ เช่น แว่นที่สามารถสแกนสิ่งกีดขวาง ส่งสัญญาณเสียงผ่านหูฟังสำหรับคนพิการทางสายตา ไม้เท้าอัจฉริยะช่วยเหลือยามฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ ผลงานทั้งหมดมุ่งเป้าสร้างสรรค์โอกาสในการมีส่วนร่วม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ในอนาคตเราจะมีผู้ประกอบการที่พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดีๆ ที่มีฐานคิดจากการส่งเสริมสุขภาพสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญมาก" นายวีรพงษ์ กล่าว
จากพัฒนานวัตกรสู่ความเป็นสตาร์ทอัพมืออาชีพ
นิติ เมฆหมอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SYNHUB และนายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า SYNHUB Digi-Tech Community ศูนย์บ่มเพาะและพัฒนา นวัตกรและสตาร์ทอัพ มุ่งเน้นนำดิจิทัลเทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลงานโดยทีมผู้เชี่ยวชาญในการสร้างประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจเชิงปฏิบัติในการพัฒนานวัตกรสู่ความเป็นสตาร์ทอัพมืออาชีพ
ในครั้งนี้ SYNHUB เป็นหน่วยร่วม สสส. เพื่อปั้นและบ่มเพาะ X-Innovator ทั้ง 25 ทีม มุ่งสร้างศักยภาพทีมและช่วยพัฒนาผลงานดิจิทัลเทคโนโลยี ให้ตอบโจทย์การสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มเปราะบาง และโค้ชการพัฒนางานในทุกมิติ ทั้งด้านธุรกิจ การตลาด การเงิน และการต่อยอดผลงานสู่นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัพมืออาชีพ พร้อมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์และการร่วมทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ
"จากนี้ไป SYNHUB จะบ่มเพาะทีมทั้ง 25 ทีม โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นโค้ช ผู้ช่วยโค้ชมากกว่า 30 ท่านที่ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ การตลาดหรือแบรนด์ดิ้งมาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับความต้องการในแต่ละกลุ่ม ฉะนั้นผมคิดว่าเวลาจากนี้ไปอีกหนึ่งปีเราจะมีกิจกรรมมากมาย"
หนึ่งในผู้เข้ารอบ 25 ทีม ได้แก่ น้องๆ จากทีม Golden Ticket เจ้าของผลงานแว่นที่สามารถสแกนสิ่งกีดขวาง 5 คนรุ่นใหม่ จากโรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ ศรีราชา เผยว่าแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานเกิดจากการได้เห็นแว่นตาส่งเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตาของ VISIONEAR แต่มองว่าน่าจะต่อยอดและพัฒนาจุดบกพร่อง โดยการเพิ่มการแยกแยะสิ่งของได้มากขึ้น และผู้ใช้สามารถทราบระยะห่างของสิ่งของได้ โดยนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการจดจำ
"เหตุผลที่มาร่วมโครงการนี้ เพราะเราเห็นจากข่าวบ่อยๆ เรื่องที่เจอทุกวัน มองว่าถ้าเป็นคนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาในสังคมได้ก็น่าจะดี ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะได้เข้ารอบ แต่ตั้งใจมาหาประสบการณ์เท่านั้น เมื่อได้เข้ารอบก็รู้สึกตื่นเต้นมากๆ"
เปลี่ยน Pain Point เป็นนวัตกรรม
หลายเสียงจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ มาร่วมสะท้อนความต้องการ เริ่มที่ เหมวิช วาฤทธิ์ นวัตกรตัวแทนเยาวชน เอ่ยถึง Pain point สุขภาพที่กลุ่มเด็กและเยาวชนต้องเผชิญว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของเด็กคือเรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะที่ผ่านมาเมื่อเด็กต้องเรียนออนไลน์ตลอดสามปีในช่วงโควิด-19
"ส่วนใหญ่แล้วเขาก็จะเครียด แล้วก็ส่งผลต่อการเรียนด้วย แต่สำหรับเด็กบางกลุ่มเองก็มีปัญหาเรื่องข้อจำกัด จากการที่ต้องเรียนออนไลน์ แต่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียนรู้ได้ ก็อยากจะให้ลองทำนวัตกรรม อย่างเช่น การช่วยเรื่องสมาธิสั้น อีกเรื่องหนึ่งก็คืออาจจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับให้คำปรึกษา เรื่องสุขภาพจิตก็ได้"
อีกเสียงสะท้อนของกลุ่มผู้สูงอายุ มียายพิศ ประพิศ ม่วงคู มาร่วมเปิดใจว่า ปัญหาผู้สูงอายุคือการเติบโตมาในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี ทำให้ขาดความเชี่ยวชาญ หรือคุ้นเคยกับเทคโนโลยียุคใหม่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านคนเดียวแล้วการต้องคอยระแวดระวังว่าลูกหลานที่ไปทำงานข้างนอกจะได้รับเชื้อโควิดมาติด
"ถ้าถามว่าอยากได้อะไร อยากได้เครื่องเตือนให้ผู้สูงอายุได้ทานยาจะได้ไม่ลืม หรือน่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใกล้ชิดกับคุณหมอได้ง่ายขึ้น หรือได้ที่ปรึกษามากขึ้น"
ฟังเสียงจากตัวแทนฝั่งผู้พิการต่อ ภัทราวรรณ พานิชชา มาเผยถึงความต้องการที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็มว่า
"หลักๆ ที่เจอก็คือเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างที่เห็นคือเราต้องนั่งอยู่บนรถวีลแชร์ตลอดเวลา ก็จะมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ ปวดหลังปวดขา แล้วก็ช่วง โควิด-19 ระบาดหนักๆ ที่ผ่านมาคนพิการหลายๆ คนต้องเจอปัญหาเดียวกัน คือเรื่องของการที่จะเดินทางไปไหนมาไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่คนพิการที่ต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะ ปัญหาที่ต้องเจอก็คือ ต้องขึ้นแท็กซี่ หรือว่าขึ้นรถเมล์รถ รถไฟฟ้า แล้วก็มีความเสี่ยงที่ต้องไปอยู่ในพื้นที่กับคนจำนวนมาก หลายคนเนี่ยต้องไปโรงพยาบาลตามนัดทุกเดือนทุกสัปดาห์ จะกังวลว่าเวลาที่ต้องนั่งขนส่งสาธารณะ เกรงว่าจะไปรับเชื้อมาหรือเปล่า อยากได้เครื่องมือที่ช่วยเรื่องการเคลื่อนไหว เวลานั่งนานจะเกิดเป็นแผลกดทับได้ แต่ถ้าเกิดว่ามีนวัตกรรมในการที่จะมาช่วยแจ้งเตือนการยกตัวขึ้นมาจะเป็นการช่วยลดแรงกดได้ หรือว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยแจ้งเตือนให้ดื่มน้ำ เพราะว่าหลายคนต้องใส่สายสวนปัสสาวะแล้วถ้าดื่มน้ำน้อยจะเกิดการติดเชื้อแล้วก็เจ็บป่วย ในกลุ่มของผู้พิการด้านอื่นๆ อย่างเช่น ด้านการได้ยินหรือด้านการมองเห็นจะมีปัญหาในเรื่องของอุปกรณ์ในการที่จะสื่อสาร ถ้าเกิดว่ามีแพลตฟอร์มหรือว่าแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มาช่วยเรื่องนี้ก็คงดี นอกจากนี้ อยากให้มี telemedicine คือผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงประกันสุขภาพได้ เพราะว่าบริษัทประกันจะไม่รับคนพิการ ถ้าเกิดว่าเป็นแอปพลิเคชันของทางภาครัฐสามารถให้ผู้พิการเข้าถึงได้ในจะช่วยลดปัญหาของคนพิการไปได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทางไปอย่างยากลำบาก หรือจะต้องมีคนดูแล ส่วนสำคัญมากๆ อีกอันหนึ่งคือเรื่องของโรคซึมเศร้าในคนพิการค่ะโดยเฉพาะในช่วง โควิด-19" ภัทราวรรณ เอ่ย