Mainstand "สื่อกีฬา" ไม่เน้น "ผลการแข่งขัน" สู่ Content Creator Hub เต็มรูปแบบ
ถอดกลยุทธ์การเติบโตของ Mainstand จากเพจ "ข่าวกีฬา" ที่นำเสนอเรื่องกีฬาที่ไม่เน้นผลการแข่งขัน สู่การเป็น CONTENT CREATOR HUB พร้อมดึงกลยุทธ์ใช้อินฟลูเอนเซอร์สร้างแบรนด์ เปิดตัว Frontman ตอกย้ำกีฬาให้เข้าถึงทุกคน
ซาอิด เอท มาเลค : จากคนลักลอบเข้าประเทศ สู่นักวิ่งอัลตร้าเทรลทีมชาติสเปน
ชีวิตซูโม่หลังเกษียณ : ความจริงอันโหดร้ายของกีฬาประจำชาติญี่ปุ่น
ฟองสบู่เจลีก : วิกฤตการเงินที่เกือบทำให้ลีกอาชีพญี่ปุ่นล้มละลาย
เหยา หมิง : ยอดนักบาสฯ ที่เป็นผลผลิตจากคำสั่งของรัฐบาลจีน
นี่คือตัวอย่างหัวข้อข่าวกีฬา ที่ Main Stand สื่อกีฬาทางเลือกนำเสนอมาตลอด 4 ปีของการก่อตั้ง และก็เป็นพวกเขาเองนี่เองที่เป็น "สื่อกีฬา" ที่หลายคนกำลังจับตา จนทำให้ยอดผู้ติดตามสูงถึง 1 ล้านคน
แม้การแข่งขันกีฬาจะเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างคุณประโยชน์กับร่างกาย เสริมสร้างความสามัคคีและมิตรภาพ หากปฏิเสธไม่ได้ว่าในอีกด้านหนึ่ง กีฬาล้วนเชื่อมโยงกับสังคมในมิติใดมิติหนึ่ง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อาทิ วิกฤติล้มละลายของกรีซที่เกิดขึ้นหลังการเป็นเจ้าภาพมหกรรมโอลิมปิก 2004
การแสดงออกของวงการกีฬาสหรัฐที่ออกมาแสดงสัญลักษณ์คุกเข่าให้เพลงชาติเพื่อประท้วงรัฐบาลที่ขาดความเคารพต่อคนผิวสี กระทั่งทีมรักบี้นิวซีแลนด์ในชุดดำ ซึ่งได้รับการขนานนาม All Blacks ต้องทำ “ฮะกะ” (haga) ท่าเต้นในยามออกศึกของชนเผ่าเมารีก่อนเริ่มการแข่งขัน
กีฬากับสังคม การเมือง และวัฒนธรรมจึงแยกออกจากกันไม่ขาด มีความเชื่อมโยงต่อกันในมิติใดมิติหนึ่ง และถ้าเอ่ยถึงสื่อกีฬาที่ทำหน้าที่อธิบายความเชื่อมโยงที่ว่านี้อย่างต่อเนื่องและทำได้ดี ก็ต้องมีชื่อ Main Stand อยูในนั้น
“คอนเทนท์กีฬาเคยเป็นเซคชั่นหนึ่งในภาพรวมของสื่อทั้งหมด เป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เราทำเรื่องกีฬาให้เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ การเมือง สังคม เพื่อให้เรื่องกีฬาอิมแพคกับคนในวงกว้าง” โรจน์ พุทธคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมนสแตนด์ ครีเอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำถึง คอนเซปต์ของ Main Stand
- ถอดรหัสสื่อกีฬาไม่เน้นผล
Mainstand คือสื่อกีฬาที่เติบโตอย่างรวดเร็วตลอด 4 ปีที่ก่อตั้ง และจุดเด่นของเขาคือการนำเสนอคอนเทนต์แบบไม่เน้นผลการแข่งขัน แบบที่สื่อกีฬาส่วนใหญ่มักนำเสนอ แต่ Mainstand นำเรื่องกีฬามาเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ สังคม การเมือง และนำเสนอ In-depth Stories ดั่งเช่นหัวข้อที่ถูกยกตัวอย่างข้างต้น
ลายเซนต์ของ Main stand ที่ว่านี้ ทำให้สื่อกีฬาที่มีจุดเริ่มต้นจากแฟนเพจ และเว็ปไซต์ เติบใหญ่ขึ้นเรื่อย และกำลังก้าวสู่ปีที่ 5 พร้อมยอดผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์รับบริหารผังรายการ และผลิตรายการให้กับดิจิทัลทีวี เช่น ช่อง T-Sport รวมถึงมี บริษัทแพลนบี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือลิขสิทธิ์กีฬามาร่วมลงทุน เสริมความแข็งแกร่ง
ถึงวันนี้ Mainstand มีผู้บริหารใน 3 ส่วนหลักประกอบด้วย นายกรัณย์พล เตชะรุ่งเรืองภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท เมนสแตนด์ ครีเอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นายโรจน์ พุทธคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายวัฒน เงินหมื่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในวงการกีฬา ผ่านประสบการณ์การทำการตลาด การร่วมทำทีมฟุตบอล และดูแลสื่อในทีมฟุตบอล
โรจน์ พุทธคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมนสแตนด์ ครีเอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า Mainstand เริ่มต้นเติบโตมาจากการเป็น Online Publisher ที่ใช้ Passion ในการทำงาน มีการปรับตัวในสภาวะต่าง ๆ เรื่อยมา รวมไปถึงการปรับตัวให้เข้ากับลูกค้า และเพิ่มบริการให้ลูกค้าเลือกใช้มากขึ้น จากการทำเนื้อหาด้านกีฬาบนแฟนเพจ เว็ปไซต์ สู่การเป็น Content Provider ให้กับลูกค้าหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือภาครัฐก็ตาม
“เราเคยเข้าไปทำการประชาสัมพันธ์ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย ทำเนื้อหาในโทรทัศน์ และสำหรับเอกชนก็มีการเข้าไปทำคอนเทนต์ออนไลน์ รวมถึงช่วยดูแลระบบออนไลน์ให้กับลูกค้าหลาย ๆ กลุ่ม ไม่จำกัดเฉพาะลูกค้าที่สนใจทำ Sport Marketing เท่านั้น ใน Service ส่วนนี้จะครอบคลุมทั้งระบบหน้าบ้านอย่างการผลิตคอนเทนต์ รวมไปถึงระบบหลังบ้านที่จะติดตามผลการดำเนินงาน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ จึงต้องการรวบจุดเด่นของเราเพื่อต่อยอด Service ให้กับลูกค้า”
สัดส่วนรายได้ของ Main stand มาจาก 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.การทำเนื้อหาและเผยแพร่ทางสื่อของตัวเองในสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด 2. การเป็น Content Provider เช่น รับจ้างผลิตรายการ การเป็นพาร์ทเนอร์ในส่วนเนื้อหาให้กับสื่อต่างๆ ในสัดส่วน 35% และ 3. การเป็นที่ปรึกษาด้าน Sport Marketing ให้กับหน่วยงานรัฐและเอกชนอีก 30%
“ในยุคแรกเรามีมอตโต้ ว่า Sport Edutainment ที่เอาสาระกับบันเทิงด้านกีฬามาเจอกัน จากนั้นเราเปลี่ยนมาใช้ Stand for all ที่ใช้เป็นแกนหลักในธุรกิจ ซึ่งการจะเป็นเนื้อหาสำหรับทุกคนได้นั้น เรามองว่าต้องมี มี Content ที่เชื่อมโยงกับทุกคนได้ และสองเราต้องมีฟอร์แมท คือมีรูปแบบสื่อที่ต่างกัน เช่น วีดีโอ บทความ และสาม มี Distribution Chanel ซึ่งนอกจากออนไลน์แล้ว เราจึงมีส่วนไปทำโทรทัศน์ ทำวิทยุ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าแม้เราจะชำนาญในการทำออนไลน์ แต่เราก็ยังให้ความสำคัญในทุกแพลตฟอร์ม”
(จากซ้ายไปขวา) วัฒน เงินหมื่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ โรจน์ พุทธคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรัณย์พล เตชะรุ่งเรืองภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท เมนสแตนด์ ครีเอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
“หลังจากเราทำเนื้อหาในสไตล์ของเรา แล้วมีคนเห็นฝีไม้ลายมือ นำไปสู่การร่วมผลิตรายการ และปีที่ผ่านมา เราทำเงินจากส่วนนี้ในระดับ 70-80 ล้านบาทต่อปี แล้วเราก็นำจุดแข็งนี้มาพัฒนาต่อ เพราะมันจะมีช่องกีฬาที่อยากจะให้เราทำต่อ หรือสื่อประเภทอื่นที่มีโมเดลที่อยากให้เรื่องกีฬามีความสำคัญ เพราะทุกวันนี้สื่อกีฬาไมได้จำกัดแค่ผลการแข่งขัน แต่ยังอยู่ในไลฟ์สไตล์ วิธีคิด หรือแฟชั่น” ผู้บริหาร Main Stand กล่าวและว่า ในปัจจุบัน ปีที่ผ่านมา Mainstand มีรายได้รวมอยู่ที่ 120 ล้านบาท ขณะที่ในปีหน้าคาดหมายว่าจะเติบโตอีก 20-30% จากการร่วมผลิตเนื้อหา และการทำ Sport Marketing จากการจัดกิจกรรมภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
- วางแผนสู่ Content Creator Hub
ในการเติบโตสู่ปีที่ 5 นี้ Main Stand วางกลยุทธ์สู่การเป็น Content Creator Hub ให้การบริการแบบ One Stop Service ไม่ว่าจะเป็นการวางกลยุทธ์ในการใช้เครื่องมือในการทำการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การผลิตคอนเทนต์ การประชาสัมพันธ์แบบเต็มรูปแบบ
วัฒน เงินหมื่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เมนสแตนด์ ครีเอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ล่าสุดได้เปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Mainstand ถึง 15 คน ที่เราเรียกว่า “MainStand Frontman” ซึ่งนอกจากจะทำให้ Mainstand มีความเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายและเชื่อมโยงระหว่างลูกค้ากับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ด้วยการทำการตลาดแบบ Influencer
กรัณย์พล เตชะรุ่งเรืองภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท เมนสแตนด์ ครีเอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า เป้าหมายของ Mainstand คือการเป็นสื่อกีฬาที่เข้าถึงทุกคน มีช่องทางออนไลน์หลักที่เติบโตได้เร็วมากในฐานะสื่อกีฬา มีประสบการณ์รับบริหารผังรายการ และผลิตรายการให้กับดิจิทัลทีวี
สำหรับโมเดลการบริหารรายได้จากการมี Frontman ในสังกัดนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่มีคนเข้ามาอยู่ในโครงสร้างของมากขึ้น เราต้องมองทั้งสองอย่างคือการสร้างรายได้ให้กับบริษัทและการสร้างรายได้ให้กับ Frontman หรือ Influencer ของเรา เรามีวิธีการบริหารจัดการในรูปแบบโมเดลที่จะสร้างรายได้และเติบโตร่วมกัน
"ผมว่าโมเดลนี้เป็นโมเดลที่น่าสนใจ Frontman ของเราจะทำหน้าที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของลูกค้า และเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน Mainstand ก็มองว่าเรามีหน้าที่สร้างมูลค่าให้กับ Frontman ของเราเช่นกัน ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำก็คือเราจะทำให้ Influencer ของเรามีมูลค่าสูงขึ้นและเติบโตไปกับคอนเทนต์ที่เราจะทำ เมื่อทั้งสองส่วนนี้โตขึ้น ก็จะทำให้เกิดรายได้ร่วมกัน”
การที่มีแพลตฟอร์มที่แข็งแรงหรือเพียงช่องทางในการสื่อสารเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย จุดที่สำคัญที่สุดคือต้องมีคนที่จับต้องได้ง่ายและสามารถเข้าถึงในแบบที่เขาต้องการ เลยเป็นที่มาของ Frontman ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นจุดเกาะเกี่ยวบุคคลระหว่างกับกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
ทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงและเข้าใจเราได้มากที่สุด และเพื่อให้เราเข้าถึงทุกคนตามเป้าหมาย Frontman มีหลายเจเนอเรชั่น ซึ่งแต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน แต่สิ่งที่พวกเรามีเหมือนกันคือ Passion ในเรื่องของกีฬา และการเป็น Sport Lover
ให้เรื่องกีฬาเข้าไปถึงในทุกมิติทั้งสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ได้อย่างที่ตั้งใจ