วังวนการแก้ปัญหา"ฝุ่นควัน"ภาคเหนือ บนฐานตัวเลขลวง
วิธีการที่รัฐใช้แก้ปัญหา"มลพิษ"ภาคเหนือ เหตุใดไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง ก็เพราะสถิติ"ฝุ่นควัน" ที่วัดได้ เป็นตัวเลขลวง ไม่ได้สะท้อนปัญหาที่แท้จริง ส่วนการแก้ปัญหามีทางออกที่ทำได้
แผนมาตรการแก้ปัญหามลพิษอากาศ ฝุ่นควัน pm 2.5 ตามวาระแห่งชาติของประเทศไทยใช้ตัวชี้วัด (KPI) สำคัญ 3 ประการ คือ 1. จำนวนจุดความร้อน hotspot ลดลง 2. จำนวนวันที่ค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานลดลง และ 3. จำนวนผู้ป่วยทางเดินหายใจลดลง
พื้นที่ภาคเหนือเป็นเขตพื้นที่วิกฤตจากมลพิษอากาศเป็นประจำทุกปี คุ้นเคยกับปฏิบัติการห้ามเผาและไล่ดับไฟโดยมีการประกาศสถิติจุดความร้อน hotspot จากดาวเทียมเป็นประจำทุกวัน ระยะหลังจิสด้าใช้ระบบ viirs จากดาวเทียม Suomi-NPP เป็นหลักแทนการรายงานระบบ modis แบบเดิม
สถิติจุดความร้อนที่จิสด้ารายงานดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของการวัดผลการปฏิบัติงานของรัฐ ดังนั้นแต่ละปีทุกหน่วยงานจะอ้างอิงความสำเร็จในปฏิบัติการแก้ปัญหาหมอกควัน (ศัพท์ราชการเรียกฝุ่นpm2.5) ด้วยการอ้างสถิติจุดความร้อนของจิสด้า ระยะ 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม)
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้แถลงผลการปฏิบัติงานว่า.. จากการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงเฝ้าระวังวิกฤตปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2565 ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า
ค่าเฉลี่ยปริมาณ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ลดลงร้อยละ 27 โดยลดลงจาก 41 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2564 เหลือ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2565 จำนวนวันที่ PM2.5 เกินมาตรฐาน ลดลงร้อยละ 32 โดยลดลงจาก 103 วัน ในปี 2564 เหลือ 70 วัน ในปี 2565 และจำนวนจุดความร้อน ลดลงร้อยละ 61 โดยลดลงจาก 61,776 จุด ในปี 2564 เหลือ 23,913 จุด ในปี 2565
ตัวเลขทั้งหมดที่รายงานก็คือสถิติตัวชี้วัดสำคัญที่รัฐใช้อ้างอิงความสำเร็จ/ล้มเหลวในการแก้ปัญหา และยังใช้เป็นเป้าหมายในการทำงานปีต่อๆ ไป นัยว่า เพื่อยกระดับการแก้ให้ดีขึ้น
เช่น ประกาศว่าตั้งเป้าลด hotspot ของปีหน้าลง 20% จากฐานเดิม หรือประกาศให้จำนวนวันที่คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานลดลงผผฟังเผินๆ ดูเหมือนจะเป็นวิทยาศาสตร์หลักการจัดการที่ดี...
แต่แท้จริงแล้ว วิธีการที่รัฐใช้คือความอับจน เอาง่ายเข้าว่า และไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษภาคเหนือได้จริงแต่อย่างใด !! นั่นเพราะตัวเลขสถิติที่ว่าเป็นตัวเลขลวงที่ไม่ได้สะท้อนปัญหาจริง !!!
ตัวเลขจำนวน hotspot เป็นแค่ส่วนหนึ่งเดียวที่จับได้ และไม่ใช่จำนวนจุดความร้อนที่เกิดขึ้นจริง
ตัวเลขค่าคุณภาพอากาศก็เป็นตัวเลขเฉพาะจุดเล็กๆ ไม่กี่จุด ไม่สามารถเป็นตัวแทนค่าอากาศจริงให้กับคนทั้งแผ่นดิน โดยเฉพาะจุดที่แดงอากาศย่ำแย่ซ้ำซากไม่ได้ถูกนับรวมไว้
ดังนั้น ในเมื่อตัวเลขสถิติที่ใช้เป็น KPI เป็นตัวเลขลวง ..ผลประกอบการจึงเป็นผลลวงที่ไม่ได้สะท้อนปรากฏการณ์จริง ... ไม่เพียงเท่านั้นเป้าหมายการทำงานปีต่อๆ ไป ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญหาจริง วนเวียนอยู่ในเขาวงกฎเช่นนี้มายาวนาน
การแก้ปัญหาจึงไม่ไปไหนตามมา !
ตัวเลขลวงจุดความร้อน
ปัญหาตัวเลขลวงจุดความร้อน hotspot ที่ไม่สะท้อนความจริงนั้นเกิดจากวงโคจรของดาวเทียม Suomi-NPP ผ่านประเทศไทยวันละ 2 รอบ ช่วงสั้นๆ คือในช่วงกลางคืนราวๆ ตีหนึ่งถึงก่อนตีสาม และรอบกลางวันในช่วงราวๆ บ่ายโมงถึงก่อนบ่ายสาม
ช่วงเวลาโคจรของดาวเทียมเป็นเรื่องสังคมรู้กันทั่วไปว่ามีเวลายาวนานร่วม 12 ชั่วโมงที่ปลอดการตรวจจับ มันก็เกิดมีการเผาหลบดาวเทียมกันโดยทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
การเผาหลบดาวเทียมเป็นเรื่องปกติ เกิดมาพร้อมกับนโยบายสั่งห้ามเผาเด็ดขาดที่เริ่มใช้ในราวปีพ.ศ. 2560 โดยมองว่า ไฟทุกกองไม่ว่าเกิดในป่าในเมืองในแปลงเกษตรเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะไฟเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ
แต่การห้ามเด็ดขาดที่ว่าไม่เคยได้ผลจริงในทางปฏิบัติเพราะพื้นที่ภาคเหนือมีป่าผลัดใบจำนวนมาก ขณะที่แปลงเกษตรทำกินก็ต้องจัดการใช้ไฟก่อนฤดูฝน ฝ่ายปกครองบางพื้นที่เข้าใจปัญหานี้จึงแอบหลิ่วตาให้เกษตรกรเผาได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องหลบดาวเทียมไม่ให้เจ้านายสั่งตรวจสอบให้ยุ่งยาก
พื้นที่การเผาที่แท้จริงจึงไม่เคยสอดคล้องกับสถิติจุดความร้อน เมื่อปี 2563 เคยมีสถิติแปลกๆ ลำปาง กับ เชียงใหม่ มีรอยเผาไหม้หรือ burned scars ใกล้เคียงกันคือราวๆ 1.3 ล้านไร่ แต่จุดความร้อนต่างกันเป็นสองสามเท่าตัว เชียงใหม่มีจุดความร้อนหรือ hotspot กว่า 2 หมื่นจุด ส่วนลำปางไม่ถึง 8 พันจุด
ดังนั้นกรณีที่นโยบายส่วนกลางสั่งลดจุดความร้อนลงมาให้ได้ตามเป้า ก็จะเกิดมีการพยายามหลบดาวเทียมมากขึ้นอีก การเผาไม่ได้ลดลง ก็แค่ตัวเลข KPI ราชการลดลงสวยงามเท่านั้น
จริงๆ แล้วมีตัวเลขสถิตอีกตัวที่ราชการฝ่ายปฏิบัติใช้กันก็คือรอยไหม้จากดาวเทียมหรือ burned scars แต่ตัวเลขที่ใช้กันเพื่ออ้างอิงเป็น burned scars ระยะ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) เพื่อให้สอดคล้องกับสถิติจุดความร้อน 5 เดือนเช่นกัน
วิธีการใช้สถิติรวม 5 เดือนดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรองรับแนวความคิดห้ามเผาเด็ดขาด zero burning และการมองว่าไฟทุกกองเป็นสิ่งต้องห้าม ดังนั้นเมื่อฉายภาพตารางสถิติรอยไหม้ 5 เดือนของแต่ละจังหวัดมาเทียบกัน
จังหวัดที่มีรอยไหม้มากๆ จะเป็นจำเลยสะท้อนว่าเป็นแหล่งมลพิษและไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาได้ดีเท่าจังหวัดที่มีรอยไหม้น้อยกว่า ทั้งที่จริงแล้ว หากเกิดรอยไหม้ในเดือนมกราคมหรือพฤษภาคมมากๆ ยิ่งเป็นการดีเพราะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงก่อนและหลังฤดูไฟที่มีค่าอากาศย่ำแย่
การเผาในเดือนมกราคมและพฤษภาคมและหลีกเลี่ยงเผาในฤดูร้อนควรจะได้รับการชมเชย แต่กลับถูกเหมารวมว่าจัดการไม่ดี
นี่ก็เป็นอีกปัญหาของการใช้ตัวเลขสถิติที่ไม่ได้ช่วยยกระดับประสิทธิภาพอันใด
สถิติค่าคุณภาพอากาศ
ในส่วนของสถิติค่าคุณภาพอากาศก็เช่นกัน ที่ไม่ได้สะท้อนปัญหาจริง และไม่ช่วยต่อการยกระดับการแก้ปัญหา นั่นเพราะว่าราชการไทยประกาศใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศและมาตรฐานของเครื่องวัด ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องวัดของกรมควบคุมมลพิษเพียงไม่กี่แห่ง
บางจังหวัดมีเครื่องเดียวตั้งอยู่ในเมืองใกล้ศาลากลางจังหวัด เช่น แพร่ พะเยา บางจังหวัดมีสองเครื่องเช่น น่าน เชียงราย ฯลฯ เครื่องวัดแต่ละเครื่องสามารถสะท้อนคุณภาพอากาศในรัศมีแค่ราวไม่เกิน 5 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่ราชการใช้ตัวเลขที่ว่าแทนค่าคุณภาพอากาศของทั้งจังหวัด
จุดอ่อนก็คือ บางอำเภอ หรือบางตำบลอยู่ใกล้กับแหล่งมลพิษค่าอากาศย่ำแย่ต่อเนื่องโดยตลอด แต่ก็ไม่ถูกบันทึกและรายงานเป็นตัวเลขทางการ
ทางการใช้ตัวเลขค่าคุณภาพอากาศของเครื่องวัดในเมืองแค่ตัวเดียวฉายภาพปัญหามลพิษของภาคเหนือ ดังนั้นตัวเลขที่ว่าจึงไม่ใช่ค่าคุณภาพอากาศของพื้นที่ส่วนใหญ่ ที่อาจจะมีปัญหาหนักหน่วงยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป เพราะยิ่งอยู่รอบนอกยิ่งติดกับเขตป่าและไฟไหม้ใหญ่
ตัวเลข KPI และการรายงานข้อปัญหามลพิษฝุ่นควันของรัฐ จึงไม่ใช่ตัวเลขจริง และข้อปัญหาที่ใกล้เคียงความจริง
วิธีการแก้ :
รากเหง้าของการเผาหลบดาวเทียมมาจากแนวนโยบายห้ามเผาเด็ดขาด และใช้จุดความร้อนเป็น KPI ให้คุณโทษกับราชการ ต้องแก้ด้วยแนวนโยบายใหม่บนกระบวนทัศน์บริหารจัดการไฟ Fire Management แทนแนวคิดห้ามเผาเด็ดขาด Zero Burning
โดยต้องจำแนกไฟและจุดความร้อนลักษณะต่างๆ ออกมาเป็นกลุ่ม มีทั้งไฟดี ไฟจำเป็น ไฟเกษตร สามารถเผาได้โดยควบคุมให้จำกัดวง ไม่ต้องหลบซ่อน แอบเผาแล้วหนีทิ้งไปจนก่อให้เกิดการลุกลามเป็นไฟใหญ่ ตั้งเป็น KPI ที่หากมีการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็น hotspot ที่ดี
ส่วนไฟที่ไม่จำเป็น ไฟป่า ไฟลุกลามเท่านั้นที่เป็น KPI ต้องควบคุมให้เหลือศูนย์หรือน้อยที่สุด วิธีการเช่นนี้จำยกระดับขึ้นมาสู่การบริหารจัดการ ที่ไม่มองไฟหรือจุดความร้อนแบบเหมาคลุม ตัวเลข hotspot มากแต่หากมีการควบคุมมากอยู่ในกรอบในเกณฑ์ดับเร็ว ถือว่าบริหารจัดการได้ดีมีประสิทธิภาพ
ดาวเทียมมีประโยชน์ ให้รัฐใช้ดาวเทียมทุกดวงในการรายงาน เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาที่ชัดเจนขึ้น ดาวเทียมบางดวงจับจุดความร้อนได้ บางดวงจับไม่ได้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและเข้าไปดับได้ทันเวลา และเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการควบคุมแหล่งกำเนิดตามกลุ่มจำแนก
ส่วนตัวเลขค่าคุณภาพอากาศที่ไม่ครอบคลุมและสะท้อนปัญหาจริงนั้น วิธีแก้คือ รัฐต้องยอมรับเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กว่าเป็นเครื่องสะท้อนปัญหาสุขภาพผู้คน ให้น้ำหนักกับตัวเลขของเครื่องเซนเซอร์ขนาดเล็กที่ชี้เป้าพื้นที่ปัญหา และส่งกำลังทรัพยากรไปช่วยป้องกันบรรเทาประชาชนในพิกัดนั้นๆ
แยกเครื่องที่ใช้เป็นค่ามาตรฐานในการรายงานคุณภาพอากาศอย่างเป็นทางการ กับเครื่องที่ใช้ป้องกันบรรเทาปัญหาสุขภาพออกมา และรายงานตัวเลขพื้นที่ปัญหาให้ครอบคลุม
ความเป็นทางการแบบราชการ หากว่าก่อให้เกิดปัญหาละเลยและสร้างความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องแก้ไขเงื่อนไขความเป็นทางการที่เป็นกับดักดังกล่าวนั้นเสีย.