"พ่อคำเดื่อง"ปราชญ์ชาวบ้านที่สร้างเล้าหมูจากไม้สักที่ปลูกเอง

"พ่อคำเดื่อง"ปราชญ์ชาวบ้านที่สร้างเล้าหมูจากไม้สักที่ปลูกเอง

“พ่อคำเดื่อง ภาษี" ปราชญ์ชาวบ้าน เคยเป็นเถ้าแก่ทำเกษตรเป็นร้อยๆ ไร่ แทนที่จะร่ำรวย กลับมีหนี้สินมากมาย กว่าจะพลิกฟื้นชีวิตด้วย"เศรษฐกิจพอเพียง"ได้ ก็ใช้เวลา...และนี่คือเรื่องราวในงาน“Sustainability Expo 2022”

เกษตรกรที่เคยอยากรวย กู้เงินมาซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตร สุดท้ายมีหนี้สินมากมาย ซึ่งเรื่องเหล่านี้คงได้ยินได้ฟังบ่อยๆ และนี่เป็นอีกเรื่องราว“พ่อคำเดื่อง ภาษี” ​ปราชญ์ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ ที่มีวิธีปลดล็อคชีวิตไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นแบบอย่างให้เกษตรกร นักวิชาการทั่วประเทศ และคนอยากรู้อีกมากมาย

ในวันงาน“Sustainability Expo 2022” (26 กันยายน 65) ณ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ พ่อคำเดื่อง แต่งตัวหล่อเหลาขึ้นเวทีพูดคุยให้ฟังในหัวข้อ เปลี่ยนชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะเกษตรกรเคยจน และเคยอยากรวย

นอกจากนี้ยังขี้นชื่อว่าบ้าปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ไม้ผล ชีวิตจึงร่ำรวยธรรมชาติ รอบตัวแวดล้อมด้วยต้นไม้ และเมื่อปลูกไม้สักมาเนิ่นนาน เอาทำเล้าหมูสักคอกสองคอก คงเป็นเรื่องธรรมดาๆ 

 

อภิมหาจนแบบ"พ่อคำเดื่อง"

แม้พ่อคำเดื่องจะพูดมาไม่รู้กี่ร้อยเวที และสอนในพื้นที่ศูนย์ปราชญ์ชุมชนพ่อคำเดื่อง ต.หัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ แต่เขาก็ยังเป็นปราชญ์ที่ถ่อมตัว และเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ในงานนี้ พ่อคำเดื่อง เล่าอภิมหาจนและหนี้สินล้นพ้นว่า

"ตอนนั้นเป็นหนี้ ธกส. ในระดับใกล้จบแล้ว เข้าสู่กระบวนการจำนอง ทั้งๆ ที่ก่อนจะมีหนี้ ชีวิตก็มีแต่ธรรมชาติ แต่พอไม่เห็นความสำคัญธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เราก็ทำลายรังของเราเอง"

ก็ไม่ต่างจากเกษตรกรหลายพันชีวิต นั่นก็คือ ตัดป่า ถางป่าเพื่อทำการเกษตร และเห็นผลทันตา นั่นก็คือความแห้งแล้ง เมื่ออาหารหมดก็อยู่ไม่ได้

พ่อคำเดื่องในวัย 70 กว่าๆ  ย้อนชีวิตอีกว่า ตอนนั้นทางการสั่งมาว่าให้ปลูกนั่นนี่ขาย เมื่อไม่มีที่ปลูกก็เผาป่า ปลูกทุกอย่างที่ขวางหน้า ใครบอกว่าปลูกอะไรรวยก็ปลูกอันนั้น

สมัยนั้นเขาจึงเรียกพ่อคำเดื่องว่าเถ้าแก่ เพราะเริ่มจากมีที่ดินเยอะๆ และจ้างงานทุกอย่างเพราะอยากรวย ปลูกอ้อยแค่ 50 ไร่ไม่พอ จึงไปกู้เงิน ทั้งซื้อและเช่าที่ดิน เพื่อยืนยันว่าเป็นคนมีเครดิตดี และรวมๆ แล้วต้องทำการเกษตรบนที่ดิน 100-200 ไร่ ทำไม่ไหวสุดท้ายเจ๊ง

กว่าจะเปลี่ยนวิธีคิด

กว่าจะหลุดจากวัฎจักรนั้นได้ พ่อคำเดื่องก็ทุกข์และไม่รู้จะพึ่งใคร แต่เลือกทบทวนตัวเอง 

"ผมทำการเกษตรจนเป็นหนี้ ผมก็ต้องทบทวนตัวเอง เราปลูกอ้อย 500 ไร่เป็นหนี้ เมื่อสงสัยก็ไปดูเกษตรกรที่สกลนคร มุกดาหาร ขอนแก่น หรือว่าเราไม่ขยัน ก็เห็นเพื่อนเกษตรไม่หลับไม่นอนปลูกแบบนี้ก็เป็นหนี้ ถ้าถามว่าเราไม่ประหยัด อ้าว เพื่อนเกษตรกินปลาร้าดองทั้งปี ทำเกษตร 500 ไร่ก็เป็นหนี้ แบบนี้ไม่บังเอิญ"

จึงหวนคืนสู่เกษตรวิถีดั้งเดิม อยากได้บ้านไม้สัก ก็ปลูกไม้สัก อยากได้ฝาบ้านมะค่าโมง ก็ปลูกมะค่าโมง ถ้าถามว่า ต้องปลูกกี่ปี

เรื่องนี้พ่อคำเดื่อง บอกว่า ไม่ต้องถามเรื่องจำนวนปี ปลูกก็คือปลูก ปลูกป่าแค่ 3 นาที ผ่านไป 20 ปี ต้นไม้สูง ถ้าไม่ปลูกก็ไม่มีอะไรเลย ไม่เกี่ยวกับจำนวนปี

"ผมไปซื้อกล้าไม้สักมา 50 ต้นๆ ละ 10 บาท ผ่านไป 20 ปี มีต้นทุนแค่ 500 บาท ถ้าผมเอาไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกเล้าหมู ก็ไม่มีใครพูด แต่ผมเอาไม้สักมาทำเล้าหมู มีคนอยากเอาบ้านมาแลกเล้าหมูผม ที่ผมทำแบบนี้เพราะเราดูที่คุณค่าและการใช้ประโยชน์ เรื่องราคาไม่มีเราอยากทำอะไรทำได้หมด"

ดาวดวงใหม่ บนโลกใบเดิม

เมื่อถูกถามว่า มีอาณาจักรเขียวหมื่นปีด้วยใช่ไหม...พ่อคำเดื่อง บอกว่า แปลงที่ปลูกชื่อดาวดวงใหม่ บนโลกใบเดิม เพราะคนส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากรโดยไม่ใส่คืน เอาปลาจากทะเล กบเขียด แมงดา น้ำมัน ก๊าซ ก็ไม่มีใครใส่คืน

"ถ้าคน 7 พันล้านคนเอาทรัพยากรมาใช้ แล้วไม่ใส่คืน ถ้าหวังว่าจะอยู่ในโลกนี้ต่อไปอย่างมีความสุข คิดว่า ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ(จีดีพี)จะดีขึ้น นั่นเป็นการหลับตาคิด เราเอามาใช้แล้วก็ต้องใส่คืน ทรัพยากรก็จะดีขึ้น 

ได้เห็นคนรวยบางคนเห็นโลกใบนี้เสื่อมโทรม ก็คิดจะย้ายไปอยู่ดาวอังคาร ถ้าจะไปสร้างดาวดวงใหม่ ต้องทำฝน ทำอากาศใหม่ อย่ากระนั้นเลยมาทำโลกให้ดีขึ้นดีกว่า สำหรับผมที่นาแปลงเก่า 270 ไร่ทำมาสามสิบปี ตอนนี้ให้นกยูงอยู่ ตอนนี้ทำเกษตรแค่ 10 ไร่"

ส่วนเรื่องเวลา พ่อคำเดื่อง บอกว่า รอช้าไม่ได้ คิดอะไรได้ต้องรีบทำ เมื่อไม่นานเจ้าหน้าที่ยูเอ็นแวะมาถามว่า...ทำไมเขาให้ความสำคัญกับต้นไม้ ให้พูดแค่สามนาที 

"ถ้าผมมีชีวิตในโลกนี้แค่ 3 นาที ถ้ามีเวลาน้อยขนาดนี้ ผมขอปลูกต้นไม้ ปลูกเสร็จผมตาย ต้นไม้ต้นนั้นรอด เมื่อต้นไม้โตขึ้น มันยังช่วยลดโลกร้อน กรองอากาศ

เราได้เวลามา ถ้าเราปลูกต้นไม้วันนี้เป็นโอกาส ถ้าไม่ทำเป็นอวกาศ ผมปลูกต้นไม้ทุกวัน ปลูกครั้งเดียวได้ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ต้องเฝ้าดู มีคนถามว่าปลูกต้นไม้เมื่อไรจะโต ผมถามว่าแล้วเมื่อไรจะปลูก ไม่ปลูกก็ไม่โต"

เหล่านี้คือ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับชีวิตตัวเอง เมื่อจัดการตัวเองได้และ ทำได้จริง ก็จะเป็นบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้