เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

หนังที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ประจำปี 2022 แต่ละสาขามีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน ตามไปอ่านการวิเคราะห์เจาะลึกของ “กัลปพฤกษ์” กันได้เลย

หลังจากได้จัดฉายหนังสายประกวดจำนวน 23 เรื่อง และสาย Orizzonti หรือ Horizons เส้นขอบฟ้า สำหรับหนังที่มีเนื้อหาลีลาใหม่ ๆ จำนวน 18 เรื่อง ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 9 กันยายน 2022 ไปจนครบถ้วนแล้ว ทางเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสก็ได้ประกาศผลรางวัลทั้งหมดไปในพิธีปิดเทศกาลเมื่อค่ำคืนวันที่ 10 กันยายน ซึ่งก็มีทั้งที่ตรงกับที่นักวิจารณ์กะเก็งไว้และที่เป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ โดยมีรายละเอียดของผลงานและบุคคลต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลกันดังนี้

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

เริ่มที่การประกวดสายรอง Orizzonti ซึ่งมีผู้กำกับหญิงชาวสเปน Isabel Coixet เป็นประธานกรรมการ ผู้กำกับ Laura Bispuri, Antonio Campos, Sofia Djama และโปรแกรมเมอร์สาย Directors’ Fortnight เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ Edouard Waintrop ร่วมเป็นกรรมการ โดยหนังที่ได้รับรางวัล Best Film ในสาย Orizzonti ได้แก่งานดรามาเรื่อง World War III ของผู้กำกับชาวอิหร่าน Houman Seyedi ซึ่งก็เป็นหนังเกี่ยวกับกระบวนการสร้างหนังที่แฉให้เห็นถึงการฉวยโอกาสกันไปมาระหว่างผู้สร้างและนักแสดง

 

เมื่อแรงงานหนุ่มใหญ่รายวันผู้สูญเสียภรรยาและลูกไปจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จับพลัดจับผลู ได้รับบทนำเป็น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ให้กองถ่ายหนังที่แสดงความอำมหิตโหดเหี้ยมของพรรคนาซี ณ สถานกักกันชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะที่เขากำลังต้องการเงินก้อนโต

 

หนังนำเสนอเบื้องหลังของการใช้สื่อภาพยนตร์ในการถ่ายทอดเหตุการณ์จริงในอดีตที่น่าจะถูกใจกรรมการที่เป็นผู้กำกับหลาย ๆ คนผู้มีประสบการณ์ตรง

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

Julianne Moore กับเหล่าคณะกรรมการ     Credit : Marco BERTORELLO / AFP

 

มาที่สายประกวดหลัก ซึ่งมีนักแสดงหญิง Julianne Moore เป็นประธานกรรมการ โดยมี ผู้กำกับ Mariano Cohn, Leonardo di Costanzo, Audrey Diwan, Rodrigo Sorogoyen นักแสดง Leila Hatami และนักเขียน Kazuo Ishiguro ร่วมเป็นกรรมการ และต้องไล่ดูหนังทั้ง 23 เรื่อง เพื่อตัดสินผลรางวัลหลากหลายสาขาด้วยกัน ซึ่งมีหนังถึงสองเรื่องที่สามารถคว้ารางวัลไปได้มากกว่าหนึ่งสาขา

 

เรื่องแรกก็คือผลงานสยองขวัญโรแมนติกพูดอังกฤษที่ดัดแปลงจากนิยายของ Camille DeAngelis เรื่อง Bones and All ที่ส่งให้ผู้กำกับอิตาเลียน Luca Guadagnino ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม

 

หนังเล่าเรื่องราวการผจญภัยไปยังรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา ของคู่รักหนุ่มสาววัยรุ่นผู้มีพฤติกรรมหิวกระหายกับการได้กินเนื้อมนุษย์สด ๆ เหมือนกัน โดยพวกเขาสามารถดักจับสัญญาณคนที่มีสัญชาตญาณเดียวกันนี้ได้ผ่านทางกลิ่น

 

 

ผู้กำกับ Luca Guadagnino แสดงฝีมือด้วยการทำหนังที่รวมเอาขนบงานหลากหลายตระกูลไว้ในเรื่องเดียวกันอย่างมีเหตุผลกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นงานสยองแหวะเลือดสาดที่ชวนให้นึกไปถึงหนังมนุษย์กินคนบุกกรุงเรื่อง Cannibal Apocalypse (1980) ของผู้กำกับ Antonio Margheriti ผสานกับการเป็นหนังรักวัยรุ่นกุ๊กกิ๊กตามแนวทาง romantic-comedy ข้ามสีผิว

 

มีเส้นทางการเดินทางด้วยรถยนต์วินเทจผ่านหลายรัฐในอเมริกาด้วยลีลางาน road movie ไปจนถึงเนื้อหาแบบ homoerotic แสดงความสัมพันธ์ทางเพศของชายเกย์ที่เทียบสะท้อนไปกับพฤติกรรมการกินพวกเดียวกันของเหล่ามนุษย์กินคน จนสามารถชนะใจกรรมการซิวรางวัลนี้ไปได้อย่างไม่ค้านสายตา

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

แถมยังส่งให้นักแสดงนำฝ่ายหญิง Taylor Russell คว้ารางวัลนักแสดงรุ่นเยาว์ยอดเยี่ยม Marcello Mastroianni Award ไปครองได้อีกด้วย จากการแสดงในบทอมนุษย์ผู้มีความรักที่ต้องประกบคู่กับ Timothée Chalamet โดยตลอดทั้งเรื่อง

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

Credit : Andreas SOLARO / AFP

 

อีกเรื่องที่ได้รับรางวัลไปถึงสองสาขาก็คือหนังตลกยอดฮิตจากประเทศไอร์แลนด์เรื่อง The Banshees of Inisherin ของผู้กำกับ Martin McDonagh ที่เรียกเสียงฮาจากการฉายในรอบสื่อได้อย่างสนั่นลั่นโรง เล่าเรื่องราวแบบวรรณกรรมพื้นถิ่นที่ให้ทั้งกลิ่นอายและสำเนียงภาษาในแบบไอริชอย่างเต็มกระบวน

 

เนื้อหาว่าถึงจุดแตกหักระหว่างเพื่อนรักคู่ซี้ชาวเกาะ Padraic กับ Colm ที่เมื่อก่อนเคยมานั่งสังสรรค์สนทนาหน้าแก้วเบียร์ ณ ผับแห่งเดียวในชุมชนกันเป็นประจำ แต่วันดีคืนดี Colm ก็ประกาศขอเลิกคบหากับ Padraic ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าเขาไม่อยากจะเสียเวลากับคน ‘ทึ่ม ๆ’ อย่าง Padraic อีกต่อไป และอยากจะใช้เวลาชีวิตที่เหลืออุทิศให้การประพันธ์ดนตรีที่จะทำให้ผู้คนจดจำเขาได้ตลอดไป ซึ่งก็ทำให้ Padraic กังขางุนงงด้วยความไม่เข้าใจ และพยายามจะปรับความเข้าใจกับ Colm ในทุก ๆ วิถีทาง

 

 

ความมีเอกลักษณ์ท้องถิ่นแบบไอริชอย่างที่สุดของหนัง ทั้งทางด้านเนื้อหาเรื่องราว ภาษาอังกฤษเพี้ยนเหน่อที่ถึงขั้นเทศกาลจะต้องจัดคำบรรยายภาษาอังกฤษไว้ให้สำหรับคนที่อาจจะฟังไม่ออกกันเลยทีเดียว ส่งให้ Martin McDonagh ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในฐานะผู้เขียนบท ซึ่งเป็นบทดั้งเดิม ไม่ได้ดัดแปลงจากผลงานของใครอื่นใด ในขณะที่เขาเคยได้รับรางวัลเดียวกันนี้มาแล้วจากบทภาพยนตร์เรื่อง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เมื่อปี 2017

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

ข้างฝ่ายนักแสดงนำ Colin Farrell ผู้รับบทเป็น Padriac ได้อย่างขำขื่นน่าเอ็นดู คว้ารางวัลนักแสดงฝ่ายชายยอดเยี่ยมไปครองได้อย่างสมเกียรติ เพราะเขาสามารถแสดงเป็นหนุ่มบ้านนอกทึ่ม ๆ แววตาบริสุทธิ์ซื่อที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘คนจริง’ ในสถานการณ์จำเป็นได้อย่างครบทุกมิติดีเหลือเกิน

 

ส่วนรางวัลนักแสดงฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ก็ดูจะมีดาวเด่นที่ต้องขับเคี่ยวกันอยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น Ana de Armas ในบทแสนยากเป็น Marilyn Monroe ในหนังเรื่อง Blonde ของผู้กำกับ Andrew Dominik หรือ Penelope Cruz ในบทมารดาที่กำลังประสบปัญหาเตียงหักกับสามีที่ไม่เคยคิดจะดูแลครอบครัวในเรื่อง The Immensity ของผู้กำกับอิตาเลียน Emanuele Crialese

 

หรือ Nathalie Boutefeu ในบทศรีภรรยาขี้บ่นของ Leo Tolstoy จากเรื่อง A Couple ของผู้กำกับ Frederick Wiseman ทั้งเรื่องมีเธอเล่นอยู่คนเดียวตลอดความยาว 64 นาที หรือ Trace Lysette นักแสดงสาวทรานส์ในชีวิตจริง ที่รับบทเป็น Monica บุตรสาวใจแตกที่ไม่ได้ระบุเพศที่แท้จริงผู้ต้องกลับมากล้ำกลืนกับอดีตอันขมขื่นของตนเองในช่วงที่กลับมาเยี่ยมมารดาที่กำลังป่วยหนักได้อย่างดิ่งลึกถึงจิตวิญญาณใน Monica ของผู้กำกับ Andrea Pallaoro

 

รวมถึง Cate Blanchett ในบทวาทยกรหญิงแกร่งคนแรกที่มีโอกาสได้อำนวยเพลงกับวงออร์เคสตราชื่อดังในกรุงเบอร์ลิน จากเรื่อง Tar ของผู้กำกับ Todd Field ซึ่งแต่ละนางก็โดดเด่นอย่างคู่คี่สูสีกัน ชนิดที่ให้รางวัลใครไปก็คงไม่มีใครลุกขึ้นมาตั้งข้อกังขา

 

แต่สุดท้ายรางวัลก็ตกเป็นของ Cate Blanchett อีกครั้ง หลังจากที่เธอเคยคว้ารางวัลเดียวกันมาได้จากการแสดงเป็นหนึ่งในร่างทรงของ Bob Dylan ในเรื่อง I’m Not There (2007) ของ Todd Haynes ซึ่งก็ต้องยอมรับเลยว่า Cate Blanchett แสดงเป็นวาทยกร Lydia Tar ที่ดูแล้วเชื่อจนสุดใจจริง ๆ ว่าเธอใช้เวลาคร่ำหวอดอยู่กับวงการดนตรีคลาสสิกมาทั้งชีวิต ทุกคำพูดวิชาการดนตรีมีแต่ศัพท์แสงไม่คุ้นหู ดูแล้วตระหนักได้ทันทีว่า เธอมั่นใจและเข้าใจในสิ่งที่กล่าวออกมาจริง ๆ

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

ยิ่งทั้งช่วงที่กำลัง conduct และบรรเลงเปียโน ถึงจะรู้ว่าไม่ได้ perform จริง ๆ แต่ก็เป็นการแสดงท่าทางที่ทำออกมาได้อย่างแม่นเป๊ะ นี่ยังไม่นับช่วงที่เธอต้องแสดงอารมณ์อ่อนไหวกับบรรดาปัญหาหัวใจในฐานะหญิงเลสเบี้ยนที่แอบมีใจให้นักดนตรีคนอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่เธอก็มีคู่ชีวิตเป็นหัวหน้าวงดนตรีอยู่แล้ว

 

เห็นความสำเร็จของ Cate Blanchett จากเรื่องนี้ ดูทรงเวทีออสการ์ก็น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม อย่างน้อย ๆ ก็เป็นหนึ่งในห้าของผู้เข้าท้าชิงรางวัล!

 

 

มาที่รางวัลสำหรับตัวหนังทั้งเรื่องกันบ้าง เริ่มตั้งแต่รางวัลพิเศษขวัญใจคณะกรรมการ Special Jury Prize ซึ่งได้แก่หนังซ้อนหนังซ้อนทับโลกความจริงเรื่อง No Bears ของผู้กำกับอิหร่าน Jafar Panahi ที่ปัจจุบันถูกทางการอิหร่านจับกุมตัวเข้าคุมขัง ด้วยข้อหาที่เขามีความคิดและอุดมการณ์อันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และให้การสนับสนุนผู้กำกับนอกคอกที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้อย่าง Mohammad Rasoulof

 

นับเป็นเรื่องเศร้าในโลกความเป็นจริงที่ทำให้ Jafar Panahi ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานกาล่าจัดฉายหนัง หรือแม้แต่ให้สัมภาษณ์สื่อในเวทีการแถลงข่าวประจำงานได้แม้แต่แบบทางไกล จนทุกฝ่ายก็อยากจะให้หนังชนะรางวัลอะไรก็ได้สักรางวัล เพื่อแสดงการสนับสนุนผู้กำกับผู้อาภัพจากการถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองท่านนี้

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

Sally Potter ประธาน Venezia 79 International Jury, Julianne Moore, Alberto Barbera ผู้อำนวยการ Venice International Film Festival ครั้งที่ 79 ร่วมกันถือป้ายประท้วงให้มีการปล่อยตัวผู้กำกับ Jafar Panahi (Credit : Tiziana FABI / AFP)

 

 

No Bears เป็นหนังที่ถ่ายทอดชีวิตของ Jafar Panahi เอง โดยเขาได้แสดงเป็นตัวเอง ขณะกำลังพยายามกำกับหนังเกี่ยวกับคู่รักในประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังวิ่งเต้นทำหนังสือเดินทางปลอมเพื่อหลบหนีไปยุโรปด้วยกัน โดยผู้กำกับ Jafar Panahi จำเป็นต้องกำกับหนังผ่านระบบประชุมทางไกล สื่อสารกับผู้ช่วยที่อยู่หน้าเซ็ตเนื่องจาก Jafar Panahi เองไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ในขณะที่เขาก็ถูกกล่าวหาจากชาวบ้าน ณ ชุมชนชายแดนที่เขากำลังพำนักเพื่อทำหนัง ว่าแอบไปถ่ายรูปคู่หนุ่มสาวที่คบหากันอย่างนอกรีตนอกรอยธรรมเนียมการคลุมถุงชน

 

สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของสื่อภาพยนตร์และภาพถ่ายที่อาจกลายเป็นหลักฐานบันทึกภาพชีวิตในช่วงเวลาสำคัญ อันจะสามารถตัดสินชี้เป็นชี้ตายผู้ที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

หนังเล่นล้อมายาแห่งการเป็นงานสารคดีที่เจือไว้ด้วยตัวละครและการเล่าเรื่องราวสมมติที่หลอมกลายเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างไร้รอยต่อ ย่อส่วนภาพชีวิตชุมชนที่อลวนไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะเมื่ออาชีพสำคัญของพวกเขาคือการแอบขนสินค้าผิดกฎหมายข้ามพรมแดนไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามารับรู้

 

รางวัลรองชนะเลิศหมีเงิน Grand Jury Prize ได้แก่ผลงานหนังยาวเล่าเรื่องราวชิ้นแรกของผู้กำกับหญิง Alice Diop จากฝรั่งเศส ชื่อ Saint Omer ซึ่งเป็นหนังกึ่งทดลองความยาวถึง 122 นาที เกี่ยวกับนักเขียนสตรีที่กำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคดีบุตรฆาตจากฝีมือผู้เป็นมารดา เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบให้กับนวนิยายเรื่องใหม่ ที่จะอาศัยตัวละคร Medea จากปกรณัมกรีกมาเป็นต้นเค้า เธอจึงเข้าร่วมฟังการไต่สวนคดีจริงที่ Laurence Coly มารดาผิวสีจงใจทิ้งบุตรวัยทารกไว้ที่ตลิ่งริมน้ำ รอให้กระแสธารพัดพาดวงวิญญาณทายาทของเธอกลับคืนสู่ธรรมชาติ

 

โดยระหว่างการไต่สวน Laurence Coly เองก็ประกาศเจตนาความคิดของเธอโดยไม่มีข้อปิดบัง ในฉากตั้งคำถามตามคำตอบในศาลที่ยาวนานร่วมชั่วโมง แต่ยิ่งการให้การดำเนินไป เรากลับยิ่งเข้าใจมารดาฆาตกรรายนี้น้อยลง ๆ เรื่อย ๆ จนกลายเป็นปริศนาทิ้งค้าง ที่มิได้ให้ความกระจ่างใด ๆ แม้แต่ในช่วงสรุปจบ

 

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

ผู้กำกับ Alice Diop กับ 2 รางวัลที่ได้รับจากหนังเรื่องแรก รางวัล Lion of the Future และรางวัลสิงโตเงิน (Credit : Andreas SOLARO / AFP)

 

หนังเรื่องนี้มีความพิศวงแบบไม่ประนีประนอมและดูจะแตกต่างไปจากเรื่องอื่นทุกเรื่องในสายประกวด จึงสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศนี้ไป เอาชนะผู้กำกับรุ่นใหญ่หลาย ๆ รายที่อาจจะมีผลงานไม่สดใหม่ได้เท่า

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

Credit : Tiziana FABI / AFP

 

มาที่รางวัลใหญ่ ‘สิงโตทองคำ’ ที่สร้างตำนานความเซอร์ไพรส์ให้เทศกาลปีนี้อยู่พอสมควร เนื่องจากมันตกเป็นของหนังสารคดีเพียงเรื่องเดียวในประกวดหลักของเทศกาลปีนี้ ปีที่หาตัวเต็งยืนหนึ่งได้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละเรื่องก็มีความดีเป็นของตัวเองแตกต่างกันไป แต่ในเมื่อทุกอย่างที่เราได้เห็นในสารคดีชนะรางวัลสิงโตทองคำเรื่อง All the Beauty and the Bloodshed ของผู้กำกับหญิง Laura Poitras เป็นภาพที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ผลลัพธ์ของหนังจึงย่อมยิ่งสร้างพลังกระทบกระเทือนใจจนชนะคะแนนจากเหล่าคณะกรรมการตัดสินทั้งชุดไปได้ในที่สุด

 

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

Credit : Andreas SOLARO / AFP

เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

All the Beauty and the Bloodshed เป็นผลงานสารคดีที่ผู้กำกับหญิง Laura Poitras ติดตามการทำงานในฐานะนักกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมของศิลปินถ่ายภาพหญิง Nan Goldin ผู้ลุกขึ้นต่อสู้กับบริษัทยายักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาของตระกูล Sackler ผู้ผลิตยาที่ทำให้คนไข้ได้รับสารเสพติดเกินขนาดอย่างขาดความรับผิดชอบ

 

Nan Goldin และพรรคพวก จึงต้องบุกไปยังพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ตระกูล Sackler ให้การสนับสนุน แล้วบีบบังคับให้สถาบันศิลปะเหล่านั้น ยกเลิกการขอสนับสนุนกับตระกูลชั่วตระกูลนี้ แล้วเอาชื่อที่ติดหราในฐานะสปอนเซอร์ใหญ่ในตัวอาคารออกไปราวเป็นเสนียดจัญไร โดยอาศัยงานศิลปะแบบ happening art เล่นกับใบสั่งยาและขวดยา ณ สถานศิลปะแห่งนั้นเสียเลย

 

 

แต่ Laura Poitras อาจจะเกรงกลัวว่าผู้ชมหลาย ๆ ท่านอาจจะไม่เคยได้รู้จักหรือชื่นชมผลงานในอดีตของ Nan Goldin มาก่อน เธอจึงใช้เวลาส่วนหนึ่งของหนังในการฉายสไลด์ร่ายยาวผลงานภาพถ่ายเก่า ๆ ของ Nan Goldin ตั้งแต่ยุค 1970s พร้อมเสียงบรรยายห้วงความคิดเบื้องหลังการทำงานและเรื่องราวส่วนตัวของเธอ โดยประเด็นในภาพถ่ายที่เธอสนใจคือการใช้ชีวิตในโลกใต้ดินของคนชายชอบสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคน LGBTQ ซึ่งไม่ใคร่จะได้รับการกล่าวถึงในสื่อกระแสหลักนัก

 

ทำให้สารคดี All the Beauty and the Bloodshed มีขอบเขตเนื้อหาที่กวาดครบทั้งประเด็น LGBTQ การทำงานของศิลปินหญิงผู้มีสำนึกรับผิดชอบสังคม การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง ปัญหาสุขภาพร่วมสมัย ไปจนถึงการให้เกียรติแก่นักทำหนังสารคดีเพศสตรีที่มีอยู่เพียงไม่กี่รายในโลกใบนี้

 

All the Beauty and the Bloodshed จึงนับเป็นสารคดีสาย ‘นางงาม’ ทรงคุณค่าแห่งความเป็นสตรีนักต่อสู้ ผู้เหมาะจะได้รับเกียรติการยกย่องสูงสุดในการประกวดรางวัลของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79 ประจำปี 2022 นี้