13 ตุลาคม2565 วันคล้ายวันสวรรคต "รัชกาลที่ 9 "หวนรำลึก 9 เรื่องพ่อของแผ่นดิน
คิดถึงคนบนฟ้า 13 ตุลาคม 2565 ครบรอบ 5 ปีวันคล้ายวันสวรรคตในหลวง "รัชกาลที่ 9" พ่อของแผ่นดิน ขอน้อมรำลึก 9 เรื่องราวกษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชน
เวลาพูดถึงแนวคิดเรื่องพอเพียง พอดีในการใช้ชีวิต หรือเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องเหล่านี้ทำให้หวนรำลึกถึง ในหลวง รัชกาลที่ 9 หรือพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นกษัตริย์ที่นำพาประเทศไทยอยู่ดีมีสุข เหมือนที่พระองค์เคยกล่าวว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
13 ตุลาคม 2565 วันครบรอบ 5 ปี วันคล้ายวันสวรรคต ในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงได้รวบรวม 9 เรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนมาให้อ่านอีกครั้ง เพราะหลายคนคง"คิดถึงคนบนฟ้า"
1.สุนัขทรงเลี้ยงตัวแรกในหลวง รัชกาลที่ 9
คงได้ยินเรื่องนี้บ่อยๆ สมัยพระเยาว์ทรงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข กระต่าย ไก่ นกขุนทอง ลิง แม้แต่งูก็เคยเลี้ยง ครั้งหนึ่งงูตายไปก็มีพิธีฝังศพอย่างใหญ่โต และสุนัขตัวแรกที่ทรงเลี้ยงสมัยทรงพระเยาว์เป็นสุนัขไทย ทรงตั้งชื่อว่า“บ๊อบบี้”
สุนัขทรงเลี้ยงที่ทรงโปรด ก็คือ คุณทองแดง เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ขณะมีอายุได้ 5 สัปดาห์ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ในตอนนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงค้นในหนังสือพบว่า ทองแดงมีลักษณะคล้ายคลึงกับสุนัขพันธุ์บาเซนจีสุนัขพันธุ์โบราณ มีถิ่นกำเนิดทางแอฟริกาใต้ นิยมใช้งานในการล่าสัตว์ แต่ทองแดงตัวใหญ่กว่าบาเซนจีทั่วไป จึงทรงเรียกทองแดงว่า เป็นสุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจี ก่อนหน้านี้ทรงเรียกว่า เป็นสุนัขพันธุ์เทศ
ทองแดงเสียชีวิตเมื่อปี 2558 ปัจจุบันมีประติมากรรมทองแดง ผลงานการปั้นของชิน ประสงค์ ข้าราชการบำนาญกรมศิลปากร ที่ไว้ซาก,อนุสาวรีย์คุณทองแดง, ศูนย์รักสุนัขหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2. กล้องถ่ายรูปตัวแรกพ่อของแผ่นดิน
ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ทรงมีพระอุปนิสัยสนใจการถ่ายภาพเหมือนสมเด็จย่า กล้องตัวแรกของพระองค์ Coconet Midget ในสมัยนั้นยังไม่ได้เป็นระบบอัตโนมัติ ทุกอย่างต้องปรับตั้งเอง แต่ด้วยความสนพระราชหฤทัยในเรื่องการถ่ายภาพ กล้องจึงเปรียบเสมือนเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งที่พระองค์ทรงโปรด
นอกจากทรงโปรดการถ่ายภาพแล้ว ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงเคยนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายแล้วนำเงินรายได้ มาสร้างอาคารสภากาชาดไทย ที่ รพ.จุฬาฯ โรงพยาบาลภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอและโรคเรื้อนด้วย
3. "การให้"ที่สมเด็จย่าทรงสอนในหลวง รัชกาลที่ 9
ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก “การให้” โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า กระป๋องคนจนเอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องหยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุม เพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน
ครั้งหนึ่ง ในหลวงกราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าก็ตอบว่า “ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อจักรยาน
4. เครื่องดนตรีชิ้นแรกกษัตริย์ของแผ่นดิน
ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน กีตาร์ แซกโซโฟน แต่เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นคือ แอกคอร์เดียน และทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังตอนพระชนมพรรษา 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาหัดเล่น โดยใช้เงินสะสม ส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้
ทรงพระราชนิพนธ์เพลงครั้งแรก เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา เพลงพระราชนิพนธ์แรกคือ “แสงเทียน” จนถึงปัจจุบันพระราชนิพนธ์ เพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง ประกอบด้วยเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองมี 5 เพลง คือ “Echo”, “Still on My Mind”, “Old-Fashioned Melody”, “No Moon” และ “Dream Island”
เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังโดยใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว ได้แก่ความฝันอันสูงสุด เราสู้และรัก
ในระยะหลังพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะพระราชนิพนธ์เพลง
เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาคือเพลง “เมนูไข่” เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องทรงพระนิพนธ์โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในปี พ.ศ. 2538
ทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย ครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซอง จดหมายตีเส้น 5 เส้นแล้วเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลง “เราสู้”
5. กษัตริย์องค์แรกที่ได้สิทธิบัตรงานประดิษฐ์
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่มลอย หรือ “กังหันชัยพัฒนา” เมื่อปี 2536
ทรงเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงน้ำมันจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็น พลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์,ดีโซฮอลล์ และ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว
6.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ5,151 โครงการ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด จำนวน 5,151 โครงการ ภาค กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ เหนือ ใต้ โดยทุกครั้งที่เสด็จฯไปยังสถานที่ต่างๆจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ 3 สิ่ง คือ แผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบ และก่อนหน้านี้สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่และภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทย
7. รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลคนแรกในประเทศไทย
ทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลคนแรกในประเทศไทย โดยใช้สระว่ายน้ำในพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นบ่อเลี้ยง ปลานิลที่เพาะเลี้ยงในสวนจิตรลดา จึงมีชื่อเรียกว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา” เพราะเป็นพันธุ์แท้ แล้วแจกจ่ายพันธุ์ไปให้กรมประมง และมีพระราชประสงค์ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ดีขึ้น ให้มีตัวโต มีเนื้อมาก
เวลามีพระราชอาคันตุกะเสด็จมาเยี่ยมชมโครงการฯสวนจิตรลดา ในหลวงจะเสด็จฯลงมาอธิบายด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงรู้ทุกรายละเอียด
8. ทรงประดิษฐ์ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์
ในช่วงที่พระองค์ทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการเเต่งเพลงไปสักระยะ พระองค์ก็ได้สนใจในการออกเเบบรูปเเบบอักษร หรือฟอนต์(font) โดยพระองค์ทรงศึกษาโปรเเกรม “Fontastic” เเละพระองค์ทรงได้ประดิษฐ์ฟอนต์ขึ้นมา อันได้เเก่ ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์ เเละฟอนต์ไทยอื่นๆ
นอกจากฟอนต์ภาษาไทยเเล้ว พระองค์ทรงประดิษฐ์ฟอนต์ภาษาอื่นๆ อีกด้วย เช่น ฟอนต์ภาษาสันสกฤต ฟอนต์ภาษาเทวนาครี ภาษาเเขก เป็นต้น ซึ่งฟอนต์เทวนาครีนี้มีความยากในการออกเเบบที่มากกว่าฟอนต์อื่นๆ
9. ทรงติดเชื้อไมโครพลาสม่า ขณะเยี่ยมราษฎร
ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในหลวง ทรงติดเชื้อไมโคพลาสม่า ตอนเสด็จขึ้นไป อ.สะเมิง จ. เชียงใหม่ เพื่อเอาเกลือเสริมไอโอดีนไปแจกให้ราษฎรป้องกันโรคคอพอก เนื่องจากชาวบ้านไม่รู้จักเกลือเสริมไอโอดีนที่สาธารณสุขเอามาแจก เลยกลัวและไม่กล้ากิน ไม่กล้าใช้ พระองค์ทรงเลือกที่จะเสด็จมาประทานด้วยพระหัตถ์ เพื่อให้ชาวบ้านยอมเชื่อว่า เกลือนี้กินได้ นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเสด็จขึ้นลงอ.สะเมิง จ.เชียงใหม่อีกหลายครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำและถนน
จนในที่สุดทรงติดเชื้อ ทำให้หัวใจเต้นไม่ปกติ และไม่สามารถรักษาได้หายขาด เนื่องจากแบคทีเรียชนิดนี้ เป็นต้นเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง จึงทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และปอดบวม
............
อ้างอิง :
-วิกิพีเดีย
-https://blog.jobthai.com/
-https://paowarat99.blogspot.com/
-สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
-เฟซบุ๊คศูนย์จัดการธนบัตรไทย
-https://sukkaphap-d.com/