ชวนหลอนรับ "วันฮาโลวีน" ปักหมุดสถานที่กับสตอรี่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าผี!
วันฮาโลวีน 2565 ชวน เล่าเรื่องสถานที่ที่ได้ชื่อว่าน่ากลัวและชวนหลอน หากแต่กลับมีเรื่องราวเบื้องหลังชวนค้นหาที่มากกว่าเรื่อง "ภูติผีปีศาจ"
ถึง วันฮาโลวีน ทีไร สิ่งหนึ่งที่หลายคนนึกถึงคือเรื่องผี โดยเฉพาะสถานที่ชวนหลอน สยองขวัญ และเต็มไปด้วยเรื่องลี้ลับ เช่น บ้านร้าง, อดีตสุสาน, โรงงานเก่า, โรงเรียน และอีก ฯลฯ ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าต่างๆที่ส่งทอดจากปากต่อปาก
ถึงเช่นนั้น ในสถานที่ที่มีคาแรกเตอร์ชวนขนหัวลุกแบบที่ว่า ก็ไม่ได้เชื่อมโยงเฉพาะแค่เรื่องลี้ลับ ภูตผี หรือวิญญาณเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เป็นปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมซึ่งยังไร้ทางออก และก็เป็น "คน" นี่แหละที่เลือกจะผลักภาระ โยนให้สิ่งลี้ลับเป็นคำตอบเพื่อสยบคำถามชวนสงสัย จนกลายเป็น "เรื่องผี"
วันฮาโลวีน 2565 “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ขอพาไปปักหมุด เล่าเรื่องสถานที่ ซึ่งมีสตอรี่เบื้องหลังที่มากกว่า เรื่องผี แบบที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ
- สาธรยูนีค
ความน่ากลัว = วิกฤติเศรษฐกิจ เงินบาทอ่อนค่าหนัก หนี้ท่วมหัวชั่วข้ามคืน
คอนโดมีเนียมระดับไฮเอนด์ มีศูนย์การค้าตั้งอยู่ด้านล่างบนทำเลทองย่านถนนเจริญกรุง โดดเด่นในงานสถาปัตยกรรมด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ให้กลิ่นอายสไตล์นีโอคลาสสิก ไม่ว่าจะมองมุมไหนตึก “สาธรยูนีค ทาวเวอร์” ที่สร้างขึ้นเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2533 ก็น่าจะเป็นคอมเพล็กซ์คอนโดมีเนียมที่จารึกประสบความสำเร็จโครงการหนึ่งในประเทศไทย
หากแต่เวลาผ่านไป อาคารสาธร ยูนีคกลับถูกทิ้งร้างจนเป็นที่รู้จักกันในหมู่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในชื่อ "Ghost Tower" ขณะที่คนไทยนิยามว่านี่คือสัญลักษณ์สำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
ความฝันที่ค่อยๆพังทลายลง นี่แหละที่น่ากลัวยิ่งกว่าเรื่องผี เพราะถ้าย้อนกลับไป การก่อสร้างตึกสาธรยูนีคในยุคนั้นโด่งดังมาก สามารถเปิดขายพรีเซลไปแล้วถึง 80% ของจำนวนห้องทั้งหมด แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
จาก วิกฤติการเงิน ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการล้มละลาย เช่นเดียวกันกับบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการซึ่งก็ประสบปัญหาหนี้สิน ทั้งนี้ไม่ใช่แค่โครงการดังกล่าวที่ต้องหยุดชะงักเท่านั้น แต่การก่อสร้างอาคารต่างๆในกรุงเทพมหานครต่างพากันหยุดชะงักไม่ต่างกัน
มีรายงานว่า ในช่วงนั้น อาคารหรูกว่า 300 แห่งถูกทิ้งร้าง แต่อาคารส่วนมากได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ภายหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนอาคารสาธร ยูนีค นั้นมีความพยายามในเรื่องการตกลงในเรื่องการซื้อขายและการรีไฟแนนซ์อยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากบอร์ดบริหารของบริษัทสาธร ยูนีค ต้องการที่จะขายอาคารในราคาที่จะสามารถชดเชยเงินต้นให้ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ และจนถึงปัจจุบันอาคารร้างดังกล่าวก็ยังตั้งตระหง่านอธิบายถึงความเป็นมาของเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี
- ห้างนิวเวิลด์
ความน่ากลัว = การล้มหายของห้างสรรพสินค้า สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ย้ายจุดศูนย์กลางไป
ห้างนิวเวิลด์ อาจปรากฎเป็นข่าวและทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักสถานที่แห่งนี้ในฐานะที่จัดแสดงผลงานศิลปะ โครงการ New World x Old Town Part ใน Bangkok Design Week 2022 แต่ในอีกด้านหนึ่งนี่คือผลลัพธ์จากความเปลี่ยนแปลงของเมือง ที่ทำให้ย่านหนึ่งซึ่งเคยเป็นที่นิยมในอดีตต้องกลับถูกทิ้งร้างเมื่อเวลาเปลี่ยนไป
ห้างนิวเวิลด์ เปิดให้บริการครั้งแรกในปีพ.ศ. 2526 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการก็ได้รับการตอบรับดีจนท่วมท้น เช่นเดียวกับความคึกคักของย่านบางลำพู
ห้างนิวเวิลด์ ถือเป็นแลนด์มาร์กของย่านบางลำพู ดำเนินการโดยบริษัท แก้วฟ้าช้อปปิ้งอาเขต จำกัด โดยในยุคหนึ่งห้างนิวเวิลด์ ถูกพูดถึงในหลายมิติทั้งความทันสมัย ความสวยงาม การมีสินค้าให้เลือกมากมายแล้ว ยังเป็นห้างใจกลางบางลำพูที่มีความโดดเด่น เพราะมี "ลิฟต์แก้ว" อยู่หน้าห้างอีกด้วย
ต่อมาใน ปี พ.ศ.2527 ทางห้างได้ขออนุญาตต่อเติม แต่ทาง กทม. ไม่อนุญาต ถึงเช่นนั้นทางผู้บริหารห้างเลือกฝ่าฝืนคำสั่งและเปิดดำเนินการมาต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกฟ้องร้องฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จากกทม. เนื่องจากมีการก่อสร้างจำนวนชั้นเกินที่แจ้งไว้ ซึ่งระหว่างรื้อถอนทำให้เกิดเหตุการณ์ตึกถล่มมีผู้เสียชีวิตจนต้องปิดตึกในที่สุด
ในช่วงประมาณปี 2554 ตึกเก่าที่ถล่มแล้วของห้างนิวเวิลด์ เกิดน้ำท่วมขัง จนมีประชาชนนำปลาไปปล่อย ทำให้ห้างแห่งนี้ได้รับขนานนามว่า “วังมัจฉา” จนถึงประมาณปี 2557 ทาง กทม.เข้ามาจัดการจับปลา และปิดตึกเนื่องจากห่วงเรื่องความปลอดภัยจากตึกเก่า
แม้จะถูกจัดแสดงนิทรรศการเป็นการชั่วคราว ตามวาระและโอกาส อย่างไรก็ตามการคืนชีพย่านแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์รวมความทันสมัย และกลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งแบบเช่นในอดีตก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไม่ได้ นั่นเพราะวิถีชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนไป กระทั่งการอยู่อาศัยของประชาชนก็ขยายตัวออกไปในรอบนอกกรุงเทพฯ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงใจกลางเมืองแบบที่เคยเป็น ย่านเก่าที่เคยคึกคัก จึงส่อแววจะกลายเป็นย่านร้างในปัจจุบัน
- โค้งร้อยศพ รัชดา
ความน่ากลัว = กายภาพของถนนสัญจร และการแก้ปัญหาที่ช้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ถ้าจะถามสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทย โค้งร้อยศพรัชดาน่าจะอยู่ในลิสต์รายชื่อเหล่านั้น
ข่าว อุบัติเหตุบริเวณโค้งรัชดา ถูกรายงานอย่างเป็นระยะ เช่นเดียวกับในแง่ของเรื่องเล่าและความอาถรรพ์ ที่บอกต่อกันถึงสิ่งเร้นลับ วิญญาณ ตัวตายตัวแทน มีการนำผ้าสามสีมาผูกไว้กับต้นโพธิ์ ที่อยู่บริเวณเกาะกลางถนน ตามมาด้วยสิ่งของเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ทั้งชุดไทย ผ้าสไบแพร ตุ๊กตาปูนปั้น ตุ๊กตาม้าลาย ฯลฯ
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เคยสำรวจบริเวณดังกล่าวและพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในโค้งร้อยศพ คือปัญหาด้านการออกแบบและกายภาพของถนน ได้แก่ 1.ทางโค้งรัชดาฯ เป็นโค้งหลังหัก คือทางโค้งที่มีสองลักษณะเชื่อมด้วยเส้นตรงสั้น ทำให้ผู้ขับขี่ไม่คิดว่าต้องปรับพวงมาลัย ขณะขับเข้าโค้ง ควรติดตั้งเครื่องหมายจราจรสะท้อนแสงนอกแนวขอบโค้งและติดป้ายบังคับความเร็วให้ผู้ขับขี่เห็นได้อย่างชัดเจน
2.การไม่มีการยกโค้ง ทำให้รถที่วิ่งเข้าสู่ทางโค้งด้วยความเร็วสูงกว่ากำหนดไม่สามารถควบคุมรถให้วิ่งตามแนวเส้นทางได้
3.พื้นผิวจราจรในช่วงโค้งไม่เรียบ มีการสึกกร่อนของยางมะตอย เศษหินแตกออกมา ฝนตกจะมีหลุมน้ำขัง ทำให้รถที่วิ่งมาล้อแฉลบ
เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ลงตรวจสอบพื้นที่หลังเกิดเหตุสลดรถกระบะเสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้า เมื่อมิถุนายน 2565 ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ลักษณะทางกายภาพ ความเร็วเกินกำหนด และเรื่องฝนที่ตกมาก่อนคือ 3 ปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุ
โค้งร้อยศพ รัชดา ที่นิยามว่าเป็นสถานที่อาถรรพ์ จึงมีเรื่องราวที่ถูกซ่อนอยู่ข้างใน และเป็นเรื่องที่มนุษย์ธรรมดาเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายถึง "เรื่องผี"
- สุสานรถ พหลโยธิน
ความน่ากลัว = การขับขี่ด้วยความประมาท อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในทุกๆวัน
แตรรถดังขึ้นเอง, ได้ยินเสียงคนพูดคุยกัน,มีเสียงกรีดร้อง และอีก ฯลฯ คือเรื่องเล่าที่เรามักได้ยินถึงเมื่อพูดถึงบรรดาซากรถยนต์จากการเกิดอุบัติเหตุ ที่ถูกเก็บไว้ในโกดังเก็บของกลาง
สุสานรถยนต์ คือตัวอย่างหนึ่งของสถานที่ที่มีรถยนต์หลากหลายประเภทถูกทิ้งร้างเอาไว้ โดยมีเหตุผลและที่มาที่แตกต่างกันไป แม้ก่อนหน้าจะเคยมีราคามากขนาดไหน แต่มูลค่าในอดีตก็กลายเป็นเพียงเศษซากถูกซุกซ่อนซ้อนทับเอาไว้ คงเหลือแต่ความน่ากลัวที่ทำให้ใครไม่อยากเข้าใกล้
รายงานจากมูลนิธิเมาไม่ขับ ระบุว่า ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 สถานบันเทิงปิด สถิติอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับลดน้อยลงไปมาก แต่หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด สถิติอุบัติเหตุเมาแล้วขับเพิ่มสูงขึ้นจนน่าวิตก แต่ถึงเช่นนั้น พฤติกรรมเมาแล้วขับก็น่าจะเป็นสิ่งที่คนไทยปรับเปลี่ยนได้ เพื่อความปลอดภัยผู้ขับขี่และเพื่อนร่วมทาง
ในแง่หนึ่งสุสานรถยนต์ เป็นเพียงเก็บเศษซากของรถยนต์ แต่อีกมุมนี่คือสิ่งเตือนใจของการเกิดอุบัติเหตุ โดยที่มีมนุษย์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญของเหตุการณ์นั้น
- ตึกเก่า อาคารร้าง
ความน่ากลัว = สถานที่ก่ออาชญากรรม และบทสรุปที่ใครก็ไม่อยากให้เกิด
ตึกร้างย่านตลิ่งชัน
ขาดเงินสดที่จะจ่ายค่าก่อสร้าง , ขาดคนงาน ทำให้งานล่าช้าไม่เป็นไปตามกำหนด, การขายชะลอตัว คือ เหตุผลที่มักเป็นสาเหตุของการเกิด "ตึกร้าง" ทั้งจากตึกใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือ "ตึกเก่า" ที่ยังไร้อนาคตหลักการเปลี่ยนมือเจ้าของ
เมื่อถูกทิ้งให้เป็นตึกร้างด้วยแรงผลักทางเศรษฐกิจ แต่ปลายทางของสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มักกลายเป็น แหล่งมั่วสุม ซึ่ง ข้อมูลจากสำนักการโยธาฯ กรุงเทพมหานคร สรุปยอดตัวเลขเมื่อปี 2563 ว่า ทั่วกรุงเทพฯ มีอาคารร้างอยู่ทั้งสิ้น 509 อาคาร แยกเป็นอาคารมีความเสี่ยงกับประชาชนจำนวน 475 อาคาร และไม่มีความเสี่ยง 34 อาคาร โดยอาคารร้างส่วนใหญ่เป็นอาคารของเอกชน
ตึกร้างย่านแยกรัชดา-ลาดพร้าว
แม้บางสถานที่ผู้ประกอบการได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลตลอดเวลา แต่บางแห่งก็สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมต่างๆ เช่น ข่มขืน จี้ ปล้น ดั่งที่เคยปรากฎเป็นข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ก่อเหตุมักใช้ตึกร้าง ที่พรางสายตาผู้คนเป็นแหล่งปฏิบัติการ
นั่นถือเป็นภัยร้ายแรงและความน่ากลัวของประชาชน ที่บรรดาลูกหลาน อาจต้องเจอฝันร้าย เจอภัยอันตรายเข้าสักวัน โดยที่ทั้งหมดเป็นฝีมือของผู้มีลมหายใจ ไม่ใช่วิญญาณ ไร้ร่าง ตามแบบฉบับเรื่องเล่าที่เรามักได้ยินใน วันฮาโลวีน
ภาพ : ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์.
ที่มา : รู้จัก สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ตึกร้างสูงสัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
รื้อเป็นทางการ ตำนาน “ห้างบางลำพู” ที่ไม่ใช่ “นิวเวิลด์”
"ชัชชาติ" ลุยตรวจจุดอุบัติเหตุโค้งรัชดา สั่งเขตทำแผนที่จุดเสี่ยงทั่วกรุง
วสท.จับมือ กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณ โค้ง 100 ศพ ถนนรัชดาฯ