สร้างโอกาส "เด็กพิการเรียนไหนดี"
"ผู้พิการ" เป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางทางสังคม ที่ควรได้รับการดูแลและช่วยเหลือ โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบการศึกษา จึงนำมาสู่โครงการ "เด็กพิการเรียนไหนดี" เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และผลักดันให้สังคมเริ่มหันมาใส่ใจคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
หากจำกันได้ ที่ผ่านมา สสส. พยายามในการสร้างสรรค์ให้เกิดแนวทางและการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมสร้างเสริมเพื่อให้ ผู้พิการ มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันพรรณนา และแอปพลิเคชันโวหาร เปิดโอกาสให้คนพิการทางการเห็นได้ร่วมชมภาพยนตร์เหมือนคนทั่วไป ไปจนถึงการร่วมมือกับภาคีสร้างนวัตกรรมทางโอกาส โดยการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ภายใต้มาตรา 33 และมาตรา 35 ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้พิการมีอาชีพ และมีงานทำมากกว่า 7,000 อัตรา
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบ Health Tracking เก็บข้อมูลสุขภาพ และการออมเงินของคนพิการที่ได้รับการจ้างงาน เพื่อสร้างหลักประกันมั่นคงให้ผู้พิการ เป็นต้นทุนที่ดีในการใช้ชีวิตไปจนถึงวัยเกษียณอีกด้วย
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เอ่ยยอมรับตรงๆ ว่า แม้ สสส. และภาคีจะพยายามเดินหน้าผลักดันให้สังคมเริ่มหันมาใส่ใจผู้พิการ ยกระดับและขับเคลื่อนทั้งเชิงภาคสังคม ไปจนถึงภาคนโยบายต่อเนื่อง แต่เมื่อเวลาต้องเผชิญกับวิกฤติหรือปัญหาต่างๆ แล้ว ดูเหมือนว่า ผู้พิการจะเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ อยู่เช่นเดิม รวมถึงในด้านนักเรียนและนักศึกษาผู้พิการที่ต้องหลุดระบบการศึกษาเองก็กำลังพุ่งไม่หยุดเช่นกัน ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมานี้ ยิ่งได้นำพาให้เด็กผู้พิการไทยต้องหลุดจากระบบการศึกษาไปจำนวนไม่น้อย
"ที่ผ่านมาการที่น้องๆ ผู้พิการไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการ ทำให้หลุดจากระบบการศึกษากลางคันมากอยู่แล้ว โดยสาเหตุเนื่องจากอยู่ในครอบครัวที่มีสถานะยากจน ซึ่งพบว่ามีผู้พิการเพียง 1.37% ที่ได้เข้าถึงการศึกษา ทำให้สถิติทุกปีพบว่า ผู้พิการส่วนใหญ่ ได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาเท่านั้น" ภรณี กล่าว
แต่เพราะ "การศึกษา" เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้ ผู้พิการ เข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้เหมือนทุกคนในสังคม จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อน โครงการเด็กพิการเรียนไหนดี ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 500 คน ที่ล่าสุด สสส. ยังร่วมกับ มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม และ เทใจ ดอท คอม จัดงาน "เด็กพิการเรียนไหนดี ปี 66" ขึ้น ในงานได้สร้างกิจกรรมแนะแนวการศึกษา ภายในงานจัด Workshop ที่ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่กิจกรรมปั้นฝัน, การค้นหาเส้นทางอาชีพที่ใช่, ปั้นพอร์ต, แนะแนวการทำแฟ้มสะสมผลงาน, ปั้นคำ, เทคนิคการเตรียมตัวสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อ โดยมีที่ปรึกษาช่วยบ่มเพาะศักยภาพของผู้พิการ ให้ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับพรสวรรค์และพรแสวงของตัวเอง เพื่อเป็นประตูด่านแรกในการก้าวสู่การมีอาชีพ รายได้ และสุขภาวะที่ดี จนเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นได้
"โครงการ เด็กพิการเรียนไหนดี เรียกอีกอย่างว่า ชุมชนนักเรียนผู้พิการ แต่ในความเป็นจริง กิจกรรมนี้ เป็นห้องเรียนสำหรับนักศึกษาผู้พิการและไม่พิการ ที่ต้องการพัฒนาทักษะของตัวเองให้แข่งขันในตลาดแรงงานได้ และเป็นแหล่งรวบรวมการสอบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดรับคนพิการให้ได้เข้าศึกษาต่อ อยากให้น้องๆ เปิดใจ เปิดโอกาสให้ตัวเอง ปั้นฝันให้เป็นจริงตามที่นั้งใจ และขอเชิญชวนให้ทุกคนมารู้จักโครงการนี้ เพื่อจุดประกายให้เกิดสังคมแห่งความสุขและสังคมที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน" ภรณี กล่าว
ภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. รับผู้พิการเข้าทำงานประมาณ 100-200 คน มีแผนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า รับเพิ่มเป็น 800 คน แต่อุปสรรคพบว่า ผู้พิการมีอุปสรรคเรื่องการเดินทาง ค่าแรงน้อย ทำให้ในอนาคตจะปรับระเบียบให้ผู้พิการทำงานที่บ้านได้ และสร้างเมืองให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม
"การศึกษาสร้างมูลค่าให้ผู้พิการสมัครงานได้ และนอกเหนือจากการเรียนคือ การใฝ่เรียนรู้ กทม. พร้อมปรับพื้นที่และนโยบายเพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนคือ เรียนได้และทำอาชีพได้" ภาณุมาศ กล่าว
ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาสำหรับ ผู้พิการ มุ่งเน้นทำงานร่วมกันหลายกระทรวงฯ เพื่อแบ่งปันข้อมูลด้านต่างๆ ของผู้พิการทั่วประเทศ ในการบริหารจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และดูแลได้ทั่วถึง มีเป้าหมายทำให้ผู้พิการพึ่งพาตนเองได้ เข้าถึงการศึกษา และมีงานที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละบุคคล ปัจจุบันทางกระทรวงฯ ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการเรียนเพื่อผู้พิการในรูปแบบเครดิตแบงก์คือ ผู้พิการสามารถสะสมหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยที่อยากเรียนรู้ได้ จนกว่าจะเรียนจบปริญญาตรี จากเดิมที่ต้องเรียนให้จบ 4 หรือ 6 ปี ปัจจุบันได้ยกเลิกแล้ว เพราะต้องการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดชีพ เเละเรียนรู้ในสิ่งที่ถนัดและเหมาะสม
อีกหนึ่งเสียงสะท้อนจาก ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ประธานมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการ และสังคม กล่าวว่า สสส. สนับสนุนงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาสำหรับผู้พิการ "เด็กพิการเรียนไหนดี" เข้าสู่ปีที่ 5 เพื่อให้โอกาสผู้พิการได้เข้าถึงการศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปีนี้ยังร่วมกับพันธมิตรอย่าง รอยัล พารากอน ฮอลล์ Royal Paragon Hall และเทใจ – Taejai.com รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาอีกเกือบ 20 แห่งทั่วประเทศ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้พิการที่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
"ในปีนี้มีความพิเศษเพิ่มเข้ามาคือ วงดนตรี Happy Unlimit การรวมตัวของ ผู้พิการ และผู้ไม่พิการ ที่ชื่นชอบการเล่นดนตรี รวมถึงมีรุ่นพี่ผู้พิการจากหลากหลายสาขาอาชีพและที่กำลังศึกษา มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ ที่ต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาให้มีความมั่นใจมากขึ้น ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ เด็กพิการเรียนไหนดี " ฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย