PM Award for Health Promotion Innovation 2022 ปั้นเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่

PM Award for Health Promotion Innovation 2022 ปั้นเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่

ปั้นเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ "Prime Minister's Award for Health Promotion Innovation 2022" อีกหนึ่งก้าวสำคัญ ช่วยยกระดับความสามารถเด็กไทย สู่การเป็นนักคิดที่ช่วยสานพลัง สร้างนวัตกรรมเพื่อเสริมสุขภาวะคนไทยอย่างยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนกำลังอยู่ในโลกยุคใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พลิกโฉมชีวิตความเป็นอยู่ในทุกมิติ

เพื่อให้เท่าทันโลกยุคใหม่ การส่งเสริมให้ทุกคนสามารถก้าวขึ้นไปเป็น "นวัตกร" ที่สร้างสรรค์คิดหาหนทางช่วยให้สังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ และเป้าหมายหลักของการจัดงานประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ "Prime Minister's Award for Health Promotion Innovation 2022" จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งประกาศผลและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศไปเมื่อเร็วๆ นี้

นี่อาจเป็นก้าวย่างสำคัญของการยกระดับความสามารถคนไทยกับการเป็น "นวัตกร" ที่ช่วยป้องกันก่อนรักษา ลดปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนไทยในระยะยาว

ปั้นนวัตกรเสริมสุขภาพ สร้างสังคมสุขภาวะ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการกองทุน สสส. กล่าวในวาระเป็นประธานในพิธีว่า การจัดประกวดนี้ถือเป็นรางวัลระดับชาติเป็นปีที่สอง ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นว่าเยาวชน คนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่เข้าใจแนวทางสร้างเสริมสุขภาพที่เริ่มต้นจากตัวเอง ชุมชน และสังคม 

PM Award for Health Promotion Innovation 2022 ปั้นเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่

"ทุกผลงานมาจากความทุ่มเท และความพยายามของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มสตาร์ทอัพ และกลุ่มภาคีเครือข่าย สสส. ที่ร่วมกันคิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ จนออกมาเป็นผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพหลากหลายประเด็นที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมายตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเชื่ออย่างยิ่งว่า การประกวดครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศจะเป็นกำลังสำคัญช่วยดูแล แก้ไข และสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นรอบๆ ตัวได้อย่างยอดเยี่ยม ต่อยอดไปสู่ระดับนานาชาติในอนาคต" รมต.สาธารณสุข กล่าว

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม คณะกรรมการกองทุน สสส. และประธานคณะกรรมการพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสิน กล่าวว่า การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่เน้นความคิดสร้างสรรค์จะช่วยหาวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนทั่วโลก ซึ่ง สสส. มีบทบาทส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และกระบวนการ เชื่อว่านักเรียน นักศึกษา คุณครู อาจารย์ สตาร์ทอัพ และภาคีเครือข่าย สสส. ที่ได้เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ จะเป็นความหวังในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในอนาคตได้อย่างแน่นอน

จาก ThaiHealth Inno Awards สู่ PM’s Awards

สสส. ดำเนินโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษา และอาชีวศึกษาระดับ ปวช. ทั่วประเทศ เสนอผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ หรือส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน โดยวัตถุประสงค์หลักของการประกวดคือ การสร้างเมล็ดพันธุ์นวัตกร สร้างเสริมสุขภาพหรือคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยสานพลัง เสริมการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจัดติดต่อกันมา 3 ปี โดยในปี 2564 สสส. ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีในการใช้ชื่อ รางวัล Prime Minister’s Awards for Health Promotion Innovation 2021 เป็นครั้งแรก 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สสส. ตั้งต้นร่วมจุดประกาย หวังส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้สนใจการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยในปีนี้ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่เป็นกลุ่มเด็กเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และปวช. โดยเพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือ บุคคลทั่วไป/สตาร์ทอัพ และภาคีเครือข่าย สสส. รวมทั้งสิ้น 290 ทีมจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ และส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สสส. เชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมให้ประเทศไทย และสร้างคนได้อีกมากมาย โดย สสส. ได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานด้านนวัตกรรมระดับชาติต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนเป็นอย่างดี

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในโครงการดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

  • รางวัลชนะเลิศประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ ทีม SMD Team ผลงาน "กิจกรรมเสริมสร้างความรู้และการตระหนักเรื่องบุหรี่ ด้วยนวัตกรรมบอร์ดเกม"
  • รางวัลชนะเลิศประเภทอาชีวศึกษา (ปวช.) ได้แก่ ทีม F two K ผลงาน "หมวกกันน็อคนิรภัยอัจฉริยะ (Wireless helmet signal light)" จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการลานนา จ.เชียงใหม่
  • รางวัลชนะเลิศ ประเภทบุคคลทั่วไปและสตาร์ทอัพ ได้แก่ ทีม Rambler ผลงาน GreenSmooth

นอกจากนี้ ยังมีทีมนวัตกรสร้างเสริมสุขภาพ ประเภทภาคีเครือข่าย สสส. ซึ่งจะเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติ เพื่อเชิดชูผลงานกลุ่มภาคีที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ 

  • บริษัท ทูลมอโร จำกัด ผลงาน "คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน"
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลงาน "กล้องอัจฉริยะสำหรับงานด้านความปลอดภัยทางถนน"
  • ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงาน "โปรแกรมสอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กสำหรับผู้ปกครองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เน็ตป๊าม้า : Net PAMA)
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ผลงาน "แนวปฏิบัติที่ดีลดผู้สูบหน้าใหม่ ลด ละ เลิกบุหรี่ Gen Z smoke-free school" 
  • บริษัท ฟล็อค เลิร์นนิ่ง ผลงาน "Mappa"

PM Award for Health Promotion Innovation 2022 ปั้นเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่

บอร์ดเกม "ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่"

"มันเกิดจากคำถามว่า ทำไมเด็กไทยยังสูบบุหรี่อยู่" หนึ่งในสมาชิก SMD Team จากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่นฝ่ายมัธยมศึกษา จังหวัดขอนแก่น ผู้ชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เผยถึงแรงบันดาลใจที่เลือกหัวข้อ "ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่" มาเป็นโจทย์ตั้งต้นของผลงาน "กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ และการตระหนักเรื่องบุหรี่ ด้วยนวัตกรรมบอร์ดเกม Just say No"

"เรามองว่าถ้ามีนวัตกรรมที่จะช่วยให้เขาเข้าใจเรื่องภัยบุหรี่มากขึ้น พร้อมมีความรู้ การแนะแนวทางออกเมื่ออยากเลิก ไม่ว่าจะเป็นเขตห้ามสูบที่ไหนบ้าง เขตปลอดบุหรี่คืออะไร หรือสายด่วน 1600 ที่ช่วย เลิกบุหรี่ แต่เราไม่ได้เอาความรู้นำเกมเราจะสอดแทรกความรู้ไปกับความสนุก" 

PM Award for Health Promotion Innovation 2022 ปั้นเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่

ส่วนสาเหตุที่เลือก "บอร์ดเกม" มาสร้างนวัตกรรมสื่อ "ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่" นั้น เพราะไม่ชอบการฟังบรรยายที่ดูน่าเบื่อ

"มันมีไม่กี่อย่างหรอกที่จะเข้าถึงเด็กหรือเยาวชนอย่างเราได้ เพื่อนหนูทุกคนก็เล่นเกมกันทุกวัน แต่ถ้าเราไปทำเกมออนไลน์ก็ทำให้เราไม่ได้คุยกัน แต่บอร์ดเกมเราเล่นกันตอนเที่ยงในห้องทุกวัน ส่วนเหตุผลที่เข้ามาในครั้งนี้ อยากมาลองหาประสบการณ์ให้ตัวเอง หนูอยู่ต่างจังหวัดที่ขอนแก่นมันก็ไม่ได้มีอะไรให้เราทำมากนัก หลังอาจารย์มาบอกว่ามีโครงการนี้ก็เลยคิดกันว่าจะทำอะไรดี คิดว่าถ้ามาหาประสบการณ์ในเมือง ซึ่งโครงการนี้ทำให้เราได้เห็นอะไรที่สร้างไอเดียช่วยเปิดโลกทัศน์มากขึ้น ซึ่งตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะได้รางวัลชนะเลิศด้วย รู้สึกดีใจมาก"

เมื่อถามว่าอยากพัฒนาผลงานไปต่ออีกหรือไม่ น้องๆ กล่าวพร้อมเพรียงกันว่า อยากทำต่อแน่นอน โดยตั้งใจที่จะขยายแนวคิด ทำบอร์ดเกมให้ความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดอื่นๆ อีก

"สิ่งที่อยากต่อยอดจากตรงนี้คือ เราพัฒนาเป็นบอร์ดเกม พรินท์ แอนด์ เพลย์ (Print and Play) ทำเป็นไฟล์ที่ทุกคน หรือทุกโรงเรียน รวมถึงเครือข่ายเกี่ยวกับการไม่สูบบุหรี่ หากต้องการเอาไปใช้ก็สามารถพิมพ์ออกมาแล้วตัดเป็นการ์ดเกมเล่นได้เองเลย"

หมวกกันน็อคอัจฉริยะลดสูญเสีย

ด้านตัวแทนทีม F two K จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการ ลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของนวัตกรรม Wireless helmet signal light อธิบายถึงนวัตกรรมที่ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับอาชีวศึกษาว่า อุปกรณ์เสริมแสดงสัญญาณ หมวกกันน็อคนิรภัยอัจฉริยะ เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งเสริมบนหมวกกันน็อคด้านหลัง เมื่อเวลาผู้ขับขี่เปิดไฟเลี้ยวซ้ายหรือขวา สัญญาณไฟจะติดที่อุปกรณ์ ทำให้ผู้ที่ขับขี่ตามมาเห็นว่าคนขับจะไปทิศทางใด รวมถึงมีระบบเสียงเตือนกรณีที่คนอื่นขับมาใกล้กระชั้นชิด นอกจากนี้ยังเป็นไฟฉุกเฉินเมื่อรถล้ม สัญญาณไฟจะกระพริบเปลี่ยนสีอัตโนมัติ เป็นต้น    

PM Award for Health Promotion Innovation 2022 ปั้นเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่

"ไอเดียเกิดจากที่เราอยู่ใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่นิยมใช้กันกว่า 70-80% เลยมองถึงปัญหาเรื่องการขับขี่เพื่อนำมาเป็นโจทย์ช่วยลดอุบัติเหตุ เผอิญคนรู้จักเราเองก็เสียชีวิต เพราะปัญหาเรื่องสัญญาณไฟเลี้ยว ซึ่งเราเองมีพื้นฐานเรื่องการเขียนโค้ดอยู่แล้วก็นำมาประยุกต์ร่วมกับการศึกษาวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม"

ทั้งนี้ ก่อนผลิตเป็นชิ้นงาน ทางทีมยังมีการสำรวจความเห็นผู้บริโภค โดยออกแบบไฟ 4 แบบให้ผู้บริโภคกว่า 115 คน เลือกก่อนนำมาขึ้นชิ้นงานจริง ซึ่งพวกเขาเล่าว่า แนวคิดและกระบวนการขั้นตอนการทำงานต่างๆ ได้เรียนรู้จากพี่เลี้ยงในโครงการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำต่อเนื่อง ทำให้สามารถปรับปรุง แก้ไขงานให้เหมาะสม สำหรับการพัฒนาต่อยอดในลำดับต่อไป อยากออกแบบให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น และมีรูปแบบลายแผงไฟให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

"ฟาร์มเก๋า" ฟาร์มออร์แกนิคเพื่อวัยเก๋าและผู้พิการ

อีกหนึ่งเจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไปและ Startup คือ ทีม ฟาร์มเก๋า (FarmKao+) ผลงานของ ประสิทธิ์ ป้องสูน ได้เล่าถึงแนวคิดว่า เดิมเคยพัฒนาแอปพลิเคชันบอกสีเสื้อให้กับผู้พิการทางสายตามาก่อน 

"พ่อผมเองเป็นคนตาบอด ทีนี้มาคิดว่าทำไมคนตาบอดจะปลูกผักไม่ได้ เราเลยไปคุยกับสมาคมคนตาบอดและชมรมผู้สูงอายุที่จังหวัดปทุมธานี และสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน ปทุมธานี ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ และสุดท้ายได้พัฒนาเป็น ฟาร์มเก๋า หรือโรงเรือนปลูกผักออร์แกนิค โดยนำร่องในจังหวัดปทุมธานีเป็นแห่งแรก" ประสิทธิ์ กล่าว

เขา เล่าต่อว่า ในการปลูกผัก หากผู้พิการทางสายตาปลูกลงดินเลย เขาอาจดูแลไม่ทั่วถึงและไม่สะดวก โดยเฉพาะ ผู้พิการสายตา ที่เป็นผู้สูงวัย ต้องปลูกเป็นกระถาง ดังนั้นจึงออกแบบอุปกรณ์โรงปลูกนี้ให้เป็นแบบยกสูงขึ้นเพื่อสะดวก ไม่ต้องก้ม นอกจากนั้น ยังเติมเรื่องเซนเซอร์วัดค่าดิน ความชื้น รวมถึงระบบสั่งการผ่านอินเทอร์เน็ต สำหรับเวลาที่ไม่ได้อยู่บ้านหรืออยู่ที่อื่นก็สามารถสั่งการให้รดน้ำเองได้ โดยในครั้งแรกเลือกเสนอให้ปลูกผักสลัดเพราะมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 30 วัน ที่สำคัญเน้นการปลูกแนวออร์แกนิกเพื่อส่งเสริมสุขภาพดี

"วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ อันดับแรก เราอยากให้เขารู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง การได้ปลูกผักเองได้ ตัดผักไปฝากคนอื่นเขาก็ภูมิใจ สอง ช่วยสร้างความผ่อนคลายได้ และสามคือ เรื่องการดูแลสุขภาพ เพราะคนกลุ่มเปราะบางเข้าถึงอาหารปลอดภัยยากกว่าคนทั่วไป การปลูกเองทำให้เขาได้บริโภคอาหารปลอดภัย สำหรับโมเดลต่อไปคือ เริ่มสร้างตลาดให้กับกลุ่มผู้พิการสายตาที่ต้องการปลูกผักสร้างอาชีพ โดยการส่งจำหน่ายให้กับร้านอาหารและหน่วยงานที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อช่วยสร้างรายได้ ตอนนี้มีผู้พิการทางสายตาเขาอยากร่วมกับเราหลายราย เพราะเขาได้รับผลกระทบจากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ลดลง เรากำลังหาเครือข่ายและผู้สนับสนุนเรา ตั้งเป้าจัดโครงการช่วยสั่งซื้อชุดปลูกเพื่อบริจาคให้กับผู้พิการทางสายตาในอนาคต" ประสิทธิ์ ทิ้งท้าย