15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15
ถ้าไม่รู้ว่าจะดูหนังเรื่องไหนดีในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15 “กัลปพฤกษ์” คอลัมนิสต์ผู้คร่ำหวอดที่เดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี ได้คัดสรรหนังดีหนังเด่น 15 เรื่องมาให้พิจารณาประกอบการตัดสินใจ
นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปีที่เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ หรือ World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 15 ได้กลับมาจัดงานอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่ต้องว่างเว้นไปถึงห้าปีเต็มตั้งแต่ ค.ศ. 2017 ซึ่งงานในครั้งนี้ ก็จัดขึ้นโดย บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดฉายหนังกันที่ SF World Cinema กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม พ.ศ. 2565 กับหนังดี ๆ จากทั่วทุกมุมโลกจำนวนกว่า 60 เรื่อง ตลอดทั้ง 10 วัน
และนับเป็นเรื่องน่าเศร้าจากความสูญเสีย เมื่ออดีตผู้อำนวยการเทศกาล World Film Festival of Bangkok คุณวิกเตอร์ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง เสียชีวิตไปด้วยอาการจากเส้นเลือดในหัวใจมีปัญหา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2565 ขณะกำลังเตรียมจัดเทศกาลครั้งที่ 15 ในปีนี้ ซึ่งในที่สุด คุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา โปรแกรมเมอร์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ ผู้เดินทางไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วหลายเทศกาล ก็ได้รับไม้ต่อในการสานงาน เสาะหาหนังดี ๆ จากหลากหลายที่มาฉายให้คอหนังในประเทศไทยได้ชมกันในเทศกาลครั้งนี้ ที่ยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้การจัดงานในครั้งก่อน ๆ เลย
ในโอกาสนี้จึงจะขอถือโอกาสแนะนำหนังเด่นหนังดังที่เคยได้ดูมาจากเทศกาลใหญ่ ๆ ในรอบปี ที่จะมาร่วมพิสูจน์คุณภาพกับคอหนังในประเทศไทย ให้ได้ลองหาชมกันสัก 15 เรื่อง โดยจะเน้นหนังในสาย Kaleidoscope สำรวจหนังดังแห่งปี 2022 ที่ไม่ควรจะพลาดโอกาสชมบนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์กันเลย!
- ALCARRÀS กำกับโดย Carla Simón จากสเปน
เริ่มที่หนังซึ่งคว้ารางวัลใหญ่สุด ‘หมีทองคำ’ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน นั่นคือ หนังจากแคว้นคาทาลันในสเปนเรื่อง Alcarràs โดยหนังได้เล่าชะตากรรมของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีบิดาวัยกลางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว
สมาชิกของบ้านในชนบทหลังนี้มีอาชีพปลูกสวนพีชขายมาหลายชั่วอายุคน ถ่ายทอดศาสตร์แห่งการเลี้ยงดูพืชพันธุ์ผลไม้ชนิดนี้จากรุ่นสู่รุ่นเลี้ยงดูทุก ๆ ปากท้องอย่างดีเสมอมา กระทั่งวันหนึ่งมีรถตู้จากบริษัทใหญ่ทยอยเดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน พร้อมการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีอันทันสมัย พวกเขานำแผงสร้างพลังงานโซลาร์เซลมาติดตั้งบนพื้นที่บริเวณขนาดใหญ่ พร้อมข่าวร้ายว่าครอบครัวชาวไร่พีชบ้านนี้ กำลังจะถูกไล่ที่ทำกินเพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสร้างพลังงานทางเลือก!
หนังเล็ก ๆ เรื่องนี้นำเสนอภาพความโหดร้ายในโลกความเป็นจริงของชาวชนบทในปัจจุบันด้วยวิธีการที่บริสุทธิ์ เรียบง่าย และกินใจ ชวนให้คิดว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจไม่มีอาชีพที่เรียกว่า ‘เกษตรกร’ ตกทอดหลงเหลืออยู่ในสังคมอีก!
- MYANMAR DIARIES กำกับโดย The Myanmar Film Collective จากพม่า
สารคดีสุดสะเทือนขวัญถ่ายทอดเหตุการณ์ความรุนแรงและการฆ่าแกงกันจริง ๆ อย่างอำมหิตโหดเหี้ยมอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ผลงานของนักทำหนังหนุ่มสาวชาวพม่าจำนวน 10 ราย ที่ร่วมกันประกอบสร้างหนังข่าวเล่าความเป็นไปจากสายตาของคนในโดยไม่อาจเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามได้ด้วยความเสี่ยงต่อภัยอันตราย หนังเคยได้เข้าฉายในสาย Paronama ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลินเมื่อต้นปี
หนังเปิดฉากอย่างขบขันด้วยภาพเคลื่อนไหวไวรัลสุดดังของนักเต้นแอโรบิกสาวที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวตั้งกล้องถ่ายการซ้อมท่าเต้นของตนเองหน้าลานรัฐสภาช่วงเช้าที่รถจี๊ปและกองกำลังดำทะมึนกำลังเข้าบุกเพื่อยึดอำนาจ
แต่หลังจากนั้นเราจะได้สลดไปกับภาพการกวาดล้างผู้ชุมนุมและแกนนำต่อต้าน เมื่อเหล่าตำรวจทหารในเครื่องแบบที่ควรมีหน้าที่พิทักษ์รักษาความปลอดภัยของมวลชน กลับกลายเป็นฝ่ายปล้นอำนาจใช้อาวุธปืนข่มขู่ เหนี่ยวไกต่อสู้จนผู้คนล้มตาย กลายเป็นภาพวีดิทัศน์บันทึกจากโทรศัพท์ smartphone ที่ผู้เห็นเหตุการณ์ต้องกรีดร้องตระหนกตกใจในระยะเคียงใกล้ ดูแล้วชวนให้หดหู่ใจหายกับภาพ ‘ความจริง’ ที่ช่างบาดตาบาดใจเสียเหลือเกิน
หนังสลับอารมณ์ด้วยการแสดงภาพชีวิตของผู้ถูกกระทำทั้งในเคหะสถาน ผ่านการเล่นดนตรี การใช้ชีวิตโดยปราศจากเสื้อผ้า การใช้ถุงดำคลุมหน้าคลุมตาประท้วงด่าทอ และการขอลี้ภัยเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมร รวมถึงการเข้าค่ายซุ่มสอนการใช้อาวุธยุทธปกรณ์เรียกร้องอธิปไตยคืน นับเป็นสารคดีสะท้อนความจริงที่ยิ่งดูก็ยิ่งสิ้นหวัง และน่าจะเป็นหนังที่ ‘ทรงพลัง’ มากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งในเทศกาล
- CLOSE กำกับโดย Lukas Dhont จากเบลเยียม
ข้ามมาที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ กับหนังรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง Grand Prix เรื่อง Close ของผู้กำกับ Lukas Dhont ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์แบบ ‘เกือบวาย’ ของสองหนุ่มน้อยท่ามกลางสวนดอกไม้ ซึ่งจะฉายเป็นหนังปิดในพิธีมอบรางวัลวันสุดท้ายของเทศกาลในวันที่ 11 ธันวาคม 2565
Léo และ Rémi เป็นเด็กชายอายุเพียง 13 ปี ที่ยังไม่ถึงช่วงวัยตื่นตัวทางเพศเสียด้วยซ้ำ แต่ทั้งคู่อยู่บ้านใกล้กัน ปั่นจักรยานไปกลับโรงเรียนด้วยกันทุกวัน สนิทสนมกันจนเจอใครที่ไหนก็ต้องเจออีกคนที่นั่นเป็นเงาตามตัว และที่สำคัญคือทั้งคู่มีความสุขที่จะได้ใช้เวลาร่วมกัน โดยไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่ามันคือความสัมพันธ์แบบชายรักชายที่ใคร ๆ ต่างขนานนามไว้หรือไม่
เมื่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นที่สงสัยของเพื่อนร่วมชั้นจนมีคนเอ่ยปากถามว่าพวกเขาเป็น ‘คู่จิ้น’ กันใช่ไหม เรื่องเลยลุกลามบานปลายทำให้ทั้งคู่เกิดความอึดอัดที่จะเป็นเพื่อนซี้กันต่อไป สร้างรอยร้าวฉานที่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน หนังเล่าทุกอย่างได้สมจริงผ่านการแสดงอันวิเศษชวนให้เชื่อได้ทุกอารมณ์ความรู้สึกของนักแสดงเด็กทั้งสอง จนผู้ชมอาจจะต้องร้องไห้เสียน้ำตาไปพร้อม ๆ กับตัวละครในเรื่องกันเลยทีเดียว
- EO กำกับโดย Jerzy Skolimowski จากโปแลนด์
หนังเล่าชีวิตสัตว์ ผ่านเรื่องราวชีวิตของเจ้าลาน้อย EO ระหว่างการเดินทางจากคณะละครสัตว์ไปจนถึงโรงฆ่าสัตว์ ที่จะไม่เหมือนหนังชีวิตสัตว์โลกเรื่องไหนที่คุณเคยดู เพราะผู้กำกับ Jerzy Skolimowski นำเสนอหนังเรื่องนี้ในรูปแบบงานทดลอง อุดมได้ด้วยเทคนิคเชิงภาพและเสียงอันละลานหูละลานตา เล่าผ่านทรรศนะการมองเห็นของเจ้าลา EO จนสุดท้ายหนังก็สามารถคว้ารางวัล Jury Prize หรือขวัญใจคณะกรรมการจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปีนี้ไปครองได้
การเดินทางของเจ้าลาแม้ว่าจะไม่ถึงกับเจออภินิหารอะไรใด ๆ แต่หนังก็มีเซอร์ไพรส์ชวนให้ต้องสะดุ้งเหวออยู่ตลอดเวลา มาแบบไม่ยอมให้ตั้งตัว ซึ่งใครที่ได้สัมผัสได้ดูกันแล้วก็ไม่ควรแพร่งพรายให้ความลับของหนังต้องหลุดรั่ว เพื่ออรรถรสในการรับชมของท่านอื่น ๆ
และด้วยการจัดเต็มทั้งทางด้านงานภาพและเสียงอันอลังการในงานภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ EO เป็นอีกเรื่องที่จะต้องชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ไม่สามารถรอดูผ่านรูปแบบ streaming บนจอเล็ก ๆ ภายในที่พักอาศัยได้เลย เพราะนี่คือหนังที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกท่านได้สัมผัสกับ “ประสบการณ์ด้านภาพยนตร์” อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ home theatre ราคาเรือนแสนเรือนล้านขนาดไหนก็มอบให้ไม่ได้เลย!
- TORI AND LOKITA กำกับโดย Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne จากเบลเยียม
ผู้กำกับคู่พี่น้อง Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne นับเป็นปรมาจารย์ด้านการสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลใหญ่ในแวดวงภาพยนตร์โลกอย่างรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาได้แล้วถึงสองครั้ง นั่นคือจากเรื่อง Rosetta (1999) และ The Child (2005) ซึ่งระหว่างและหลังจากนั้น พวกเขาก็มีผลงานเข้าร่วมประกวดที่เทศกาลคานส์อย่างสม่ำเสมอ และมักจะคว้ารางวัลหนึ่งรางวัลใดติดไม้ติดมือกลับบ้านไปได้
อย่างในปีนี้ที่พวกเขามีหนังใหม่เรื่อง Tori and Lokita เข้าร่วมประกวดอีกครั้ง และสามารถคว้ารางวัลพิเศษครบรอบ 75 ปีของเทศกาลจากคณะกรรมการไปได้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่แสนยิ่งใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าผู้กำกับทั้งสองนี้มีผลงานที่สำคัญกับวงการภาพยนตร์โลกขนาดไหน ชนิดที่มีโอกาสได้ดูกันเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถจะปล่อยให้พลาดกันได้เลย
Tori and Lokita เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ด้อยโอกาสในฐานะเยาวชนที่อพยพลี้ภัยจากแอฟริกามายังเบลเยียม และแม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้มีความผูกพันเป็นคนในตระกูลเดียวกัน แต่การได้ร่วมผจญภัยฝ่าฟันอันตรายต่าง ๆ มาด้วยกัน ก็ทำให้ Tori และ Lokita เกิดความสนิทสนมแนบแน่นไม่ต่างจากน้องชายและพี่สาวร่วมสายเลือดกันเลยทีเดียว
พวกเขาต้องช่วยกันทำงานรับจ๊อบเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกันร้องเพลงภาษาอิตาเลียนกล่อมลูกค้าในร้านอาหาร ขี่จักรยานส่งสำรับ delivery ไปจนถึงการเป็นเอเยนต์ค้ายาและรับหน้าที่เฝ้าโรงเพาะกัญชาลับ แต่ไม่ว่างานที่พวกเขารับทำจะเข้าข่ายอาชญากรรมเพียงใด เรากลับรู้สึกได้ว่าพวกเขาทำไปด้วยความจำเป็นมากกว่าจะคิดเอาเปรียบคนอื่น ๆ หนังจึงแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งสายใยครอบครัวที่เราสามารถเลือกสร้างเองได้ ก่อให้เกิดความอบอุ่นสบายใจในการใช้ชีวิตต่อไปบนโลกอันแสนจะโหดร้ายนี้ หนังมีลีลาสมจริงแบบยิ่งยวดตามแบบฉบับของสองพี่น้อง Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne อย่างไว้ลาย จนไม่มีส่วนไหนที่จะชวนให้รู้สึก ‘ปลอม’ ได้เลย!
- R.M.N. กำกับโดย Cristian Mungiu จากโรมาเนีย
ผู้กำกับ Cristian Mungiu ก็เป็นขารางวัลปาล์มทองคำเก่าเหมือนกันจากเรื่อง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days (2007) และปีนี้ก็มีหนังเข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อีกด้วยกับเรื่อง R.M.N. ซึ่งเป็นคำย่อของคำว่า M.R.I-Magnetic Resonance Imaging ในภาษาโรมาเนีย
R.M.N. เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชนบทเล็ก ๆ ในทรานซิลวาเนีย เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ที่เด็กน้อยที่ต้องฝึกเดินข้ามเขาไปโรงเรียนด้วยตนเอง แต่ดันไปเจอสิ่งประหลาดระหว่างทางจนไม่กล้าเฉียดกรายไปละแวกนั้นอีกเลย เดือดร้อนไปถึงบิดาที่เพิ่งเดินทางกับมาจากเยอรมนีต้องช่วยตามล่าหาตัวการ ไปจนถึงการที่แรงงานพลัดถิ่นจากศรีลังกา ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานในโรงงานเบเกอรี จนกลายเป็นที่ลุกฮือวิพากษ์วิจารณ์ของชุมชน
ซึ่งผู้กำกับโรมาเนียคนนี้ก็ได้โชว์ฝีมือด้านการกำกับอันหาตัวจับยากในฉากไคลแมกซ์ ณ ห้องประชุมถกเถียงหารือของสมาชิกในชุมชนนับร้อยที่แออัดอยู่ในห้องประชุม สลับสับเปลี่ยนเวียนแลกบทสนทนากันอย่างยาวนานถึง 17 นาทีโดยไม่มีการตัดเลย ซึ่งทุกคิวจะต้องเป๊ะ และนักแสดงทุกคนต้องแม่นกับบทของตัวเองอย่างพลาดอะไรไม่ได้ มันจึงกลายเป็นฉากมหัศจรรย์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะรังสรรค์กันได้อย่างอลังการขนาดนี้
- TCHAIKOVSKY’S WIFE กำกับโดย Kirill Serebrennikov จากรัสเซีย
Kirill Serebrennikov เป็นผู้กำกับรัสเซียขวัญใจเทศกาลคานส์ที่โดนกลั่นแกล้งจากรัฐบาลผ่านคดีฉ้อโกง จนไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไปร่วมงานเทศกาลได้ กระทั่งสุดท้ายเมื่อเขาพ้นผิด Kirill Serebrennikov จึงเริ่มหวนคืนสู่การทำหนังร่วมเทศกาลอีกครั้ง โดยในปีนี้เขาก็มีหนังชีวประวัติใต้มุ้งของคีตกวีรายสำคัญ Pyotr Tchaikovsky ที่ถูกกล่าวขวัญกันมานานว่าเขามีแนวโน้มน่าจะเป็นเกย์
Tchaikovsky’s Wife จึงมุ่งเล่าเรื่องราวลับ ๆ ของคีตกวีนามอุโฆษท่านนี้ โดยไม่มีการอ้อมค้อม โดยหนังได้ติดตามความบอบช้ำทางใจของ Antonina สตรีที่ตกลงปลงใจแต่งงานอยู่กินกับ Tchaikovsky ผู้มีเจตนาเข้าพิธีวิวาห์เพื่อเพื่อบังหน้าโดยที่เขาหาได้มีหัวใจให้เธอเลย ทว่าลึก ๆ แล้ว Antonina มั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่าความดีของเธอจะเอาชนะหัวใจที่นิ่งเย็นเป็นน้ำแข็งของ Tchaikovsky ได้ ในขณะที่ทุกคนรู้แฟนคลับก็รู้ว่า Tchaikovsky มีรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร และเธอมีบทบาทอย่างไรในชีวิตของเขา
หนังเสียดเย้ยความล้มเหลวในอุดมการณ์การเปลี่ยนวิถีเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวตนของแต่ละบุคคลได้อย่างเจ็บแสบ และแสดงความเป็นเกย์ออกมาด้วยลีลาการกำกับที่อาศัยร่างกายเปลือยเปล่าของผู้ชายขณะกำลังร่ายระบำด้วยท่าพิสดารผ่านวิสัยทัศน์และมุมมองที่มีแบบฉบับเฉพาะตัวของผู้กำกับ Kirill Serebrennikov เอง
- PACIFICTION กำกับโดย Albert Serra จากฝรั่งเศส
ส่วนคอหนังสายอาร์ตระดับฮาร์ดคอร์ ขอท้าให้ลองหาโอกาสชมภาพยนตร์จากสายประกวดเทศกาลคานส์เรื่องนี้ เรื่องที่มีคนเดินออกจากโรงทุก ๆ ห้านาที กับหนังที่ทำลายทุกกรอบระเบียบไวยากรณ์แล้วหันมาสร้างบรรยากาศหลอนเหมือนฝันร้ายที่แทบจะอธิบายอะไรไม่ได้เลย
ดาราหนุ่มใหญ่ Benoît Magimel รับบทนำเป็น de Roller กรรมาธิการชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางมายังรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะตาฮิติ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อสืบหาว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการขนย้ายโสเภณีและการทดลองระเบิดนิวเคลียร์บนน่านน้ำแปซิฟิกหรือไม่ และได้พบกับ Morton (รับบทโดย Sergi López )เจ้าของไนท์คลับที่มีทั้งนักเต้นหญิงและชายในชุดนุ่งน้อยห่มน้อยคอยเอนเตอร์เทนแขก กับ Shannah สาวทรานส์ชาวเกาะสวยคมที่ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ ณ รีสอร์ทแห่งนั้น ที่ทำให้ de Roller รู้สึกหึงหวงเมื่อ Shannah เริ่มสนิทสนมกับแขกชาวโปรตุเกสคนหนึ่งมากเกินไป ถึงขั้นมาขอดื่มสุราในบ้านพักของเธอ
หนังทำตัวเป็นงานแนวเขย่าขวัญสางปมคดีไปอย่างนั้น เพราะพระเอกของมันจริง ๆ คือสีสันเชิงบรรยากาศแห่งเกาะในโปลินีเซียที่มีหลืบมุมเร้นลับจนจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้ กลายเป็นหนังสุดท้าทายที่เชื้อเชิญให้คนดูร่วมไขปริศนา ที่ดูจนจบแล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหาคำตอบได้จริงหรือไม่กับการทำหนังแบบไม่แคร์ใครจนกลายเป็นความน่าสนใจด้วยรสชาติที่แตกต่าง
- GODLAND กำกับโดย Hlynur Pálmason จากไอซ์แลนด์
หนังจากสาย Un Certain Regard เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เรื่องนี้ เหมือนทำขึ้นมาเพื่อเอาใจคนรักกล้องฟิล์มและการถ่ายภาพยนตร์ด้วยฟิล์มกันจริง ๆ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระหนุ่มชาวเดนมาร์กที่เดินทางจาริกแสวงบุญพร้อมกล้องถ่ายภาพคู่ใจขนาดใหญ่ใช้บันทึกทั้งทัศนียภาพและผู้คนที่พบเจอขณะดั้นด้นเดินทางข้ามภูเขาไปสร้างโบสถ์แห่งใหม่ ณ เมืองห่างไกลในไอซ์แลนด์ จากศรัทธาและศาสนุดมการณ์ที่เคยหนักแน่นดี พอมาเจอวิถีอันไม่ค่อยจะศิวิไลซ์ของชนชาวเกาะที่ยังใช้ชีวิตไปตามสัญชาตญาณ ความมุ่งมั่นของพระหนุ่มก็เริ่มจะสั่นคลอนจนเขาเริ่มออกนอกลู่นอกทางมากขึ้นเรื่อย ๆ
หนังโดดเด่นด้วยงานถ่ายภาพจากกล้องฟิล์ม 35 มม. ในอัตราส่วน 1.33:1 ซึ่งมุมทั้งสี่มีการตีโค้งมนจนดูเก่าโบราณ แต่การกำกับภาพกลับทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับศักยภาพของสื่อภาพยนตร์ตกยุคชนิดนี้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยบรรยากาศแห่งทัศนียภาพของเกาะแก่งต่าง ๆ ในไอซ์แลนด์ ที่บันทึกออกมาได้งดงามตระการตาดีเหลือเกิน ใครที่คิดถึงหนังถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. คงพลาดกันไม่ได้ น่าเสียดายที่ระบบการฉายในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการฉายหนังด้วยฟิล์มกันอีกแล้ว มิเช่นนั้นการได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จากการฉายด้วยฟิล์มจริง ๆ ก็น่าจะได้บรรยากาศอันมหัศจรรย์ดีพิลึก!
- RETURN TO SEOUL กำกับโดย Davy Chou จากฝรั่งเศส
หนังจากสาย Un Certain Regard เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เรื่องนี้ เห็นทีจะต้องขอแนะนำกันเป็นพิเศษ เพราะผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ หรือ World Film Festival of Bangkok คนปัจจุบัน คุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา ได้ยอมปลีกเวลาจากตารางชีวิตอันยุ่งเหยิงไปร่วมรับบทเล็ก ๆ ในหนังให้ผู้กำกับ Davy Chou ด้วย!
หนังเล่าเรื่องราวของ Freddie สตรีวัยเบญเพศที่เกิดจากบิดามารดาชาวเกาหลีใต้ที่เกาหลีใต้ แต่ถูกส่งตัวไปยังสถานรับอุปถัมภ์ทารกเพื่อส่งต่อให้ผู้ยินดีอุปการะชาวตะวันตก ทำให้ Freddie ได้ย้ายไปเติบโตที่ฝรั่งเศสกับพ่อแม่บุญธรรมชาวฝรั่งเศส เมื่อถึงวัยแห่งการเป็นผู้ใหญ่ Freddie จึงได้ตัดสินใจเดินทางโดยลำพังมายังเกาหลีใต้อีกครั้ง เพื่อหาหลักฐานสืบสาวถึงตัวตนของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อ-แม่แท้จริงของเธอ การเดินทางตามหารากเหง้าตนเองของ Freddie เหมือนเป็นการขยี้บาดแผลที่ทำให้เธอต้องกลายเป็นคนแปลกแยกจากทุกสังคม อยู่ฝรั่งเศสเธอก็มีลุคเอเชียจนดูไม่ใช่ ในขณะที่พอกลับมาเกาหลีใต้ เธอก็มีนิสัยเป็นฝรั่งตะวันตกจนไม่ฟิตอินกับดินแดนเอเชียตะวันออกนี้ด้วยเหมือนกัน
สำหรับบทบทการแสดงอันเข้มข้นของคุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา นั้นจะมาในมาดนักปรัชญาร่ำสุราถกปัญหาชีวิตกับเพื่อนร่วมโต๊ะ แต่ขอเตือนว่าอย่าได้กะพริบตา เพราะคุณอาจจะหาไม่เจอเลยว่าคุณดรสะรณ โผล่มาในตอนไหน!
- JOYLAND กำกับโดย Saim Sadiq จาก ปากีสถาน
อีกเรื่องจากสาย Un Certain Regard เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เป็นหนังปากีสถานเนื้อหากล้าหาญหมิ่นเหม่ เล่าความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มมีครอบครัวแล้วกับดาวระบำจ้ำบ๊ะสาวทรานส์ จนถูกทางการออกคำสั่งแบนห้ามฉาย ก่อนจะกลับคำอนุญาตให้ฉายได้ในเวลาต่อมา
Joyland นับเป็นหนังเรื่องแรกจากปากีสถานที่ได้เข้าร่วมฉายในสายทางการของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และแม้จะเป็นเรื่องแรกแต่ก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้ารางวัล Queer Palm สำหรับหนัง LGBTQ ยอดเยี่ยมประจำเทศกาลปีนี้ไปได้ หนังเล่าเรื่องราวชีวิตของ Haider บุตรชายของครอบครัวใหญ่ในลาฮอร์ที่มีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว แต่ยังงอมืองอเท้าอยู่กับบ้านไม่ยอมทำมาหากิน แรงกดดันของครอบครัวปิตาธิปไตยที่ฝ่ายชายจะต้องเลี้ยงดูครอบครัวทำให้ Haider จำเป็นต้องออกหางานทำ สุดท้ายเขาก็ได้งานเป็นหางเครื่องชายในโรงระบำจ้ำบ๊ะให้กับ Biba ทรานส์สาวดาวเด่นแห่งโรงละคร แต่ Haider จะสามารถปริปากบอกครอบครัวของเขาได้หรือว่าเขาทำงานอะไร โดยเฉพาะเมื่อเขาเริ่มแอบเผลอมีใจให้กับ Biba ผู้มีพระคุณ! เนื้อหาที่ว่าด้วยโลกโลกีย์ในปากีสถานถือว่าแปลกใหม่และล้ำมาก ๆ สำหรับหนังจากประเทศนี้ โดยเฉพาะตัวตนของบุคคลที่เรียกตัวเองว่าทรานส์ และการเลื่อนไหลทางเพศที่สวนทางกับวัฒนธรรมความเชื่อเดิมของคนส่วนใหญ่ในชาตินี้ได้อย่างแสนท้าทาย
- MARIUPOLIS 2 กำกับโดย Mantas Kvedaravicius จาก ยูเครน
สารคดีที่น่าเศร้ามาก ๆ อีกเรื่องจากสาย Special Screening เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ คืองานสารคดีภาคต่อชื่อ Mariupolis 2 ของผู้กำกับลิทัวเนีย Mantas Kvedaravicius ผู้ล่วงลับขณะลงพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ตีแผ่สภาพบ้านเมืองมาริอูโพลที่พังยับเยินของชาวยูเครนในระหว่างสงครามเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา Mariupolis 2 เป็นสารคดีภาคต่อจาก Mariupolis ซึ่งเคยฉายเปิดตัวในสาย PANORAMA เทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินเมื่อปี 2016
[สามารถชมสารคดีเรื่องนี้ในรูปแบบออนไลน์ได้ทาง https://takflix.com/en/films/mariupolis โดยชำระค่าตั๋วเพื่อสมทบทุนสนับสนุนกลุ่มคนทำหนังชาวยูเครน]
แต่หลังจากที่รัสเซียเริ่มบุกทำลายเมืองใหญ่หลายแห่งในยูเครน จนเมืองมาริอูโพลโดนกระหน่ำโจมตีไปด้วย ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius จึงเดินทางไปยังเมืองนี้อีกครั้ง เพื่อถ่ายทำสารคดีภาคสองบันทึกภาพให้ผู้ชมได้เห็นกับตาว่าปัจจุบันเมืองมาริอูโพลที่เคยสงบสุขนั้น โดนอาวุธหนักของฝ่ายรัสเซียทำลายจนพังยับเยินขนาดไหน แต่ยังถ่ายไม่ทันจะเสร็จดี ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius ก็โดนกองทัพรัสเซียสังหารจนจบชีวิตไปเสียก่อน คู่หมั้นสาว Hanna Bilobrova และมือตัดต่อ Dounia Sichov จึงได้ช่วยกันรวบรวม footage ต่าง ๆ ที่ Mantas Kvedaravicius ถ่ายไว้ มาเรียบเรียงเป็นสารคดีตามแผนเดิมที่ผู้กำกับได้วาดฝัน จนได้เป็นสารคดีเรื่องนี้
ซึ่งตลอดความยาว 112 นาที ผู้ชมจะได้เห็นสภาพบ้านเมืองที่ ‘พังยับเยิน’ ไม่มีชิ้นดีของเมืองมาริอูโพล จนผู้คนที่รอดชีวิตไม่สามารถอยู่อาศัยได้ต่อไป พวกเขาต้องร่วมกลุ่มกันอพยพไปอยู่ในอาคารที่ยังพอจะมีสภาพดี หาเก็บข้าวของอุปกรณ์ที่ยังพอใช้งานได้จากแหล่งต่าง ๆ และหาเศษอาหารมาต้มซุปทานกันเพื่อประทังชีวิต ด้วยสภาพจิตใจที่เหมือนจะตายด้านไม่สะทกสะท้านอะไรอีกต่อไป หมดแรงแม้แต่จะตีโพยตีพายว่าทำไมพวกเขาต้องมาเผชิญกับชะตากรรมอันโหดร้ายในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ
- SAINT OMER กำกับโดย Alice Diop จากฝรั่งเศส
จากคานส์ลองหันมาดูหนังสายประกวดเทศกาลเวนิสกันบ้าง เริ่มที่หนังฝรั่งเศสเรื่อง Saint Omer ของผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ Alice Diop ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศสิงโตเงิน Grand Jury Prize ไปได้ โดยเป็นหนังที่ทดลองนำรูปฟอร์มของหนังขึ้นโรงขึ้นศาลหรือ courtroom drama มาผสานกับงานเขย่าขวัญเชิงจิตวิทยา และการศึกษาตำนานเรื่องเล่ากรีกโบราณ เล่าเรื่องราวขนานคู่กันระหว่าง Rama และ Laurence สาวผิวสีจากทวีปแอฟริกาที่มาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสและมีการศึกษาดีทั้งคู่
โดย Rama เป็นนักเขียนกำลังหาวัตถุดิบเพื่อนำไปเขียนนิยายเรื่องใหม่ที่ใช้บทละครกรีกเรื่อง Medea ของ Euripides มาเล่าใหม่ด้วยบริบทปัจจุบัน เธอจึงไปร่วมเข้าฟังการไต่สวนคดีสะเทือนขวัญ เมื่อ Laurence มารดาแม่ลูกอ่อนวัยขวบเศษ ๆ ที่ตัดสินใจปล่อยบุตรีของตัวเองไว้ริมตลิ่งแม่น้ำ เพื่อให้สายน้ำนำเด็กน้อยคืนสู่ธรรมชาติ
ทั้ง Rama และผู้พิพากษาหญิงต่างก็รับฟังพฤติกรรมและความคิดสุดประหลาดของ Laurence อย่างงุนงง โดยเฉพาะเมื่อหนังให้เวลากับ Laurence ในการให้การตอบคำถามต่าง ๆ ที่ฟังอย่างไรก็ไม่เคยจะตรงประเด็นเลยสักครั้ง แม้ว่าเธอจะตั้งใจเล่าทุกอย่างด้วยความจริงใจไม่ปิดบังอะไรเพื่อหลบหนีความผิด เลยกลายเป็นว่ายิ่งไต่สวนก็ยิ่งนำพาผู้ฟังรายอื่น ๆ ไกลพ้นจากความเข้าใจ ให้ความหมายใหม่แห่งการเป็นมารดาที่ไม่น่าจะมีใครถกถึงมาก่อน
- NO BEARS กำกับโดย Jafar Panahi จากอิหร่าน
ต่อด้วยหนังรางวัล Jury Prize หรือขวัญใจคณะกรรมการจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส เช่นเดียวกัน นั่นคือ No Bears โดยผู้กำกับอิหร่าน Jafar Panahi ที่ไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานหรือรับรางวัลที่อิตาลีได้ เนื่องจากผู้กำกับถูกทางการอิหร่านจับกุมตัวหลังต้องสงสัยว่าให้การสนับสนุนผู้กำกับรุ่นน้อง Mohammad Rasoulof ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้อย่างน่าเศร้า
No Bears เป็นงานที่นำเอาประสบการณ์ชีวิตใกล้ตัวของผู้กำกับ Jafar Panahi เองมาเล่าเป็นหนังเกี่ยวกับการทำหนังแบบ meta-cinema ว่าด้วยเรื่องราวของตัวเขาเองขณะพยายามกำกับหนังเรื่องใหม่ด้วยวิธีทางไกลแบบ work-from-home โดยให้ผู้ช่วยคอยกำกับนักแสดงและคิวต่าง ๆ ณ ต่างแดน เนื่องจากเขาเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ แต่ติดปัญหาเรื่องสัญญาณ และที่สำคัญคือเขาเข้าไปพัวพันกับชุมชนท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพลักลอบขนของเถื่อนข้ามแดน ซึ่งก็ยิ่งทำให้เขาเป็นคนที่แสนอันตรายทุกครั้งเวลาถือกล้องไปถ่ายผู้คน ณ จุดต่าง ๆ สร้างภาพความแปลกแยกไม่มีใครต้องการของผู้กำกับ Jafar Panahi ได้อย่างน่าสะเทือนใจ ถ่ายทอดด้วยเทคนิควิธีการเล่าด้วยน้ำเสียงแปลกใหม่ ไม่ซ้ำทางกับผลงานเก่า ๆ ที่เขาเคยทำมาเลย
- LOVE LIFE กำกับโดย Koji Fukada จากญี่ปุ่น
ส่งท้ายกันด้วยหนังจากสายประกวดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ หนังจากญี่ปุ่นเรื่อง Love Life ของผู้กำกับ Koji Fukada เล่าเรื่องราวของคุณแม่ Taeko กับบุตรชายวัยหกขวบยอดเซียนหมากกระดาน Keita ที่ได้แต่งงานใหม่กับพนักงานหนุ่ม Jiro หลังจากที่ Park สามีเก่าชาวเกาหลีใต้และเป็นใบ้ ทิ้งเธอและลูกไปโดยไร้เบาะแสร่องรอย เคราะห์ร้ายที่ฝ่ายพ่อแม่ของ Jiro ไม่ยอมรับภรรยาลูกติดคนใหม่รายนี้มากนัก กระทั่งเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทำให้ Park หวนกลับมาหา Taeko อีกครั้ง เรื่องราวหนหลังทั้งหมดของตัวละครจึงถูกขุดคุ้ยกันอีกคำรบ
หนังยังคงลายเซ็นการเขียนบทอันแหลมคมของผู้กำกับ Koji Fukada ที่มักจะเริ่มจากสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วค่อย ๆ ถอยไปเล่าเรื่องราวในอดีตของตัวละครแต่ละรายจนกลายเป็นความเซอร์ไพรส์ที่คาดเดาอะไรไม่ได้ในหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องนี้ที่สุดท้ายหนังก็พาเราไปถึงเกาหลีใต้ ไม่ต่างจากที่ผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda เคยแผ้วถางทางเอาไว้ใน Broker (2022) ซึ่งได้ลงโรงฉายในบ้านเราไป ทำให้ Love Life ซึ่งเล่าเรื่องยาวนานถึง 123 นาที มีอะไรชวนให้ต้องติดตามอย่างจดจ่ออยู่ตลอดเวลา ว่าเรื่องราวทั้งหมดจะคลี่คลายลงเช่นไร และหนังจะพาเราไปถึงไหนบ้าง
ส่วนหนังในสายประกวดรางวัล Lotus Award สำหรับผู้กำกับรุ่นใหม่ ๆ ก็ล้วนน่าดู น่าเชียร์กันทุก ๆ เรื่อง พร้อมด้วยหนังสารคดีไทยถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตในสายการแสดงของนักแสดงหญิงหลากรุ่นหกรายคือ สินจัย เปล่งพานิช / รัญญา ศิยานนท์ / น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ / ศิรพันธ์ วัฒนจินดา / จรินทร์พร จุนเกียรติ / อรัชพร โภคินภากร เรื่อง Roundess: The Actress ของผู้กำกับ ณฐ ทองศรีพงศ์ และหนังปิดเทศกาล Arnold Is a Model Student โดย สรยศ ประภาพันธ์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์ ‘นักเรียนเลว’ ในประเทศไทยนั่นเอง