พฤฒิ เกิดชูชื่น แห่ง "แดรี่ โฮม" "ปศุสัตว์ออร์แกนิค" ทำได้จริง
"ปศุสัตว์ออร์แกนิค" ทำได้จริงหรือ? "นมออร์แกนิค" ขายที่ไหน...พฤฒิ เกิดชูชื่น ตัวจริงเรื่องเลี้ยงวัวออร์แกนิคแห่ง "แดรี่ โฮม" ยืนยันความสำเร็จเลี้ยงวัวอารมณ์ดี เพื่อให้ได้น้ำนมคุณภาพดี
"แดรี่ โฮม (Dairy Home) มวกเหล็ก สระบุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2542 ด้วยแนวคิดทำธุรกิจที่เน้นความสุข รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แสวงหาผลกำไรสูงสุด"
พฤฒิ เกิดชูชื่น คนเลี้ยงวัวตัวจริงผู้ก่อตั้ง ปศุสัตว์ออร์แกนิค เล่า
“เราส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงโคนมออร์แกนิคมาเป็นเวลา 20 ปี พบว่าเกษตรกรเรามีภูมิต้านทานดีมาก สามารถพึ่งตัวเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ"
วัวเลี้ยงแบบออร์แกนิคที่แดรี่ โฮม
20 ปีผ่านไป ผู้ก่อตั้งยังยึดมั่นเจตนาเดิม และเน้นการทำ ฟาร์มออร์แกนิค เต็มรูปแบบ อีกทั้งสร้างเครือข่าย ปศุสัตว์ออร์แกนิค
“แดรี่ โฮม เป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เอาผลกำไรมาลงทุนขยายกิจการตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ไม่มีการเอาผลกำไรออกไปอีกแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลส่งเสริมโดยให้สิทธิประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล”
คุณพฤฒิ เกิดชูชื่น ผู้ก่อตั้งแดรี่ โฮม
ฟาร์มโคนมออร์แกนิค อาหารสัตว์ต้องออร์แกนิค
คนเลี้ยงวัวออร์แกนิค บอกว่า วัวกินอาหารดีถึงได้ผลผลิตน้ำนมดี จุดเริ่มต้นจึงอยู่ที่ "อาหารสัตว์"
"เมื่อก่อนในธุรกิจฟาร์มโคนมเรียกว่าไม่สามารถสลัดหลุดจากแวลูเชน หรือซัพพลายเชนอาหารสัตว์ของบ้านเราได้เลย เราค่อย ๆ เข้ามาพัฒนา สอนให้เกษตรกรเขาผลิตอาหารสัตว์ ผลิตวัตถุดิบบางตัวที่ใช้ทดแทนการซื้อจากภายนอก ส่งเสริมให้ผลิตและเกื้อกูลกันเองในกลุ่ม ทำให้กลุ่มมีความมั่นคงในตัวเองมากขึ้น
ฟาร์มแดรี่ โฮม
ปัจจุบันนี้แทบจะบอกได้ว่าในเครือข่ายของเราใช้วัตถุดิบจากภายนอกน้อยมาก พูดได้ว่าถ้ามีก็ใช้ ไม่มีก็ตัด หรือถ้าราคาขึ้นนักก็ตัดเลย เพราะถือเป็นส่วนย่อยเพราะเราพึ่งอาหารสัตว์ของตัวเองได้ 80-90%”
อาหารสัตว์สำคัญมาก แม้ไทยไม่ได้นำเข้าจากประเทศคู่สงคราม รัสเซีย-ยูเครน แต่ผลกระทบจากราคาปุ๋ย ราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น
“อีกเรื่องที่เป็นสาเหตุสำคัญเร่งกระบวนการทำฟาร์มโคนมออร์แกนิค เกิดในปี พ.ศ.2547 ปีนั้นรัฐบาลไทยเซ็นสัญญา FTA กับออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนทางการค้า ถ้ามองด้วยใจเป็นธรรมก็สมเหตุสมผล เวลาผ่านไปสินค้านมตอนแรก ๆ ยังมีภาษี มีโควต้า แล้วค่อย ๆ ลดลงไปทุก 5 ปี
วันนี้ผลที่เกิดคือวัตถุดิบนมผงจากต่างประเทศเข้ามาง่ายขึ้น ถ้าถึงปี 2568 คือไม่มีภาษีเลย ปี 64 ยังมีกำแพงภาษีที่แคบ ๆ อยู่สัก 15%
สิ่งที่เราพบคือโรงงานนมเริ่มมีความสุขกับการซื้อนมผงมาขาย ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้เรื่อย ๆ เจออยู่ก่อนแล้ว พอปี 2548 ที่เขาเซ็นสัญญา ปีนั้นเกษตรกรลดฮวบเลย เป็นปีที่ช็อคมาก คนเลี้ยงวัวค่อย ๆ ลดลง บางคนเปลี่ยนอาชีพเลย จาก 3 หมื่นฟาร์มในปีนั้น ค่อย ๆ ลดลงปีละห้าพัน-หมื่นฟาร์ม"
เพิ่งตรวจสอบเมื่อต้นปีพบว่า เหลือเกษตรกรโคนมราว 15,000 ฟาร์ม เท่ากับหายไปครึ่งหนึ่งเลย ทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านไป 20 ปี ควรจะมีจำนวนเกษตรกรเพิ่ม วัวเพิ่ม แต่สวนทางกัน ฟาร์มลด วัวคงที่ บางทีลดลงด้วยซ้ำ
ทำให้ผลผลิตนมบ้านเราไม่พอกิน ยังต้องอิมพอร์ทอยู่ดี ไม่สามารถ self sustain ได้ แต่เนื่องจากว่าเราได้เซ็นสัญญาแล้วจะ self sustain ไม่ได้แล้วล่ะ แต่จะทำยังไงให้เกษตรกรที่เหลืออยู่เขายังคงดำรงอาชีพนี้ได้อยู่”
คุณพฤติ ในฐานะคนเลี้ยงวัวจึงมองหาแนวทาง ค้นหาวิธีการที่เป็นไปได้เพื่อช่วยเหลือตัวเอง ช่วยอาชีพคนเลี้ยงวัว
ปศุสัตว์ออร์แกนิค ฟาร์มอยู่ได้ คนเลี้ยงวัวอยู่ได้
“ฟาร์มโคนมออร์แกนิค เป็นทางออกที่ดี ในขณะที่ตลาดนมยังคงเป็นตลาดเดิม แต่เราเปลี่ยนซัพพลายไซด์ให้กับผู้ผลิตน้ำนม ช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคง มีทางเลือกมากขึ้น
คนเลี้ยงวัวเจนรุ่นต่อไปจะไม่ทำแล้ว เพราะอาชีพโคนมมันเหนื่อย แล้วถ้ารายได้มันห่วยอย่างนี้ ลูกหลานไม่มีทางกลับมาทำแน่
ฟาร์มแดรี่ โฮม เลี้ยงวัวและเลี้ยงไก่แบบปล่อย
แดรี่ โฮม มีหน้าที่ยกรายได้ให้เกษตรกรฟาร์มโคนม และอยากให้อาชีพนี้ตอบโจทย์เกษตรกรรุ่นใหม่ด้วย สิ่งที่เราทำได้คือทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาอยู่ในฟาร์ม เครือข่ายของเราเป็นคนรุ่นใหม่เกือบทั้งหมด เป็นเจนสองเพราะเจนแรกเริ่มเกษียณแล้ว”
เจ้าของแดรี่ โฮม เผยว่า ฟาร์มอื่นคนเจนเก่าที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นออร์แกนิค มีแนวโน้มรอวันเลิกและไม่มีคนทำต่อ
“ถ้าไม่ดึงเจนใหม่เข้ามา อาชีพนี้จะหายไป หรือถ้ามีก็จะเป็นฟาร์มแบบคอมเมอร์เชียลของเครือข่ายหรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่จะเข้ามาทำแทน เพราะเมื่อรายย่อยตาย รายใหญ่จะมาแทน เขาก็จะกำหนดราคาได้ นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง”
ออร์แกนิคเพื่อดิน น้ำ และเพื่อโลก
ทุกวันนี้ คุณพฤฒิ ยังคงชักชวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าร่วมกลุ่ม เปลี่ยนฟาร์มให้เป็นออร์แกนิค
"เครือข่ายของแดรี่ โฮม คือเกษตรกรออร์แกนิคครบวงจร ไม่ใช่แค่เหตุผลเพื่อความอยู่รอด หากเป็นออร์แกนิคเพื่อโลกของเรา
เรารู้ว่าอาหารบางอย่างสูงขึ้นหลังจากเป็นออร์แกนิค เป็นเรื่องปกติพราะ ณ วันที่เราทำหรือผลิตอาหารทางการเกษตรทั่วไป เราทิ้งบางอย่างให้กับธรรมชาติ เราไม่เอามาคำนวณต้นทุนด้วย เช่น ใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งกระบวนการผลิตแต่ทิ้งภาระให้กับสิ่งแวดล้อม
ผมมองว่าเป็นความจำเป็นมากกว่า เราต้องทำแล้วนะ เราอยู่ในจุดที่ทำได้ ผมมาจากไทย-เดนมาร์ก มีความรู้ด้านโคนมมากพอ ในขณะเดียวกันก็ศึกษาเรื่องออร์แกนิค เมืองไทยเรามีผักและข้าว แต่ปศุสัตว์ออร์แกนิคไม่ต้องพูดถึงเลย ในขณะที่ต่างประเทศเขามีแล้ว
เคยฟังผู้บริหารห้างใหญ่ในลอนดอน อเมริกา บอกว่า วันนี้สินค้าออร์แกนิคในห้างเขายังน้อย แต่เชื่อว่าอีก 10 ปี สินค้าเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มันเป็นเมกะเทรนด์ เขาพูดมา 20 ปีแล้วแต่เราเพิ่งมาพูด คนในยุโรปเขาตระหนักว่ากระบวนการทำเกษตรที่ใช้เคมีมันไม่ยั่งยืน มันทำลายความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน ทำลายสิ่งแวดล้อม
นมออร์แกนิค
บ้านเราเห็นชัดเลย โดยเฉพาะพื้นที่ลาดชัน เช่นที่ จ.น่าน การปลูกข้าวโพดทำลายทรัพยากรมากกว่าที่เราได้ ถ้าทิ้งไว้เป็นป่าเราจะได้ผลประโยชน์มากกว่าปลูกข้าวโพดปีละ 800 กก.ต่อไร่ แต่เมื่อคำนวณว่าการประปาที่น่านต้องเสียค่าบำบัดน้ำมาให้คนน่านใช้ เป็นเงินมหาศาล จากน้ำปนเปื้อนเคมี ค่าบำบัดอาจจะมากกว่าค่าข้าวโพดที่ได้
กรีกโยเกิร์ตจากน้ำนมออร์แกนิค
มีงานวิจัยระบุว่า ถ้าเอาเงินส่วนหนึ่งไปจ่ายให้เกษตรกร เพื่อเปลี่ยนวิธีทำเกษตรที่ได้ผลผลิตน้อยลง คือเป็นเกษตรอินทรีย์ และปล่อยให้เป็นพื้นที่ป่า ป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน มีที่ดิน 1 ร้อยไร่ อาจทำเกษตร 60 ไร่ ที่เหลือเป็นป่าทำแนวกันลม กันเลน แล้วเอาเงินไปชดเชยให้เกษตรกรเพื่อทำพื้นที่ป่า เราก็ไม่ต้องเสียค่าบำบัดน้ำ คือสิ่งที่เรียกว่า ค่าบริการของระบบนิเวศ เราได้รับบริการจากระบบนิเวศในอัตราที่เราไม่เคยคำนวณ”
เช่นเดียวกับ “ระบบนิเวศในฟาร์ม” เมื่อบวกลบ “ค่าบริการระบบนิเวศ” แล้ว ออร์แกนิคคือทางเลือกเดียว
“แล้วถ้าทุกฟาร์มทำต่อ ๆ กัน ผลผลิตรวมอาจน้อยลง แต่สิ่งที่ได้คือระบบนิเวศที่ดีขึ้น เปรียบเทียบกับการทำเกษตรแบบเคมี ต้นทุนโดยรวมต่ำกว่า ต้นทุนที่เกษตรกรจ่ายต่ำกว่า แต่ต้นทุนสังคมจ่ายแพง ยังไม่รวมพิษภัยจากอาหารที่ปนเปื้อนยา
แต่พอเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ ราคาสินค้าอาหารเกษตรต้องเพิ่มขึ้นแน่เพราะทำประณีตขึ้น และใช้พื้นที่แบบระมัดระวังมากขึ้น ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ที่ใช้คือเกษตรกรใช้แรง ความใส่ใจ ระมัดระวังในการจัดการ สิ่งเหล่านี้เกษตรกรไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงินแต่เขาจ่ายเป็นค่าแรงของเขา"
นม Grass Fed จากวัวที่กินหญ้า
โดยภาพรวมวันนี้เกษตรกรที่เลี้ยงโคนมแบบออร์แกนิค เขามีรายได้ที่เรียกว่า “พ้นขีดความยากจน” ไปแล้ว ไม่มีใครบอกว่าเกษตรกรในเครือข่ายเรายากจนอีก
ไอศกรีมโฮมเมดจากนมออร์แกนิค
เบนช์มาร์ก (Benchmark เกณฑ์เปรียบเทียบความสามารถ) คือ 4 แสนบาทต่อครอบครัว เมื่อก่อน 1 หมื่นยูเอสดอลลาร์ ตอนนี้หมื่นสอง ประมาณปีละ 4 แสนบาท หาร 12 ราว 36,000-37,000 บาท ถือว่าอยู่ได้ ไม่ใช่ขายนมเดือนละสามหมื่นหกนะครับ เป็นกำไรที่เหลือ เม็ดเงินที่ใช้ได้จริง ๆ
นม Bed Time ดื่มแล้วหลับสบาย
เรามองว่าเกษตรกรเป็นเจ้าของปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือที่ดิน ถ้ามีที่ดินสัก 10-20 ไร่ แล้วต้องกระเบียดกระเสียนผมว่าไม่ถูก เกษตรกรเราควรมีรายได้ทัดเทียม เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เทียบรายได้กับคนในเมืองที่เป็นข้าราชการ เราทำงานในฟาร์มรายได้เท่านี้ ไม่ต้องแต่งตัว ไม่ต้องมีชุดหรูหรา ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า มีเงินเหลือ
เกษตรกรรุ่นใหม่เขาภูมิใจที่จะโทรชวนเพื่อนมาเที่ยวฟาร์ม...”
ร้านอาหารแดรี่ โฮม 2 สาขา
งานของ “แดรี่ โฮม”
-ทำฟาร์มโคนมออร์แกนิค เลี้ยงวัวแบบปล่อย อาหารวัวปราศจากสารเคมี
-ร้านอาหารแดรี่ โฮม (2 สาขา) เขาใหญ่ จำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม
-ทำงานวิจัย ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ผลิตนมรูปแบบต่าง ๆ เช่น นมพาสเจอร์ไรส์ กราสเฟด (บำรุงสมอง), นมเม็ดผสมโปรไบโอติกส์ ป้องกันฟันผุ ฯลฯ
บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพนำกลับมาใช้ใหม่ได้
-ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ทำจากพลาสติกชีวภาพจากพืชที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
-ระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้แบคทีเรียแลกติคในการบำบัดน้ำเสีย
อาหารแดรี่ โฮม
-ของเสียเป็นศูนย์ โดยแยกขยะออกเป็นประเภทต่าง ๆ และสร้างโรงเรือนเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (Black soldier fly) เพื่อจัดการเศษอาหารจากร้านอาหารให้เป็น zero waste ประโยชน์ของหนอนแมลงวันลายจะช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ได้รวดเร็ว ในตัวแมลงยังมีสารอาหารนำไปเลี้ยงไก่ จะได้ไข่ไก่อินทรีย์
โรงเรือนเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย
-ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ใช้พลังงานสะอาดและหมุนเวียนพลังงานภายในโรงงาน โดยฉลากคาร์บอนรับประกันคุณภาพ
หมายเหตุ: ภาพบางส่วนจาก www.dairyhome.co.th