พิพิธภัณฑ์"เผด็จการคอมมิวนิสต์" ในฮังการี เรียนรู้จากประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมเมนโต้ (Memento) ในฮังการี แสดงรูปปั้นบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการ ที่นี่มีประวัติศาสตร์และประติมากรรมที่ย้อนแย้งกับสังคมยุคประชาธิปไตย
เมื่อพูดถึงกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี อดีตประเทศสังคมนิยมในอาณัติของรัสเซีย นักเดินทางมักนึกถึงแต่แม่น้ำดานูบและปราสาทสวยงาม ราวกับหลงเข้าไปอยู่ในเทพนิยายแบบเจ้าชาย เจ้าหญิง
จุดท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะเป็นอนุสรณ์สถานและย่านเมืองเก่า ซึ่งถูกเลือกให้เป็นมรดกโลก จัตุรัสวีรบุรุษ ซี่งเป็นที่รวมของรูปปั้นวีรบุรุษของประเทศก็เป็น 1 ในไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวมักจะมุ่งหน้าไปเยือน
แต่น้อยคนจะรู้จักพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมเมนโต้ (Memento) ซึ่งแสดงรูปปั้นของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “เผด็จการ” ตรงข้ามกับที่จัตุรัสวีรบุรุษโดยสิ้นเชิง การที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยเดินทางไปที่เมเมนโต้ อาจจะเป็นเพราะอยู่ไกลจากใจกลางเมืองออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร ทั้งๆ ที่ที่นี่มีประวัติศาสตร์และประติมากรรม รูปปั้นต่างๆ ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว
- รูปปั้นผู้นำคอมมิวนิสต์
รูปปั้นบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการที่แสดงไว้พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมเมนโต้มาจากสมัยที่ฮังการียังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์และเป็นรัฐบริวารของรัสเซียระหว่างปี 1949-1989 เช่น รูปปั้นของผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวรัสเซีย เช่น วลาดีมีร์ เลนินและคาร์ล มาร์กซ์ รวมทั้ง ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ สหายสนิทชาวเยอรมันของมาร์กซ์ และผู้นำคอมมิวนิสต์ของฮังการีเอง ในเดือนมิถุนายน 1993 มีพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ
อาโกส อี-ลวด สถาปนิกชาวฮังการีที่ออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในปี 1991 กล่าวว่า ที่นี่เป็นที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเผด็จการและในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของประชาธิปไตยด้วย ท้ายที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยนี่แหละที่ทำให้เราสามารถคิดเรื่องเผด็จการได้อย่างเสรี
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ สวนรูปปั้นซึ่งมีชื่อว่า “คำพิพากษาต่อทรราชย์” ซึ่งมีรูปปั้นและอนุสาวรีย์จำนวน 42 ชิ้นจัดแสดงไว้ ทั้งหมดนี้ถูกสร้างและตั้งไว้ในกรุงบูดาเปสต์ในสมัยที่ยังอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนหนึ่งถูกทำลายหรือรื้อถอนในระหว่างมีการปฏิวัติในฮังการี และต่อมาเมื่อระบอบรัสเซียในฮังการีล่มสลายในปี 1989
รูปปั้น "รองเท้าบู๊ตของสตาลิน" ในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมเมนโต้
รูปปั้นแห่งมิตรภาพระหว่างฮังการีกับโซเวียต
ส่วนที่ 2 มีชื่อว่า ลานแห่งพยาน ที่นี่มีแบบจำลอง “รองเท้าบู๊ตของสตาลิน” แสดงอยู่ด้วยเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการปฏิวัติฮังการีในปี 1956 ซึ่งเริ่มมาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของฮังการีที่กำหนดโดยรัสเซีย
อนุสาวรีย์สตาลิน ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงบูดาเปสต์ถูกดึงลงมาและทำลายเหลือแต่ส่วนของรองเท้าบู๊ต อีลวดจึงนำมาสร้างไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของทหารรัสเซียอีกด้วย
- รูปปั้นผู้นำคอมมิวนิสต์ในฮังการี(ยุคประชาธิปไตย)
เมื่อฮังการีกลับมาปกครองด้วยรัฐบาลประชาธิปไตย มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางว่า จะทำอย่างไรกับอนุสารีย์และรูปปั้นของเหล่าผู้นำคอมมิวนิสต์ที่ถูกสร้างขึ้นและนำมาไว้ในประเทศระหว่าง 60 ปีที่อยู่ภายใต้ระบอบรัสเซีย
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมเมนโต้
รูปปั้นคาร์ล มาร์กซ์ ผู้นำลัทธิมาร์กซิสรวมทั้ง ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ สหายสนิทชาวเยอรมัน
บางฝ่ายก็ว่า ให้ทำลายเสียในขณะที่อีกฝ่ายก็ว่า ให้เก็บรักษาไว้ เพื่อเป็นการเตือนให้เห็นถึงอันตรายของเผด็จการ รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจย้ายรูปปั้นเหล่านั้นมาไว้ในบริเวณสนามกีฬาเก่า และให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา
จูดิธ โฮลพ์ ไกด์ บอกกับสำนักข่าวบีบีซี ขณะกำลังยืนอยู่ในลานแห่งพยานกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ว่า ลานแห่งนี้เป็นตัวแทนของทุกๆ คนที่เคยอยู่ภายใต้เผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นซ้ายหรือขวาทางการเมือง
เธอกล่าวถึงการจำลองรองเท้าบู๊ตของสตาลินมาตั้งไว้ที่นี่ เพื่อเป็นการเตือน รูปปั้นสตาลินของจริงถูกรื้อถอนระหว่างการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในปี 1956 การต่อต้านครั้งนั้นจบลงอย่างรวดเร็วและนองเลือด เมื่อโซเวียตส่งรถถังเข้ามาในฮังการี เพื่อสกัดการต่อต้านครั้งนั้นทำให้เกิดการล้มตาย การนำประชาชนไปกักขังและเกิดการหนีออกนอกประเทศ
โฮลท์พาไปดูรูปปั้นแห่งมิตรภาพระหว่างฮังการีกับโซเวียต ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1956 ก่อนที่จะมีการประท้วงต่อต้านคอมมิวนิสต์ไม่นาน รูปปั้นแห่งมิตรภาพนี้เป็นรูปปั้นของคนงานชาวฮังการีจับมือกับทหารรัสเซีย
อาโกส อี-ลวด สถาปนิก
รูปปั้นเลนินที่ถูกรื้อถอนก็ถูกนำมาจัดแสดงไว้
ถ้าดูเผินๆ อาจจะเหมือนว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นมิตรกัน แต่เมื่อดูให้ใกล้ชิดก็จะเห็นว่า คนงานฮังการียื่นมือทั้งสองออกไปจับมือกับทหารรัสเซีย ในขณะที่ทหารรัสเซียยื่นมือออกไปเพียงมือเดียว อีกมือหนึ่งของเขากำมือแน่นพร้อมต่อสู้
โฮลท์เล่าว่า ตอนแรกก็ไม่มีใครสังเกตรูปปั้นนี้เท่าไหร่ แต่ในตอนนี้เรามีเวลาที่จะเข้าใจรูปปั้นนี้ และสิ่งที่ศิลปินตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ที่แท้จริง ระหว่างฮังการีและรัสเซียในตอนนั้นเป็นอย่างไร
เธอเสริมว่า ประเทศต่างๆ น่าจะมีพิพิธภัณฑ์อย่างเมเมนโต้ เพื่อจัดการรูปปั้นและอนุสาวรีย์ผู้นำที่ไม่ต้องการ เช่น อย่างอังกฤษ อาจนำรูปปั้นเหล่านั้นไปไว้ในสวนสาธารณะสักแห่งในลอนดอนแล้วเปลี่ยนชื่อสวนเป็น “สวนของรูปปั้นที่ไม่เป็นที่ต้องการ” ทำอย่างไรก็ได้ อย่าทิ้งมันไปอย่างไร้ประโยชน์
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมเมนโต้
ส่วนแอ็กเนส โมลนาร์ ไกด์อีกคน ซึ่งนำทัวร์เกี่ยวกับชีวิตชาวฮังการีหลังม่านเหล็ก กล่าวว่า มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมฮังการีต้องมีพิพิธภัณฑ์อย่างนี้ ชาวฮังการีจำนวนมากอยากจะลืมอดีตอันแสนขื่นขมนี้
"โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่โซเวียตตอบโต้ความพยายามของฮังการีที่จะปฏิวัติเมื่อปี 1956 ตอนนี้ เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้ลืมได้ง่ายขึ้น ตอนนี้เพื่อนๆ ของฉันก็รู้สึกเฉยๆ กับอดีตในตอนนั้นแล้ว คนฮังการีไม่ไปเมเมนโต้กันแล้ว ตอนนี้ก็มีแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่ไปที่นั่น”
โมลนาร์ให้ความเห็นว่า สำหรับเธอ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าจะทำให้นักการเมืองที่ต้องการสร้างอนุสารีย์รูปตัวเองต้องคิดใหม่ พวกเราก็ควรจะกลัว ถ้ามีใครอยากสร้างรูปปั้นขนาดใหญ่เหมือนของสตาลิน เมเมนโต้เป็นคำเตือนจากประวัติศาสตร์
ในปี 2020 มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำที่เมืองบริสตอลของอังกฤษ กลุ่มผู้ประท้วงใช้เชือกดึงรูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน พ่อค้าทาสแห่งศตวรรษที่ 17 ลงและนำเอาไปโยนทิ้งน้ำ
ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้เอารูปปั้นนี้ลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรมาหลายครั้งแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางว่า จะทำอย่างไรกับรูปปั้นหรืออนุสาวรีย์ของบุคคลต่างๆ ในประวัติศาสตร์
..........
รูปและเรื่อง : เว็บไซท์บีบีซี ฮังการีทูเดย์ พิพิธภัณฑ์เมเมนโต้ วิกีพีเดีย
อนุสาวรีย์ผู้นำคอมมิวนิสต์ของฮังการี
ผู้ประท้วงชาวอังกฤษดึงรูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน พ่อค้าทาสแห่งศตวรรษที่ 17 ลงมาและทำลายในปี 2020
...