สานพลังคนเมือง ร่วมยกระดับกรุงเทพฯ สู่เมืองที่ "เอื้อ" สำหรับทุกคน
การจะก้าวเป็น "กรุงเทพมหานคร เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน" การออกแบบเมืองให้ "เอื้อ" สำหรับคนทุกกลุ่ม นับเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองยั่งยืนและเท่าเทียม โดยเฉพาะเมืองที่เป็นมิตรสำหรับผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง
ปัจจุบัน "กรุงเทพมหานคร" ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งของโลกที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง เสน่ห์ของกรุงเทพฯ คือความเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางผู้คน วัฒนธรรม ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ของ "เมืองน่าอยู่และน่าทำงาน" จากนานาประเทศต่อเนื่องหลายปี
แต่ความจริงแล้ว ภาพลักษณ์ดังกล่าว คือมุมมองจากสายตาคนภายนอกที่เห็น เพราะหากย้อนกลับมาที่มุมมองของ "คนกรุงเทพฯ" เอง ต้องยอมรับว่ายังมี "ข้อบกพร่อง" อีกหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะการเป็นเมืองน่าอยู่ในกลุ่ม "ผู้พิการ" และ "กลุ่มเปราะบาง" ที่ต่างเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พวกเขายังคง "ขาดแคลน" สิ่งอำนวยความสะดวกอีกหลายด้าน รวมถึงบางคนยังเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการที่เท่าเทียม
สร้าง #กรุงเทพฯเพื่อทุกคน
ในงานเทศกาล BANGKOK For ALL ที่จัดโดย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และภาคีเครือข่าย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สะท้อนถึงจุดยืนในการออกแบบเมือง โดยไม่ทอดทิ้งทุกคน รวมถึงผู้พิการในสังคมว่า ผู้พิการ อาจมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย แต่ศักยภาพไม่แตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งพวกเขาต้องการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับคนอื่น
ชัชชาติ ให้ความเชื่อมั่นว่า จะทำให้ทุกคนที่อยู่ในเมืองนี้เกิดความสุข พร้อมย้ำถึงการทำให้พี่น้องผู้พิการ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกรุงเทพฯ จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งเรื่องการเดินทาง ใช้ชีวิต การจ้างงาน และส่งเสริมการศึกษา
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ด้วยเป้าหมายที่ต้องการหนุนเสริมสร้างสังคมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีทุกคน สสส. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมส่งเสริมและสนับสนุน ผู้พิการ ในกทม. ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วยการทำงานเชิงรุก และผลักดันนโยบาย ในทำงาน 5 ด้าน ได้แก่
- ด้านเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการจ้างงานผู้พิการในสำนักงานเขต กทม. ให้มีงานทำตามความถนัด
- ด้านสุขภาพดี พัฒนาระบบบริการสุขภาวะให้ผู้พิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ เข้าถึงบริการสาธารณสุข
- ด้านการเรียนรู้ ส่งเสริมการศึกษาเด็กพิการอย่างเท่าเทียม ผ่านงานผู้พิการเรียนไหนดี ที่แนะนำเรื่องการศึกษาต่อและค้นหาทักษะของตัวเอง
- ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ส่งเสริมให้ออกแบบเมืองเพื่อทุกคน
- ด้านปรับเจตคติหรือทัศนคติ ให้เปลี่ยนความเชื่อว่า ผู้พิการไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมเทียบเท่ากับทุกคนได้
ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล Chief Development and Commercial Officer บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนร่วมงานนี้ เพราะนอกจากได้เรียนรู้คุณภาพชีวิตผู้พิการ ยังทำให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ โดย เซ็นทรัลพัฒนา เรามุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาคนเพื่อคุณภาพชีวิต พัฒนาเมือง พัฒนาประเทศ โดยเน้นการใช้อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ในการออกแบบ ยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คน ทั้งด้านการออกแบบเพื่อตอบสนองคนทุกกลุ่ม การส่งเสริมเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณประโยชน์เพื่อชุมชน ส่วนในด้านผู้พิการ บริษัทฯ ส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพผู้พิการทุกธุรกิจภายในกลุ่มเซ็นทรัลฯ โดยมีการจ้างงานเกือบ 800 คน พร้อมการสนับสนุนพื้นที่และการส่งเสริมให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ อาทิ การให้พื้นที่ผู้พิการมาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
เปิดตัว "Bangkok For ALL" ส่งมอบไลน์เมืองใจดี
สำหรับตลอดระยะเวลาในงานเทศกาล BANGKOK For ALL ตลอด 5 วัน ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ กิจกรรมนวัตกรรมเพื่อผู้พิการ เช่น กิจกรรม "เล่นเส้น" สื่อเรียนรู้เพื่อผู้พิการทางการมองเห็น บูธนวัตกรรมผู้พิการ ในการใช้ชีวิตประจำวัน การเปิดตัว BMA Line OA เพื่อการใช้ชีวิตใน กทม. และขับเคลื่อนพัฒนากรุงเทพฯ สู่การเป็นเมืองน่าอยู่อย่างเป็นรูปธรรมตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านออนไลน์มีบทบาทกับชีวิตคนปกติและคนพิการอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ
ในงานเดียวกัน ยังมีการเปิดตัว LINE OA "Bangkok For ALL" และการส่งมอบ Line Chatbot เมืองใจดี พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก สร้าง #กรุงเทพฯเพื่อทุกคน ให้กรุงเทพฯ นำไปพัฒนาสานต่อเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ
ดร.สุปรีดา อธิบายถึงที่มาของ LINE Chatbot นี้ว่า เกิดจากการทำงานที่พบปัญหาระดับประเทศคือ เมืองไทยยังขาดเครื่องมือและฐานข้อมูล ช่วยพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ เช่น โครงสร้างรถสาธารณะ การออกแบบทางเท้า รวมถึงการพัฒนาระบบและสัญญาณจราจร ที่ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม Line Chatbot เมืองใจดี ที่ สสส. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำ เพื่อเป็นแหล่งจัดเก็บข้อมูล ค้นหาสิ่งอำนวยความสะดวก และนำมาวิเคราะห์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ดร.สุปรีดา เชื่อว่า Line Chatbot เมืองใจดีจะช่วยออกแบบ และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้ เพราะในแอปพลิเคชันจะจัดเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้พิการและไม่พิการ ปัจจุบันมีฐานข้อมูล 4,997 จุด แบ่งเป็น 7 ประเภท 1. ทางลาด 1,433 จุด 2. ห้องน้ำ 1,006 จุด 3. ที่จอดรถ 875 จุด 4. ป้ายและสัญลักษณ์ 407 จุด 5. ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร 226 จุด 6. ลิฟต์ 939 จุด 7. ทางเดิน 111 จุด โดยเตรียมขยายการเชื่อมต่อไปที่ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ (BTS) รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) และระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังภาคีเครือข่ายให้เกิดการจัดการเมืองที่ยั่งยืน
ดร.สุปรีดา หวังว่า เมื่อส่งมอบให้ทาง กทม. หน่วยงานต่างๆ อาทิ ตามเขตต่างๆ จะช่วยเพิ่มข้อมูลด้านจุดบริการที่มีในพื้นที่ของทุกคน ซึ่งจะช่วยให้ความสมบูรณ์ของแอปพลิเคชันเมืองใจดีก็จะมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยแผนในระยะยาวต่อไปคือ การนำแอปฯ นี้ไปพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลอื่นๆ เช่น ระบบขนส่งสารธารณะ อาทิ MRT BTS และระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ที่จะทำให้ผู้สูงอายุและผู้พิการลดการพึ่งพา
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. พัฒนาระบบ LINE Official BMA for Bangkok Handicap person ขึ้นมา ซึ่งเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากเว็บไซต์ Bangkok Oss (ระบบบริการ กทม.) และ NiNa (การหางานมูลนิธิมหาไถ่ บริการ Grab บริการค้าขายออนไลน์ลาซาด้า และประกันอุบัติเหตุจาก คปภ.) เพื่อเป็นสวัสดิการและเป็นช่องทางให้ผู้พิการติดตามข่าวสาร สิทธิประโยชน์ของตัวเอง พร้อมรับส่วนลดสินค้าและบริการต่างๆ ปัจจุบันมี ผู้พิการ ที่ลงทะเบียนกับ กทม. ประมาณ 100,000 คน แต่ยังมีผู้พิการที่แฝงอยู่และยังไม่ได้ลงทะเบียนกับอีกหลายแสนคน ซึ่งการจะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งต่อ เข้าถึง และทำให้ผู้พิการได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกันทุกคนได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญต่างๆ สำหรับผู้พิการ หากสนใจแอปฯ นี้ เพียงกรอกเลขประจำตัว 13 หลัก และกรอกเลขที่บัญชีธนาคารก็สามารถรับทราบข้อมูลข่าวสาร สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆ ในอนาคตได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ซ้ำอีกหลายครั้ง