เตือนสายตี้ "หมูกระทะ ซีฟู้ด ส้มตำ" สังสรรค์บ่อย เสี่ยงสารพัดโรค
แม้จะผ่านเทศกาลปีใหม่มาแล้ว เชื่อแน่ว่ายังคงมีควันหลงกับบรรยากาศการสังสรรค์อยู่ไม่น้อย ซึ่งเมนูโดนใจที่สุดแห่งปีติดโผขึ้นโต๊ะกันแทบทุกบ้าน ก็คือ หมูกระทะ ซีฟู้ด ส้มตำ เมนูเหล่านี้หากบริโภค "เกินพอดี" ย่อมมีโอกาสเสี่ยงสารพัดโรค
ข้อมูลเมนูอาหารเลี้ยงฉลองปีใหม่ ปี 2564 โดย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบอาหารยอดนิยม 3 ลำดับแรก 1) หมูกระทะ 50.82% 2) อาหารทะเล น้ำจิ้มซีฟู้ด 48.18% 3) ส้มตำ ไก่ย่าง ปลาเผา 40.83% แน่นอนว่า ความสุขจากการกินนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่มีใครห้ามปรามใครได้ แต่อยากกระซิบไว้ว่า ในความอร่อยเพลิดเพลินที่ว่านั้น ต้องเตือนตัวเองให้ยั้งใจไว้บ้าง เพราะอาจแอบแฝงภัยต่อสุขภาพไว้ด้วยเช่นกัน โดยหากเราบริโภค "เกินพอดี" ย่อมมีโอกาสที่หลายโรคถามหา
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. อธิบายว่า ในการบริโภคควรเน้นเรื่องความสะอาด ปลอดภัยและปรุงสุกเป็นดีที่สุด เพื่อป้องกันโรคทางเดินอาหารหรือการติดเชื้อจากอาหาร หากพี่น้องชาวไทย ยังติดใจใคร่บริโภคเมนูยอดฮิตอย่างหมูกระทะ แนะนำว่าควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัย 3 ข้อ ได้แก่ 1) เลือกเนื้อหมูสด ไม่มีสีแดงคล้ำ 2) เลือกเนื้อหมูที่มีสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK จากตลาด ศูนย์การค้าที่มีมาตรฐาน 3) ยึดหลักอาหารปลอดภัย รักษาความสะอาด ปรุงสุก แยกเก็บอาหารสดกับอาหารสุก เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม ใช้น้ำสะอาดปรุงอาหาร
"ที่สำคัญ เมนูทั้งหมดด้านบนส่วนใหญ่มีรสเค็มจัด หากกินเป็นระยะเวลานานจะเป็นพฤติกรรมติดเค็มตั้งแต่อายุยังน้อย เสี่ยงต่อแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน หัวใจ เป็นต้น ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตกว่า 400,000 คนต่อปี" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า อันที่จริงแล้วช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 เป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ ลดเสี่ยงอันตรายจากอาหาร ลดเสี่ยง NCDs สร้างภูมิต้านทาน โดยเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ก็จะมีสุขภาพแข็งแรงไปตลอดปีนี้และปีต่อไปข้างหน้า
พร้อมกันนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ ยังแนะแนวทางการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะสมว่า ควรเลือกรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารที่ครบ 5 หมู่
"ใช้สูตรรหัสสุขภาพ 2:1:1 ผัก 2 ส่วน ข้าวไม่ขัดสี 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน และรหัส 6:6:1 คือ น้ำมัน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำตาล 6 ช้อนชาต่อวัน เกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน ทั้งนี้ สสส. สานพลัง เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รวบรวมองค์ความรู้ที่เข้าใจง่าย เสริมความเข้าใจผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงสามารถทดสอบพฤติกรรมติดเค็ม 5 ระดับ นวัตกรรมวัดความชาลิ้นออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ LESS SALT ลดเค็ม ลดโรค" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว