จากเจ้าพระยาถึงขั้วโลกเหนือ”สุชนา”นักวิทย์ ยืนยัน”ขยะ"ไปไกลกว่าที่คิด
ลองจินตนาการ เมื่อทิ้งขยะลงคลองหน้าบ้าน แล้วไหลออกสู่ทะเล อาจไปโผล่อีกทวีป และเมื่อกุ้งหอย ปู ปลา กินขยะพลาสติกเล็กจิ๋วเข้าไป ย้อนกลับมาที่ผู้บริโภค เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางไปสำรวจขั้วโลกเหนือมีข้อมูลยืนยัน
ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อ! ขวดน้ำที่ทิ้งๆ ขว้างๆ ลงทะเล เมื่อถูกซัดไปมาสามารถไหลไปไกลถึงขั้วโลกเหนือ เรื่องนี้มีหลักฐานยืนยันจากทีมนักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางไปไกลถึงนอร์เวย์ พบว่า ขยะเหล่านั้นมีผลต่อสัตว์น้ำที่อยู่ในพื้นที่หนาวเย็นอย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมทีมงาน 12 ชีวิต เดินทางไปประเทศนอร์เวย์ เพื่อทำวิจัยท่ามกลางธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ภายใต้โครงการวิจัยโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
พวกเขาเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำจำนวนกุ้ง หอย ปู และปลา ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน เพื่อศึกษาว่ามีพยาธิมากน้อยเพียงใด เมื่อเร็วๆ นี้ผลวิจัยเพิ่งแล้วเสร็จ (เพราะติดปัญหาการระบาดโควิด) พบว่า มีไมโครพลาสติกสะสมในท้องสัตว์เหล่านั้นด้วย
ขยะพลาสติกที่ย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กจิิ๋วไปอยู่ในท้องสัตว์ทะเลขั้วโลกเหนือได้อย่างไร ทั้งๆ ที่พื้นที่อยู่ไกลจากนักท่องเที่ยว และมนุษย์ที่จะโผล่ไปที่นั่นน้อยมาก
ศ.ดร.สุชนา เล่าถึงสิ่งที่พบเห็นตอนนั้นว่า ถ้าขยะพวกนั้นหลุดออกไปถึงมหาสมุทร โอกาสขึ้นไปถึงขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ ก็มีเยอะ กระแสน้ำสามารถพัดพาไปไกล โชคดีไม่เจอฉลากประเทศไทยจากขยะขวดน้ำ เนื่องจากฉลากหายหมดแล้ว เพราะน้ำพัดพามาไกล
"ขยะขวดน้ำมาได้ยังไง ทั้งๆ ที่เป็นเกาะเหนือสุดของโลก ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไป นักวิทยาศาสตร์แบบเราก็ไปน้อยมาก อย่างสาหร่าย แมงกะพรุน ไม่น่าจะเจอที่ขั้วโลกเหนือ แต่เจอเยอะ เพราะน้ำแข็งละลาย สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง นั่นเพราะผลกระทบจากโลกร้อน เห็นชัดที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ถูกกระทบมานานแล้ว"
การติดตามbottle tracking จากสัญญาณดาวเทียม เพื่อดูว่าขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ลอยไปไกลแค่ไหน
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ตอนเดินทางไปนอร์เวย์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ขวดพลาสติกที่ทิ้งแบบไม่คิด ลงในแม่น้ำหรือทะเล ย่อมมีผลต่อชีวิตพืช สัตว์ และมนุษย์ รวมถึงสิ่งแวดล้อม อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อปีที่แล้วทีมอาจารย์สุชนา จึงจัดทำโครงการติดตั้งกล้องบันทึกภาพ เพื่อติดตามปริมาณขยะลอยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
และโครงการปล่อย bottle tracking ขวดน้ำที่บรรจุสัญญาณดาวเทียมติดตามการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำและขยะ เพื่อศึกษาว่า ขยะเมื่อถูกทิ้งลงทะเล จะไหลไปที่ไหนได้บ้าง
"bottle tracking มีหลายตัว ตัวที่ปล่อยจากจ.ชลบุรี เราตามสัญญาณจากดาวเทียม มันไหลไปไกลมาก ออกจากภูเก็ตไปเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย อีกสองตัวเราปล่อยตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ มันไหลไปถึงจ.ชุมพร และจ.สุราษฎร์ธานี
เราทำส่วนนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานบริหารจัดการในเรื่องขยะ ส่วนโครงการติดกล้องบริเวณสะพานแถวแม่น้ำเจ้าพระยา จะตอบโจทย์ได้ว่า ถ้าบริหารจัดการขยะได้ดี ขยะจะน้อยลง เราทำงานกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง"
เมื่อถามไปว่า ทำไมการติดตามขยะในทะเล ต้องทำงานกับประเทศเพื่อนบ้าน...ได้รับคำตอบว่า
"เพื่อดูว่า มีขยะไหลเวียนไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร ถ้าปล่อยจากจ.สมุทรปราการแล้วไปลงชุมพร ถ้าเจอตรงนั้นเยอะ ขยะน่าจะมาจากด้านบนอ่าวไทย แล้วจะทำยังไงไม่ให้ขยะมาทางด้านนี้
ส่วนใหญ่ขยะจากแม่น้ำไหลลงทะเลประมาณ 70-80 % บางทีก็มาจากที่อื่นด้วย เรื่องเหล่านี้อยู่ที่การจัดการ ไม่ว่าทะเลหรือแม่น้ำ และสามารถเก็บขยะกลับมาได้แค่ 20 % การศึกษาของเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา แนวทางการป้องกันไม่ให้ขยะลงทะเลหรือแม่น้ำ ย่อมดีกว่า"
การสร้างความตระหนักในเรื่องการทิ้งขยะ อาจารย์สุชนา มองว่า บางทีข้อมูลบางเรื่องก็ไปไม่ถึงชาวบ้าน
"ที่ผ่านมาทีมเราเคยทำเรื่องสร้างความตระหนักรู้เรื่องการลดขยะที่สัตหีบ จ.ชลบุรี ประชาชนเคยบอกว่า เรื่องการจัดการขยะก็อยากทำ แค่จะใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก พวกเขาไม่มีถุงผ้า ไม่มีเครื่องมือในการลดขยะ
บางทีเราก็มองข้าม ขณะที่คนส่วนใหญ่บอกว่าต้องมีแอพฯ ช่วยในการลดขยะ แค่ถุงผ้ายังไม่มีใช้เลย แต่คนมองว่าถุงผ้ามีเยอะ หรือเจอฟูก(ที่นอน)ทิ้งในแม่น้ำลำคลอง เพราะไม่รู้จะทิ้งที่ไหน นั่นเพราะการจัดการขยะไม่ดีพอ"
bottle tracking
หากถามว่า ไม่ใช้ถุงพลาสติกเลยเป็นไปได้ไหม ประชาชนทั่วไปมีเวลาคิดเรื่องเหล่านี้ไหม ลำพังการเลี้ยงชีวิตตัวเอง ก็ยากแล้ว
"เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ใช้พลาสติกเลย ขอแค่ใช้แล้วทิ้งให้ถูกวิธี เพราะพลาสติกมีหลายแบบ ที่เห็นแยกขยะกัน ก็มีแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล
ในญี่ปุ่นแยกกันตั้งแต่ฝาขวด แผ่นฉลาก ในยุโรปแยกประเภทขยะ แต่ในสังคมบ้านเรา ต้องมีความชัดเจน ประชาชนสามารถทำตามได้สบายๆ" อาจารย์สุชนา กล่าว
เหล่านี้คือบทสะท้อนเรื่องขยะพลาสติก ที่มีข้อมูลสำรวจยืนยันว่า มันไปไกลถึงขั้วโลก.