สานพลังแก้วิกฤติลมหายใจ เพราะใครๆ ก็อยากมีอากาศสะอาด
ใครจะคิดว่าคนไทยก้าวมาถึงวันที่ "อากาศต้องซื้อ สุขภาพมีราคาที่ต้องจ่าย" หลังฝุ่น PM 2.5 ในปัจจุบัน ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน นับเป็นวิกฤติสุขภาพด้านลมหายใจที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างจริงจัง
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศเตือนถึงผลร้ายของอากาศพิษ ทำให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง และอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่หากย้อนทบทวนไปถึง "ต้นตอแหล่งกำเนิด" ที่ก่อให้เกิด มลพิษทางอากาศ หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่าประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่ใครจะคิดว่าแม้แต่รถจักรยานยนต์ที่ไม่ได้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องหรือเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือ PM 2.5 ทางอ้อมได้
ทุกภาคส่วนมีบทบาทต่อฝุ่น
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จับตาประเด็น ฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่าคนไทยกว่า 1,320,000 คน มีปัญหาสุขภาพ อันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ" ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในวิกฤติสุขภาพด้านลมหายใจ เพื่อหา "ทางออก" ที่จะแก้ปัญหาได้จริง สสส. จึงมุ่งสานพลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับวิชาการ ไปจนถึงระดับนโยบาย
"ปัญหามลพิษ เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและมากกว่าปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนั้นภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่อาจจัดการปัญหาดังกล่าวได้ จำเป็นต้องร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีความสำคัญมาก เพราะในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำหรือแหล่งกำเนิด เช่น กรุงเทพมหานคร กำลังประสบปัญหา PM 2.5 อย่างสาหัส ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในสาเหตุหลักเกิดจากการคมนาคมขนส่ง" ชาติวุฒิ กล่าว
ชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า ในช่วงฤดูกาลฝุ่นเข้มข้นสูง และใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ สสส. จึงสานพลังกับภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐเอกชน ได้แก่ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่า-ซื้อ รถจักรยานยนต์ในเครือเอ็ม บี เค (MBK) ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ฮอนด้า ยามาฮ่า หจก.บางกอกมอไซค์ สำนักงานเขตปทุมวัน สถานีตำรวจปทุมวัน สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) จัดกิจกรรม "ที ลีสซิ่ง เปื้อนยิ้ม เพิ่มห่วงใย ตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ ฟรี ครั้งที่ 5" ให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ และตรวจควันดำสำหรับรถยนต์ดีเซล พร้อมตรวจวัดก๊าซ CO/HC และระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ให้ประชาชนก่อนเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 16 - 17 มี.ค. 2566 ณ ลาน อเวนิว โซน A ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์
พ.ร.บ.อากาศสะอาดต่อลมหายใจ
การแก้ปัญหา มลพิษทางอากาศ เป็นภารกิจเร่งด่วนในระยะเฉพาะหน้า จะต้องร่วมกันหาทางออกโดยเร็ว เป็น Quick Win ที่จะนำไปสู่โมเดลการแก้ไขต่อไป ส่วนในระยะยาวมองไปที่การขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ สสส. สนับสนุนเครืออากาศสะอาด ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้คนไทยอยู่ในสภาวะอากาศที่ดีมากขึ้น
"ประเทศต้องการกฎหมายที่จะคุ้มครองพวกเรา เพราะตอนนี้อากาศ (เรา) ต้องซื้อนะ ซื้อเครื่องฟอกอากาศ ซื้อหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งแพง นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่อยากชวนมาคุยกัน อยากฝากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ พ.ร.บ. นี้ เพราะประเทศต้องการกฎหมายที่เป็นกรอบในการคุ้มครองสุขภาพลมหายใจของเรา โดย พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะสามารถเป็นเรกูเลเตอร์ ทำให้ทุกภาคส่วนทำงานได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ" ชาติวุฒิ กล่าว
ควบคุมมลพิษ ต้องลดแหล่งกำเนิด
นุชจริยา อรัญศรี ผู้อำนวยการส่วนมลพิษจากยานพาหนะ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญ โดยมาตรการที่ผ่านมามีทั้งการประชุมหารือเรื่องการควบคุมระดับพื้นที่ในบ้านและพื้นที่เกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำมาสู่แนวทางการควบคุมมลพิษด้วยการลดแหล่งกำเนิดมลพิษ และมุ่งเน้นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ หนึ่งในมาตรการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ การปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของไทยให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานสากลมากขึ้น โดยปรับค่ามาตรฐาน ฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
"ค่ามาตรฐานดังกล่าวจะเข้มงวดมากขึ้น แต่ก็ปลอดภัยกับประชาชนมากขึ้น เพราะจะลดการระบายอากาศควันพิษ การสร้างฝุ่นจากแหล่งกำเนิดฝุ่น ได้แก่ ยานยนต์ ยานพาหนะต่างๆ การเผาทางการเกษตร หรือการเผาในที่โล่ง การเผาป่า เป็นต้น" นุชจริยา กล่าว
นุชจริยา กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2567 ในส่วนของยานยนต์และยานพาหนะจะกำหนดมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งหมายความว่า รถที่ผลิตในปี 2567 เป็นต้นไปต้องมีมาตรการลดฝุ่นตามมาตรฐานยูโร 5 รวมถึงด้านน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 คือ ต้องมีส่วนประกอบกำมะถันลดลง ส่วนในปี 2566 นี้ ยังเน้นการจัดการเรื่องแหล่งกำเนิดในเมืองคือ ยานยนต์และการเผาจากการเกษตร ซึ่งผลกระทบจากการเผานั้น มีองค์ประกอบไม่เหมือนผลกระทบที่ได้รับจากยานยนต์ดีเซล โดยฝุ่นรถดีเซลจะเป็นการเผาน้ำมัน จะทำให้มีสารเคมี เช่น ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นตัวสร้างฝุ่นขนาดเล็ก ที่เห็นเป็นควันดำนั้นเอง ซึ่งมีควันพิษเป็นสารก่อมะเร็งได้
"แม้ยานยนต์ในกลุ่มเบนซิน ไม่ได้เป็นแหล่งปล่อยฝุ่น PM 2.5 โดยตรง แต่ก็เป็นอีกแหล่งกำเนิดสำคัญที่ปล่อยก๊าซต่างๆ ที่มาทำปฏิกิริยากับก๊าซพิษในอากาศ ทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่าฝุ่นทุติยภูมิ ซึ่งเป็นส่วนประกอบทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่นกัน เพราะฉะนั้นการที่เรากำหนดมาตรฐานต่างๆ กับรถทุกประเภทไม่ใช่ดีเซลอย่างเดียว ก็เพื่อลดฝุ่นที่เรียกว่าฝุ่นทุติยภูมิด้วย อย่างเช่น รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์จะปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไดออกไซด์หรือไฮโดรคาร์บอน ส่วนมอเตอร์ไซค์ แม้การระบายควันจะทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 น้อยแต่เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างฝุ่นทุติยภูมิ" นุชจริยา กล่าว
นุชจริยา กล่าวไปด้วยว่า ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องเข้มข้นในการตรวจตราโรงงานในเมืองและชานเมืองทั้ง 800 โรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่ปล่อยฝุ่นเยอะ อาทิ โรงงานเหล็ก โรงงานที่ใช้ถ่านหินหรือใช้หม้อต้มไอน้ำ ในช่วงที่เกิดฝุ่นอาจจำเป็นต้องได้รับการควบคุมเป็นพิเศษ อย่างเรื่องค่าการเกษตร ต้องคำนึงถึงความพร้อมในหลายปัจจัย ทั้งฐานะการเงิน นวัตกรรม และความรู้ เพราะการเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาไม่ใช่เรื่องง่าย บางรายภาครัฐก็ต้องช่วยด้วย รวมถึงการส่งเสริมสร้างเครือข่าย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็มีการตื่นตัว อย่างการเพิ่มมาตรการการใช้รถภาคราชการ จะมีจำกัดว่าต้องไม่เกิน 25% รวมถึงการจัดทำโครงการคลินิกลดฝุ่นที่ผู้ให้บริการบริษัทจำหน่ายรถยนต์ต่างๆ มีส่วนลดในเรื่องค่าแรง ค่าอะไหล่ในช่วงวิกฤติฝุ่น รวมถึงการนำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่าย รวมถึงการเข้มงวดในการกระจายจุดตรวจรถควันดำรถดีเซล ด้านการเกษตรมีการส่งเสริมลดเผาภาคเกษตรนำไปเป็นชีวมวลแทน ส่วนในป่าชิงเก็บก่อนเผาทำแนวกันไฟ
"ปีที่ผ่านมาประชาชนเริ่มให้ความสำคัญและตระหนักเรื่องของฝุ่น ทำให้การประชาสัมพันธ์ง่ายขึ้น อุปสรรคสำคัญเวลานี้คือ เรื่องของปัญหาเศรษฐกิจและการสื่อสารกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการเผาไหม้ข้ามแดน" นุชจริยา กล่าว
เปื้อนยิ้ม เพิ่มห่วงใย ตรวจสภาพรถ
มงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า กิจกรรม "ที ลีสซิ่ง เปื้อนยิ้ม เพิ่มห่วงใย ตรวจสภาพรถ" ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นจากความร่วมมือของพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งความปรารถนาดีต่อผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้มีความปลอดภัยสูงสุด ตลอดเส้นทางกลับบ้านหรือท่องเที่ยวช่วงเทศกาลหยุดยาวเป็นประจำทุกปี ในงานจะมีช่างชำนาญการและน้ำมันเครื่องจากฮอนด้า ยามาฮ่า รองรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งประชาชนทั่วไป ไรเดอร์ส่งอาหาร รถจักรยานยนต์รับจ้าง ได้เข้ามาตรวจเช็กสภาพรถก่อนช่วงสงกรานต์อย่างเต็มที่ มีจุดบริการตรวจเช็กควันดำสำหรับรถยนต์ดีเซล ตรวจวัดก๊าซ CO/HC และระดับเสียงจากรถจักรยานยนต์ที่เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการตรวจเช็กด้วย เพื่อรณรงค์การลดมลพิษในอากาศ และช่วยเสริมสร้างทัศนวิสัยที่ดีสร้างความปลอดภัยให้กับเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับการตรวจสภาพรถมากถึง 800 คัน และในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นถึงกว่าพัน เนื่องจากบริษัทฯ ให้บริการไม่จำกัดจำนวน
"เชื่อว่าการที่ประชาชนได้เตรียมพร้อมตรวจเช็กสภาพรถและเรียนรู้การขับขี่อย่างปลอดภัยก่อนเดินทาง จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พร้อมใช้ช่วงเทศกาลที่กำลังมาถึงอย่างมีความสุขและปลอดภัย" มงคล กล่าวทิ้งท้าย