'สุราพื้นบ้านไทย'รสชาติดีๆ มีให้เลือก ขอเพียงเปิดแบบเสรี ?
สุราพื้นบ้าน(สาโท อุ กระแช่ สาเก )แบรนด์ไทยๆ ในยุคนี้ ไม่ได้ขี้เหร่ทั้งรสชาติและบรรจุภัณฑ์ หลายร้อยแบรนด์ไม่ปรากฎให้เห็น เพราะกฎหมายยังกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย
ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 4.7แสนล้านบาท ตัวเลขขนาดนี้ไม่ธรรมดา และถ้าเปิดทางให้สุราพื้นบ้านเข้าสู่อุตสาหกรรมสุราอย่างเสรี คนที่ได้ประโยชน์จะมีทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี
แต่น่าเสียดาย สุราพื้นบ้าน หลายร้อยแบรนด์ ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เฉกเช่น โซจู เกาหลี ทั้งๆ ที่หมักจากพืชผลทางการเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด ไม่ต่างจากสุราพื้นบ้าน จึงได้แต่หวังว่า สักวันสาโท อุ สาเกแบรนด์ไทยๆ จะเป็นชื่อเรียกติดปากคนทั้งโลก
ในยุค(ปี2566) ที่สามารถหาซื้อโซจู เกาหลี หรือสาเก ญี่ปุ่น ในร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ง่ายกว่าสาโทที่ผลิตจากข้าวเหนียวนึ่งคลุกลูกแป้ง ,อุ ทำจากข้าวเหนียว คลุกเคล้าแกลบหมักและลูกแป้ง รวมถึงกะแช่ หรือน้ำตาลเมา ผลิตจากน้ำตาลมะพร้าว ใส่ไม้มะเกลือ หมักจนเกิดแอลกอฮอล์ และเมื่อนำสาโทมากลั่นจนได้เป็นเหล้าที่มีความแรงแอลกอฮอล์สูงกว่าสุราแช่ คือสูงกว่า 15 เปอร์เซ็นต์
โซจู สุราพื้นบ้านเกาหลี ภาพ : https://pixabay.com/
เหล่านี้คือ สุราพื้นบ้าน ซึ่งมีอีกหลายชนิดที่ไม่กล่าวถึง และไม่อาจเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะกำแพงภาษีและเงื่อนไขการผลิต
- สุราพื้นบ้าน รสชาติหลากหลาย
ต้องบอกก่อนว่า สุราพื้นบ้านไทยในยุคดิจิทัล บรรจุภัณฑ์และรสชาติหลายแบรนด์ไม่แพ้แบรนด์อินเตอร์ มีให้เลือกมากหลาย อาทิ สุราแช่บางยี่ห้อจากเมืองตรัง ผลิตจากการหมักกากน้ำตาลและน้ำตาลโตนดในภาคใต้ผสมสมุนไพรกระชาย โด่ไม่รู้ล้ม ดอกคำฝอย กำแพงเจ็ดชั้น และดอกจันเทศ
นอกจากที่ยกตัวอย่างมา ยังมีสาเกแบรนด์หนึ่งที่อ.หนองโดน จ.สระบุรี ผลิตจากข้าวหอมมะลิไทย นำมาเลี้ยงกับโคจิ(กล้าเชื้อ) หมักกับยีสต์สายพันธุ์ญี่ปุ่น จากนั้นนำมาผ่านกรรมวิธีหมักแบบแชมเปญ เพื่อให้ได้สปาร์กกลิ้งสาเกฟองละเอียด มีความซ่าได้ยาวนาน
เรื่องเหล่านี้ต้องกลับมาที่วัฒนธรรมการดื่มที่มีอยู่ในโลกใบนี้ โบว์-ดวงพร ทรงวิศวะ’ หรือเชฟโบ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนศาสตร์ กล่าวบนเวที ‘Hang Over ความเมาของเราไม่เท่ากัน’ จัดโดย The People ว่า
"วัฒนธรรมการดื่มเกิดขึ้นในทุกอารยธรรม ในจีนใช้สุราในการดึงสรรพคุณยา ในประเทศตะวันตก ฝรั่งเศส อิตาลี มักจะดื่มกินระหว่างมื้ออาหาร เพราะเป็นของคู่กัน ทำให้อาหารอร่อยขึ้น
หากไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภูมิปัญญาทางอาหารอาจได้รับผลกระทบ บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ดินดี ผลไม้รสชาติดีกว่าที่อื่น หากนำมาหมักเป็นเครื่องดื่มก็น่าจะมีรสชาติอร่อย"
การนำพืชผลทางการเกษตรมาผสมกับจุลินทรีย์ ไม่ว่ารา ยีสต์ และแบคทีเรีย โดยผ่านกระบวนการหมัก ต้ม กลั่น ก็สามารถทำเป็นเหล้าขาว สาโท อุ สาเก ฯลฯ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากรส ยกตัวอย่างนำ ข้าวบาร์เลย์หรือวัตถุดิบอื่นๆ มาต้มเป็นเบียร์ หรือจะเอาองุ่นมาบ่มเป็นไวน์ ก็เป็นกระบวนการที่แต่ละท้องถิ่นสร้างสรรค์สูตรเฉพาะของตัวเอง
โซจู สุราพื้นบ้านที่ขายไปทั่วโลก แต่สุราพื้นบ้านไทยต้องรอเวลา(ภาพ : https://pixabay.com/)
สุราพื้นบ้านจากพืชผลการเกษตร
ถ้าพืชผลการเกษตรบ้านเราถูกดัดแปลงใช้ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรตัวเล็กตัวน้อยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และกระบวนการผลิตสุราพื้นบ้านของไทยแต่ละสูตรเป็นเรื่องที่ส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น องค์ประกอบหลักคือ พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวสายพันธุ์ที่คัดสรรมาแล้ว พืชผัก ผลไม้ สมุนไพร อาทิ โกโก้ ลิ้นจี้ เสาวรส มะม่วงหาวมะนาวโห่ อ้อย สับปะรด ฯลฯ
หลากรสหลายรูปแบบสุราพื้นบ้าน ไม่ว่า สาเก สาโท สุราแช่ อุ ฯลฯภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่นในโลกใบนี้ มีดีแตกต่างกันไป
ไม่ต้องดูอื่นไกล โซจู แบรนด์เกาหลี หรือสาเกของญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักในโลกใบนี้จะด้วยรัฐบาลให้การสนับสนุนหรืออะไรก็ตาม แต่สุราพื้นบ้านไทยยังคงถูกผูกขาดโดยนายทุนรายใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเรียกร้องให้แก้กฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่น่าจะรู้จักโซจูจากซีรีย์เกาหลี และยังมีสุราพื้นบ้านแบรนด์อื่นๆ ในโลกใบนี้อีกมาก อาทิ ไวน์ขาวหรือมักกอลลี สุราพื้นบ้านของเกาหลีใต้ เมื่อก่อนเป็นเหล้าของชาวนาชนชั้นกรรมกร แต่สามารถเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ปรับรสชาติให้เหมาะกับนักดื่มวัยกระเตาะ ออกแบบบรรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย โดยเอาโมเดลของโซจูมาใช้ จน‘มักกอลลี’ได้รับความนิยมในวงกว้าง