'ภาษีเจริญ' ชุมชนต้นแบบ ขับเคลื่อน 'ธนาคารเวลา' รองรับสังคมผู้สูงวัย
ถอดรหัส "ธนาคารเวลา" สู่การขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งในพื้นที่ "ภาษีเจริญ" จนยกระดับสู่ธนาคารเวลาต้นแบบ รองรับสังคมผู้สูงวัย ช่วยให้สมาชิกเห็นคุณค่าและเชื่อใจกัน สามารถใช้ทักษะที่ชอบมาทำในสิ่งที่ใช่และถนัดในชุมชนได้
เกือบกว่าห้าปีแล้วที่การเดินทางของ "ธนาคารเวลา" เริ่มค่อยๆ ขยับขยายเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ สังคมผู้สูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมซูเปอร์ผู้สูงวัย นั่นคือ การมีผู้สูงอายุมากกว่า 30% ในอีกไม่นาน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนการดำเนินการธนาคารเวลามาตั้งแต่ปี 2561 ล่าสุดยังร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมสังคมผู้สูงวัย พร้อมเปิดป้ายธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัย ภาษีเจริญ สาขาชุมชนพูนบำเพ็ญ ซึ่งกำลังจะเป็นอีกหนึ่งธนาคารเวลาจาก 80 ชุมชนทั่วไทย ที่ดำเนินการในขณะนี้
เรียนรู้ทั้งด้านบวกและลบ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนการดำเนินการ ธนาคารเวลา กว่า 80 พื้นที่ทั่วไทย เกิดเป็นธนาคารเวลาที่เข้มแข็งหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ เช่น ธนาคารเวลา ภาษีเจริญ และธนาคารเวลาเขตสัมพันธวงศ์ ส่วนในภูมิภาคยังมีธนาคารเวลาที่เชียงใหม่เป็นอีกกรณีที่น่าสนใจศึกษา
ภรณี กล่าวต่อว่า หลังการดำเนินการมากว่า 5 ปี สสส. สนับสนุนการพัฒนาโมเดลที่หลากหลาย ตอนนี้รูปแบบธนาคารเวลาของไทย ยังคงเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในระยะนี้โครงการฯ ยังคงโฟกัสที่ธนาคารเวลาระดับชุมชน เนื่องจากพบว่า ความต้องการและทักษะมีความหลากหลายมาก ส่วนแนวนโยบาย "ธนาคารเวลากลาง" อาจเป็นเฟสต่อไปที่ต้องรอความแข็งแกร่งมากขึ้นก่อน
"เราตั้งใจจะขยายและทดสอบ เพื่อเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ซึ่งธนาคารเวลาจะขยายผลได้ คนต้องเห็นประโยชน์ก่อน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเรามีกรณีต้นแบบชุมชนที่เชียงใหม่ เขาคำนวณเป็นตัวเลขเลยว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้จริง กลายเป็น เศรษฐกิจหมุนเวียน ในชุมชนกันเอง เพราะแทนที่ต้องไปจ้างคนนอกชุมชน มาเลือกใช้บริการจากสมาชิกในธนาคารเวลาก็ไม่ต้องเสียเงินหลายร้อยแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่เราได้เรียนรู้" ภรณี กล่าว
ภรณี กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่พยายามกำลังปรับปรุงตอนนี้คือ ปัจจุบันกลายเป็นว่ามีแต่คนฝากแต่ไม่มีคนถอน หรือสมาชิกส่วนใหญ่อยากให้แต่ไม่มีคนมาขอความช่วยเหลือ ทำให้เราต้องมีเงื่อนไขใหม่ว่าฝากแล้วต้องถอนด้วยนะ ไม่เช่นนั้นไม่รับฝาก ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าอาจเป็นเพราะสมาชิกปัจจุบันหลายคนยังแข็งแรงอยู่ ก็เลยมีกลยุทธ์ใหม่คือ การโอนให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ เช่น คุณพ่อคุณแม่ที่อาจต้องการความช่วยเหลือมากกว่า แต่จากบทเรียนการขับเคลื่อน "ธนาคารเวลา" มาระยะหนึ่งในประเทศไทย อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ มีความจำเป็นต้องมีประกันสำหรับกรณีไม่คาดฝันหรือไม่ เช่น หากสมาชิกขับรถไปรับไปส่งผู้สูงวัยแล้วประสบอุบัติเหตุ หรือการทำข้าวของเสียหาย เป็นต้น
"สำหรับกรณีนี้ เคยเกิดขึ้นบ้างในยุโรป ซึ่งจะมีการรับประกันความเสียหายจากการทำงานหรือกรณีที่ไม่คาดฝันต่างๆ หรือความไม่ปลอดภัยของสมาชิก แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรูปแบบในชุมชนที่ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว และมีข้อตกลงที่ชัดเจนร่วมกันตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าในอนาคตควรมีหลักประกันบางอย่าง ในกรณีที่มีหลายรูปแบบบริการบางอันอาจจะเข้าถึงตัว หรือต้องเข้าไปในบ้าน รวมถึงการป้องกันหากธนาคารเวลาบางแห่งล้ม หรืออาจไม่มีผู้จัดการ ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละที่ว่ามีกรอบกติกาแค่ไหนด้วย" ภรณี กล่าว
เวลาของเราเท่ากัน
หากใครยังไม่เคลียร์ว่า "ธนาคารเวลา" คืออะไร สามารถอธิบายได้ว่า เป็นนวัตกรรมทางสังคมในการช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และเป็น "การแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม" ซึ่งเป็นตลาดโอกาสของคนที่เป็น "ผู้รับ" ที่อยากเริ่มเป็น "ผู้ให้" และคนที่เป็นผู้ให้ก็สามารถเรียนรู้ที่จะเป็นผู้รับ ธนาคารเวลาจึงเป็นตลาดแลกเปลี่ยนที่สร้างความเท่าเทียม เพราะไม่ว่าจะเป็นใครต่างก็มี "เวลา" คนละ 1 ชั่วโมง มาแลกเปลี่ยนกันและกัน โดยที่ผ่านมาถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ดีในบริบทสังคมเมืองใหญ่อันโดดเดี่ยวที่ต่างคนต่างไม่ค่อยรู้จักกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมได้ และธนาคารเวลายังมีประโยชน์ในเรื่องของการยกระดับคุณค่าของตัวบุคคลด้วย
ภรณี เล่าถึงคุณค่าที่แท้จริงของการมีธนาคารเวลาว่า ทำให้รู้จักขอความช่วยเหลือคนอื่น มันคือการลดอีโก้ตัวเองแบบหนึ่ง อาจมีวันที่เราอ่อนแอเหมือนกัน และหลายเรื่องเราทำเองไม่ได้หมด ยังมีวันที่เรามีเรื่องต้องรบกวนคนอื่น ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกธนาคารเวลาเราอาจจะเกรงใจเพื่อนบ้าน ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าเราเคยฝากเคยทำความดีเอาไว้ก็จะทำให้ไม่รู้สึกติดค้างบุญคุณ เพราะเป็นการใช้เวลาแลกเปลี่ยนกันได้
"แม้ธนาคารเวลาจะกำเนิดขึ้นเพราะมีเป้าหมายรองรับ สังคมผู้สูงวัย แต่ในการดำเนินการธนาคารเวลาไม่ใช่เรื่องของคนสูงวัยเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังต้องการความหลากหลายของกลุ่มคนในสังคม ทั้งทางอาชีพ อายุ เพศ และวัยที่ไม่จำกัด เนื่องจากธนาคารเวลาต้องการทักษะของแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน เพื่อเอามาแลกเปลี่ยนกัน แต่ละชุมชนมีความต้องการกิจกรรมแตกต่างกันไป อย่างที่เขตภาษีเจริญ ต้องการกลุ่มที่ถนัดงานช่างฝีมือ การให้บริการรับส่งดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น" ภรณี กล่าว
ธนาคารเวลา "ภาษีเจริญ"
หากกล่าวถึงชุมชนที่ผลักดันธนาคารเวลาอย่างเข้มแข็ง คงต้องยกให้กับ ภาษีเจริญ ที่ปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนให้เกิดธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยถึง 7 แห่ง โดยธนาคารเวลา เขตภาษีเจริญ นั้น ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายธนาคารเวลาที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่เข้มแข็งจนได้รับการยกระดับไปสู่ธนาคารเวลาต้นแบบ ล่าสุดที่ "ชุมชนพูนบำเพ็ญ" กำลังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบ "ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ" ซึ่งมีการเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศข้อตกลงร่วมกัน ได้แก่ 1. มีสถานที่ทำการธนาคารเวลาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ รองรับการศึกษาดูงานของภาคีเครือข่าย 2. มีผู้จัดการ คณะทำงาน คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง 3. มีฐานข้อมูลสมาชิกธนาคารเวลาและมีการสะสมเวลาต่อเนื่อง 4. มีกองทุนธนาคารเวลาขับเคลื่อนการดำเนินงานระยะยาว เพื่อทำให้เป็นต้นแบบและองค์ความรู้ ขับเคลื่อนกลไกระดับประเทศ
วรวรรณ บุญตัน หรือ ป้าติ๋ว หนึ่งในสมาชิกธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนพูนบำเพ็ญ เล่าว่า ปัจจุบันที่สาขามีสมาชิกประมาณ 32 คน เป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ และมีเวลาฝากอยู่ในธนาคาร 56 ชั่วโมง โดยสมาชิกทุกคนมีทักษะหลากหลายแตกต่างกัน อาทิ ขับรถรับส่ง ทำสวน ซ่อมแซมบ้าน สอนการบ้าน ทำอาหาร ไปจนถึงให้คำปรึกษาด้านบัญชี ส่วนป้าติ๋วเองนั้น มีทักษะพิธีกร ทำงานบ้าน และตัดผมได้ ซึ่งก็มีการแลกเวลากับสมาชิกมาหลายครั้งแล้ว
"ที่ธนาคารเวลายังมีกิจกรรมจะทำประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีการรวมสมาชิกเพื่อพูดคุยประชุมกัน บางทีก็หาอะไรที่เขาอยากเรียนรู้ เราก็เชิญคนที่มีความรู้มาให้คำแนะนำ ซึ่งกิจกรรมที่เขาสนใจส่วนมากคือการเกษตร หมักปุ๋ย ปรุงดิน กล้าลงแปลง ปลูกพืช ใครมาทำเราก็แลกเป็นชั่วโมงกันไป ซึ่งเวลาที่เขาได้เข้ามาร่วมก็ชอบกัน มันก็เหมือนมีเพื่อน เพราะมาแล้วได้มาเจอกัน ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันกันอย่างสนุกสนาน" ป้าติ๋ว กล่าว
ผศ.ดร.เนตร หงษ์ไกรเลิศ ผู้อำนวยการโครงการธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ กล่าวว่า ธนาคารเวลา เป็นประเด็นใหม่ที่ต้องสร้างความเข้าใจ ให้เกิดความเข้มแข็งสู่การขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายได้สำเร็จ เขตภาษีเจริญ มีเป้าหมายทำให้คนในพื้นที่เกิดความเท่าเทียม สามารถใช้ทักษะที่ชอบมาทำในสิ่งที่ใช่และถนัดในชุมชนได้ เพื่อทำให้สมาชิกเห็นคุณค่าของตนเองและเชื่อใจกัน มีผู้จัดการธนาคารเวลาเป็นคนกลางสานสัมพันธ์และทำความเข้าใจเรื่องการออมเวลาเพื่อรองรับการช่วยเหลือยามจำเป็นโดยไม่ใช้เงิน ซึ่งหากตั้งโดยไม่มีเป้าหมาย สุดท้ายจะไปต่อไม่ได้ เพราะมันขาดกระบวนการ
"ตามหลักการจริงๆ กระบวนการจัดตั้งธนาคารเวลาอยู่ทั้งหมด 10 ขั้นตอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่จำเป็นต้องทำให้ครบ 10 ขั้นตอน หรือไม่จำเป็นต้องเริ่มจากขั้นที่ 1 2 3 สามารถปรับใช้แบบไหนก็ได้ แต่พอเราได้มาทำจริงๆ แล้วพบว่า ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การทำความเข้าใจ เพราะเมื่อเข้าใจ เขาก็จะมีใจและเริ่มต้นได้ดี ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ธนาคารเวลาแม้จะไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ แต่ช่วยลดรายจ่ายได้จริง แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือ เราเริ่มรู้จักคนรอบข้าง เรารู้จักกันพูดคุยกัน นั่นคือเป้าหมายหลักของธนาคารเวลา และสุดท้ายคือความเข้มแข็งของชุมชน" ผศ.ดร.เนตร กล่าวทิ้งท้าย