ศิริชัย ทหรานนท์ – อารยา อินทรา Theatre Sustainable กำเนิดใหม่เศษผ้าเหลือใช้
ศิริชัย ทหรานนท์ – อารยา อินทรา เผยเบื้องหลังสร้างสรรค์ Theatre Sustainable คอลเลคชั่นจากเศษผ้าเหลือทิ้ง แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมส่วนในการขับเคลื่อนวงการแฟชั่นไทย ควบคู่ไปกับ ‘ความยั่งยืน’ เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว
Keypoints:
- การตัดต่อผ้า เธียเตอร์ ทำมาอยู่เรื่อยๆ 20 กว่าปีแล้ว งานผสมผ้าเป็นการเพิ่มมูลค่าในตัว เสื้อหนึ่งตัวเราใช้ผ้ามากกว่า 4-5 ชนิดขึ้นไปตลอด ดูไม่ออกว่าคือเศษผ้า แต่ออกมาดูว้าว
- ผ้ามียุคสมัยและอายุขัย แต่ใครจะมองเห็นวิธีการเอาอายุขัยของผ้าในยุคสมัยนั้นมาตัดอย่างไรให้กำเนิดใหม่เป็นผ้าที่สวยงาม
- สิ่งที่เราทำอยู่เป็นจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ที่จะทำให้คนแฟชั่นได้ตระหนักถึงสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเสื่อมสลายต่อไป
- เราเคยถูกหล่อหลอมมาว่าต้อง ขายดี ขายเยอะ ขายเร็ว ขายจำนวนมากๆ เพื่อจะรวย แต่รวยแล้วไปไหน
ศิรพันธ์ วัฒนจินดา - เข็มอัปสร สิริสุขะ ร่วมงานเปิดตัวคอลเลคชั่น Theatre Sustainable
จัดงานใหญ่เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วสำหรับ Theatre Sustainable คอลเลคชั่นที่แบรนด์แฟชั่นไทย Theatre (เธียเตอร์) นำเสนอคอนเซปต์ Sustainable หรือ ‘ความยั่งยืน’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมส่วนในการขับเคลื่อนวงการแฟชั่นไทย ควบคู่ไปกับ ‘ความยั่งยืน’ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัสดุเหลือใช้ใกล้ตัว ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งเกินตัว
Theatre เป็นแบรนด์ดีไซเนอร์ไทย อยู่คู่วงการแฟชั่นไทยมานานกว่า 37 ปี โดยคุณ จ๋อม ศิริชัย ทหรานนท์ เป็นทั้งดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ โดยมีคุณ อาร์ต อารยา อินทรา เป็นดีไซเนอร์ผู้ช่วยคนสำคัญของคุณจ๋อม
คอลเลคชั่น Theatre Sustainable ดูสวยงามเช่นเดียวกับคอลเลคชั่นอื่นๆ ของเธียเตอร์ หากไม่บอก คุณจะทราบหรือไม่ว่าความสวยงามของเสื้อผ้าที่เห็นเกิดจาก ‘เศษผ้าเหลือใช้’ จากการทำคอลเลคชั่นที่ผ่านมากว่า 30 ปี ซึ่งคุณจ๋อมเก็บกลับมาจากทุกคอลเลคชั่น
ศิริชัย ทหรานนท์ – อารยา อินทรา
Theatre Sustainable มาจากเศษผ้าเหลือใช้?
ศิริชัย : ใช่ครับ เรามีวัสดุเหลือใช้ คือเศษผ้าที่มาจากการทำงานที่เสร็จไปแล้วเยอะมาก เป็นเศษผ้าคืนกลับมาที่บริษัท คือจุดเริ่มต้น เรามีมากมาย เพราะเราแทบจะไม่ได้ทิ้งผ้า เราจะขอคืนกลับมาจากโรงงานตัดเย็บ
เวลาเราคิดต้นทุน เราคิดเต็ม เศษคือทิ้ง แต่ด้วยความที่เราเห็นว่าเศษไม่ได้เล็กนะ เป็นชิ้นเป็นอัน สามารถนำมาทำอะไรได้ เป็นจุดที่ผมเรียกเก็บกลับมาให้หมด จะทำอะไรค่อยว่ากัน
อารยา : พี่จ๋อมมีซัพพลายเออร์ คือเราตัดผ้าในออฟฟิศด้วย ในบริษัทเรามีด้วยกัน 17-18 คน ไม่เกินนั้น งานก็จะตัดทั้งในและนอกออฟฟิศ แต่พี่จ๋อมจะให้ช่างทุกคนที่เอาผ้าไปทำงาน แม้แต่เศษอะไรที่เหลือ ให้ส่งกลับมาที่ออฟฟิศทั้งหมด นั่นคือธรรมชาติของพี่จ๋อม
มันก็เลยสะสมมาเป็นเวลานาน เศษผ้าจากทุกคอลเลคชั่นจะกองอยู่ใต้บันไดเป็นสิบปีมาแล้ว บางทีก็ไปเคลียร์มาจากบ้านช่าง เอามาเก็บไว้เอง
คอลเลคชั่น Theatre Sustainable
ตอนนั้นมีเหตุผลในการนำเศษผ้ากลับมาไหมครับ
ศิริชัย : เราคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในวันหนึ่ง บางทีผมก็บริจาคให้นิสิตซึ่งอยากใช้หรือไม่รู้จักเรื่องผ้า ถ้าเธออยากรู้ผ้ามีอะไรบ้าง ที่บ้านก็เป็นแหล่งเรียนรู้เล็กๆ พอดีคุณอาร์ต (อารยา) เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย พานักศึกษามาให้รู้ว่าผ้ามีอะไรบ้าง เพราะเศษผ้าเราเยอะ
เหมือนกับสอนเด็ก นำผ้ามาฝึกทักษะเด็ก เธอคิดว่านี่คือผ้าอะไร ลองแบ่งหมวดหมู่ผ้า เพราะรูปแบบผ้ามีหลายประเภทเยอะมาก เป็นสิ่งที่เราให้เด็กเรียนรู้ กับอีกส่วนคือเด็กขอเอาไปทำผลงาน
อารยา : ทุกปีมีนักศึกษามาขอเศษผ้าที่ออฟฟิศไปทำธีซิส (วิทยานิพนธ์) เดี๋ยวนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เน้นความยั่งยืน (sustainability) จะใช้ รียูส รีไซเคิล ก็จะมาหาเศษผ้าเก่าๆ ที่ออฟฟิศเราเอาไปใช้ทำธีซีส
ศิริชัย : อีกส่วนคือตัวผลงานที่ผมทำขาย ก็ชอบเอาผ้ามาผสมอยู่แล้ว ในรูปแบบงาน patchwork แต่ทำเสริมอยู่ในคอลเลคชั่น ยังไม่เคยทำเป็นคอลเลคชั่นใหญ่แบบนี้ คอลเลคชั่นนี้จึงเกิดขึ้นจากผลงานเก่าๆ ที่เราเคยตัดต่อผ้า ทำมาเป็นสิบปี ก็เลยคิดว่าน่าจะนำจุดตรงนั้นมาขยายให้เป็นคอลเลคชั่นใหญ่ เป็นที่มาของคอลเลคชั่นซัสเทนนะเบิล
อาร์ต - อารยา อินทรา
การนำเศษผ้ามาตัดต่อให้เป็นเสื้อตัวใหม่ เป็นสิ่งที่ยากหรือง่ายกว่าใช้ผ้าปกติ
ศิริชัย : เป็นการจัดวางองค์ประกอบชนิดหนึ่ง เหมือนเราทำงานเขียนรูป การทำผ้าก็เช่นกัน คือดูว่าลายดอกน่าจะอยู่กับลายริ้วไหม ลายริ้วอยู่กับผ้าลายสก็อตได้มั้ย ลายสก็อตน่าจะไปอยู่กับดอกเล็กไหม เพื่อให้ชิ้นงานดูน่าสนใจ ไม่ใช่แค่ว่าต่อๆ กันไปเฉยๆ เราพยายามจัดโทนสี จัดลาย และจัดเนื้อผ้าให้เกิดเป็นผ้าผืนใหม่
อารยา : ไม่ยาก แต่มันใช้เวลา เพราะแพชต์เวิร์คเป็นเทคนิคที่เธียเตอร์ทำอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องสแกนทั้งหมดแล้วเลือกออกมา อันนี้เป็นคอตตอนเนื้อบาง-เนื้อหนา แยกประเภท แยกกลุ่มสี แยกเนื้อผ้า ความหนาความบาง แล้วนำมาประกอบกันโดยตั้งใจ ไม่ใช่วางโดยไม่ดูอะไรเลย จึงใช้เวลาในการวาง บางทีเราใช้เศษผ้าจาก 4 คอลเลคชั่นเก่ามารวมเป็น 1 ลุคในคอลเลคชั่นนี้
ศิริชัย : ส่วนหนึ่งเป็นเศษผ้าจริงๆ กับอีกส่วนเป็นผ้าปลายไม้บ้าง ผ้าเหลือเมตรครึ่ง สองเมตรบ้าง
อารยา : อย่างผ้าหน้ากว้างเกินไปกว่าแพทเทิร์นที่เราทำ ผ้าที่เหลือส่วนนั้นใช้ประโยชน์ไม่ได้ เช่นผ้าหน้ากว้าง 55 นิ้ว แต่เราใช้แค่ 48 นิ้ว เราก็นำผ้าส่วนที่เหลือนั้นมาออกแบบว่าทำอะไรได้บ้าง หนึ่งคือทำเกิดประโยชน์สูงสุด สองลดต้นทุน บางบริษัทอาจทิ้งไปเลย แต่พี่จ๋อมจะออกแบบเศษผ้าที่เหลือ ทำแบบสำหรับใช้ผ้าเท่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผ้ายืด ผ้าฝ้าย ชีฟอง ลินิน วูล เหลือแค่ไหนก็เอามาออกแบบใหม่
คอลเลคชั่น Theatre Sustainable
จ๋อม - ศิริชัย ทหรานนท์
คาแรคเตอร์ของคอลเลคชั่น Theatre Sustainable
ศิริชัย : เธียเตอร์มีความ masculine (ผู้ชาย) และ feminine (ผู้หญิง) เรานำเศษผ้าลูกไม้มาตกแต่งให้เกิดความโรแมนติกทั้งหญิงและชาย
การตัดต่อผ้า เธียเตอร์ทำมาอยู่เรื่อยๆ 20 กว่าปีแล้ว งานผสมผ้าเป็นการเพิ่มมูลค่าในตัว ในเสื้อหนึ่งตัวเราไม่ได้ใช้ผ้าเพียงสองชนิด แต่เราใช้ผ้ามากกว่า 4-5 ชนิดขึ้นไปตลอด ดูไม่ออกว่าคือเศษผ้า แต่ออกมาดูว้าว คือจุดที่เราอยากบอกว่าขณะนี้เราทำอะไรอยู่
ตอนแรกๆ ที่ผมเปิดร้าน เสื้อผ้ามี 3 ตัว ขายหมดแล้วค่อยทำใหม่ เวลานี้เราอยากกลับไปเป็นเหมือนตอนเราเริ่มต้น คอลเลคชั่นนี้เราจึงทำเป็น เมดทูออร์เดอร์ เราทำต้นแบบมา 10 กว่าลุคที่เห็นวันนี้ เราไม่มีของนะครับ แต่ว่าคุณสามารถออร์เดอร์ในสิ่งที่คุณต้องการ ว่าอยากได้สั้น อยากได้แขนกุด นี่คือสิ่งที่เราอยากปรับเป็นคีย์เวิร์ดอันใหม่ของเราในคอคเลคชั่นนี้
อารยา : ด้วยความอากาศบ้านเรา บังคับให้เราทำเสื้อผ้าวินเทอร์ไม่ได้ จึงคิดว่าทำอย่างไรให้สวมใส่สบายสำหรับคนไทย ด้วยความที่เราเลือกกลุ่มผ้าออกมาเป็นผ้าฝ้ายเนื้อบางเนื้อหนา ลินิน ซึ่งเป็นเนื้อผ้าใยธรรมชาติ ซึ่งเหมาะกับอากาศบ้านเรา ก็เลยเลือกรูปทรงรูปแบบไม่ว่าของชายหรือหญิง ก็เป็นเสื้อทรงหลวม สบายตัว เสื้อฮาวาย เสื้อเชิ้ตชิ้นหลอก มีแต่ด้านหน้า ข้างหลังไม่มี ระบายลมได้เลย เวลาใส่สูทเหมือนแต่งตัวเต็มยศ เหมือนมีเชิ้ต แต่เวลาถอดสูทออก ข้างหลังคุณก็เปลือย ช่วยระบายลมได้ดี กางเกงขาสั้นต่อลินินผสม ก็เพื่อรับลม
เชิ้ตเดรสสำหรับผู้หญิง ดูเหมือนเชิ้ต มีแขนไม่มีแขนบ้าง มีความสั้นแตกต่างกันไป เชิ้ตยูนิเซ็กซ์ ข้างบนเหมือนเชิ้ตผู้ชาย ตัดต่อกับพลีตเพิ่มความยาว เป็นเสื้อแฟชั่นใส่ได้ทั้งชายและหญิง
คาแรคเตอร์ของเธียเตอร์สนับสนุนเรื่อง Gender Fluid มาตั้งแต่ต้น จะเป็นเพศอะไรก็ได้เราไม่แคร์ อยากได้เสื้อเก๋ๆ เชิญทางนี้ เรามีหมด
เมดทูออร์เดอร์ ต้องวัดตัวใหม่ด้วยไหมครับ
อารยา : ไม่ค่ะ เพราะเสื้อทรงหลวมหมดเลยค่ะ แพทเทิร์นถูกดีไซน์ไว้เสร็จเรีบบร้อยแล้วสำหรับคนไซส์เอสถึงแอล ใส่ได้ใน 1 แบบ มันไม่ได้ฟิตรูปร่าง ใครๆ ก็ใส่ได้ เพียงแต่บอกว่าอยากได้ไซส์ไหน
เสื้อเชิ้ตชิ้นหลอก
รองเท้าบู๊ตจากเศษหนัง
ภาพความร่วมมือของแบรนด์ที่ได้มา Collaborate ในครั้งนี้
Sustainable ไม่ได้จบแค่ ‘เศษผ้าเหลือใช้’
ศิริชัย : เราไม่ได้แค่อัพไซเคิล-รีไซเคิล เราซัสเทนไปถึงสิ่งแวดล้อม วิธีการทำงานทุกอย่าง สีที่เราใช้ ทีมงานที่เราเลือก เราเรียกว่า Friend หรือเพื่อนที่มาคอลลาบอเรตในการสร้างสรรค์งานทั้งหมด อย่างน้อยทุกคนต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับเรา เช่น เข็มกลัดดอกไม้ติดอกเสื้อ เราเลือกบ้านทำงานหัตถกรรมจริงๆ คือ Permaflora (เพอร์มาฟลอร่า) แบรนด์ดอกไม้ผ้าทำมือที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทย ใช้สโลว์แฟชั่นทำงาน
กระเป๋า เราเลือกทำกับแบรนด์ THAIS (ธาอิส) ซึ่งนำเศษหนังมาอัดเป็นแผ่นขึ้นมาใหม่ น้ำยาที่ใช้ทุกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รองเท้า เราก็ทำกับ Tango (แทงโก้) เป็นแบรนด์พี่น้องกับเธียเตอร์มาตั้งแต่เริ่มต้น 30 กว่าปีมาแล้ว เขาเอาเศษหนังมาทำเป็นรองเท้าบู๊ตคู่ใหม่ให้เรา
อารยา : แม้แต่ศิลปินที่วาดรูปดอกไม้ให้เรา คุณกานต์ (กาญจนามัย) ก็ใช้ใบเสร็จรับเงินมาทำเป็นเฟรมในการวาดรูป ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกอันที่เราทำพิเศษสำหรับคอลเลคชั่นนี้ คือ โมโนแกรม ลายสัญลักษณ์ของแบรนด์เธียเตอร์ เราร่วมกับศิลปินภาคใต้ ชื่อแบรนด์ KiRee (คิรี) บาติกสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง นครศรีธรรมราช เขาใช้ใบไม้ ผลไม้ รากไม้ กากไม้ที่อยู่ในสวนผลไม้ของเขา มาต้มมาย้อมจนได้เป็นสี แล้วเขาก็เริ่มทำบาติก เรียนรู้ปรับแก้จนกระทั่งสีของเขาสวยงาม
อย่างที่เราบอก เราใช้เศษผ้าค้างสต็อคเอากลับมาทำงาน และใช้เสน่ห์ของบาติกที่ไม่มีความเหมือนเดิม ย้อมกี่ครั้งก็ไม่มีทางได้สีเท่าเดิม เพนต์กี่ครั้งก็ไม่มีวันเหมือนเดิม นั่นคือเสน่ห์ เพราะเป็นงานแฮนด์เมด เรานำตรงนี้มาเป็นลูกเล่น ทำบนเศษผ้าแล้วจะเป็นยังไง ตำหนิที่เกิดขึ้นเป็นความงามอีกแบบหนึ่ง มันกลายเป็นความสวย เสื้อออกมาแล้วไม่เหมือนเดิม
ส่วนลายโมโนแกรมของเธียเตอร์ เราทำบาติกบนซิลค์ ย้อมสีธรรมชาติหมดเลย ซึ่งเปิดตัววันนั้นเป็นวันแรกเหมือนกัน
ศิริชัย : คนทำบาติกก็ป็นลูกศิษย์ผม ปกติเขาใช้สีเคมี แต่มาระยะหลังเขาได้รับคำแนะนำให้ลองย้อมสีธรรมชาติ เขาเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำสำเร็จ การเอาสีธรรมชาติมาย้อมกับบาติก ในภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่มีคนทำ เขาเป็นเจ้าแรกและได้รางวัล และมีความตั้งใจร่วมงานกับเรา เราก็ลองส่งผ้าไปว่าเขาทำได้ไหม เราออกแบบลายกับสี เขาเป็นคนเพนต์ ลงสีมัดย้อม
ลายโมโนแกรมของเธียเตอร์
ศิริชัย ทหรานนท์
ต้องการสื่อสารหรือคาดหวังอะไรกับการสร้างสรรค์คอลเลคชั่น Theatre Sustainable
ศิริชัย : อยากให้คนตระหนัก การที่เราช่วยลดมลภาวะ ช่วยนำของเก่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจจุดประกายไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่อาจจะยังไม่ได้คิดว่าถอยหลังแล้วกลับมาดูว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันสามารถทำให้เป็นประโยชน์กับสังคมได้ ไม่ใช่แค่ตัวเรา สิ่งที่เราทำอยู่เป็นจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ที่จะทำให้คนแฟชั่นได้ตระหนักถึงสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเสื่อมสลายต่อไป
อารยา : อาร์ตมองว่าโลกปัจจุบัน เยาวชน เจนเนอเรชั่นใหม่ ชอบอะไรที่เร็วๆ ที่เป็นฟาสต์แฟชั่น อาร์ตกลับมองว่ามันฉาบฉวยมาก อาร์ตอยากกระตุ้นจิตสำนึกให้กับเด็กรุ่นใหม่ให้เขารักแฟชั่นในเวย์ที่ถูกต้อง เพื่อให้วงการแฟชั่นบ้านเรามีความยั่งยืน
เพราะรุ่นเก่าทุกคนมีพื้นฐาน รุ่นเก่าคือรุ่นอาร์ตด้วยนะ ถึงวันที่เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อโลกเพื่อสังคมบ้าง เพราะพวกเราบริโภคเยอะเกินไป ระบบทุนนิยมอีกเยอะไปหมด เราเคยถูกหล่อหลอมมาว่าต้องขายดี ขายเยอะ ขายเร็ว ขายจำนวนมากๆ เพื่อจะรวย
แต่รวยแล้วไปไหน รวยแล้วคุณมีความสุขของคุณคนเดียวใช่ไหม มันไม่ใช่ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันไปในโลกใบนี้อย่างไร มันเป็นพื้นฐานในความคิด แต่ไม่ได้นำมาตะโกนบอกใคร
เรามองว่าพี่จ๋อมมีไอเดียเรื่องเสื้อกับแบรนด์เธียเตอร์และมีเสน่ห์แบบนี้มาก่อน มันดีมันเหมาะสมกับกาลเวลาของมันจริงๆ ถึงเวลาแล้วทั้งแบรนด์ทั้งอาร์ตทั้งพี่จ๋อมจะได้พูดเรื่องเดียวกัน และเหมาะกับเวลาที่โลกต้องการพอดี ให้เขารู้ไปเลยว่าเธียเตอร์ทำมา 20-30 ปีแล้ว ครั้งนี้เราแค่ทำให้เป็นคอลเลคชั่นใหญ่
ผ้ามียุคสมัยและอายุขัย แต่ใครล่ะจะมองเห็นวิธีการเอาอายุขัยของผ้าในยุคสมัยนั้นมาตัดอย่างไรให้กำเนิดใหม่เป็นผ้าที่สวยงาม มันมีวิธีทำ
และเธียเตอร์ทำสำเร็จ
ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต