‘ขวัญดาว’ สารพัดงานปัก ผลิตภัณฑ์ ‘แม่บ้านตำรวจ’
‘ขวัญดาว’ โชว์งานปัก ผลิตภัณฑ์ ‘แม่บ้านตำรวจ’ ก่อตั้งโดย ‘สุมนา กิตติประภัสร์’ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ กล่าวว่า "เรามองว่าเป็นงานที่ทำด้วยมือ ถ้าทุกคนที่คิดจะทำ ก็มีมือเรานี่แหละกับความคิดสร้างสรรค์ "
ขวัญดาว ผลิตภัณฑ์ แม่บ้านตำรวจ ที่โชว์งานปักลวดลายสวยงามเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ เห็นแล้วน่าหยิบจับมาใช้ อยากเป็นเจ้าของ มีทั้ง กระเป๋าคลัทช์ ลายปักดอกไม้กระจุ๋มกระจิ๋ม ผ้าคลุมไหลปักลายดอกไม้สีสันสวยงาม กิ๊บติดผม ผ้าปูโต๊ะ เคสไอแพด กระเป๋าถือแบบต่างๆ ฯลฯ
สมาคมแม่บ้านตำรวจ เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ‘ขวัญดาว’ (Kwandao ) เพื่อชูศักยภาพ ผ่านงานหัตถกรรม ขายที่ ร้านปันรักษ์ คาเฟ่ เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับครอบครัวตำรวจแบบยั่งยืน
สุมนา กิตติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ เล่าว่า ผลิตภัณฑ์งานฝีมือแบรนด์ ขวัญดาว เป็นการต่อยอดสินค้าที่หารายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านตำรวจ ขายที่ ร้านปันรักษ์ คาเฟ่ เปิดครั้งแรกในโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 โดยนายกสมาคมคนก่อน ก็คือ รัตนาภรณ์ สีวลีพันธ์ ส่วนงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ‘ขวัญดาว’ นั้นเปิดตัวในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ที่ อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร และสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน กรุงเทพฯ
“นายกสมาคมคนก่อนอยากให้ครอบครัวตำรวจมีรายได้เสริม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ท่านอยากจะสร้างความช่วยเหลือที่ยั่งยืน ให้ปันรักษ์เป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าของครอบครัวตำรวจ พอเปิดมาแล้ว เราก็รวบรวมของจากครอบครัวตำรวจทั่วประเทศมาขายที่นี่”
งานปักลวดลายอ่อนหวานงดงามฝีมือกลุ่มแม่บ้านตำรวจ
จุดกำเนิดของขวัญดาว
ทว่าจุดกำเนิดของ ขวัญดาว มาจาก สุมนา กิตติประภัสร์ นั่นเอง เธอเล่าว่า “ตอนนั้นคิดจะสร้างแบรนด์ที่มีคอนเซ็ปต์ นึกถึงคำว่า ขวัญดาว เป็นชื่อเพลงมีความหมายที่ดีของนักเรียนนายร้อยตำรวจ ใช้ร้องกันตอนลอดซุ้มกระบี่ในงานแต่งงาน แล้วเราก็มองว่า ขวัญ หมายถึงเป็นขวัญ เป็นกำลังใจ ก็เลยเอาชื่อที่มีความหมายนี้มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์สินค้าของครอบครัวตำรวจ
‘สุมนา กิตติประภัสร์’ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ
และถามว่า ทำไมถึงเป็นงานปัก เรามองว่าเป็นงานที่ทำด้วยมือ ถ้าทุกคนที่คิดจะทำ ก็มีมือเรานี่แหละกับความคิดสร้างสรรค์ ปักอะไรลงไปก็ได้ เราก็เริ่มจากตรงนี้ เป็นความชอบส่วนตัวด้วย พอคิดจากสิ่งที่เราชอบ ก็เลยไปต่อได้ ซึ่งมันง่ายกว่าไปทำอะไรที่เราไม่ถนัด”
มด-สุมนา เล่าต่อว่า เธอเองชอบงานปัก เห็นที่ไหนก็ต้องซื้อ ต้องอุดหนุนตลอด เพราะงานปักไม่เคยตกยุค มีเสน่ห์เสมอ เคยลงมือทำงานแบบนี้ในสมัยเรียนเย็บปักถักร้อย เป็นคนชอบงานหัตถกรรม เคยลงมือทำเองหลายอย่าง เช่น ปลอกหมอน เสื้อนักเรียน ทำการ์ดอวยพร กระทง ฯ
“เมื่อปลายปีที่แล้ว เราก็ไปตรวจเยี่ยม ทั้งหมดเรามี 9 ภาค เริ่มจากภาคเหนือ ให้เขาเอาสินค้าทั้งหมดที่เป็นของครอบครัวตำรวจ มาจัดแสดงในห้องประชุมของกองบัญชาการภาค เหมือนมาออกบูธ จังหวัดไหนมีอะไร เราก็เริ่มแนะนำเขา ช่วงบ่ายเป็นการประชุม เราก็จะให้ไอเดีย เช่น กำหนดธีมสีของขวัญดาวว่า เราอยากได้โทนสีธรรมชาติ พาสเทลที่มีความละมุน เพราะเราจะสามารถนำไปมิกซ์แอนแมทช์อะไรได้หลายอย่าง
บางครั้งเราก็ต้องเปลี่ยนความเชื่อ เช่น ผ้าสีน้ำเงินปักด้วยสีครีมจะสวยเหรอ เราก็เปิดมุมมองใหม่ว่า สีอ่อนๆ หรือสีเดียวก็สวยได้ หลายคนอาจมีความคิดว่า ใส่ไปหลายๆสีถึงจะสวย พอเราเอาตัวอย่างไปให้เขาดู มีภาพประกอบ มีผลิตภัณฑ์หลากหลายไปให้เขาดู เช่น ณ วันนี้เรามีผ้าแบบนี้ จะสามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง พอเขาเห็นภาพ ก็จะเกิดไอเดีย สามารถต่อยอดจากเดิมที่เขาทำหรือสร้างขึ้นมาใหม่ได้”
แบรนด์ที่ยั่งยืน
สินค้าของแต่ละภาคมีความแตกต่างกันตามวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น อย่างเช่นจังหวัดสกลนคร จะมีผ้าย้อมคราม เป็นผ้าฝ้ายเส้นหนามีผิวสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ย้อมครามธรรมชาติ ปักด้วยเส้นด้ายใช้สีธรรมชาติ ,จังหวัดระนอง ใช้ผ้าปาเต๊ะมาทำกระเป๋า เดินเส้นด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง เป็นสินค้าที่ดูพรีเมียม มีผ้าถุงปาเต๊ะสีเดียวกัน เพื่อขายเป็นชุด นำเศษผ้าปาเต๊ะมาทำพวงกุญแจตุ๊กตาหมี ส่วนกระเป๋าคลัทช์สวยๆนั้นมาจากกลุ่มแม่บ้านภาค 6 จังหวัดพิษณุโลก
“อย่างสกลนครมีแม่บ้านคนหนึ่งมีพื้นฐานในการปัก ก็ขยายความรู้ให้กับแม่บ้านคนอื่น ๆ มารวมตัวกัน ช่วยกันพัฒนาสินค้า จากแม่บ้านภาค 4 ก็ไปสอนกลุ่มแม่บ้านภาคอื่นๆ ถ้าเป็นภาคที่อยู่ไกลออกไป ก็จะติดต่ออาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎ หรือสถาบันเทคโนโลยีต่างๆที่มีความรู้ด้านงานปัก
อย่างภาค 7 จังหวัดเพชรบุรี มีความโดดเด่นเรื่องงานริบบิ้น ก็ไม่ได้จำกัดว่า ทุกอย่างต้องเป็นงานปัก เป็นงานหัตถกรรมอะไรก็ได้ เป็นความภูมิใจว่า นี่คือสินค้าฝีมือแม่บ้านตำรวจ ตรงนี้คือจุดเริ่มต้น และการเริ่มต้นก็ไม่ง่าย การต่อยอดก็ไม่ง่ายยิ่งกว่าอีก ถ้าเราไม่ทิ้งค่อยๆทำไป ค่อยๆพัฒนาไป ก็เชื่อว่าสิ่งนี้จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน"
แม่บ้านตำรวจ ที่ไม่เคยคิดว่าตนเองจะมีฝีมือด้านนี้ พอได้มาเรียนรู้ฝึกฝน ก็ค้นพบว่าทำได้ และสนุกกับการทำงานฝีมือ แถมยังมีรายได้เข้าบ้าน เป็นอาชีพเสริมที่ทุกคนมีความสุข
นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ มองว่า อาชีพเสริมดังกล่าว ต้องค่อยๆทำไป เพราะต้องใช้เวลา ไม่ได้หยุดแค่งานปักเท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้ก็อยากให้อยู่ได้มีความยั่งยืน ต่อเนื่องและจริงจัง
ซึ่งงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ‘ขวัญดาว’ ณ อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก
พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด และ สุมนา กิตติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ เป็นผู้กล่าวรายงาน ร่วมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ตร. อุชัญญา ปราสาททองโอสถ และ กนกวรรณ พันธุ์เพ็ชร อุปนายกสมาคมฯ คณะแม่บ้านตำรวจ
สินค้าแบรนด์ 'ขวัญดาว' จำหน่ายที่ ‘ร้านปันรักษ์ คาเฟ่’ ทุกสาขา หรือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง https://policewives.police.go.th/
Kwandao : Sharing the Happyniess สินค้า Handmade by สมาคมแม่บ้านตำรวจ Line:@punrak IG:punrak.official โทร.086 358 3039
‘ร้านปันรักษ์ คาเฟ่’
เป็นร้านขายสินค้าของ แม่บ้านตำรวจ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ส่งมาจากทั่วประเทศ โดยร้านนี้นำกาแฟจากดอยสามหมื่นมาเสิร์ฟด้วย เนื่องจากครั้งไปดูงานโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย อดีตนายกสมาคมฯ พบปัญหาว่า ผลผลิตกาแฟที่ครอบครัวตำรวจได้ปลูกนั้นมีปริมาณมาก แต่ไม่มีแหล่งจำหน่าย ถ้าขายในรูปเมล็ดกาแฟราคาจะถูกมาก
อดีตนายกสมาคมฯ จึงคิดว่า ทำไมเราไม่เปิดร้านกาแฟขายเอง โดยไม่ผ่านคนกลาง จากที่ขายเมล็ดกาแฟได้ปีละ 2 แสนบาท พอปลูก เก็บ คั่วบด แล้วนำมาชงขายเอง ย่อมได้ราคามากกว่าถึง 10 เท่า โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ คือ True Coffee มีการลงพื้นที่ไปสำรวจแหล่งผลิตหลายแห่ง พบว่าจังหวัดเชียงรายยังผลิตได้ไม่มากพอ และเมล็ดกาแฟมีขนาดเล็ก
ส่วนที่บ้านสามหมื่น อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตเมล็ดกาแฟได้จำนวนมากกว่า กาแฟที่ร้าน ‘ปันรักษ์คาเฟ่’ จึงมาจากดอยสามหมื่นนั่นเอง
ร้านปันรักษ์ คาเฟ่ ตั้งอยู่ในกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตรงอาคารจุลละพราหมณ์ เข้าประตูรั้วอยู่ซ้ายมือ ติดถนนพหลโยธิน ร้านอยู่ติดกับโรงอาหาร ที่บุคคลภายนอกสามารถเข้าไปรับประทานอาหารเที่ยงที่นี่ได้ และมีสาขาที่อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วน กาแฟดอยสามหมื่น เป็นกาแฟที่ปลูก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,400 เมตร ถือว่าเหมาะกับการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า จุดเริ่มต้นจากชาวบ้านได้รับพระราชทานเมล็ดพันธุ์กาแฟชั้นเลิศจากในหลวง รัชกาลที่9 จนมีการส่งเสริมและต่อยอด
เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ฝึกฝนทักษะอาชีพให้กับเด็ก ๆ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ1 และผู้คนในชุมชนเล็ก ๆ บนดอยสามหมื่น อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์กาแฟจากดอยให้ผู้คนในเมืองหลวงได้ลิ้มรส