‘วศินบุรี‘ เล่าเรื่อง ‘ไอ้จุด’ และความหมายของ ‘Soft Power’ ที่ถูกต้อง
‘วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’ ศิลปินเซรามิกจับ ‘ไอ้จุด’ มาขึ้นห้างใจกลางเมือง คนปั้นหมาน้อยมีรูเล่าว่า ไอ้จุดแท้จริงเกิดจาก ‘วัฒนธรรมผิวเผิน’
ไอ้จุด ที่มาที่ไปเกิดมาราว 16 ปีแล้ว ครั้งนั้นผมแสดงงานกับเพื่อนชาวเยอรมัน คอนเซปต์เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า”
ยุคนั้นหอศิลป์เจ้าฟ้าเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งเดียวในเมืองไทย ไอ้จุดเกิดครั้งแรกเป็นเซรามิก หลังจากแสดงที่เมืองไทยแล้ว ไอ้จุดก็โกอินเตอร์ไปแสดงถึงกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี วศินบุรี ศิลปินเซรามิก ทายาทรุ่น 3 ของ เถ้า ฮง ไถ่ เล่าที่มาของ หมามีรูชื่อไอ้จุด
ไอ้จุด จัดแสดงที่เอ็มโพเรียม
“ครั้งแรกของไอ้จุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยกับเยอรมนี ผมก็ถามคนเยอรมันตอนนั้นว่ามาเมืองไทยชอบอะไรในเมืองไทย เพื่อนเป็นคนชอบหมาเลยตอบว่า ชอบหมาจรจัดในเมืองไทยหรือ street dog เพราะที่เยอรมนีไม่มี สุนัขต้องถูกเลี้ยงดูแลโดยเจ้าของที่ชัดเจน สมัยก่อนบ้านเรามีเยอะกว่าตอนนี้อีก
ไอ้จุดตัวใหญ่มาก (ภาพไอ้จุดจาก FB: Wasinburee Supanichvoraparch)
เพื่อนชาวเยอรมันบอกว่านี่คือส่วนหนึ่งของคัลเจอร์เมืองไทย ผมเลยเอามาเป็นแรงบันดาลใจ เหมือนถ้าถามคนไทยว่าเมื่อพูดถึงเยอรมนีคืออะไร เรามักจะตอบว่า เบียร์, ไส้กรอก, ปราสาทนอยชวานสไตน์ ที่วอลท์ ดิสนีย์ เอามาทำเลียนแบบ
เหมือนเป็นการมองอย่างผิวเผินที่ไม่เข้าใจกันเลย ผมเรียกว่า วัฒนธรรมผิวเผิน ที่ต่างคนต่างมอง อย่างที่ฝรั่งตอบว่าอะไรคือวัฒนธรรมเมืองไทย เขาก็ตอบว่า street dog, เด็กไว้ผมจุก ผมแกละ ผมเลยนำความเข้าใจผิวเผินเหล่านั้นมาสร้างงาน”
ไอ้จุด ที่ทอสคานา เขาใหญ่
ไอ้จุด อายุสิบกว่าปีแล้ว จัดแสดงไปทั่วโลก ไปในหลายพื้นที่ที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะในเมืองไทย ที่มิวเซียมราชบุรี จนถึงประเทศเยอรมนี
“พอเปิดหอศิลป์กรุงเทพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะร่วมสมัยที่ชัดเจนมากขึ้น ไอ้จุดก็เลยเปลี่ยนบริบท ช่วงนั้นผู้จัดแสดงก็เอาไอ้จุดไปแสดงตามจุดต่าง ๆ กระจายทั่วกรุงเทพ”
ตัวตนของไอ้จุดนอกจากถ่ายทอดวัฒนธรรมผิวเผินแล้ว ยังแสดงออกถึงความอยากรู้อยากเห็น
โรงงานเซรามิก เถ้า ฮง ไถ่ (Cr.FB: Wasinburee Supanichvoraparch)
“ไอ้จุดอาจไปยืนมองผลงานของศิลปินท่านอื่น หรือไปยืนฉี่ตามมุมกำแพง อะไรก็แล้วแต่ มันทำให้เกิดความน่าสนใจ เกิดการเรียนรู้ ไอ้จุดเปลี่ยนภาพลักษณ์เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น เกิดคำถามว่าไอ้จุดเป็นดัลเมเชี่ยนหรือเปล่า ทำไมหมาถึงมีรู...”
ใครเห็นหมามีรูก็เกิดคำถามพร้อมจินตนาการไปต่าง ๆ นานา
“ไอ้จุดครั้งแรกเป็นเซรามิก จากนั้นก็เอสซีจี เคมีคัล ได้พัฒนาวัสดุใหม่เป็นอะคริลิค ไซรัป ผมเลยมาทำงานประติมากรรม ไอ้จุดขนาดใหญ่ ยังมีวัสดุอื่น ๆ อีก เช่น ทองเหลือง ล่าสุดเป็นอัลลอย”
“ตอนหลังไอ้จุดไปอยู่ในมิวเซียมที่ราชบุรีแล้ว บางคนมาเยี่ยมไอ้จุดเพราะเป็นหมาน่ารัก เขาอาจไม่สนใจว่าทำไมมีรูด้วยซ้ำไป แต่พอการมีรูทำให้เกิดความสงสัยว่า... ทำไมหมามีจุด มีรูเพราะอะไร มันทำให้เกิดการเรียนรู้ ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ คือศิลปะเราอาจไม่เข้าใจตรงกันกับที่ศิลปินอยากสื่อก็ได้ มันอาจเป็นตัวเชื่อมให้เกิดการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างร่วมกัน”
ศิลปินเซรามิก อธิบายเพิ่มเติมว่า ใครจะมองไอ้จุดเป็นแบบไหน ไม่ผิดไม่ถูก เพราะศิลปะมีหลายแง่มุม ทั้งมุมมองของคนสร้างงานและมุมมองของคนมอง
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
“เวลาดูงานศิลปะขึ้นอยู่กับมุมมอง การตีความแบบใดก็ได้ ความคิดของผมคือระหว่างดูงานจะเกิดช่องว่างให้คนตีความ
เช่นภาพแอ็บสแตร็คท์ ทำให้เกิดการตีความมากมาย ทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างที่อาจจะเห็นด้วย คล้อยตาม เหมือนหรือแตกต่าง เป็นความรู้สึกใหม่ที่เกิดขึ้นก็เป็นไปได้
แต่ปัจจุบันการทำงานศิลปะหลายครั้ง มีเรื่องของคอนเซปต์ช่วลอยู่ด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการสื่อออกมาและสร้างความเข้าใจให้คนสามารถรับรู้ เกิดประสบการณ์ หรือคล้อยตามรูปแบบของชิ้นงานนั้น ๆ ได้”
ดังนั้น ถ้าศิลปินสร้างงานคอนเซปต์ช่วลอาร์ต หมายถึงเขามีจุดประสงค์ แต่ถ้าคนดูคิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หมายความว่าการสื่อสารไม่เข้าใจกันหรือไม่ วศินบุรี ตอบว่า
“เช่น วาดรูปสีฟ้าของท้องฟ้า แต่คนมาดูอาจหมายถึงความปลอดโปร่ง ความสบาย หรือทะเล
ผมคิดว่าสำหรับศิลปินเอง หรือถ้าผมเจอเหตุการณ์แบบนี้ผมจะรู้สึกว่ามันคือการขยายกรอบของความคิด ความเชื่อ และของสิ่งที่เราทำด้วยซ้ำไป
คำว่าขยายกรอบไม่ได้หมายความว่า มันหลุดออกจากกรอบเลย แต่หมายถึงบางสิ่งบางอย่างที่เราตีความจากความทรงจำ หรือความต้องการของเรา แต่บางครั้งถูกตีความหมายใหม่ มันอาจเป็นการสร้างบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจได้ สามารถมองในมุมมองที่กว้างขึ้นอีกก็เป็นไปได้
แต่บางครั้งงานคอนเซปต์ช่วล หรืองานที่มีคอนเซปต์ที่ชัดเจน ศิลปินอาจต้องพยายามมีเท็กซ์หรือข้อความที่สื่อสาร ที่คนอ่านแล้วเข้าใจสิ่งที่ศิลปินต้องการนำเสนอ แต่บางคนอาจเกิดจินตนาการที่ตรงกันข้ามที่ศิลปินคิดก็เป็นไปได้”
ถ้าเป็นเช่นนั้น ศิลปินจะรู้สึกผิดหวังมั้ย ในฐานะศิลปินเซรามิก ตอบว่า
“สำหรับผมไม่ผิดหวัง บางคนอาจบอกว่าเข้าใจ แต่บางคนกลับพอใจที่จะเสพกับภาพที่ปรากฏ แล้วค่อยจินตนาการต่อเอง อย่างงานแอ็บสแตร็คท์หลายรูปแบบทำให้เกิดหลายมุมมอง อาจเข้าใจไปคนละเรื่องเลย
ผมเคยสอนในมหาวิทยาลัย ผลงานของนักศึกษาบางคนผมบอกว่างานดีมาก แต่พออธิบายคอนเซปต์มา โห..ไม่อยากฟังเลย อย่างนี้ก็มี กลายเป็นคนละเรื่อง เราจินตนาการไปกว้างกว่านั้น ในอีกแง่หนึ่งการไปตีกรอบอาจทำให้ความคิดมันอยู่แค่นั้น”
ในฐานะอาจารย์ วศินบุรี ให้คำแนะนำลูกศิษย์ว่า
“เมื่อมองชิ้นงานแล้วผมบอกว่ามองเป็นอย่างนั้น มันตรงกับสิ่งที่คุณคิดมั้ย แล้วสิ่งที่ผมพูดออกมาสามารถต่อเติม เพิ่มเติม หรือขยายกรอบบางอย่างของคุณได้มั้ย แต่ถ้าไม่ตรงกับเราเลยก็บอกว่าคุณต้อง follow ความเชื่อของตัวเองนะเพราะกรอบของคุณต้องการให้คนเห็นยังไง
ผมจะไม่บอกว่าต้องเปลี่ยน แต่จะบอกว่าถ้าคิดว่าใช่แล้วขยายกรอบของคุณได้ ให้ขยายต่อไป และมันอาจเป็นกรอบที่กว้างขึ้น และทำให้คนอยู่ในกรอบของคุณง่ายขึ้น ซึ่งก็ดี แต่ถ้าสิ่งที่ผมพูดมันตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณคิดเลย ก็ต้อง follow ความคิดคุณ
เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะต่อไปวันหนึ่งถ้าบอกว่าไม่เห็นด้วยกับเรา แต่วันหนึ่งเขาอาจบอกว่าสิ่งที่อาจารย์พูดมันถูก หรือวันหนึ่งถ้าเขาเห็นด้วยกับเราแต่พอผ่านไปอาจบอกว่าสิ่งที่เคยเห็นด้วยกับมันไม่ใช่ ผมว่าต้องให้เขาเรียนรู้จากการกระทำ”
ศิลปินเซรามิก ยกตัวอย่าง งานออกแบบกาน้ำชา
“ผมจ้างนักออกแบบกาน้ำชาให้ที่โรงงาน เขาทำเป็นรูปคล้ายนกเพนกวิน มีที่จับเป็นฐานสามเหลี่ยมอยู่ข้างล่าง จงอยกาอยู่ข้างบนไว้เทน้ำชา มีที่จับเป็นสามเหลี่ยมเล็ก ๆ น่ารัก ผมบอกเขาว่าความคิดดีแต่ใช้งานไม่ได้ แต่เขายืนยันว่าใช้ได้
ดังนั้นผมก็ให้เขาทำไปเลย ยอมเสียเวลาทำต้นแบบจนเผาออกมา พอวันที่งานเสร็จออกมาจริง ๆ ผมก็ตั้งน้ำร้อนใส่กา เทให้ดู มันก็ยกขึ้นไม่ได้เพราะทั้งร้อน ลื่น และหนัก พอเคลือบออกมาเป็นแค่สามเหลี่ยมเล็ก ๆ จะยกขึ้นมาได้ยังไง
แต่ผมก็ยอมให้เขาทำทั้งที่รู้ว่าไม่ฟังก์ชั่น เพราะอยากให้เขาได้เห็นด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้อย่างจริงจัง ถ้าเกิดไม่ให้ทำจะเกิดความคาใจ จะคิดว่าน่าเบื่อ น่ารำคาญ พอคาใจคือไม่รู้ว่าถูกหรือผิด”
วศินบุรี กับผลงาน "ไอ้จุด" จัดแสดงที่ดิ เอ็มโพเรียม
วศินบุรี บอกว่า เหมือนกับตอนที่เขาเริ่มต้นทำ ศิลปะในชุมชน ที่ราชบุรี
“ผมเข้าใจไปเองว่า ถ้ามีหอศิลป์คนก็จะเข้ามาดูเอง แล้วก็พบว่าไม่ง่ายเลย เมื่อหลายปีก่อน กลายเป็นว่าคนมายืนดูไม่กล้าเข้ามา ลุงกับป้ามายืนดูบอกไม่เข้าไป เกรงใจ เมื่อก่อนนะ
แต่ปัจจุบันคนเข้าถึงศิลปะง่ายขึ้น กล้าเสพงาน อยากเรียนรู้ บางอย่างก็ต้องให้ถูกที่ถูกเวลา แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่าไม่ใช่ ซึ่งถ้าเราไม่ได้ทำตอนนั้นมันก็คาใจ”
ตอนนี้ ราชบุรี กลายเป็นเมืองศิลปะแล้ว ถ้าบอกว่าเกิดจากการปลุกปั้นของทายาทรุ่น 3 ของ เถ้า ฮง ไถ่ ก็ไม่ผิด
“ตอนนั้นมาเร็วไป ผิดจังหวะ ผิดเวลา อะไรก็แล้วแต่ ถึงตอนนี้ผมนำศิลปะเข้าไปในชุมชน กลายเป็น ปกติศิลป์ เราไปแสดงงานในพื้นที่ของชาวบ้าน ร้านโชวห่วย ร้านทำผม เรือโดยสารข้ามฟาก รถทัวร์ ร้านข้าวหมูแดง แต่ก่อนไม่มีคนรู้จักกลายเป็นร้านที่มีคนมาชิม มาถ่ายทีวี
ยังนึกย้อนว่าถ้าเราทำครั้งแรกแล้วประสบความสำเร็จง่าย เปิดหอศิลป์ปุ๊บคนมาดู มันอาจไม่เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางอย่างที่ควรจะเป็นเหมือนตอนนี้ ก็เป็นไปได้ ผมคิดว่าอาจถูกแล้วที่เราทำพลาดในวันนั้น”
ทุกวันนี้ ราชบุรี ไม่ใช่เมืองทางผ่านอีกต่อไป หลายฝ่ายเรียกร้องให้จัดงานบ่อย ๆ ทำให้ราชบุรีเป็นเมืองศิลปะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลักดันให้เป็น Soft Power
“พูดเรื่อง Soft Power มีเรื่องคุยกันยาว หลังจากไปเสวนาเรื่อง Soft Power ที่อาจใช้และเข้าใจผิดมาตลอด (งานเสวนาวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) มีอาจารย์ นักวิชาการ ร่วมเสวนา
วศินบุรี ร่วมงานเสวนาเรื่อง Soft Power ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ
นักวิชาการบอกว่า ความหมายของ Soft Power เราเข้าใจคลาดเคลื่อนมาตลอด ตามหลักวิชาการหมายถึง การแสดง หรือการกระทำบางอย่างที่ไม่ใช้กำลังทหาร ที่ตรงกันข้ามกับ Hard Power เพื่อให้ประเทศใดประเทศหนึ่งคล้อยตาม เกิดความคิดความรู้สึกกับอีกประเทศหนึ่ง
ดังนั้นการใช้ Soft Power ใช้ในแง่บริบททางการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น เอาจริง ๆ ข้าวเหนียวมะม่วง ไม่ใช่ Soft Power เลย อาจเรียกว่าคัลเจอร์มากกว่า”
ตอนนี้คนไทยเข้าใจความหมายของ Soft Power เพี้ยนไปหมด แล้วจะแก้ไขอย่างไร
“อาจเป็นความคล้อยตามทางภาษา หรือการบิดเบือนทางภาษา อาจารย์บอกว่าความหมายทางวิชาการไม่สามารถบิดเบือนได้ บางครั้งภาษาเราดิ้น อย่างตอนนี้คนไม่เรียกผลไม้ว่า “แห้ว” ไปเรียกอีกอย่างหนึ่ง”
ความเข้าใจผิดกลายเป็นความหมายใหม่ แล้วยกให้ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้นแบบ
วศินบุรี ทายาทรุ่น 3 เถ้า ฮง ไถ่
“เกาหลีเริ่มจากยุคหนึ่งเป็นเผด็จการ รัฐบาลก็พยายามบอกว่าเป็นรัฐประชาธิปไตย จึงพยายามสร้างหนัง ดนตรี บอกบางอย่างกับโลกว่าเราเปลี่ยนไป ยุคนั้นคือ Soft Power
หรือกมลา แฮร์ริส มาเดินตลาด อตก. ก็เป็น Soft Power อย่างหนึ่ง เป็นวิธีการแสดงออกให้เห็นว่า ขนาดรองประธานาธิบดีอเมริกา ให้ความสนใจกับคัลเจอร์ของเรา แต่ไม่ใช่กะปิ น้ำปลา เป็น Soft Power
ปัจจุบัน Soft Power เป็นเรื่องของผลประโยชน์ การขาย จากหนังเกาหลีมีคัลเจอร์ สอนให้คนกินกิมจิ หนังเกาหลีก็ไม่ใช่ Soft Power แล้ว หากเป็นการค้า การพูดถึงวัฒนธรรม จริง ๆ เกาหลีไม่ได้อยู่ในอันดับประเทศที่ใช้ Soft Power เลยนะ อันดับแรกคืออเมริกา เยอรมนี”
จึงพูดไม่ได้ว่า ช่วยกันผลักดันให้ราชบุรีเป็น Soft Power ด้านเมืองศิลปะ ส่วนคนราชบุรีแท้ ๆ ศิลปินเซรามิก ไม่เคยคิดถึง Soft Power แม้กระทั่งเรื่องการท่องเที่ยว
“ผมกำลังจะทำงานศิลปะในชุมชนอีกครั้งหลังจากหยุดมานาน เราวางแผนจัดบนภูเขาแก่นจันทร์ ที่ราชบุรี ต้องขึ้นเขา 2 กิโล ไปชมงาน ต้องเดินหน่อย ทางชันด้วยแต่จะมีรถขึ้นเขา อยากให้คนเดินดู ได้ออกกำลังกายด้วย จะจัดเดือนมกราคม ปีหน้า นับเป็นพื้นที่สเปซอาร์ตครั้งแรกของเมืองไทย
ไอ้จุด หมามีรู กับคนสร้างไอ้จุด
และจะมีงานที่ MOCA สาขาที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ เอาเครื่องหนังมาผสมกับเซรามิก จริง ๆ ผมสนุกกับการทำเซรามิกมากนะ และบางครั้งก็ได้ทำอย่างอื่นด้วย เกิดการเรียนรู้และขยายกรอบของเรา ทำงานได้มากขึ้นด้วย สนุกดี”