‘บัญชา ฉันทดิลก’ ‘สุขรักษ์โลก’ ปี 2 ห้ามร้านค้าใช้ภาชนะพลาสติก
‘SOOKSIAM สุขรักษ์โลก’ ปี 2 เข้มข้นขึ้น เมื่อ ‘บัญชา ฉันทดิลก’ ประกาศ..หากร้านค้าใดไม่เปลี่ยนเป็น ‘บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก’ ยังใช้พลาสติกอยู่ ต้องตัดใจขอเชิญออก...
โครงการ SOOKSIAM สุขรักษ์โลก ปี 2 เดินหน้าต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และทวีความเข้มข้นขึ้น โดยกรรมการผู้จัดการ โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ ไอคอนสยาม คุณบัญชา ฉันทดิลก ประกาศเอาจริง หากร้านค้าใดไม่เปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ต้องตัดใจขอเชิญออก ให้เวลาถึงสิ้นปี 2566
ปีนี้ สุขสยาม ชวนทุกคนเปลี่ยน ขยะอาหาร ให้เป็นปุ๋ย อันเป็นทางเลือกในการกำจัดขยะอาหารที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ลูกค้า ร้านค้า ต้องร่วมด้วยช่วยกัน
คุณบัญชา ฉันทดิลก เปิดโครงการสุขสยามรักษ์โลก ปี 2
คุณบัญชา ฉันทดิลก เล่าถึงโครงการ SOOKSIAM รักษ์โลก ว่า
“ปีแรกเราคิดถึงการปลูกต้นไม้ทดแทน การรักษาแหล่งน้ำ ป่า พืช ทั้ง 4 ภาค ให้เป็นจิตสำนึกของคนไทยและชาวต่างชาติที่มาเยี่ยมเยียนเรา แต่ละวันมีลูกค้า 2-3 หมื่นคน”
ปีแรก คุณบัญชา บอกว่าได้เสียงตอบรับดีมาก พร้อมได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรหลายองค์กร
“เช่น SCG นำภาชนะที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เยื่อไม้มันสำปะหลัง ซังอ้อย ข้าวโพด ต้นยูคาลิปตัส เอามาทำจานกระดาษที่ย่อยสลายได้ แทนการใช้พลาสติกจากน้ำมันปิโตรเลียมที่กว่าจะย่อยสลายอาจเป็นหลายร้อยปี
เครื่องย่อยสลายเศษอาหาร
ธนาคารกสิกรไทย ช่วยพัฒนาสินค้า จัดอบรมผู้ประกอบการ ทำให้เกิดสำนึกรักษ์บ้านเกิด เราทำแบบนี้มาทั้งปี เมื่อต้นปีมีผลิตภัณฑ์โอทอป นำใยผ้าไหม ใยบวบ ใยมะพร้าว มาทำสินค้าที่ระลึก เส้นใยทำแพ็คเกจจิ้ง เราทำต่อเนื่อง”
เมื่อเดือนกรกฎาคม สุขสยามรักษ์โลก ปี 2 ประกาศ...เปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ย ทางเลือกในการกำจัดขยะอาหารที่ยั่งยืน
“เรามองว่าสิ่งใกล้ตัวที่สุดของเมืองสุขสยาม คือเรื่องอาหาร ที่ผู้ประกอบการผลิตและขายให้ลูกค้า ทำให้เกิดเศษอาหารมากมาย แต่ละวันน่าจะเกิน 1 ตัน ดูจากรถขยะของ กทม.เขตคลองสานมาเก็บไป เอาไปฝังกลบหรือเผาหรืออะไรก็แล้วแต่ วันหนึ่งมารถหกล้อ 2 คัน ๆ หนึ่ง 6 ตัน ตกเกือบ 12 ตัน
ถุงผ้า
ใน 12 ตัน มีเศษอาหารจากการบริโภค และเศษอาหารเหล่านี้ไม่สามารถเอาไปย่อยสลายได้ เพราะมีพวกชิ้นกระดูก แพ็คเกจที่ติดไปกับเศษอาหาร ทั้งจาน ชาม ช้อนส้อม แก้วซึ่งต้องแยก
เราคำนวณกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดูว่า เศษอาหารเอาไปทำอะไรได้บ้าง แล้วถ้าทำทันทีได้ด้วยเครื่องมืออะไร มีหลายหน่วยงานทำวิจัยบอกว่า ใช้เทคโนโลยีย่อยสลายเศษอาหารเอามาทำปุ๋ยอินทรีย์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพียงใช้วิธีบด อบ หรือใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย”
ให้ความรู้เรื่องแยกขยะ
ขยะอาหารล้นโลก เป็นปัญหาระดับโลก ในแต่ละปี อาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกต้องกลายเป็นขยะอาหารที่ทิ้งไปอย่างสูญเปล่า
สำหรับประเทศไทย กว่า 60% ของขยะมาจากขยะอาหาร คนไทย 1 คน สร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อดิน น้ำ อากาศ เกิดการย่อยสลายกลายเป็นก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 27-30 เท่า
“โครงการรักษ์โลกปีที่ 2 จึงเน้นไปที่ ขยะอาหาร จากที่เราศึกษาพบว่า ขยะอาหาร 1 ตัน ในแต่ละวัน เอามาย่อยสลายโดยใช้เครื่องมือ เช่น ใช้จุลินทรีย์ หรือใช้ความร้อนอบและใช้การหมุนเหวี่ยง ตัด บด ต่าง ๆ สามารถทำเป็นปุ๋ยได้วันละกี่กิโล และเอาไปทำอะไรได้บ้าง
คณะวิศวกรรมและนักวิจัยจากจุฬาฯ เป็นสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน โดย ดร.โอ - พิสุทธิ์ เพียรมนกุล บอกว่า เศษอาหารที่เกิดจากการบริโภคของคนเราเอามาย่อยสลายแล้วทำเป็นปุ๋ยได้ประมาณ 25% จากเศษอาหาร
ย่อยสลายเศษอาหารกลายเป็นดิน
ถ้าใส่ร้อยกิโลออกได้ 25 แล้วเป็นปุ๋ยโดยตรง ใช้เวลา 18-24 ชม. เราก็สนใจมาก คิดว่าถ้าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สามารถช่วยเหลือรัฐบาล ผู้ประกอบการ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น โดยเป็นส่วนกลางในการรับผิดชอบขยะ หรือเศษอาหารที่เกิดขึ้นในสุขสยาม เราน่าจะเป็นคนนำเศษอาหารที่เกิดขึ้นย่อยสลายเองได้มั้ย เลยเป็นโครงการสุขรักษ์โลก ปีที่ 2
เราใช้คำว่า สุขเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนขยะเศษอาหาร เป็นอาหารเพื่อบำรุงพืช”
เมื่อเปิดตัวโครงการ ผู้บริหารไอคอนสยาม พร้อมตั้งมั่นเอาจริง
ปุ๋ยอินทรีย์ดีต่อต้นไม้
“จากขยะอาหารทำปุ๋ยแล้วนำไปมอบให้ กปร.เป็นโครงการในพระราชดำริ มี 6 โครงการ ซึ่งนำปุ๋ยไปส่งมอบให้ชุมชน ให้เกษตรกร เป็นอาหารพืชต่อไป”
โครงการคัดแยกขยะอาหารมาทำปุ๋ย ใช้เครื่องย่อยสลาย 2 แบบ
“เราเลือกใช้เครื่องย่อยสลายที่ได้รับการพิสูจน์จากหลายหน่วยงานว่า สามารถใช้ได้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการพลังงานที่เราใส่เข้าไป วิธีที่ 1 ใช้จุลินทรีย์ ให้จุลินทรีย์กินเศษอาหาร หลังจากกินแล้วมันจะขับถ่ายมา ชีวิตของจุลินทรีย์สั้น กินอาหารขับถ่ายมาก็ตาย จุลินทรีย์ใหม่ก็เกิดขึ้นมาใน 24 ชม. กระบวนการย่อยโดยจุลินทรีย์เสร็จแล้วได้ปุ๋ย แล้วเอามาอบแห้งในเครื่องนั้นเลย โดยใช้วิธีหมุนปั่นและใช้ความร้อน 30-40 องศา ในเวลา 24 ชม.เพื่อไล่น้ำออกไป
วิธีที่ 2 คือ คลุกเคล้า บด อัด ปั่น เพื่อให้น้ำในเศษอาหารออกไป เหลือเศษอาหารที่แห้งแล้วอบปั่นอีกที กระบวนการใช้เวลา 18 ชม. ใช้ไฟฟ้า 60-80 องศา เครื่องที่นำมาทดลองใช้เพื่อให้เหมาะสมกับเวลา ที่อาจารย์วิจัยมาแล้วคือ ในรอบ 1 วัน ควรใช้ 2 ครั้ง
ใส่อาหารเข้าไปในเครื่อง 250 ลิตร ให้เดินเครื่องในเวลา 18 ชม. อีกเครื่องหนึ่งเราก็ใส่เศษอาหารเข้าไปให้ทำงาน ในกระบวนการทั้งหมดจะต้องใช้เครื่องในการย่อย 4 เครื่อง ตอนนี้เราทดลองใช้ระบบบดอัดและใช้ความร้อน อีกเครื่องใช้จุลินทรีย์ ได้ปุ๋ยออกมาในปริมาณใกล้เคียงกัน
หลายคนถามว่าทุกวันมีปุ๋ย 250 กิโลฯ ถ้าย่อยวันละเป็นตันเอาไปทำอะไร ผมบอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม พืชกินอาหารทุกวันส่วนใหญ่จากปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ในอนาคตดินก็เสีย แหล่งน้ำธรรมชาติถูกน้ำที่มีสารเคมีไหลซึมสู่ธรรมชาติ ทำไมเราไม่สำนึกตั้งแต่วันนี้ เปลี่ยนมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์แล้วส่งต่อปุ๋ยให้ชุมชนต่าง ๆ”
ผู้ดูแลโครงการ สุขสยามรักษ์โลก
ปุ๋ยล็อตแรกส่งมอบให้ กปร.เพื่อส่งไปยังโครงการในพระราชดำริห้วยทราย คนปลูกต้นไม้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ทำลายแหล่งน้ำ ดิน ป้องกันการเกิดก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ปลูกพืชผักได้ผลดี คนกินก็ได้อาหารปลอดภัย
“อย่างไรก็ตาม คนที่ช่วยเราคือผู้ประกอบการ ร้านค้า ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่อง เป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน เราประชุมเรื่องนี้มา 4 เดือนแล้ว พอได้เงินสนับสนุนมาเราก็ซื้อได้ 4 เครื่อง”
คุณบัญชา เสริมว่า เครื่องย่อยสลายเศษอาหาร หลายหน่วยงานในเมืองไทยใช้แล้ว เช่น ศูนย์สิริกิต, รพ.เมดพาร์ค, คอนโด, ศูนย์อาหาร, ภัตตาคาร ฯลฯ
ถุงผ้าอัพไซเคิล
“วันนี้ผมเชื่อว่ามี 20-30 บริษัทที่ใช้ เขารักษ์สิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม ผมทำโครงการนี้ไปพูดไป ผมต้องการให้คอนโดฯ ที่ขายที่ดินบนอากาศ ได้กำไรจากการขายห้อง คอนโดหนึ่งมีคนอยู่เป็นร้อย ๆ คน ดังนั้นเขาต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บ้านหลังหนึ่ง 100 ตารางวา คนอยู่ไม่เกินสิบคน แต่คอนโดหนึ่งอยู่กันกี่ร้อย เขาต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า พอทิ้งขยะเศษอาหารไม่ใช่แค่มีกลิ่น แต่เมื่อเอาไปฝังกลบเกิดก๊าซมีเทน
ผมจะพูดเรื่องนี้ทุกวัน พูดจนถึงสิ้นปีเลย พวกคอนโด โรงแรมที่มีชาวต่างชาติมาพักก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อบ้านผม”
เช่นเดียวกับร้านค้าในสุขสยาม เรื่องใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนคือ บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร
“เราบรีฟเขาเยอะ และต้องให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม ตั้งแต่วิธีทำอาหาร เช่น ต้มเล้งต้องสับกระดูกให้เล็กลง เคยต้มซี่โครงไก่ทั้งโครงต้องสับให้เล็กลง เคยปอกมะม่วงเอาเม็ดทิ้งต้องเก็บเม็ดไปทิ้งเอง เพราะมันย่อยไม่ได้จะใช้เวลานาน ต้องส่งแค่เปลือกมะม่วงเท่านั้น
ทุเรียนที่นี่ขายดีมาก ต้องสับเปลือก ถ้าไม่สับผมให้เขาใส่ถุงปุ๋ยให้เขาไปสับที่โรงงานหรือในสวนของเขา
ภาชนะรักษ์โลก
ตอนนี้ขวดต่าง ๆ ผมก็บด กล่องกระดาษส่งขายซาเล้ง ผมทำทุกอย่าง เพราะรถขนขยะมาที่เมืองสุขสยาม ชั้น G ทุกอย่างต้องมาแยก ใครยังใช้จานพลาสติกผมปรับ ใช้ปริมาณเกินเท่าไหร่ ถ้าใช้เกิน 1 โลผมปรับ 60 บาท
คือคุณต้องจ่ายส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องจ่ายให้กับพ่อบ้านที่เขาคอยแยกขยะ ถ้วยพลาสติกที่ใส่น้ำผมให้เปลี่ยนเป็นถ้วยกระดาษ ถ้าไม่เปลี่ยนผมจะเก็บถ้วยยี่ห้อของคุณมาชั่งกิโลแล้วปรับเลย
แล้วถ้าเขาไม่ยอมจ่ายเขาต้องไม่ขายในสุขสยาม เขาต้องออกไป เป็นข้อตกลงกัน คุยกันมา 3 เดือนแล้ว ในการรักษ์โลกเราต้องเปลี่ยน ตัวตนของเราอะไรที่ทำให้เกิดขยะเราต้องแก้”
ถ้วยกระดาษ
แต่บางเรื่องก็ยาก เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีพลาสติกห่อหุ้มด้วยอยากโชว์สินค้าข้างใน
“ถ้าเขาอยากขายของต้องร่วมมือกัน พอปีที่ 3 เราจะเข้มข้นกว่านี้ ปีหน้าถ้าคุณใช้วัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เอามาใช้เป็นแพ็คเกจจิ้ง คุณจะไม่ได้ขายในเมืองสุขสยาม
ถ้าร้านค้าไม่ทำเราต้องยอมตัดใจไม่ให้เขาอยู่กับเรานะ ถึงแม้ว่าจะไม่มีสินค้าเราก็ต้องพยายามหาคนอื่น ใช้วิธีประนีประนอมในกี่วัน เราตั้งไว้ ต้อง 1 เดือนมั้ย หรือ 2-3 เดือน ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ให้เขาพิจารณาก่อนแล้วค่อยปรับถึงขั้นเชิญออก แล้วถ้าเขาปรับตัวได้ก็กลับเข้ามาใหม่”
บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
ยังมีอีกหลายวิธีการประนีประนอม ปรับตัวเข้าหากัน
“หรือถ้าใส่กล่องใสมา ต้องพิสูจน์ได้ว่ากล่องใสทำจากวัสดุรีไซเคิล ถ้าไม่ได้คุณต้องใช้กล่องกระดาษ ใช้ใบตอง เชือกกล้วย เพราะเราเป็นเมืองสุขสยาม คือสร้างความสุขให้ผู้มาเยี่ยมเยือน
ใบตองย่อยสลายได้
ที่เราพบปัญหาตอนนี้คือ 1.อาหารแห้งที่เป็นแพ็คเกจฟู้ด เช่น ปลาแห้ง หมูหยอง หมูแผ่น ไม่ยอม ผมบอกว่าสงสัยผมจะไม่ขายพวกนี้แล้ว เขาไม่ยอมเปลี่ยนบอกว่าสินค้าเขาต้องโชว์ ต้องใช้พลาสติก
เราก็มีออพชั่นให้เขาเลือกคือ ผมให้เขาใช้ถุงกระดาษที่มีช่อง คือเป็นกระดาษ 70% อีก 30% เป็นพลาสติก โชว์ด้านหน้าหน่อยหนึ่ง ไม่ใช่โชว์ทั้งหน้าทั้งหลัง
2. ถ้วยใส่กาแฟเย็น ใส่น้ำปั่น เจรจาอยู่ให้เป็นถ้วยเทียน ตอนนี้มีคนพูดว่า พลาสติกใสย่อยสลายได้ ต้องฟังให้ดี ๆ นะ ดร.โอ สอนผมว่าย่อยสลายได้หมายถึงเอาภาชนะนี้ไปย่อยเพื่อเอาไปทำพลาสติกเกรด 2-3-4 เอาไปย่อยสลายทันทีไม่ได้นะครับ ไม่ใช่ย่อยสลายไปกับดินอย่างที่เราคิดกัน
คำว่า “ย่อยสลาย” ของพลาสติกคือเอาไปรียูส รีไซเคิล เป็นพลาสติกเกรดรองลงไป เรื่องนี้ประชาชนไม่เข้าใจ ให้ดูเครื่องหมายที่ก้นถ้วย ต้องศึกษากันจริงจัง
ผมยกตัวอย่างที่ดีคือ กาแฟร้านอินทนิล เขารับถ้วยพลาสติกคืนเพื่อส่งต่อให้กรมป่าไม้ เขาบอกว่าถ้วยพลาสติกเขาใช้เวลาย่อยสลาย 10 ปี เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ แต่ส่งต่อให้กรมป่าไม้ เพื่อไม่ต้องซื้อถุงดำในการปลูกกล้าไม้ เขาก็เจาะรูที่ก้นถ้วยใส่ต้นไม้ลงปลูก”
ผู้ดูแลโครงการรักษ์โลก ยกอีกหนึ่งตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่ใช้ถ้วยกระดาษอัดเทียนใส่กาแฟเย็นได้
แคมเปญ "รักษ์โลก เริ่มที่เรา"
“ผมบอกว่าเขาใส่ของเย็นได้แล้วทำไมคนอื่นใช้ได้ทำไมคุณใช้ไม่ได้ ผมเรียกร้านค้ามาถามเขาก็ตอบไม่ได้ ถ้วยกระดาษราคาถูกกว่าถ้วยพลาสติก ถามว่าสวยมั้ย ไม่สวย แต่ลดโลกร้อน อยู่ที่จิตสำนึกไง”
นอกจากให้ร้านค้าเปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแล้ว ในฐานะลูกค้าเดินห้างก็ต้องเรียนรู้วิธี how to ทิ้ง ด้วย
ถังขยะ 4 แบบให้ how to ทิ้ง
“ตอนนี้มี 4 ถังขยะ แยกเป็นขวดแก้ว ขวดพลาสติก จานกระดาษ เศษอาหาร และอื่น ๆ เช่น พวกเส้นใย ภาชนะทำจากไฟเบอร์ เซรามิก
เรื่องการทิ้งของลูกค้า ไม่ได้เรื่องเลย มีแต่ชาวต่างชาติที่รู้จักแยกขยะ คนจีน อินเดีย ไม่หันมามองเลย ทิ้งไปเลย ผมสังเกตดูนะ สุขสยามมีลูกค้าทุกชาติ ถังขยะ 4 ถังมีภาษาอังกฤษ ไทย จีน ฝรั่งเท่านั้นที่แยก เทเศษอาหารลงถังหนึ่งก่อนแล้วเหลือภาชนะ ถ้าเป็นกระดาษเขาทิ้งลงถังกระดาษ เป็นพลาสติกก็แยกลงถังพลาสติก ผมคิดว่าอยากให้ของชำร่วยเขาเลย
คุณบัญชา ฉันทดิลก
ในขณะที่คนไทยไม่สนใจ เหมือนไม่ใช่หน้าที่ เก็บไปทิ้งยังไม่เก็บเลย กินเสร็จวางตรงนั้น แต่ไม่เป็นไรเราก็พูดไป เอดดูเคทไปเรื่อย ๆ แม้ต้องใช้เวลานาน”