'มนุษย์แม่' ที่ทุกคนต้องการ คือ คนธรรมดา?
การล้อมวงคุยกันถึงนิยามความคิดและมุมมอง 'ความเป็นแม่' ของคุณแม่ทั้ง 3 แบบ 3 ท่าน ว่ามีทัศนคติอย่างไร คนเป็นแม่ในยุคสมัยนี้จะต้องเป็นแบบไหน
ความเป็นแม่ ที่ไม่ได้มีแค่ด้านโรแมนติก หรือ Unromantic Motherhood เป็นหัวข้อในงานเสวนา Mirror Talk Special ที่พูดคุยกันถึง ความเป็นแม่ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ณ Slowcombo สามย่าน
บรรยากาศภายในงาน มีหลายครอบครัวมาร่วมฟัง เป็นงานเสวนาที่เข้มข้น ได้ความรู้ จากการพูดคุย วิเคราะห์ แสดงความคิดเห็น จากคุณแม่ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่
- ต่าย-ชุติมา ทีปะนาถ ดารา นักแสดง คุณแม่ของน้อง พิพิม
- ลัดดา อารีย์วงษ์ คุณแม่ของ บุญรอด ครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์
- คุณหมอ โอ๋-พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน
Cr. Kanok Shokjaratkul
- คุณแม่รุ่นใหม่ หัวใจชิล ๆ
ต่าย-ชุติมา ทีปะนาถ คุณแม่ของน้อง พิพิม กับคุณพ่อ ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวว่า เลี้ยงลูกด้วยความเป็นเพื่อน
"เราเป็นแม่ที่ชิล อยากให้คุยกันได้ทุกเรื่อง น้องพิพิมเป็นเด็กเลี้ยงง่าย
ตอนท้องก็ไม่ได้รู้สึกอะไร กลัวการคลอดลูก พอถึงเวลาจริง ๆ ก็ทำได้เอง ด้วยความเป็นแม่ ความเป็นห่วงลูกเริ่มต้นตั้งแต่วินาทีแรกที่คลอดออกมา เขาร้องไห้ เราน้ำตาไหลเลย คิดว่า เขาเจ็บอะไรไหม
ไม่มีคำว่า แม่ที่เพอร์เฟกต์ เพราะว่า Nobody Perfect ทำทุกวันให้ดีที่สุด เจออะไรก็แก้ปัญหากันไป อยู่กับความจริง
อยากจะแชร์เรื่อง ค่านิยมในสังคม ที่เขาบอกว่า แม่ต้องให้นมลูกจน 2 ขวบ เราปั้มนมวันละ 8 ครั้ง มีนมเป็นพันถุงแช่ในตู้ ทำแล้วเครียดมาก
ให้นมอยู่ปีกว่า ซึ่งตามที่คุณหมอแนะนำคือ 6 เดือน เราไม่ต้องไปทำตามค่านิยมทุกอย่างก็ได้ ทำอะไรที่ดีที่สุดที่เป็นแบบเราดีกว่า และอย่าไปเครียดมาก
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตอนแยกบ้าน ลูกไม่อยู่ก็กังวล เขาจะถูกเลี้ยงยังไง โดนสอนอะไร เราเป็นห่วงทุกเรื่อง เครียดจนต้องไปปรึกษาหมอ หมอตอบว่า ทำของเราให้ดีที่สุด ทำให้เต็มที่ เราทำได้แค่นี้ จะเป็นยังไงก็ต้องปล่อย
เราเลี้ยงลูกแบบวิเคราะห์ให้เป็น เวลาสอนจะไม่บังคับ ไม่บอกว่าอันนี้ดี ต้องทำ แต่จะไกด์เขามากกว่าว่า ลูกคิดว่าแบบนี้มันดีไหม ถ้าทำ ดีกับตัวหนูไหม ดีกับสังคมไหม
พอเขาวิเคราะห์ได้มันจะเป็นพื้นฐานของทุก ๆ เรื่อง เวลาเขาจะทำอะไร เขาจะคิดก่อนว่ามันดีกับตัวเขาไหม มันเดือดร้อนคนอื่นหรือเปล่า การปลูกฝังความคิด มันจะอยู่กับเขาตลอด
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นแม่ ทำให้เรารู้ว่า แม่รักเราขนาดไหน ตอนไม่มีลูกก็ไม่รู้ พอมีลูกก็รู้ว่าแม่เรารู้สึกแบบนี้ ความรัก ความเป็นห่วงลูก มันยิ่งใหญ่มาก
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตอนแรก ๆ เราติดลูกมาก อยู่ด้วยกัน 24 ช.ม.ไม่ละสายตาเลย พอลูกไม่อยู่ ก็ต้องปรับตัว ตอนนี้เขา 7 ขวบ เราเน้นพูดความจริง ทำไมต้องอยู่สองบ้านว่า คุณพ่อทำงานที่หนึ่ง คุณแม่ทำงานที่หนึ่ง เขาก็เข้าใจ แล้วก็อธิบายข้อดี พิพิมมีสองบ้านเลยนะ
ครอบครัวสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ เป็นเรื่องปกติ แบบนี้มันดีที่สุดแล้วสำหรับทุกคน ลูกไม่ได้ผิด ไม่ได้มีใครผิด
สัจธรรมคือ มีทุกข์ก็ต้องมีสุข ทั้งทุกข์และสุข มาแล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป พยายามดึงข้อดีมาจากความทุกข์ดีกว่า
กับโลกออนไลน์ พิพิมยังเป็นวัยที่ดูอะไรไม่มาก แต่เราก็เตรียมพร้อม เพราะเราเจอมาตลอด รู้สึกว่าไม่ต้องแคร์คนนอก เพราะคนที่แคร์เราจริง ๆ คือคนในครอบครัว คนใกล้ชิด เท่านั้นที่รู้ว่าความจริงคืออะไร สิ่งต่าง ๆ ในโซเชียลให้มันผ่านไป หรือไม่ต้องไปดูมันเลยด้วยซ้ำ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ความเป็นแม่ ไม่มีขอบเขต
ลัดดา อารีย์วงษ์ คุณแม่ของ บุญรอด ครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์
"น้องบุญรอดมีความพิเศษทางร่างกายด้านเคลื่อนไหว แล้วก็เป็น LGBT ด้วย พอคลอดออกมา ความคิดเราเปลี่ยนไปหมด เพราะมีภาวะไม่ปกติ
ความเป็นแม่อาจจะแตกต่างจากแม่คนอื่นทั่วไป ต้องเพิ่มความรัก ความเอาใจใส่ ยากทุกอิริยาบถ ยากทุกขั้นตอน
คนอื่นอาจจะมองว่าเราเป็นแม่ที่เพอร์เฟกต์ แต่แม่มองว่ามันธรรมดา เราเลี้ยงให้เขาเติบโตไปมีอาชีพ ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่เป็นภาระให้คนรอบข้าง
ปัจจุบันนี้ปัญหาที่มันเกิดขึ้น ส่วนมากเริ่มจาก ครอบครัว ยิ่งเด็กที่มีความพิเศษทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือ LGBT เรายิ่งต้องเติมเต็ม ให้กำลังใจเขา
การดูแลลูกที่มีความพิเศษทางด้านร่างกาย และไม่แข็งแรง ครอบครัวต้องมองโลกในแง่บวก เพราะถ้ามองโลกแง่ลบ เราจะท้อแท้
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราให้เขาเรียนโรงเรียนปกติ เขาจะได้แข็งแกร่งทำตามเพื่อน ๆ ได้ ตอนม.ปลายโดนบูลลี่ แม่บอกว่า ไม่ต้องไปสนใจคำพูดคนอื่น ใช้ชีวิตให้มีความสุข ทำทุกอย่างที่ทำได้ เขาเลยกล้าทำทุกอย่างที่อยากทำ
เราไม่คาดหวังอะไรลูกเลย เราทำให้เขาเกิดมา แต่การใช้ชีวิตเขาต้องสร้างด้วยตัวเอง เลือกทางเดินเอง ยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้ คนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้
พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับหนูตลอดชีวิต อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ลองทำหรือยัง
อยากบอกคุณแม่ทุก ๆ คนที่มีลูกแบบแม่ว่า ต้องพาลูกไปเจอสังคมภายนอก อย่าเก็บเขาไว้ในบ้าน เขาจะไม่กล้าทำอะไรเลย จะกลัว หรือดูแล 24 ชั่วโมงก็ไม่ใช่
เวลาแม่กับบุญรอดไปเดินตามห้าง จะมีคนมองแล้วซุบซิบนินทา เด็กจะรู้สึกว่าเราผิดปกติตรงไหนเหรอ แม่บอกว่า หนูไม่ผิดปกติ แต่เขาผิดปกติ เพราะเขาไม่รู้ว่าหนูเป็นอะไร หนูไม่ได้เป็นสิ่งแปลกอะไรในสังคม ก็เหมือนคนทั่วไป
พอเป็นวัยรุ่น เขาเริ่มไม่ชอบผู้หญิง จะชอบผู้ชาย แม่ตอบว่า ชอบได้แต่อย่าทุ่มเท ต้องเผื่อใจไว้ว่าคิดไปเอง สังคมก็ไม่ได้ยอมรับขนาดนั้น ไปอยู่กับเขา ตัวเขารับได้ แต่คนรอบข้างเขารับหนูได้ไหม ไม่อยากให้หนูเป็นทุกข์ เราคุยกันทุกเรื่องไม่ปิดบังกัน ปัญหาในครอบครัวก็จะไม่เกิด
เขาเกิดมาแบบนี้ แม่ก็พยายามเติมเต็ม บุญรอดอาจคิดว่าเขาไม่ได้ขาด ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าเขาอยากให้ทำหรือเปล่า มันไม่มีขอบเขตความเป็นแม่หรอก"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ความเป็นแม่ของมนุษย์ ที่เป็นคนธรรมดา
คุณหมอโอ๋ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่า ตัวเองเป็นแม่ที่มีความเป็นมนุษย์ธรรมดามาก ๆ
"เราเป็นคนรักตัวเอง และรักลูกแบบพอเพียง ลูกเป็นเด็กร่าเริงสดใส มีความสุขในตัวเอง มีพลังข้างในที่ดี
ตั้งใจว่าจะเป็นแม่ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต เขาจะรู้ว่ามีเราอยู่ มีอะไรก็มาเล่าให้เราฟัง
ความเป็นแม่ของเราเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูแล้วก็ผูกพันไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่รักแรกพบ เพราะความรักของมนุษย์เป็นเรื่องที่กะเกณฑ์อะไรไม่ได้
จริง ๆ แล้ว เด็กไม่ได้เรียนรู้จากแม่ที่สมบูรณ์แบบ หรือเป็นนางฟ้าตลอดเวลา มันไม่เคยมีมนุษย์คนนั้นจริง ๆ ในโลก
เด็กเรียนรู้ผ่านแม่ที่มีความเป็นมนุษย์ปกติธรรมดา โมโหก็โกรธ โกรธแล้วรู้สึกผิด ก็ขอโทษลูก เสียใจก็ร้องไห้
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราทำเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ไม่ได้ตั้งใจว่า จะให้คนอื่นมาเลี้ยงลูกเหมือนเรา เราแชร์สิ่งที่เป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์
เราเป็นหมอวัยรุ่น ที่เห็นว่าปัญหาวัยรุ่นจริง ๆ มาจาก การเลี้ยงดูในวัยเด็ก อยากให้พ่อแม่ลงทุนกับการเลี้ยงดูในช่วงต้นของชีวิต จะได้ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหา
คลินิกวัยรุ่นตอนนี้คิวยาวมาก 80-90 % ของเด็กที่มา ซึมเศร้า วิตกกังวล
ค่านิยมในสังคมปัจจุบันคาดหวังกับความเป็นแม่สูงมาก กระทั่งเรื่องให้นม คนที่ไม่มีนมให้ลูก หรือไม่ได้ปั้มนมให้ลูก เป็นแม่ที่ไม่เสียสละ เห็นแก่ตัว
หมอเคยปั้มนมใส่ตู้แช่ แล้ววันหนึ่งไฟดับ ทำให้คิดว่านี่เราทำไปทำไม
ความคิดว่าเราเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ มันกัดกร่อนบั่นทอนความเป็นมนุษย์มาก ๆ อยากให้รู้เท่าทันว่า เรากำลังถูกผลักดันโดยสังคม
ทุกวันนี้เราเปรียบเทียบลูกเรากับทุกคนในเฟสบุ๊ค อินสตราแกรม พ่อแม่ทุกคนต้องส่งลูกเข้าประกวด โดยไม่ถามว่านั่นคือความต้องการของลูกจริง ๆ ไหม
Cr. Kanok Shokjaratkul
แม่หลายคนบอกว่า ลูกเรียนเปียโน แต่ไม่ยอมแข่งเลย ต้องถามกลับว่าให้ลูกเรียนเปียโนเพื่ออะไร เด็กจำนวนหนึ่งไม่ได้อยากแข่ง ความสุขของเด็ก คือการเล่นเปียโน
เราต้องจัดการกับความคาดหวังของตัวเอง ที่มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และต้องเลี้ยงเขาให้เป็นตัวเองได้ในเวลาที่เขาอยู่กับเรา
ตอนลูกอายุขวบนิด ๆ เดิน ๆ อยู่แล้ววูบหมดสติไปเลย ต้องพาไปโรงพยาบาล เป็นอย่างนี้อยู่สองรอบ เรามองลูกหลับน้ำตาคลอ
สามีบอกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดของเขาคือ การได้เกิดมาเป็นลูกเรา เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ หน้าที่พ่อแม่คือ คอยโอบอุ้มเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูก แค่นี้เอง
เราต้องฝึกปล่อย เพราะความสัมพันธ์ที่รัดแน่นเกินไป มันเป็นความเห็นแก่ตัว เอาแต่ความสุขของเรา ลูกต้องเติบโตไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง
ตอนเด็ก ๆ เราออกจากบ้านเขาวิ่งตาม พอโตเป็นวัยรุ่น เขาค่อย ๆ คลายมือออกจากเรา เราก็ปล่อยให้เขาเดินไปข้างหน้า หันหลังมาแล้วจะเจอเราเสมอ
Cr. Kanok Shokjaratkul
การเลี้ยงลูกยุคสังคมออนไลน์ เด็ก Gen นี้เติบโตมาในโลกที่หาความรู้ได้ง่ายเต็มไปหมด มีทั้งดีและไม่ดี
เราอยู่ในสังคมอุดมมายาคติ ที่บอกให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งไม่มีอะไรที่เป็นจริงเลย
ในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ ครอบครัวที่พ่อแม่ลูกที่อยู่ด้วยกันไม่ได้แปลว่ามีความสุข ถ้าอยู่แล้วตบตีกันจนอายุ 70 ปี
ทุกครอบครัวมีความสุขได้ในแบบของตัวเอง ในแบบที่เราเลือก ในแบบที่เราเป็น
ครอบครัว คือ การที่มีใครแม้เพียงคนเดียว ตั้งใจที่จะเลี้ยงดูเด็กด้วยความรัก ให้เขาเติบโตไปอย่างมีศักยภาพ มีความสุข
พ่อแม่ที่ดี คือพ่อแม่ที่เรียนรู้และเติบโตจากความผิดพลาดล้มเหลว พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นและรู้เท่าทัน"