'ธันยลักษณ์ พรหมมณี' อนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม พลังแห่งความกตัญญู

'ธันยลักษณ์ พรหมมณี' อนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม พลังแห่งความกตัญญู

ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สะท้อนศิลปะ วิถีชีวิตประจำวัน สนับสนุนท้องถิ่นเศรษฐกิจฐานรากสู่วัฒนธรรมที่มีชีวิต 'จุดประกาย' TALK มีนัดหมายกับคนไทยหัวใจอนุรักษ์ 'ธันย่า-ธันยลักษณ์ พรหมมณี'

คนไทยหัวใจอนุรักษ์ ธันยลักษณ์ พรหมมณี บอกว่า ประสบการณ์นั่งฟรอนต์โรว์ร่วมชมแฟชั่นโชว์ซูเปอร์แบรนด์ที่จุดประกายให้เธอใส่ผ้าไทย พกพาศิลปวัฒนธรรมไทยไปอวดให้ฝรั่งตื่นเต้น เป็น Soft Heart Smart Power หรือพลังอันชาญฉลาดของหัวใจอันอ่อนโยน ในการสื่อสารศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างละมุน

\'ธันยลักษณ์ พรหมมณี\' อนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม พลังแห่งความกตัญญู

คุณธันย่า บันทึกภาพ ณ วัดราชบพิธฯ หน้าพระอุโบสถ ประตู-หน้าต่างมีลักษณะเป็นซุ้มทรงยอดปราสาท บานประตู-หน้าต่างประดับมุก ลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เสา ราวระเบียงและลูกกรง กรุกระเบื้องสีวาดลวดลาย

จุดประกาย TALK มีนัดหมายกับ ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เธอมาพร้อมกับชุดไทย ผ้าซิ่นจับจีบหน้านางทอจากเส้นไหมน้อยผสานกับไหมทองสีธรรมชาติจากเปลือกต้นมะพูดผสมกับเปลือกผลทับทิม ผ้าทอลายเฟื่องอุบะทับทรวง เสื้อตกแต่งด้วยอุบะมาลัยครุย ซึ่งเป็นการร้อยมาลัยดอกไม้เลียนอย่างผ้าแพรแถบสมัยรัชกาลที่ 5 และเครื่องประดับทองถักด้วยวิธีถักแบบโบราณ เรียกว่าเลียนอย่างเครื่องทองอยุธยา

ชอบทั้งผ้าไทยและศิลปะ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมวัดราชบพิธฯ มีความประทับใจอย่างไร

“ธันย่าชอบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย และที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างมากในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทยยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีการผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมตะวันออก-ตะวันตก และศิลปกรรมไทยอย่างลงตัว จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะงานกระเบื้องเคลือบของวัดราชบพิธฯ ที่ได้รับการออกแบบโดยพระอาจารย์แดง แห่งวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเขียนลายต้นแบบและส่งไปผลิตที่ประเทศจีน แล้วส่งกลับใช้ในงานออกแบบและประดับตกแต่งผสมผสานศิลปกรรมภายในวัด เป็นการผสมผสานโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก แสดงถึงต้นทุนทางสังคมที่สะท้อนวิถีชีวิต เชื่อมโยงระหว่างจิตวิญญาณ ความเชื่อ สัมพันธ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้ชีวิต สร้างอาชีพ การหารายได้ ฐานะทางเศรษฐกิจภายในประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทุนทางวัฒนธรรมเข้ากับชุดผ้าไทย เครื่องประดับที่ธันย่าสวมใส่ที่แม้จะเป็นผ้าแบบลายไทย แต่การออกแบบผสมผสานลุคที่ดูทันสมัย สร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นผสานเสน่ห์ความงามแบบไทย"

\'ธันยลักษณ์ พรหมมณี\' อนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม พลังแห่งความกตัญญู คุณธันย่ากับชุดไทยเรือนต้นประยุกต์ ทอจากผ้าไหมทอสีพื้น 4 เส้น สีเขียวโศก ณ วัดราชบพิธฯ บริเวณพระระเบียงประดับกระเบื้องลายเบญจรงค์เชื่อมพระอุโบสถกับพระวิหารมุข

ทำไมให้ความสำคัญในการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

“ธันย่ากำลังเรียนหลักสูตรเสริมสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมและธรรมาภิบาล รุ่นที่ 1 โดยเป็นหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้าและสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม (Cultural citizenship) และหลักธรรมาภิบาล (Good governance) และการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Cultural Management) หลักสูตรนี้ให้ความสำคัญกับการเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม การส่งเสริมคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยเน้นให้รู้หลักการบริหารจัดการ และพัฒนาต่อยอดโดยคำนึงถึงความยั่งยืน

จากการที่ธันย่าเลือกศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมและธรรมภิบาล เนื่องจากมองว่ามรดกวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนทุกยุคทุกสมัย และทุกคนสามารถรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในทรัพยากรทางวัฒนธรรมร่วมกัน การเรียนหลักสูตรนี้จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ที่ธันย่ามี พร้อมเข้าใจพลวัตทางวัฒนธรรมและสังคม เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ในการสืบสาน ส่งเสริม และสานต่อให้ผู้คนในรุ่นต่อไปได้รับรู้และร่วมอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิผล”

จากจุดเริ่มต้นและเส้นทางต่อจากนี้เพื่ออนาคตงานศิลป์ของคนไทย

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา ประมาณเดือนเมษายน 2563  ธันย่ามีโอกาสได้ลงพื้นที่แต่ละภาค เข้าถึงชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชน แบ่งปันซึ่งกันและกัน เข้าถึงระดับความหมายของชีวิต อยู่กับสุขให้เป็น อยู่กับความทุกข์ให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มีค่าต่อการเติบโต และเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของแต่ละชุมชน เข้าถึงชุมชน นำความรู้และสิ่งของไปแบ่งปันซึ่งกันและกัน เราไม่ได้รู้สึกว่าเราไปเป็นแค่ผู้ให้ แต่ตรงกันข้าม เรารู้สึกเหมือนเราเป็นผู้รับพลังจากเขาเพื่อที่เราจะเข้าใจความหมายของชีวิต

เวลาเราทำไปเพื่อคนอื่น เราอาจทำเพื่อตัวเองก็ได้ การที่เราได้พลังงานจากคนอื่น การที่เราเห็นเขามีความสุข เราเองก็มีพลังแห่งความสุขปิติยิ่ง

การขับเคลื่อนและทำกิจกรรมเพื่อสืบสานสืบสาน อนุรักษ์ ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมไทยบนผืนผ้า พัฒนา และเผยแพร่ ทางกรมหม่อนไหม ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเข้าใจถึงความตั้งใจในเส้นทางเดินด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณี กรณีศึกษาพื้นที่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และการขับเคลื่อนออกสู่สาธารณชน จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้ธันย่าเป็นคณะทูตอัตลักษณ์ไหมไทยประจำประเทศไทย มีผลต่อการขับเคลื่อนเมืองออกสื่อสู่สาธารณชน เพื่อแสดงพลังของการมีส่วนร่วม สร้างสรรค์ ให้คุณค่าในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคชุมชน และภาคเอกชน สู่ความยั่งยืนพลเมืองไทย

เพราะพลังของเราเป็นการให้พลังคนอื่น และพลังของคนอื่นก็ให้พลังแก่เราด้วย สู่คำว่าพลังของสังคม การที่มีส่วนร่วมคือพลังแห่งความสุข สู่พลังของสังคมสันติ คือสังคมที่มีวัฒนธรรม

รัฐบาลได้มีนโยบายที่มุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ของคนในชาติ ร่วมมือในการฟื้นฟูประเทศชาติในทุกด้าน คือสัญลักษณ์ของความสามัคคี จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อน สืบสาน

มีชาวบ้านคนหนึ่งพูดกับเราว่า... คุณต้องขอบคุณฉันนะที่ฉันรับของคุณมา เพราะเวลาที่ให้คุณมีความสุขใช่มั้ย แว่บแรกที่ได้ยินก็ตกใจ คำพูดนี้อยู่ในหัวเราตลอดมา พอมาวิเคราะห์ว่า ทำไมเขาพูดแบบนี้ น้ำตาเราก็ไหล... และเข้าใจถึงความสุขที่แท้จริงในการเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

เขาบอกว่า...การเป็นผู้เป็นความรู้สึกที่ดี แต่การเป็นผู้รับไม่ได้รู้สึกดีหรอกนะ เพราะตกอยู่ในฐานะผู้ร้องขอ เขาอยากเป็นผู้ให้อย่างเราบ้าง...”

\'ธันยลักษณ์ พรหมมณี\' อนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม พลังแห่งความกตัญญู

คุณธันย่า กับชุดไทยเรือนต้นประยุกต์จากผ้าไหมทอแบบมัดหมี่ ที่วัดราชบพิธฯ บริเวณซุ้มประตูบานด้านหน้าแกะสลักเป็นภาพนูนต่ำรูปทวารบาล (ทหารฝรั่ง) เป็นทหารมหาดเล็กที่จัดตั้งมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 

เส้นทางที่เลือกคือสานต่อศิลปวัฒนธรรมไทยและผ้าไทย

 “เวลาดูทีวี ข่าวในพระราชสำนัก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกงานจะฉลองพระองค์ชุดผ้าไทยตลอด เหมือนเราเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ เห็นมาเรื่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงอยากมีส่วนร่วม สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน 

ตอนแรกไม่ได้คิดสะสมผ้าไทย จุดเริ่มจริง ๆ ตอนไปชมนิทรรศการ งานศิลป์ของแผ่นดิน ที่ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ โดยศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ นำงานศิลป์ของอาจารย์ต่าง ๆ มาจัดแสดง มีผ้าไทยและงานศิลปะไทยที่เป็นหัตถกรรมมาจัดแสดงด้วยเวลาต่อมาจึงสนใจผ้าไทย

ซึ่งนอกจากความสวยงามของผ้าแล้ว เราก็รู้สึกดีที่ได้ช่วยชาวบ้าน บางคนบอกว่า การช่วยชาวบ้านไม่ต้องใช้เงินเยอะขนาดนี้ก็ได้ แต่ในความคิดเราคือ ช่วยชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรว่างจากทำนาแล้วมาทอผ้า การทอผ้าทำให้เขาไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่น เขาได้อยู่บ้าน ไม่ทิ้งถิ่นฐานตนเอง ลดปัญหาครอบครัวพ่อแม่ลูกได้อยู่รวมกัน

ในใจตอนนั้นคิดว่าเราสะสม แต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาไปทำอะไร ตอนนั้นผ้ามัดหมี่ยังไม่รู้จักเลย แต่พอเห็นว่าเป็นผ้าไทยก็อดที่จะช่วยสนับสนุนไม่ได้ เพราะสร้างประโยชน์ของพื้นที่ชุมชน และวัตถุดิบสร้างรายได้ ราคาคือตัวเลข คุณค่าคืออัตลักษณ์ เวลาคือวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวตลอด ในใจตอนนั้นคิดว่าอยากสะสมผ้าไทย”

ปรากฏว่าซื้อผ้าไปกองพะเนินโดยไม่รู้ตัว

“ธันย่าซื้อผ้าไทยของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ เราก็ซื้อเกือบทุกเดือน ที่สวนจิตรลดา ซื้อนิด ๆ หน่อย ๆ  จนมาวันหนึ่งเยอะมากค่ะ เพราะเขาขายเป็นพับ ๆ หนึ่งหลายหลา เราก็คิดเรื่องดีไซน์ชุดแล้ว ทีนี้เวลาออกแบบชุด ถ้าผ้าไม่พอเราต้องวิ่งมาซื้อผ้าพับนี้อีกหรือ ก็เลยเป็นที่มาว่าจากซื้อนิด ๆ หน่อย ๆ ผลคือ ลายนี้เอาทั้งพับ ลายนี้ก็ทั้งพับ...

จากนั้นมาธันย่าก็ตามดูโครงการต่าง ๆ ของสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง เข้าพิพิธภัณฑ์ผ้ายิ่งเห็นชัด ไปดูเกษตรกรทอผ้าด้วย พอเห็นเราก็เชื่อมโยงได้ทันที ทรัพยากรของเมืองไทยที่เรามีอยู่ สามารถเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ คือต้นน้ำ คือเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลางน้ำคือสาวไหมขึ้นมาแล้วทอผ้า เกิดการแปรรูป ปลายน้ำคือใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นการสร้างมูลค่าทางการตลาด เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมจากชาวบ้าน เพราะคนที่ทอผ้าเขาจะไม่ทำการตลาด

ที่ผ่านมามีพ่อค้าคนกลางไปรับผ้ามาขาย แล้วพอเกิดการแพร่ระบาดของโควิด พ่อค้าคนกลางไม่ได้มารับผ้าไป ชาวบ้านก็ขายผ้าไม่ได้ เกิดภาวะฝืดเคือง ธันย่าจึงได้โอกาสลงไปช่วยชาวบ้านอย่างเต็มตัวมากขึ้น”

ไม่เพียงแค่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์แต่เดินทางเจาะลึกลงพื้นที่ชุมชนผลิตผ้าไทย

“ที่ผ่านมาธันย่าได้เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 11 สถาบันพระปกเกล้า มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงาน ได้เห็นกลุ่มทอผ้าเกษตรกร ไปรับฟังปัญหาและรับรู้กระบวนการผลิต ข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้เราเรียนรู้และนำสิ่งเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้

ตอนเราซื้อผ้าคือปลายน้ำ ซื้อมาเพื่อบริโภค เก็บ หรือเอาไปตัดออกงาน การลงพื้นที่แรกที่บ้านโคกกลาง สกลนคร เป็นแหล่งย้อมคราม ไปดูการทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ลงมือย้อมครามด้วย มองเห็นประโยชน์ของการนำรายได้มาสู่ชุมชน อันเป็นรากฐานของชาวบ้าน หรือการที่ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่แน่ ๆ ประชาชนซื้อผ้าก็ทำให้ชุมชนแข็งแรงขึ้น เพราะเขาไม่ต้องจากที่อยู่ไปประกอบอาชีพที่อื่น เพราะถ้าเขาจากชุมชนมา วิถีชุมชน วัฒนธรรมต่าง ๆ จะหายไปด้วย

ทำให้เราเข้าใจหลายอย่างมากขึ้น เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในจังหวัดที่เราไป การศึกษาถึงโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐที่จะให้ความรู้ในแต่ละชุมชน ซึ่งมันไม่มีที่สุด

พอเราลงพื้นที่ก็พบปัญหาหลากหลาย แต่หน่วยงานภาครัฐเขาให้การสนับสนุนอยู่แล้ว แต่จะดีขึ้นถ้าหน่วยงานเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ธันย่าจึงเชื่อมต่อต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ช่วยส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและผ้าไทยผ่านชีวิตประจำวัน”

\'ธันยลักษณ์ พรหมมณี\' อนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม พลังแห่งความกตัญญู

คุณธันย่า สวมใส่เสื้อแบบชุดไทยเรือนต้นประยุกต์ ผ้าไหมจากเส้นใยเปลือกไหม กระโปรงผ้าไหมทอแบบแพรวา

ผ้าไทยมีเสน่ห์ ประยุกต์ต่อยอดใส่ได้ทุกวัน

“ผ้าไทยสามารถสวมใส่อยู่ในชีวิตประจำวัน ธันย่ามีชุดผ้าไทยที่ดีไซน์ออกแบบและสั่งตัดหลายร้อยชุดด้วยกันค่ะ ด้วยความที่มีประสบการณ์ไปต่างประเทศบ่อย ปีหนึ่งไปชมแฟชั่นโชว์หลายแบรนด์ ได้เห็นอะไรมาเยอะ เช่น หลังจากเดินแฟชั่นโชว์เขาจะมี Re-see (Reverse+see) พวกแบรนด์ต่าง ๆ จะนำเสื้อผ้าที่เดินบนรันเวย์มาให้เราเห็นอีกครั้ง ให้เราจับแมททีเรียลได้ ชุดไหนที่เราสนใจก็ให้นางแบบใส่ให้ดูอีกครั้งให้เราเห็นมูฟเม้นท์ของผ้า ซึ่งตัวเราไม่ต้องลองเพราะชุดในแฟชั่นโชว์ไซส์นั้นเราใส่ไม่ได้อยู่แล้ว

หลังจากดูแฟชั่นโชว์หลาย ๆ งานหลายปี เห็นแมททีเรียล เห็นรูปทรง เราเริ่มเอากลับมาเมืองไทย เอาผ้าไทยที่มีอยู่ให้ดีไซเนอร์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศออกแบบให้ บางชุดเราออกแบบเองให้ช่างตัด เกิดการประยุกต์ ดัดแปลง ต่อยอดสู่การสวมใส่ผ้าไทยในสไตล์ธันย่าเอง ที่อยากบอกและส่งต่อให้ผู้คนได้รับรู้ถึงเสน่ห์ และอัตลักษณ์ของผ้าไทย และเครื่องประดับไทย 

เมื่อใส่ชุดผ้าไทยผสมผสานกับการ Mix& Match ศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งกระเป๋า เครื่องประดับ หรือของตกแต่งอื่น ๆ ออกงาน ธันย่าได้ตระหนักถึงความสุขที่แท้จริง ซึ่งก็คือความปิติได้เชื่อมโยงกับความรู้สึกของเกษตรกร ดีไซเนอร์ และสังคมที่ไปออกงาน และได้ประชาสัมพันธ์ผ้าไทย และศิลปวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ”

ความภาคภูมิใจในผ้าไทยที่ส่งผ่านไปถึงดีไซเนอร์ต่างประเทศ สู่พลังแห่งปิติ

“เวลาไปชมแฟชั่นที่ปารีส มิลาน ก็ใส่ผ้าไทย เช่นงานอัลต้า โมด้า (Alta Moda) ของโดลเช่ แอนด์ กาบบาน่า เปรียบเหมือนโอต กูตูร์ เราเอาผ้าแพรวากับผ้ามัดหมี่ ให้โดลเช่ช่วยดีไซน์ ทีมงานเขามาช่วยกันจับเดรปผ้า เช่น เอาเสื้อท่อนบนของเขามาจับกับผ้าไทยตัวล่าง ให้เขาครีเอทจากมุมมองของดีไซเนอร์ต่างประเทศที่ไม่ได้ผูกพันกับผ้าไทยเหมือนคนไทย อยากรู้ว่าเขาคิดยังไงกับผ้าไทย

หรืองานเดินแฟชั่นของวาเลนติโน่ เราใส่ผ้าไทยไปแล้วบอกว่าอยากให้เขาทำชุดให้ เพราะวาเลนติโน่เข้าใจเรื่องการออกแบบผ้าไหมได้ดี ตอนไปชมแฟชั่นของโดลเช่ เราก็ใส่เครื่องประดับไทย เช่น ใส่กำไลทองงานช่างทองสุโขทัย

ตอนไปชมงานแฟชั่นของ ดิออร์ จริง ๆ เวลาเข้าชมงานของใครเราก็ใส่ชุดของแบรนด์นั้น แต่วันนั้นแอบใส่เสื้อคลุมท่อนบนเป็นเครปสีฟ้าผ้าไหมมัดหมี่ทับเสื้อของดิออร์ เราบอกว่าเอาไว้กันฝน เจ้าหน้าที่บอกเวลาเข้างานขอให้ถอดออก เราก็ถอดนะแต่ตอนเดินเข้างานเราใส่อยู่ ช่างภาพก็ถ่ายไปแล้ว พอเข้างานเราก็เอาผ้าไหมไทยมาคล้องแขนไว้ คนก็มาถามว่าเสื้ออะไรทำไมไม่เคยเห็น เราก็บอกว่าผ้าไหมไทย คนก็ตื่นเต้น”

\'ธันยลักษณ์ พรหมมณี\' อนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม พลังแห่งความกตัญญู คุณธันย่า-ธันยลักษณ์ พรหมมณี ในชุดผ้าไทย บันทึกภาพ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ บริเวณพระระเบียง บนผนังพระอุโบสถ พระวิหาร และระเบียงคด ตกแต่งลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ลายเทพนม

การแบ่งปันที่รู้สึกขอบคุณผู้รับจากใจ และความสามารถเป็น Soft Heart Smart Power ที่สามารถดึงพลังงานอันชาญฉลาดของหัวใจอันอ่อนโยน ในการสื่อสารศิลปวัฒนธรรมสู่ภายนอกได้อย่างลงตัว ทำให้ผู้คนได้เห็นถึงเสน่ห์ผ้าไทย และศิลปวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก

พลังแห่งปิติได้ก่อตัวขึ้นในใจของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ พร้อมจิตใจที่เปี่ยมสุขผ่านรอยยิ้มสดใส ธันยลักษณ์ พรหมมณี การเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมแต่ละชุมชน สู่อารยธรรมที่ศิวิไลซ์ของประเทศ

Cr.photo by ธิติ วรรณมณฑา