ระดมสมอง ดึง ‘เยาวชน’ สร้าง ‘Branding Thailand’
ใจความสำคัญจากงานเสวนา 'Branding Thailand' ระดมความคิด เยาวชน กับ สื่อมวลชน นักการตลาด ครีเอทีฟ และกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
Youth In Charge จัดงาน Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power ภายใต้แนวคิด 'ปลดปล่อยพลังเยาวชน รวมพลคนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์' เพื่อเฟ้นหาของดีทั่วไทย มาต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมสู่สายตาชาวโลก
จัดกิจกรรมเสวนาโต๊ะกลม Branding Thailand เปิดพื้นที่ให้เยาวชนไทย เสนอความคิดเห็น ร่วมกับหน่วยงานที่ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ สื่อมวลชน ครีเอทีฟ
อาทิ ดวงฤทธิ์ บุนนาค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, พิชัย ศิริจันทนันท์ (BrandAge), ทรงกลด บางยี่ขัน (The Cloud), อัศวิน พานิชวัฒนา (นายกสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก), ดร.สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล (AJ ICE ใน TikTok)
ณ ห้อง New Gen Space: Space for All Generations ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) วันที่ 15 ธันวาคม 2566
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ช่วยกันสร้างแบรนด์ประเทศไทย
พิชัย ศิริจันทนันท์ จาก BrandAge กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการมีแบรนด์ การยกระดับขีดความสามารถขึ้นมาให้ได้
"เช่น การไปร่วมมือ (Collabs) กับแบรนด์หรูหรา (Luxury) เพื่อยกระดับขึ้น แบรนด์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่หลังจากปีค.ศ. 1990 แบรนด์เกิดขึ้นโดยการสร้าง
ประเทศเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครอง 35 ปี กดขี่ไม่ให้เรียนภาษาเกาหลี เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย
Cr. Kanok Shokjaratkul
ปี 1950 สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีก็จัดตั้งประเทศขึ้นมา มีสงครามเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ช่วงปี 1954 ไม่มีจะกิน ยากจนที่สุดในโลก มีความเก็บกด แค้นญี่ปุ่น จากอันดับ 5 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า (1.โซนี่2.พานาโซนิค3.ฮิตาชิ4.โตชิบ้า5.ซัมซุง) ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง
ปี 1997 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เกาหลีนำซอฟต์พาวเวอร์มาสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก ใช้เวลาฟื้นตัวเแค่ 2 ปีเพราะมีเป้าหมายชัดว่าศัตรูคือใคร ประเทศไทยไม่เหมือนเกาหลี เราจะทำอย่างไรให้เป้าหมายชัดเจนขึ้น
แบรนด์ที่แข็งแรง ต้องคิดมากขึ้น นึกถึงนวัตกรรมข้างหน้า เพราะปัจจุบันไม่มีอะไรที่ไม่ถูก Disrup"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน
ทรงกลด บางยี่ขัน จาก The Cloud กล่าวว่า การสร้างแบรนด์เป็นความยาก
"เรามีคนหลาย ๆ ภาคส่วน แบรนด์เมือง แบรนด์ต่างจังหวัด ถ้าเราเป็นรัฐบาลทำแบรนด์สื่อไปต่างประเทศ ก็ท้าทายว่า secter ไหนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
หัวข้อไหนเป็นประเทศมากสุด แบรนด์ประเทศใครทำ ทำแล้วจะถูกวิจารณ์ไหม ถ้าผมไม่เห็นด้วย จะยังไง
ผมมีสามเรื่องที่อยากเสนอ 1. ขจัดความสับสนให้คนเข้าใจคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ว่าอย่างไร ทำให้เห็นภาพชัด ไทยแลนด์แอสแบรนด์คืออะไร ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ความเป็นไทยคืออะไรกันแน่
Cr. Kanok Shokjaratkul
2.เป้าหมายให้ชัด ทุกคนต้องมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน ทุกคนเข้าใจความเป็นประเทศไทย ร้อยละ 99 คือการท่องเที่ยว อาหาร มวยไทย ถ้ามีภาพลักษณ์แล้วเราจะเอาไปแข่งกับใคร สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น
3.จะใช้อาวุธอะไร สิ่งที่ง่ายที่สุดคือ คน เช่น เชียงใหม่ ทำให้คนเห็นภาพ สื่อ หรือทำหนังให้เข้าใจง่าย
ถ้าเห็นระบบอะไรที่ห่วย ๆ ก็ทำให้ดีกว่าเขา ฆ่ากันด้วยงาน ความอิจฉาเป็นลมหายใจของศิลปิน เราอยากเห็นสิ่งที่ดีงามร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง ทำให้คนสองรุ่นทำร่วมกันได้
โลกนี้ขับเคลื่อนด้วยเรื่องราว ทุกยุคทุกสมัย สิ่งต่าง ๆ รองรับด้วยเรื่องเล่า สิ่งสำคัญคือ สิ่งที่เป็นตัวแทนประเทศ ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องนั้นได้รับการเล่าต่อ คนมักจะเชื่อรีวิวมากกว่าพูดเอง ตัวแทนประเทศจะเล่าเรื่องนี้อย่างไร ถ้ามันเป็นเรื่องเดียวกันประเทศไทยก็จะมีอนาคตที่สดใส"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- คนรุ่นเก่าต้องเปิดรับ วัฒนธรรมร่วมสมัย
ดร.สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล (AJ ICE ใน TikTok) กล่าวว่า แบรนด์ระดับประเทศ ต้องย้อนไปมองอังกฤษ
สิ่งที่เขาโด่งดัง เกิดจากวัฒนธรรมเก่าแก่และประวัติศาสตร์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตมันหล่อหลอมให้มาถึงทุกวันนี้ได้ อยากให้มองประเทศไทยแบบที่เรามองญี่ปุ่น นึกถึงอะไร ฟูจิ กิโมโน อาหาร วัฒนธรรม
ประเทศไทยมีอะไรที่โดดเด่น อาหาร การแต่งกาย ภาพยนตร์ ซีรีส์ บุพเพสันนิวาส คนจีนมาไทยต้องใส่ชุดนักเรียนไทยถ่ายรูป ถ้าเราจะสร้างแบรนด์ ต้องมองว่าอันไหนเป็นตัวเราและเป็นสิ่งที่โดดเด่น มีคุณค่า
Cr. Kanok Shokjaratkul
คอนเทนท์ครีเอเตอร์ช่วยได้ เพราะมักมีชาแลนจ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในโลกโซเชียลให้คนทำตามอยู่เสมอ โอกาสไวรัลก็เกิดขึ้นได้
ไทยแลนด์แอสแบรนด์ การสร้างแบรนด์ของประเทศไทย หนีไม่พ้นการเอาวัฒนธรรมมาขาย แต่จะเอาของเก่า 20-30 ปีมานำเสนอหรือ เราต้องเอาวัฒนธรรมมาดัดแปลงให้ร่วมสมัยขึ้น ให้มีคุณค่ามากขึ้น
ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น เกมโฮมสวีทโฮม ผีนางรำ คนทำเกมอยากเอาท่าทางร่ายรำมาใส่แต่กระทรวงวัฒนธรรมไม่ให้เอามาใส่ อุตสาหกรรมเกมก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้
การศึกษาไทยขาดการสนับสนุนในทุกภาคส่วน เราต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้งนักเรียนและครู"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ต้องปรับตัวตามสมัยให้ทัน
อัศวิน พานิชวัฒนา นายกสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก กล่าวว่า เรามีอาหาร มีวัฒนธรรม มีรอยยิ้ม
"ภาพเมืองไทยที่ออกไปมีหลายรูปแบบ เรื่องอาหาร มันเด่น มันแปลก จะว่าไปแล้วอาหารทุกประเทศก็แปลกหมด ร้านอาหารไทยในต่างประเทศเกิดขึ้นเพราะคนอยากกิน
ถ้าเราจะทำ Branding (การสร้างภาพจำ) ประเทศไทย ต้องเปลี่ยนจาก 30-40 ปีที่แล้ว เพราะซอฟต์พาวเวอร์ที่เราพูดถึง คือ ปัจจุบันมากกว่าอดีต เราต้องปรับไปตามสมัย
Cr. Kanok Shokjaratkul
ถ้าทุกแบรนด์พูดเรื่องเดียวกันซ้ำไปซ้ำมาก็ไม่น่าสนใจ มันต้องมีหลายมุมมอง แต่ละคนนำเสนอคนละมุมมอง ของชิ้นเดียวกันแต่ Vision (วิสัยทัศน์) ไม่เหมือนกัน
เวลาผ่านไปเราต้องดูว่าใครเป็นคนซื้อของเรา เราต้องปรับตัวา และมีความต่อเนื่อง เหมือนการปลูกต้นไม้ อย่าใจร้อน นิสัยคนไทยจะเห่อเป็นพัก ๆ แล้วก็หายไป
ถ้าเรารักษาความต่อเนื่องไว้จะดีมาก สิ่งไหนที่เราพยายามทำอย่างต่อเนื่องมันจะชัดเจน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ในส่วนของรัฐบาล ทำอะไรอยู่บ้าง
ดวงฤทธิ์ บุนนาค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ผมจะตอบสามคำ คือ ซอฟต์พาวเวอร์, แบรนด์ และ Thailand as Brand
"1.ซอฟต์พาวเวอร์ คือโครงการที่เราหาสิ่งที่มีไปสร้างอนาคต เราต้องการพลังบางอย่างไปสร้างสิ่งใหม่ ไม่ว่า วัฒนธรรม, ทักษะ, ภูมิปัญญา มันจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้เมื่อเราเอาสามสิ่งนี้ไปสร้างสิ่งใหม่ ถึงจะเกิดพาวเวอร์ขึ้น
2.แบรนด์ การสร้างแบรนด์ ระดับประเทศ มันสร้างแบบโปรดักส์ไม่ได้ เราไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ เราสร้างสิ่งที่มันปรากฏอยู่ตรงนี้ ให้สอดคล้องกับการลงมือทำ สมมติเราอยากทำแบรนด์ให้คนซื้อของเรา เราก็ต้องสร้างวิธีที่มันปรากฏ ให้เขาอยากซื้อ
3. Thailand as Brand เราไม่ทำ Branding Thailand ในยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ในคณะกรรมการที่ผมรับผิดชอบอยู่เรื่องการดีไซน์ สิ่งที่เราทำ คือ ดึงเอาดีไซนเนอร์ที่เปล่งประกาย ไม่ดังมาก หรือคนนี้โปรดักส์ดีมาก คนนี้มีอนาคต ดึงเขาขึ้นมา ให้โลกเห็นว่าคนไทยหน้าตาแบบนี้นะ
Cr. Kanok Shokjaratkul
การทำไทยแลนด์แอสแบรนด์ คือ การดึงทรัพยากรที่เรามีขึ้นมา เอาสิ่งที่มีอยู่ มาสร้างการปรากฏใหม่ ให้คนภายนอกเห็นว่า ประเทศไทยคูล เท่ ฉลาด น่าตื่นเต้น
ทำให้เขาอยากเล่นกับเรา อยากมาเที่ยวเรา อยากซื้อของเรา ทุกอย่างในประเทศไทยมันคูลไปหมด กระป๋อง ขนม ฯลฯ
ผมเป็นแค่กรรมการ อุปสรรคคือระบบราชการ ทำให้ไม่อยากทำอะไรเลย เราต้องเขียนโครงการเพื่อเอางบประมาณมาทำโครงการที่ดูแล้วมีประโยชน์
สเต็ปต่อไป เราจะทำเวิร์คช็อป เอาคนรุ่นใหม่มา สร้างคนออกไปเรื่อย ๆ เราจะมีคนไทย 100 คนสร้างการปรากฏตรงนี้ แล้วก็ไปต่อ ไม่ได้จบในโครงการเดียว
หลังจาก THACCA (Thailand Creative Content Agency) ถูกตั้ง โดยมีพรบ.รองรับ องคาพยพทั้งหมดจะถูกทำอย่างจริงจัง ในช่วง 4 ปีของรัฐบาลนี้เราคิดว่าจะขับเคลื่อนได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
ผมสาขาออกแบบ ผมก็ต้องตั้งสถาปัตย์, อินทีเรีย ทุกสาขาก็ต้องตั้งกลุ่มคนให้ได้
อย่าลืมว่าเราสร้างสิ่งใหม่จากศูนย์ ประเทศไทยไม่เคยมีสิ่งนี้มาก่อน มันใช้พลังงาน และการเสียสละของผู้คนเยอะมาก
เจตนาของเราคือ การสร้างรากฐานของสังคม ทำโครงสร้างขึ้นมาใหม่ที่มั่นคง ที่จะอยู่กับพวกเราชั่วกัปชั่วกัลป์ มันต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ทนกับแรงเสียดทาน
Cr. Youth In Charge
สังคมต้องเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ การเปลี่ยนผ่านของเจนเนอเรชั่น โลกจากนี้ไปเป็นของคนรุ่นใหม่
ถ้าคุณมีบางสิ่งบางอย่างในคอมมูนิตี้ของคุณ ที่มันเวิร์คสำหรับตัวเรา สำหรับชุมชนของเรา สังคมของเรา ก็ลุกขึ้นมาทำเลย แล้วตั้งเป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้
ไม่ต้องรอว่าจะมีใครมาสนับสนุนไหม แน่นอนมันต้องมีคนไม่เห็นด้วย วิธีที่คุณจะได้รับการยอมรับคือ คุณไม่ต้องรอการยอมรับจากใคร คุณลุกขึ้นยืนวันนี้เลย ทำสิ่งที่คุณเชื่อ มันอาจจะไม่เวิร์คก็ได้นะ
นี่คือวิธีการสร้างไทยแลนด์แอสแบรนด์ มันคือพวกคุณที่ต้องลงมือทำ ทุก ๆ คน"
Cr. Youth In Charge