‘ตะหลิวพญานาค’ ซอฟต์พาวเวอร์ จากเรือนจำ
ลายสักที่ดุดัน ผสานกับงานศิลปะรูปพญานาค ความเชื่อที่เร้นลับ กลายเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวฝีมือสุดสร้างสรรค์จาก ‘ผู้ต้องขังชาย’ ภายในกำแพงสูงยังมี Kitchen Studio มาเติมไอเดียการทำอาหารของนักโทษหญิง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ จาก เรือนจำกลางนครปฐม
ถือเป็นโอกาสของผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษออกไป พวกเขาจะได้ทันต่อโลกภายนอกที่หมุนเร็วมาก ในขณะที่โลกภายในเรือนจำนั้นหมุนไปอย่างช้าๆ บางคราราวกับว่าหยุดหมุนเสียด้วยซ้ำ หากผู้ต้องขังนั้นไม่มีกำลังใจลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง
ขวัญไชย สันติภราภพ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม เริ่มมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับ ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลีสต์ มือรางวัล ออสการ์อาหารโลก ให้เข้ามาช่วยแต่งแต้มสีสัน เติมไอเดีย ที่ผู้ต้องขังเดิมมีการฝึกอาชีพอยู่แล้ว และจะสามารถพัฒนาไปได้อีกอย่างไรบ้าง?
ผบ.เรือนจำกลางนครปฐม มองว่า ประสบการณ์ตรงจากมืออาชีพ เป็นที่ยอมรับของสังคมภายนอกนั้นสำคัญ เมื่อเร็วๆนี้จึงมีการเซ็นต์ MOU ระหว่าง กรมราชทัณฑ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบอาหาร และการออกแบบผลิตภัณฑ์
โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ , รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ , นายสุทธิพงษ์ สุริยะ Food Stylist เจ้าของรางวัลออสการ์อาหารโลก และนายแบรด ชื่นสมทรง Master Chef Thailand ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ แดนหญิง เรือนจำกลางนครปฐม
ความเป็นมาของงานดีไซน์ในเรือนจำ
ขวัญไชย สันติภราภพ มองว่า ผู้ต้องขังถือว่า เป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องการให้พวกเขามั่นใจในฝีมือ เมื่อพ้นโทษออกไป จะสามารถต่อสู้กับโลกภายนอกได้ ไม่ตกเทรนด์ จึงต้องการให้ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ตรง เข้ามาถ่ายทอดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
“เราได้รับความกรุณาจากผู้มีความสามารถทั้งอ.ขาบ และ เชฟแบรด ผู้ได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวด Master Chef Thailand และอาจารย์ที่แข่งขันทำอาหารไทยโบราณ ได้รับรางวัลที่ 1 จากกรมสมเด็จพระเทพฯ (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
คนเหล่านี้มีประสบการณ์เป็นมืออาชีพโดยพวกเขาหยิบวัตถุดิบอะไรมาก็ได้ แล้วปรุง ออกมาเป็นจานที่มีเอกลักษณ์ ถ่ายทอดไปสู่ผู้ต้องขัง ประสบการณ์เหล่านี้เราต้องการได้จากมืออาชีพจริงๆ”
นอกจากนั้นยังมี Kitchen Studio ครัวสวยหรูในเรือนจำ ออกแบบโดย ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพื่อพัฒนาความสุนทรีย์ ด้านศิลปะการทำอาหารระดับไฮคลาส แก่คนในเรือนจำ ที่แห่งนี้ยังพร้อมที่จะเชื่อมโยงองค์กรต่างๆ ที่สนใจในงานด้าน CSR กิจกรรมเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อส่วนรวม ทั้งงานช่าง งานฝืมือ งานด้านอาหาร
‘ขวัญไชย สันติภราภพ’ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม
ทัณฑสถาน....ดินแดนที่มีกำแพงสูงกั้นอยู่ ยากที่จะมีใครเดินเข้ามา ดังนั้นการเปิด ‘คิทเช่น สตูดิโอ’ ครั้งนี้ เหมือนเปิดเรือนจำที่ห่างไกล เพื่อสัมผัสความเป็นมืออาชีพในด้านต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะด้านอาหารเท่านั้น และพวกเขาหวังว่าจะเป็นต้นแบบ ให้กับเรือนจำที่ห่างไกลในต่างจังหวัด ได้มีโอกาสเช่นเดียวกัน
‘ขวัญไชย สันติภราภพ’ และ 'ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ'
“ขณะที่อาจารย์มาสอนที่นี่เราก็ได้ถ่ายทอดไปยังเรือนจำต่างจังหวัดอื่นๆด้วย เดิมเรามีการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังอยู่แล้วหลากหลายอาชีพ เช่นเสริมสวย ซักรีด ทำอาหาร เบเกอรี่ ชงกาแฟ แต่เป็นวิทยากรทั่วๆไป ครั้งนี้เราได้วิทยากรที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ก็จะได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา อาจารย์แต่ละท่านมีเทคนิคการสอนที่ไม่เหมือนใคร อย่างเช่นอาหารธรรมดา ดูไม่ธรรมดาได้อย่างไร”
ที่มาของคิทเช่นสตูดิโอ ในเรือนจำ
เริ่มจาก ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ มีโอกาสได้รู้จักกับ ขวัญไชย สันติภราภพ ผบ.เรือนจำกลางนครปฐม ก่อนหน้านั้นที่ทัณฑสถานเขาพริก อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เขาไปช่วยดีไซน์กล่องบรรจุภัณฑ์ชา
“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับท่านขวัญไชย ก็เลยเล่าให้ฟังว่าผมทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตอยู่จังหวัดบึงกาฬ และผมไปเห็นว่าเรือนจำมีผู้ต้องหา ที่ฝึกอาชีพมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องอาหาร ผมก็เลยชวนท่านไปดูงาน พิพิธภัณฑ์ ของผม เผื่อว่าจะจุดประกายความคิดอะไรได้ ท่านก็ไปดู ที่บึงกาฬ 3 วัน 2 คืน
นักโทษชาย กำลังลงมือรังสรรค์งานศิลปะบนด้ามทัพพีพญานาค
ท่านก็ได้ไปเห็น Kitchen Studio ของโรงพยาบาลโซ่พิสัย เป็นโรงพยาบาลเล็กๆ แต่ก็มีความงาม เป็นครัวที่ใช้ทดสอบสูตรอาหารเสิร์ฟผู้ป่วย ท่านก็บอกว่าอยากจะมีแบบนี้อยู่ในคุกจังเลย ท่านก็เลยเชิญผมไปดูที่เรือนจำกลางนครปฐม เพราะท่านย้ายมาประจำการอยู่ที่นี่ มาปฏิวัติเรือนจำที่นี่ให้สวยงาม ”
ขาบ-สุทธิพงษ์ เล่าต่อไปว่า
จากห้องเก็บของที่ถูกปิดตาย ตอนนี้กลายเป็น Kitchen Studio ศูนย์เรียนรู้ในเรือนจำ ที่ตะโกนเบาๆบอกให้โลกรู้ว่า ถึงแม้… พวกเขาจะอยู่ภายในโลกแคบๆ มืดๆ ทว่ามีความร่วมสมัย มีดีไซน์เสมือนอยู่ในโลกแห่งอิสระ การดีไซน์ของเขาเน้นเรื่องการใช้สี การจับคู่สี ครั้งนี้เน้นสีดำ-เทา จากห้องสีเหลี่ยมมืดๆ ถูกจัดวางใหม่ให้มีเคาน์เตอร์ อุปกรณ์ครัวสำหรับประกอบอาหารแบบเต็มรูปแบบ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในเรือนจำ
ออกแบบพญานาควาดลงบนกระดาษก่อนนำไปแกะสลัก
“ผมกับท่านผบ.ร่วมทำอาหารด้วยกัน ถ่ายคลิป VDO โปรโมทให้ทุกคนในโลกได้ดู ไม่ใช่เฉพาะในกระทรวงยุติธรรมอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ ขณะเดียวกัน นักโทษหญิงที่เป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว เขาก็ได้มาเรียนรู้การจัดวางที่สวยงาม เขาทำอาหารให้นักโทษกินอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้ออกมารูปลักษณ์สวย ตกแต่งสวย จานสวย นักโทษหญิงก็ได้มาเรียนรู้จากเรา เมื่อเขาพ้นโทษออกไป สิ่งเหล่านี้ก็จะได้กับตัวเขาคือความงาม ความละเมียด ละไม พอทำคิทเช่นสตูดิโอเสร็จแล้ว มีคนมาขอดูงานเยอะมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ดูแลแขก ดังนั้นอาหาร ขนมเบเกอรี่ รับรองแขกก็ต้องจัดหน้าตาให้สวย”
นักโทษแดนผู้ชายจะมี งานฝีมือ งานช่าง เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ‘ขาบ-สุทธิพงษ์’ จึงให้แนวคิดเรื่องของงานดีไซน์เกี่ยวกับ พญานาค
“ผมเพิ่งได้เห็นแดนนักโทษชาย เขามีงานหัตถกรรม ฝีมือสุดยอดเลย การที่จะเอาผ้ามาทำชุด เสื้อ มันต้องเริ่มตั้งแต่ทำเส้นด้าย ปั่นด้าย ไปจนถึงการออกแบบลายผ้า ทอเอง ผมทึ่งมาก ที่นี่บอกได้เลยงานฝีมือชั้นเยี่ยมบรมครู ผมไปดูงานไม้ของช่างฝืมือ
ผมทำโครงการนาคสร้างชุมชน ก็บอกไปว่าอยากมีสินค้าตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับครัว อย่างตะหลิว ทัพพี ก็เลยออกมาเป็น ของใช้ในครัวที่ผสมผสานงานศิลปะพญานาค ผมให้ไอเดียไป แต่พอเขาทำออกมาโอ้โหทึ่งมาก เขาทำออกมาได้สวยเกินคาด
ลายสักที่ดุดัน ผสานกับงานศิลปะรูปพญานาค ความเชื่อที่เร้นลับ กลายเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวฝีมือสุดสร้างสรรค์จาก ‘ผู้ต้องขังชาย’
‘ตะหลิวพญานาค’ ซอฟต์พาวเวอร์ จากเรือนจำ
ต่อไปสินค้านี้เราจะเอาไปปิดทองให้หลวงพ่อปลุกเสก ให้คนสายมูซื้อไปประกอบอาชีพแล้วเงินทองไหลมาเทมา ถือว่าเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ได้ เพราะปีนี้เป็นปีมะโรงพอดี หมายถึงมังกร หรือพญานาค หากมี ทัพพีพญานาค ตะหลิวพญานาค เข้าไปอยู่ในครัว ส่งผลให้จิตใจดีมีความเชื่อมั่น ปรุงอาหารออกมาอร่อย ขายดีเจริญรุ่งเรือง”
‘ขาบ-สุทธิพงษ์’ ทิ้งท้ายว่า อยากจะให้ทุกคนมองว่า คนนอกคุกมีชีวิตที่อิสระเสรี เหนื่อยท้อก็ต้องมีกำลังใจสู้ชีวิต เพราะคนที่อยู่ในคุกเขายังสู้ เพราะมีคนให้โอกาสให้กำลังใจ ช่วยฟื้นฟูจิตใจสร้างอาชีพ สร้างงานให้เขา ส่วนคนนอกคุกที่มีความพร้อมกว่า ก็สามารถทำงานเพื่อคนอื่น เป็นคนหยิบยื่นโอกาส ทำงานจิตอาสา ช่วยคนด้อยโอกาสเท่าที่มีกำลัง ก็จะช่วยสร้างสรรค์สังคมนี้ให้ดีขึ้น