'มิชชั่นเอิร์ธ' ปฏิบัติการกู้โลก เชอรี่ - เข็มอัปสร Vs ดร.ณัฐวิญญ์
นักแสดง 'เชอรี่' – 'เข็มอัปสร สิริสุขะ' จับมือกับนักวิศวกรสิ่งแวดล้อม 'ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา' ก่อตั้ง 'มิชชั่นเอิร์ธ' ปฏิบัติการลดโลกร้อน ช่วยหาแนวทางกอบกู้โลก ไม่ให้แย่ไปกว่านี้...
เชอรี่ – เข็มอัปสร สิริสุขะ เข้าสู่วงการ รักษ์โลก มากว่า 9 ปี ถ้าไม่เห็นเธอบนจอทีวีคือเธอไปปลูกป่า ไปทำกิจกรรมเพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำต่อเนื่องมายาวนาน
วันนี้ดาราสาวมีภารกิจใหม่กับ มิชชั่นเอิร์ธ (Mission Earth) โดยจับมือกับผู้รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ดร.วิทย์ - ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา นักวิจัยและอดีตผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุดประกาย TALK ชวนสนทนากับภารกิจใหม่ที่ใหญ่ขึ้น หนักขึ้น ปฏิบัติการครั้งนี้มีความเป็นไปได้ในการ “กู้โลก” ได้แค่ไหน
เชอรี - เข็มอัปสร
ทำไมถึงสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
เชอรี่ : “ตอนไปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหาร ได้พบกับ ดร.โอ (ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมณกุล) กับ ดร.วิทย์ (ดร.ณัฐวิญญ์) เราก็เริ่มสนใจ และเกิดจากตัวเองเมื่อเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดเมื่อปี 59 เห็นแม่น้ำทั้งสายหายไปได้ยังไง หรือปี 54 น้ำท่วมหนักมาก ก็มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น เรารู้แหละว่าโลกร้อน คนพูดถึงนานแล้ว แต่ไม่ใกล้ตัวเหมือนที่เราประสบ จึงเป็นที่มาของคำถามว่า แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างในฐานะคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง
จึงลงพื้นที่ปลูกป่า ทำกิจกรรมเพื่อชุมชน
เชอรี่ : “ลงพื้นที่ หาข้อมูล เข้าคอร์สเรียน พร้อมกับลงมือทำไปด้วย เราคิดว่าอะไรก็ตามถ้าเรารู้แต่ไม่เคยลองทำก็จะไม่รู้ลึกถึงรายละเอียดว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน เกิดอะไรขึ้น การลงมือทำคือการเรียนรู้ที่ดีมาก”
ภารกิจแรกของ Mission Earth
เชอรี่ : “ก่อนหน้านี้ทำโครงการเพื่อชุมชน ทำธุรกิจเพื่อสังคมคือแบรนด์ สิริไท และทำบริษัทสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม เรามองว่าทุกอย่างต้องเสริมกัน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องด้วย ถึงจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว
แต่พอทำไปนานเข้าก็พบว่า ระดับการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากให้เกิดอิมแพ็คที่กว้างขึ้น เราต้องทำที่ระบบในองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน เล็กหรือใหญ่ ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน เช่นเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กร หรือทำเวิร์คชอป ทำเทรนนิ่ง ถ้าเกิดเราทำสิ่งนี้ไปด้วยร่วมกับคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน มีเคมีเดียวกัน และเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ น่าจะทำให้เราไปได้ไกลยิ่งขึ้น
ภารกิจนี้ถือว่าใหญ่กว่าเดิม เมื่อก่อนมีแค่เรากับชุมชน มี E (environment) กับ S (social) แต่ตัว G (governrance) ยังไม่เคยแตะ ไม่ว่าจะระดับองค์กรหรือขับเคลื่อนระดับนโยบาย จึงมองว่าภารกิจนี้ท้าทายมาก”
ดร.วิทย์ - ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา
ดร.วิทย์ : “มิชชั่นแรกเป็นเรื่องการช่วยให้ไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน ต่อด้วยการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรที่เข้ามาร่วมมือกับเรา มีสถานการณ์หรือมีฐานะของความยั่งยืน ด้าน ESG อย่างไรบ้าง หลังจากเราประเมินในเบื้องต้นแล้ว จะมีเซอร์วิสอื่น ๆ ตามมา แล้วแต่ที่ตกลงกันหรือตามความประสงค์ขององค์กรนั้น
เช่น การเทรนนิ่งให้พนักงาน หรือโคชชิ่งให้ผู้บริหาร หรือเป็นที่ปรึกษา เพราะระหว่างทางจำเป็นต้องปรับองค์กรให้สู่เป้าหมายความยั่งยืน ส่วนอื่น ๆ ได้แก่ สรุปเรื่องความยั่งยืนในรูปแบบสื่อหรือรายงาน"
ถ้าองค์กรหรือหน่วยงานนั้นไม่เห็นความสำคัญ จะโน้มน้าวอย่างไร
ดร.วิทย์ : “ถ้าองค์กรที่ยังไม่ค่อยตื่นตัวเท่าไหร่ก็มีกิจกรรมที่เราทำอยู่เสมอคือ การให้ความรู้ในเชิงสาธารณะ ทั้งความร่วมมือกับภาครัฐและนักวิชาการ สื่อสารไปในวงกว้าง และหวังว่าข้อมูลที่เราเสนอไปนั้นจะไปสร้างความสนใจ หรือทำให้เกิดอะแวร์เนส (awareness) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”
องค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ปัจจุบันมีความตระหนักรู้แค่ไหน
ดร.วิทย์ : “ตอบยาก... ตอนนี้คนที่พูดเรื่องความยั่งยืนมี 2 กลุ่ม ๆ แรกคือ โดนบังคับ หรือกึ่ง ๆ โดนบังคับ เช่น ซัพพลายเชนของโคเปอเรทขนาดใหญ่จะถูกประเมินเรื่องความน่าเชื่อถือ ปัจจุบันมี ESG Assessment ที่ใช้ประเมินว่าซัพพลายเออร์เจ้านี้มีความน่าเชื่อถือในเชิงธุรกิจก็จริง แต่เขาสนใจเรื่อง ESG ขนาดไหน จะถูกประเมินด้วยตัวเลข ลำดับต่อไปก็โดนเรียกหาข้อมูลบางอย่าง ตามมาด้วยความท้าทาย ถ้าบริษัทเล็ก ๆ อาจมองว่ายังไม่จำเป็น แต่ผมคิดว่าเริ่มเร็วยิ่งดี ส่วนที่ยากที่สุดคือการเก็บข้อมูล ถ้าไม่เริ่มทำเลยก็จะยาก ถ้าเริ่มเร็วเราก็ขยับตัวได้เร็ว”
เชอรี่ : “บริษัทขนาดเล็กเขาจะมองว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่จริง ๆ สามารถทำได้และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ด้วย และท้ายสุดก็จะเปิดโอกาสให้กับบริษัทเติบโตและกว้างขึ้นในระดับโกลบอลได้
ทีมงานมิชชั่นเอิร์ธ
เหมือนว่าถ้าไม่โดนบังคับด้วยกฎหมาย เราก็จะไม่ทำอะไร
ดร.วิทย์ : “กฎหมายของ ESG ไม่น่าจะออกในเร็ววันนี้ แต่อาจถูกบังคับด้วยความสนใจของภาคธุรกิจเป็นหลักมากกว่าที่จะเป็นตัวไดรฟ์ คือถ้ามีองค์กรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะโดนบังคับประเมิน ที่อยู่นอกตลาดเป็นพวกตลาดใหม่เริ่มพูดถึงอย่างเข้มข้นแล้ว
แต่องค์กรที่ไม่อยู่ในตลาด กลุ่มนี้ต้องทำมั้ย ถ้าทำธุรกิจในไทยไม่จำเป็น แต่ถ้าส่งออกยังไงก็โดนบังคับ รวมถึงถ้าเขาอยากจะระดมทุนต่าง ๆ ไม่ว่าไทยหรือต่างประเทศล้วนสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เป็นการบังคับกลาย ๆ”
ดังนั้นทุกองค์กรตอนนี้ต้องขยับตัวกันแล้ว
ดร.วิทย์ : “แม้ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่เป็นข้อกำหนดที่เรียกว่า การส่งเสริมธุรกิจ เช่น ถ้าใครทำเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน พย.-ธันวา 2566 ตลาดทุนมีการโปรโมทให้เงินไหลเข้าในกองทุนพิเศษ เรียกว่า กองทุน ESG เป็นกองทุนที่รวมบริษัทโดยตลาดหลักทรัพย์คัดเลือกมาแล้วว่าได้ดำเนินการด้าน ESG มาในระดับหนึ่ง ถึงไม่ดีมากก็ไม่เป็นไร แล้วทำให้คนทั่วไปสามารถไปซื้อกองทุนนี้เพื่อที่จะมีเบเนฟิต (ผลประโยชน์) ในการหักลดหย่อนภาษีได้
หมายความว่าบริษัทไหนที่ได้ดำเนินการด้าน ESG แล้ว จะได้รับโอกาสเพิ่ม ข้อแรกต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด
จึงเกิดคำถามว่าเมื่อไหร่กฎหมายจะบังคับ กฎหมายไม่ได้ใช้คำว่าบังคับ แต่บอกว่าใครดำเนินการด้านนี้แล้วจะได้รับการส่งเสริม บริษัทเหล่านี้ก็จะได้เงินทุนเพิ่มขึ้น สำหรับประชาชนก็จะได้หักลดหย่อนภาษี
ผมว่ารัฐบาลมองเห็นแล้ว เริ่มดำเนินการด้านนี้ รัฐจะช่วยหาเงินทุนให้นะ แบงค์ก็เริ่มให้สินเชื่อพิเศษสำหรับบริษัทที่คำนึงถึง หรือมีการดำเนินการด้าน ESG หรือขายโปรดักเฉพาะเรื่องนี้เลย เช่น โซลาร์เซลล์ หรือขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน จะมีมาตรการภาษีที่ดีกว่าบริษัททั่วไป เป็นอินเทนซีฟเรทในระบบเศรษฐศาตร์”
ดร.วิทย์ + เชอรี เข็มอัปสร กับภารกิจ Mission Earth
บริษัทที่อยากได้ผลประโยชน์ด้านนี้ก็ไปซื้อคาร์บอนเครดิต ทำได้มั้ย
ดร.วิทย์ : “จะเรียกว่าการซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นกรีนวอชชิ่งก็ไม่ถูกเสียทีเดียว คือเขาต้องการลดคาร์บอน จึงเป็นหนทางหนึ่งในการชดเชยคาร์บอนที่เขาปล่อย ถ้ามองภาพรวมเป็นกลไกทางเศรษฐศาสตร์ ทำให้ประเทศหรือโลก ลดการปล่อยคาร์บอนลง”
เชอรี่ : “มองว่าเหมือนเป็นการเสริมหรืออยากลดเช่น การใช้ไฟเปลี่ยนเป็น Renewable energy ลดตั้งแต่กระบวนการการผลิต ลดการสร้าง waste ต่าง ๆ แต่ยังไงก็ยังไม่พอกับการตั้งเป้าว่าอยากจะเป็นกลางทางคาร์บอน ก็ต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตมา หรือไปปลูกป่าแล้วสามารถวัดคาร์บอนเครดิตที่ลดได้จริง ๆ"
ดร.วิทย์ : "เรื่องนี้มีข้อโต้เถียงหลายอย่าง เช่น การลดคาร์บอนเครดิต ทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกจริง ๆ หรือเปล่า เหมือนกับทำไม่ดีแล้วเอาสตางค์ไปซื้อของดีกลับมา ก็เป็นมุมหนึ่งที่มองได้
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ในเมื่อเราพยายามแล้วรู้ว่ามีคนที่ลดได้เยอะกว่า เราก็แบ่งเงินไปซัพพอร์ตเขา ในภาพรวมจะลดลง เขามองว่าบริษัทนี้มีศักยภาพในการลดได้มากเราก็จ่ายเงินสนับสนุน ทำให้ทั้งก้อนมีโอกาสในการลดคาร์บอน เวลานี้อาจเป็นวิธีการที่ดี”
ดร.วิทย์ - ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา
อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดที่องค์กรยังไม่ทำ
ดร.วิทย์ : “หลายคนยังไม่รู้เลยว่าต้องทำคืออย่างแรก อย่างที่ 2 คือเขาทำอยู่บ้างแต่เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำ สามารถนับว่าเป็นความยั่งยืนได้ เช่นหลายคนบอกว่าทำแล้วเกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น อาจเพิ่มขึ้นจริงในบางกระบวนการ แต่บางทีการใส่ต้นทุนเข้าไปเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน ก็เป็นไปได้
อีกอย่างที่หลายคนมองข้ามไปคือฝั่งของสังคม การจัดการบุคลากรของตัวเอง แค่เราลงทุนในการเสริมสร้างทักษะของบุคลากร หรือโอกาสการเกิดปัญหาเรื่องสุขภาพ (Occupational health) จริง ๆ คือลดความเสียหายขององค์กรได้มาก ESG คือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นขององค์กรก็ใช่ แต่มีผลตอบแทนที่อาจไม่อยู่ในรูปเงินตอบแทนสู่องค์กรได้เยอะเหมือนกัน”
ปฏิบัติการแรกคือ สอนให้ตระหนักรู้เรื่อง ESG
ดร. วิทย์ : “ใช่ องค์กรเล็ก ๆ เริ่มต้นก่อนเลยว่ารู้จัก ESG หรือยัง พอรู้จักแล้วตั้งเป้าจะลดมั้ย มิชชั่นเอิร์ธ ช่วยทำให้รู้จักและช่วยตัดสินใจว่าจะไปยังไง
เช่น ถ้าบอกว่าทำงานช่วงเวลาที่ชัดเจนลดอะไรไม่ได้ สมมุติว่าเริ่มต้นทำงาน 7 โมง ปิดไฟสุดท้าย 6 โมงเย็น มาลองดูกันมั้ยว่าจะลดได้กี่เปอร์เซ็น ถ้าเราตั้งเป้าแล้วจะรู้เลยว่า อาจแค่ปรับแอร์ หรือปรับสวิตช์ไฟ ไม่จำเป็นต้องเปิดให้ทั่วให้ทุกตารางนิ้วสว่าง อาจแค่เฉพาะที่ท่านทำงานสว่าง ด้วยการทำแค่นี้ลดอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าได้แล้ว
เป็นเรื่องของดาต้า แต่ถ้าเราไม่เคยดูเลยจะไม่รู้ ยกตัวอย่างออฟฟิศผม มีพนักงาน 5 คน พื้นที่ 150 ตรม. เยอะนะ ค่าไฟไม่น่าเชื่อว่าเราลดจาก 4,500 เหลือสองพันกว่าบาท เริ่มต้นจากไปสังเกตว่า ประตูมีรอยรั่ว ก็ลงทุนปิดซีลด์ประตูแค่ไม่กี่ร้อยบาท ทันทีที่ปิดซีลด์ได้แอร์ก็ไม่รั่วไหล ผมกำหนดว่ากลางวันไม่ต้องปิดแอร์ แต่ให้เปิด 25 องศาไว้ตลอดเวลา เมื่อต้องการเย็นมากก็เปิดพัดลมเลย จนรู้สึกว่าพอใจก็ปิดพัดลม ขณะเดียวกันถ้าองค์กรอื่นไม่มีพัดลมตั้งไว้ จะเกิดอะไรขึ้น พนักงานจะเดินไปเร่งแอร์ การที่มีพัดลมแค่ตัวละสี่ร้อยบาท เปิดแค่ 5 นาทีก็เย็นแล้ว พอเย็นห้องก็ 25 องศา แค่เรื่องเล็กน้อยเฉพาะค่าไฟนะ
เรื่องขยะ องค์กรผมมีนโยบายง่าย ๆ ว่า ขยะที่เป็นของกินไม่ให้วางไว้ในออฟฟิศ แค่เราร่วมแรงร่วมใจเดินออกไปทิ้งที่อาคารจัดไว้ให้ เท่านี้เอง แมลงสาบก็ไม่เดิน พอไม่เดินคนก็ไม่ป่วย เป็นการตอบโจทย์ด้านอาชีวอนามัยในหน่วยงาน ทำให้พนักงานไม่ป่วย ทำให้โปรดักติวิตี้ในหน่วยงานดีขึ้น เป็นการจัดการง่าย ๆ ที่คนนึกไม่ถึงกัน”
เราจะช่วยกู้โลกจากชีวิตประจำวัน ทำอย่างไร
เชอรี่ : “ง่ายมากถ้าเราตั้งเป้าจะทำ ตั้งแต่ตอนนี้ก็ทำได้ เพราะการใช้ชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นนอนมากระทบกับโลกหมดเลย เราปิดแอร์ทันทีที่ไม่ได้ใช้ อะไรที่ใช้เราก็ใช้ แต่เรามักใช้อะไรที่เกินความจำเป็น เช่น ไฟฟ้า แอร์ อะไรปิดได้ปิด ปลั๊กที่ไม่ใช้ปิดสวิตช์มั้ย
เรื่องน้ำ... ทำไมต้องเปิดก๊อกน้ำทิ้งเวลาแปรงฟัน เปิดน้ำไว้ 1 ชม. เราเสียน้ำไป 9 ลิตรเลยนะ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่คนทำได้แต่ไม่เห็นความสำคัญ
อาหาร บริโภคเกินจำเป็นเป็น Food waste สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีก ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ศีรษะจรดปลายเท้า สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ทุกอย่างผ่านกระบวนการผลิตที่สร้างกรีนเฮาส์แก๊ซขึ้นมา
ถ้าเราใช้ทุกอย่างอย่างคุ้มค่าที่สุด มันถูกผลิตมาแล้ว จะใช้ยังไงให้เกิดผลกระทบทางลบให้น้อยที่สุด มองได้ทุกอย่างในการใช้ชีวิตเลย รวมถึงไม่ใช้ซิงเกิ้ลยูส ไม่ใช่แค่พลาสติก หลอด ถุง กระดาษ อื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าวันนี้เราตั้งเป้าสร้างผลกระทบให้โลกน้อยลง เราจะรู้ว่าหลังจากนี้เราจะใช้ชีวิตตรงไหน ถ้าอันนี้ลดไม่ได้ เราลดผลกระทบมันได้อย่างไร”
เชอรี - เข็มอัปสร สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากว่า 9 ปี
ซึ่งมีคนตั้งเป้าทำเรื่องเหล่านี้เพื่อโลกน้อยมาก
เชอรี่ : "น้อยมาก ๆ เพราะเราเคยชินไปกับความสะดวกสบาย แล้วการที่เราจะไม่สะดวกสบายสักเล็กน้อยมันเริ่มเป็นความไม่สะดวกสบายที่ใหญ่หลวง รู้สึกลำบาก จึงต้องอาศัยเวลา
เชอรี่ไม่ใช่ตื่นเช้ามาเปลี่ยนเป็นคนที่รักษ์โลกเลย ไม่ใช่ ทุกอย่างใช้เวลาในการปรับตัว ขวดน้ำกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของเราได้ ใช้เวลาในการปรับตัวเหมือนกัน แต่เรามีความตั้งใจมากพอหรือเปล่า และมีความจริงจังที่จะทำต่อเนื่องหรือเปล่า
แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว มันจะคิดจะไปข้างหน้าว่าเราจะทำอะไรได้มากขึ้น หรือเพิ่มขึ้นในแต่ละอย่าง”
ดร.วิทย์ - เชอรี เข็มอัปสร
ดาราหรือคนดังน่าจะเป็นกระบอกเสียงได้มาก
เชอรี่ : “มีพอสมควรที่ทำจริงจัง แต่เมื่อเทียบกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนักแสดง กลุ่มคนอื่น ๆ ก็อยากจะทำ แต่เทียบสัดส่วนกันไม่ได้เลย สัดส่วนปัญหาประมาณร้อย แต่สัดส่วนคนที่ทำไม่ถึงสิบ ต้องอาศัยคนที่ทำอย่างจริงใจ จริงจัง และทำอย่างต่อเนื่อง”