เปิดโมเดล 'ชุมชนล้อมรักษ์' ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

เปิดโมเดล 'ชุมชนล้อมรักษ์' ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

"ยาเสพติด" อีกวงจรปัญหาสังคมที่ไม่สิ้นสุด เพื่อให้ยาเสพติดหมดไป จึงเกิดโมเดล "ชุมชนล้อมรักษ์" อีกหนึ่งต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง ด้วยการดำเนินการอย่างมีบูรณาการ

ยาเสพติด เป็นอีกวงจรปัญหาสังคมที่ไม่สิ้นสุด ดูเหมือนว่าแม้จะแก้ปัญหาอย่างไร โลกจะไม่เคยเอาชนะยาเสพติดได้เลยสักครั้ง ปัจจุบันโลกต่างยอมรับแล้วว่า การจะแก้ปัญหา "ยาเสพติด" แบบยั่งยืนนั้น ต้องไม่ใช่การแก้ปัญหาในแบบม้วนเดียวจบ เพราะเแท้จริงแล้วปัญหายาเสพติดคือ ปัญหาสังคมแบบองค์รวม และล้วนมีที่มาจากต้นเหตุปัญหาต่างๆ ในสังคม ดังนั้น "Mindset" ใหม่ของคนในสังคมวันนี้ จึงควรมีมุมมองเปลี่ยนไปในการแก้ปัญหายาเสพติด และการมองว่าคนที่เป็น "ผู้ติดยาเสพติด" อาจเป็นเพียง "ผู้ป่วย" คนหนึ่งเท่านั้น 

จากแนวคิดที่ว่า "ทุกคน" ควรมี "ส่วนร่วม" ในการแก้ปัญหายาเสพติดไปด้วยกัน ก่อให้เกิดโมเดล "ชุมชนล้อมรักษ์" ที่เป็นคอนเซปต์การแก้ปัญหายาเสพติดที่ใช้กระบวนการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดยา โดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) ซึ่งก็คือการดึงเอาพลังของคนในชุมชนเองเข้ามาจัดการปัญหาของตัวเองด้วยการดำเนินการอย่างมีบูรณาการ

"ล้อมรักษ์" ถึงเวลาชุมชนช่วยคนป่วยเสพติด

ตามหลักการ "เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย" อันเป็นนโยบายของภาครัฐ และตามแนวทาง "ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยฯ" ของกระทรวงสาธารณสุข นำมาสู่โมเดลใหม่ของแนวคิดการบำบัดรักษาผู้ป่วยเสพติดยา และการจัดระบบบำบัดผู้ป่วยที่ "ครอบคลุม" และ "เข้าถึง" ผู้ป่วยทุกระดับมากขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนแนวคิด "ชุมชนล้อมรักษ์"

เปิดโมเดล \'ชุมชนล้อมรักษ์\' ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเดินหน้าบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระบบคัดกรอง บำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้เสพยาเสพติด ให้ครอบคลุมทุกระดับความรุนแรง เพื่อคืนคนสู่สังคมอย่างปลอดภัย ภายใต้แนวคิด "ชุมชนล้อมรักษ์สสส. เองร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าว ให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ แต่ก่อนที่จะสร้างเสริมสุขภาพได้ ยังจำเป็นต้องลดปัจจัยทำลายสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหล้าแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติดต่างๆ โดยที่ผ่านมา สสส. สำรวจและทำงานเรื่องชุมชนที่จะป้องกันดูแลเรื่องการบำบัด ผู้ป่วยติดยาเสพติด มีพื้นที่ทำงานประมาณ 1,527 แห่งทั่วประเทศ มีพื้นที่ต้นแบบอีก 15 แห่ง ซึ่งกระจายใน 48 จังหวัด โดยมีการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขด้วยเป้าหมายที่จะพัฒนาต้นแบบเพิ่มเติม เพื่อให้กระบวนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา สสส. มีเป้าหมายที่ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน ผ่านกลไกชุมชนล้อมรักษ์ ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพให้ชุมชนสามารถที่จะคัดกรอง ส่งต่อ และทำให้การบำบัด รักษา มีประสิทธิภาพสูงสุด
โมเดลของชุมชนล้อมรักษ์ เริ่มจากมีการจัดลำดับคัดกรองผู้ป่วยติดยา ตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยโดยจัดแบ่งเป็นค่าสี เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาที่เหมาะสม

พระนครศรีอยุธยา ต้นแบบชุมชนล้อมรักษ์

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอีกหนึ่งจังหวัดต้นแบบของการดำเนินโครงการ "ชุมชนล้อมรักษ์" ซึ่งมีครบทุกอำเภอ รวม 43 แห่ง นอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์คัดกรองผู้ติดยาเสพติด 213 แห่ง ครอบคลุมทุกตำบลตั้งแต่ปี 2566 ปัจจุบันคัดกรองผู้ป่วยทั้งหมด 4,380 ราย พบเป็นกลุ่มสีแดง 120 ราย สีส้ม 1,314 ราย สีเหลือง 2,185 ราย และสีเขียว 761 ราย 

เปิดโมเดล \'ชุมชนล้อมรักษ์\' ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงจนป่วย หรือต้องพบแพทย์ จะถูกจัดอยู่ระดับสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชุมชนสามารถจะดูแลได้เอง กลุ่มนี้จะสามารถอยู่ใกล้ชิดชุมชน รวมถึงจำเป็นต้องบูรณาการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งท้องที่ และท้องถิ่น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหายาเสพติด

สำหรับผู้ป่วยสีแดงที่มีภาวะวิกฤติด้านจิตเวชและยาเสพติด จะมีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป รวม 2 แห่ง ผู้ป่วยสีส้ม ที่พ้นภาวะวิกฤติแล้ว ปัจจุบันมี มินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลวังน้อย ให้การบำบัดระยะกลาง ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองที่ไม่มีปัญหาซับซ้อน จะมีมินิธัญญารักษ์ให้การบำบัดระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังนำร่องดำเนินการต้นแบบขึ้นที่โรงพยาบาลอุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และชุมชนล้อมรักษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา

สำหรับผลจากการดำเนินงานในปี 2566 มีผู้ป่วยสีเขียวสมัครใจบำบัดถึง 699 ราย ซึ่งมากเป็นอันดับ 7 ของประเทศ ล่าสุดกำลังจะขยาย ชุมชนล้อมรักษ์ เพิ่มขึ้นอีก 23 แห่ง รวมเป็น 66 แห่ง ซึ่งจะช่วยคืนคนสู่สังคมอย่างปลอดภัยได้มากขึ้น

มินิธัญญารักษ์ ทางออกของคนติดยา

มินิธัญญารักษ์ เป็นส่วนหนึ่งที่บทบาทของโรงพยาบาลในชุมชนจะเข้ามาสนับสนุนชุมชน ที่ช่วยลดอุปสรรคปัญหาการเข้าถึงการได้รับบริการบำบัดรักษาของผู้ป่วยติดยาเสพติด จะเป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนชุมชนล้อมรักษ์โมเดลให้เกิดบูรณาการแท้จริง

"เดิมการส่งต่อกลุ่มผู้ป่วยติดยา จำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น ปัญหาที่ตามมาคือ มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่คุ้นชิน หลายคนหนีกลับมาบ้าน ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง"

เปิดโมเดล \'ชุมชนล้อมรักษ์\' ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

นพ.พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การมีโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยระดับชุมชนใกล้บ้าน สามารถดูแลโดยคนบ้านเดียวกัน จึงเป็นอีกทางเลือกของการบำบัดรักษา โดยมินิธัญญารักษ์ ยังเป็นอีกหนึ่งจุดเชื่อมต่อที่เชื่อมโยงสู่โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ ที่ สสส. เชื่อว่าจะเป็นอีกการแก้ปัญหาผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดในชุมชนที่มีความยั่งยืน ด้วยการทำหน้าที่ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยผู้ติดยาในระดับชุมชนได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องทำต่อเนื่อง ข้อจำกัดของการดำเนินงานจึงอยู่ที่การทำให้ชุมชนเข้าใจ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัด ออกไปใช้ชีวิตในสังคมแล้วสามารถอยู่ได้อย่างมีคุณค่ามีศักดิ์ศรี และมีงานทำ เป็นที่ยอมรับของสมาชิกในสังคม เรามองว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการสื่อสารกับคนสังคมให้เข้าใจและเปิดใจรับ อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นสิ่งที่ต้องทำครบวงจร ทำต่อเนื่องและระยะยาว แม้จะเป็นจิ๊กซอว์ที่ขาดไม่ได้ แต่มินิธัญญารักษ์ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หากไม่มีกระบวนการอื่นๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน

มินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลอุทัย

มินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลอุทัย เปิดบริการเมื่อมกราคม 2567 รับเฉพาะผู้ป่วยชาย จำนวน 8 เตียง ให้การบำบัดระยะยาว ใช้ระยะเวลาประมาณ 90-120 วัน และติดตามต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี

นพ.เศกสรรค์ ชวนะดีเลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัย ผู้เป็นแกนนำสำคัญในการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลอุทัย กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ การอยู่ในวงจรบำบัดซ้ำบำบัดซาก หรือบำบัดแล้วก็กลับไปสู่วงจรการติดใหม่ ทั้งที่เขาเองอาจอยากหายจริงๆ โดยเราศึกษาพบว่า รูปแบบมินิธัญญารักษ์เป็นการบำบัดในรูปแบบ Long Term Care ซึ่งโรงพยาบาลมีความสนใจและอยากนำมาปรับใช้ และได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่มีปัญหาเรื่องติดยาเสพติดระยะยาว ซึ่งในเฟสแรกของมินิธัญญารักษ์ เลือกที่จะดำเนินการกับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและสีเหลืองคือที่ติดยายาวนาน แต่ยังไม่มีอาการทางจิตปรากฏ เลยมองว่าเราควรเลือกจากคนที่สมัครใจก่อน เพราะเขาคือคนที่อยากหาย แต่อาจมีปัจจัยที่ทำให้เขาไม่สามารถหย่าขาดจากสารเสพติดได้ เช่น กรณีที่กลับไปในสังคมแล้วไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้ต้องกลับสู่วังวนเดิม บางคนอาจขาดแรงจูงใจที่จะผลักดันชีวิตให้ดีขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงเชิญชวนคนจากศูนย์คัดกรอง ประชาสัมพันธ์โครงการ สุดท้ายได้หน่วยกล้าตายรุ่นตั้งต้น อาสามาเป็นร่วมโครงการประมาณ 4 คน 

นพ.เศกสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเตรียมการที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การปรับแนวคิดเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่มีต่อผู้ป่วยติดยาว่าไม่ใช่ผู้ป่วยโรคจิตเวช หรือปัญหาสังคม รวมถึงการการวางแผนกิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้ป่วยตลอดระยะเวลา 90 วัน ทางโรงพยาบาลได้ออกแบบปรับกิจกรรม โดยมีคอนเซปต์ว่าต้องไม่น่าเบื่อ และไม่ใช่การสั่งสอน เน้นมีการเข้ากลุ่ม แต่ไม่ใช่การตำหนิติเตียน มีการพูดเสริมกำลังใจ มีการใช้นักจิตวิทยาชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการ รวมถึงการมีกิจกรรมร่วมกับชุมชน การทำบุญตักบาตร การพาไปเรียนรู้เรื่องทักษะอาชีพ เช่นการซ่อมจักรยานยนต์ เป็นต้น

"ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่มีการพูดคุยหารือร่วมกันสม่ำเสมอ เพื่อการติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด คอยสังเกตการณ์ว่าตกอยู่ในภาวะเบิร์นเอาท์หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา หลังดำเนินโครงการมาสองรุ่นแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ป่วยอาสาเข้ารับการบำบัดในโครงการนี้มีความรู้สึกเบิร์นเอาท์หรืออยากออกจากมินิธัญญารักษ์เลย หลายคนยอมทิ้งอาชีพของเขาเพราะตั้งใจเข้าร่วมโครงการนี้ หลายคนได้ทักษะใหม่ๆ จากโครงการ" นพ.เศกสรรค์ กล่าว

นพ.เศกสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เป้าหมาย มินิธัญญารักษ์ ไม่ใช่เน้นการรักษาเป็นหลักอย่างเดียว แต่ใช้กระบวนการบำบัด ควบคู่การรักษา ผ่านทั้งกิจกรรมบำบัด ชุมชนบำบัด หรือแม้แต่ครอบครัวก็มีบทบาทในการบำบัด รวมถึงการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งการที่มีองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ในกระบวนการบำบัด จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจว่าสามารถกลับสู่ชุมชนได้ อีกทั้งมีความสุข มีคุณค่าอีกครั้ง ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดที่มินิธัญญารักษ์แห่งนี้ไปแล้วรวม 11 ราย โดยได้ส่งผู้ป่วยกลับคืนสู่ชุมชนแล้ว 5 ราย ซึ่งปัจจุบันทุกรายสามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ 300-500 บาท/วัน โดยจากการติดตาม พบว่าผู้ป่วยไม่กลับไปเสพซ้ำ 3 ราย ส่วนอีก 2 ราย กลับไปยุ่งเกี่ยว ยาเสพติด อย่างไรก็ดี ทางโครงการยังได้ติดตามดูแลเรื่องการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดไปพร้อมกับการบำบัดรักษา เพื่อให้สามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด

เปิดโมเดล \'ชุมชนล้อมรักษ์\' ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง