'ยูนิเซฟ' ส่ง 'กล่องมหัศจรรย์' ช่วย 'พัฒนาการเด็กเล็ก' หลัง 'น้ำท่วม'
‘ยูนิเซฟ’ ส่ง ‘กล่องมหัศจรรย์’ 1,000 กล่อง ภายในนั้นมี ปริศนารูปสัตว์ ของเล่นหลากรูปทรง ลูกบอลหลากสี บล็อกตัวต่อ สมุดระบายสี สีเทียน และหนังสือนิทาน ให้ครอบครัวกลุ่มเปราะบาง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจาก ‘น้ำท่วม’ ภาคใต้
ยูนิเซฟ ห่วงใยต่อ พัฒนาการเด็กเล็ก ส่ง กล่องมหัศจรรย์ ครั้งแด่เด็กๆ ภาคใต้ ของเล่นเด็กมีความจำเป็นแค่ไหน ?
ฮะยาตี สามุ ยังจำภาพที่หลานชายของเธอร้องไห้ และถามถึงของเล่นตอนที่ทั้งครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวหลังจากบ้านถูก น้ำท่วม ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 หลานตัวน้อยถามซ้ำ ๆ ว่าจะได้ของเล่นคืนไหมหรือจะได้ย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านอีกหรือไม่
“ฉันเสียใจมากแต่ไม่รู้ว่าจะตอบคำถามยังไงตอนที่หลานถามว่าของเล่นหายไปไหนหมด” ฮะยาตีกล่าวทั้งที่ยังรู้สึกหนักอึ้งจนเกือบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ คุณน้าวัย 22 ปีรายนี้ดูแลหลานชายของเธอตั้งแต่พี่สาวของเธอย้ายไปทำงานที่มาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว และเธอต้องอยู่กับหลานชาย และหลานสาวช่วงน้ำท่วม
ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก น้ำท่วม ที่หนักที่สุดในรอบหลายทศวรรษ บ้านเรือนหลายพันหลัง โรงเรียนหลายสิบแห่ง และสถานที่ทางศาสนาหลายแห่งถูกน้ำท่วม บางครอบครัวต้องย้ายไปอยู่บนชั้นสองของบ้าน ส่วนอีกหลายพันครอบครัว รวมถึงครอบครัวของฮะยาตี ต้องย้ายไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงฉุกเฉินในบริเวณใกล้เคียง ส่วนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ไปโรงเรียนกันหลายวัน หรือบางคนก็หลายสัปดาห์
ของเล่น หนังสือ และ สื่อการเรียนรู้จำนวนมากเสียหาย ในขณะที่บางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลังทำความสะอาด แต่บางส่วนก็ถูกพัดพาหายไปกับกระแสน้ำ แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัด ผู้ปกครองและครูจึงให้ความสำคัญกับสถานที่เป็นอันดับแรก นั่นหมายความว่า การทำความสะอาดซ่อมแซมโรงเรียนหรือบ้านย่อมมีความจำเป็นมากกว่าการซื้อสื่อการเรียนรู้หรือของเล่นชุดใหม่ ทำให้เด็กจำนวนมากขาดสื่อการเรียนรู้และของเล่น ซึ่งจำเป็นต่อ พัฒนาการเด็กเล็ก
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ยูนิเซฟ เข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยได้จัดส่ง กล่องมหัศจรรย์ จำนวน 1,000 กล่อง ที่ประกอบด้วยปริศนารูปสัตว์ ของเล่นหลากรูปทรง ลูกบอลหลากสี บล็อกตัวต่อ สมุดระบายสี สีเทียน และหนังสือนิทาน ไปให้ครอบครัวกลุ่มเปราะบาง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และพัทลุง
ครูและเด็ก ๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแยะ ในจังหวัดยะลาช่วยกันเปิดกล่องมหัศจรรย์
ครอบครัวของฮะยาตีดีใจมากที่ได้รับ Magic Box หรือ กล่องมหัศจรรย์ ซึ่งมาพร้อมกับคู่มือสำหรับผู้ปกครองในการใช้สื่อเรียนรู้และของเล่นเหล่านี้เพื่อช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการเรียนรู้ได้ดีที่สุด
“เด็ก ๆ ตื่นเต้นมากจนแทบรอแกะกล่องไม่ไหว” ฮะยาตี สามุ กล่าว โดยนึกถึงปฏิกิริยาของเด็กๆ เมื่อเห็น กล่องมหัศจรรย์ วางอยู่ที่บ้านตอนหลังเลิกเรียน “เราเคยมีของเล่นพลาสติกธรรมดา ๆ แต่ไม่เคยมีหนังสือนิทานมาก่อน” เธอกล่าวพร้อมกับยิ้ม
ภายในกล่องมหัศจรรย์เต็มไปด้วยของเล่นและอุปกรณ์การเรียนรู้
การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 (หรือ Thailand MICS 2022) พบว่ามีเด็กจำนวนไม่มากที่อ่านหนังสือที่บ้าน และสถานการณ์ในจังหวัดทางภาคใต้นั้นก็แย่กว่าในภูมิภาคอื่น ๆ โดยในจังหวัดนราธิวาสมีเด็กเพียงร้อยละ 13 ที่มีหนังสือเด็กที่บ้าน และในจังหวัดสตูล สงขลา และปัตตานี มีเด็กเพียง 1 ใน 5 คนที่มีหนังสือที่บ้าน ซึ่งล้วนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ร้อยละ 36
การขาดแคลนของเล่นและหนังสือส่งผลต่อโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ผลการสำรวจ MICS ยังพบว่าทักษะการเรียนรู้เป็นปัญหาสำคัญสำหรับเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้จะเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา
แต่มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 ในจังหวัดนราธิวาสเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 47 อยู่มาก อัตรานี้ยังต่ำมากในจังหวัดปัตตานีและยะลาที่ร้อยละ 17 และ 27 ตามลำดับ
เด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านสะโตกำลังสนุกกับของเล่นชิ้นใหม่แกะจากกล่องมหัศจรรย์
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยของ ยูนิเซฟ เดินทางไป จังหวัดยะลา เพื่อพูดคุยกับครูและผู้ปกครองที่ได้รับกล่องมหัศจรรย์ โดย นภัทร พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้มีโอกาสเล่นกับเด็ก ๆ และสาธิตวิธีการเล่นกับชุด 'ตัวต่อสัตว์' หรือลูกบอลพลาสติกสีสันสดใสให้กับฮะยาตีและเด็ก ๆ ที่นั่น โดยนภัทรอธิบายว่าสื่อเรียนรู้และของเล่นเหล่านี้ช่วยพัฒนาสมองของเด็กได้อย่างไร
“เราเลือกของเล่นแต่ละชิ้นมาอย่างดีเพื่อพัฒนาการที่สมกับวัยของเด็ก ของเล่นบางอย่างช่วยสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็ก และบางอย่างช่วยให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องสี หรือการนับเลข” นภัทรบอกกับฮะยาตี
ฮะยาตี สามุเล่าเรื่องหลานชายตัวน้อยร้องไห้ถึงของเล่นที่หายไป
ซูไฮดา สะตาปอ เป็นอีกครอบครัวในจังหวัดยะลาที่ได้รับกล่องมหัศจรรย์ เธอเล่าว่าลูก ๆ ของเธอสนุกกับการสร้างรถยนต์ บ้าน หรือสะพานด้วยของเล่น คุณแม่ยังดีใจที่ได้รับหนังสือนิทานเล่มใหม่เพราะเล่มเก่า ๆ ที่เคยมีพัดหายไปกับ น้ำท่วม เมื่อปีที่แล้ว
กล่องมหัศจรรย์ ยังมีส่วนช่วยให้ผู้ปกครองและครูที่ศูนย์เด็กเล็กรู้วิธีใช้ของเล่นในการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ปกครองใช้เวลาและมีส่วนร่วมกับลูก ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถามเด็ก ๆ ว่า ทำไมพวกเขาถึงเลือกต่อเลโก้เป็นสะพานหรือรถยนต์ นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังเห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ฟังเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมองและเสริมสร้างสายใยของครอบครัว
นภัทร พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัยสอดแทรกความรู้ให้กับเด็ก ๆ ระหว่างที่เล่นของเล่นด้วยกันที่โรงเรียนบ้านสะโต
ซูไฮดาบอกว่า เธอได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีการใช้ของเล่นในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกมากขึ้น เธอชอบเล่นกับเลโก้กับลูก ๆ ของเธอเป็นพิเศษ และตั้งใจที่จะเล่นกับพวกเขาให้บ่อยขึ้น
นอกจากเยี่ยมครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว ทีมพัฒนาเด็กปฐมวัยของยูนิเซฟยังได้เยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อให้คำแนะนำแก่ครูและเด็กๆ ในการใช้กล่องมหัศจรรย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมพัฒนาเด็กปฐมวัยของยูนิเซฟกำลังเล่นของเล่นชิ้นใหม่กับเด็ก ๆ ในบ้าน
ทีมผู้เชี่ยวชาญของยูนิเซฟหวังว่ากล่องมหัศจรรย์จะไม่เพียงแค่สร้างความสนุกให้กับเด็ก ๆ ที่ต้องสูญเสียของเล่นไปกับน้ำท่วมเท่านั้น แต่หวังให้อุปกรณ์ในกล่องเป็นสื่อการเรียนรู้ใหม่สำหรับพวกเขา ดังที่นภัทรกล่าวว่า
“เราเชื่อว่ากล่องมหัศจรรย์จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับผู้ปกครองในการช่วยให้บุตรหลานได้เรียนรู้ เสริมสร้างทักษะ และก้าวต่อไปอย่างเต็มศักยภาพ”
ทินสิริ ศิริโพธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเด็กปฐมวัยกำลังแนะนำซูไฮดา สะตาปอถึงวิธีใช้ของเล่นในการกระตุ้นการเรียนรู้ของลูก ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
หนังสือที่ถูกน้ำท่วมวันนั้นยังคงถูกนำมาผึ่งแดดให้แห้ง