มาถึงไทยแล้ว เรือ ‘Rainbow Warrior’ ปกป้องทะเลไทย ตลอดเดือน มิ.ย. 67
เรือ ‘Rainbow Warrior’ มาถึงประเทศไทยแล้ว เพื่อปกป้องทะเลและมหาสมุทร ในโครงการ 'Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice' จอดลอยลำที่ชุมพร, สงขลา
กรีนพีซ ประเทศไทย จัดงาน Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice ในโอกาสที่เรือธงของกรีนพีซ การเผชิญหน้าแบบสันติวิธีเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสิทธิมนุษยชน เดินทางมาประเทศไทยและทำกิจกรรมตลอดเดือนมิถุนายน
วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางทะเล การแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล การทำประมงไม่ยั่งยืน ภัยจากโครงการอุตสาหกรรมชายฝั่งและกลางทะเล ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปี
"Ocean Justice เป็นแคมเปญรณรงค์ระหว่างประเทศของกรีนพีซ ที่เรียกร้องให้เกิดการจัดการทรัพยากรทางทะเลควบคู่กับไปการคำนึงถึงมิติด้านสังคม วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง"
ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ทางทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายเพิ่มเติม
Cr. Kanok Shokjaratkul
"เป้าหมายของการนำ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เข้ามาทำกิจกรรมในประเทศไทยตลอดทั้งเดือนมิถุนายน เพื่อเฉลิมฉลองวันมหาสมุทรโลก 8 มิถุนายน และเพื่อขยายความร่วมมือการรณรงค์ทางทะเลและมหาสมุทรในประเทศไทยกับชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ อ.จะนะ จ.สงขลา
กรีนพีซเชื่อว่านโยบายด้านการจัดการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องคำนึงถึงมิติความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมกำหนดและตัดสินใจในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กรีนพีซได้สนับสนุนชุมชนพื้นที่ชายฝั่งจะนะ และพื้นที่เครือข่ายประมงพื้นบ้านในหลายพื้นที่ เราพบว่าทะเลไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง
หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและบ่อยขึ้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนมากขึ้น กระทบต่อระบบนิเวศเปราะบางที่เชื่อมโยงโดยตรงกับวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของผู้คนบนแผ่นดิน
ขณะที่ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ลอยลำในประเทศไทยเราจะใช้เรือสนับสนุนทางทะเลเก็บข้อมูลหลากหลายชนิดและความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอนในท้องทะเลไทยฝั่งอ่าวไทย ตัวชี้วัดระดับความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ นำไปสู่การออกแบบและกำหนดพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลต่อไป
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เป็นตัวแทนความหวังรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อม จะช่วยต่อยอดเรื่องราวการต่อสู้และการไม่ยอมจำนนของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง และหมู่เกาะ ทั่วประเทศไทย ให้เข้าถึงสิทธิการมีส่วนร่วมด้านการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ มาไทย 5 ครั้งแล้ว
กัปตันเรือ เฮตตี กีแนน (Hettie Geenen) ดีใจที่ได้กลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถนำ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯได้ เนื่องจากความสูงของเสากระโดงเรือไม่สามารถผ่านสะพานหลายแห่งในกรุงเทพฯได้
"แต่เราได้นำสัญลักษณ์และจิตวิญญาณของ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เข้ามาโดยผ่านตัวแทนลูกเรือ 17 คน จาก 15 ประเทศทั่วโลก เช่น อาร์เจนติน่า, เม็กซิโก, เบลเยี่ยม, อินโดนีเซีย และ ไทยแลนด์
Cr. Kanok Shokjaratkul
นี่เป็นครั้งที่ 4 แล้วที่ดิฉันได้เข้ามาทำกิจกรรม Ship Tour ในประเทศไทยพร้อมกับ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ งานที่เราทำเชื่อมโยงกับชุมชนหลาย ๆ แห่ง เป็นสิ่งที่ฉันรัก
ในครั้งนี้เราทำภายใต้โครงการชื่อว่า Ocean Justice เมื่อสิบวันที่ผ่านมา คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ได้ให้ความเห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นรูปแบบหนึ่งของมลพิษทางทะเลภายใต้อนุสัญญากฎหมายทะเลของสหประชาชาติ
Cr. Kanok Shokjaratkul
พื้นที่ของโลกใบนี้มีทะเลปกคลุมมากถึง 70 เปอร์เซนต์ แต่ท้องทะเลไม่สามารถพูดออกมาได้ เราจำเป็นต้องยืนหยัดและรับฟังชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งมีความเข้าใจและปฏิบัติต่อท้องทะเลด้วยความเคารพ เป็นกลุ่มคนที่ควรต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด
เราแล่นเรือไปในท้องทะเลทั่วโลก ได้เป็นประจักษ์พยานเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องทะเล เช่น มลพิษ มีพลาสติกกระจายอยู่ไปทั่ว เจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ช่วยเหลือวาฬที่เข้ามาติดในอวนประมง ลงไปตัดอวนให้วาฬรอดไปได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราได้เห็นการทำประมงเกินขนาด การทำประมงโจรสลัด การใช้เรือประมงอวนลากที่กวาดต้อนทุกอย่างไปจากท้องทะเล แย่งชิงทรัพยากรของชุมชนประมงชายฝั่ง
เราได้เห็นหมู่เกาะที่กำลังหายไป ซึ่งเป็นผลจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น เราได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นกลางทะเลและปัญหาอีกมากมาย
Cr. Kanok Shokjaratkul
ดิฉันดีใจที่ได้กลับมาที่ประเทศไทยเพื่อใช้เรือเป็นเวทีให้กับชุมชนชายฝั่งและร่วมทำกิจกรรมกับกรีนพีซประเทศไทย เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
เราทุกคนต่างตระหนักว่านี่คือช่วงเวลาที่สำคัญที่เราต้องทำอะไร ก่อนที่มันจะสายเกินไป ท้องทะเลไม่ได้เป็นของเรา แต่เราต่างหากที่เป็นส่วนหนึ่งของท้องทะเล"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
วันที่ 1-2 มิถุนายน 2567 ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ
ชมนิทรรศการ Interactive Exhibition ใต้ผืนน้ำมหาสมุทร, ภาพถ่ายเรื่องราวประวัติความเป็นมาของ Rainbow Warrior, นิทรรศการภาพถ่ายใต้ทะเล และงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม, พูดคุยเรื่องราวการทำงานกับกัปตันหญิง และลูกเรือ Rainbow Warrior, ร่วมเพนท์ภาพแบนเนอร์ขนาด 6 เมตร Ocean Peace ออกแบบโดย Sahred Toy หรือ ต๊อด-อารักษ์ อ่อนวิลัย
Cr. Kanok Shokjaratkul
Ocean Sculpture x Pom Eco Artist โดย อาจารย์ป้อม Eco Artist ศิลปินหญิงชาวภูเก็ตด้านสร้างสรรค์ศิลปะจากขยะทะเล, Workshop พวงกุญแจ โดย Tanntalay นำขยะทะเลมาชุบชีวิตใหม่ เป็นชิ้นเดียวในโลกที่ทำขึ้นด้วยฝีมือคุณ, Workshop ปรุงดินกับ ปริ๊นซ์ เจ้าชายผัก แบบ step by step ขั้นตอนการปลูก การทำปุ๋ยเบื้องต้น
ชมภาพยนตร์ Solids by The Seashore ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง, พูดคุยกับแพร รวิภา ศรีสงวน นักแสดงนำในภาพยนตร์ และ น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี จาก Beach for Life ที่ทำงานขับเคลื่อนคัดค้านกำแพงกั้นคลื่นมาหลายปี
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
วันที่ 8-9 มิถุนายน 2567 อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
จะเปิด เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ให้ได้เยี่ยมชมกัน ณ หาดสะพลี
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
วันที่ 22-24 มิถุนายน 2567 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
โครงการ Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Justice for Ocean มีจุดประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการอภิปรายถกเถียงถึงนโยบายสาธารณะด้านสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมกำหนดเขตพื้นที่และบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมแนวชายฝั่งทะเลไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน