สำรวจ 'ประชากร LGBTQ+' รับกระแส Pride Month ครั้งแรกในไทย

สำรวจ 'ประชากร LGBTQ+' รับกระแส Pride Month ครั้งแรกในไทย

ต้อนรับ Pride Month ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมผลักดันโครงการ "การคาดประมาณขนาดประชากรหลากหลายทางเพศ สถานการณ์ชีวิต และสุขภาพของ LGBTQ+" เดินหน้าสำรวจตัวเลขกลุ่ม LGBTQ+ อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในประเทศไทย

แม้สังคมไทยจะเปิดกว้างในเรื่อง ความหลากหลายทางเพศ มากขึ้น แต่ถ้าถามถึงความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เราอาจอยู่ในระดับห่างไกลความเข้าใจมากกว่าที่คิดก็เป็นได้ เพราะการระบุตัวเลขประชากร LGBTQ+ ในประเทศไทยกลับยังไม่เคยมีการคาดประมาณขนาดประชากรกลุ่มนี้ "อย่างเป็นระบบ" และเชื่อถือได้มาก่อน นั่นคือหนึ่งความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ 

การอยู่ในสังคมที่ยังให้ความสำคัญกับ "ตัวเลข" เป็นหลัก เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำข้อมูลมาใช้ในการอ้างอิงและขับเคลื่อนการทำงาน ก่อนจะมี "สมรสเท่าเทียม" การจะเดินไปสู่เป้าหมายสังคมที่ "นับรวมทุกคน" ได้นั้น อาจจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลพื้นฐานเชิงจำนวนของคนทุกกลุ่มในสังคมที่นับรวมถึง "ประชากรกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ" เพื่อพิสูจน์ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการจัดสรรทรัพยากร การบริการและสวัสดิการต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม

โอกาสดีในช่วง Pride Month กลายเป็นเวลาเหมาะสมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มตัวแทน LGBTQ+ จับมือกันผลักดันโครงการคาดประมาณขนาดประชากรหลากหลายทางเพศและสถานการณ์ชีวิตและสุขภาพของ LGBTQ+ ที่มีเป้าหมายหลักคือ การสำรวจตัวเลขกลุ่ม LGBTQ+ หรือขนาดประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก

นับเราด้วยคน

ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคที่ผู้คนเปิดกว้างและมีความหลากหลายมากที่สุดในศตวรรษ จนเป็นเรื่องยากที่จะ "นิยาม" ใคร โดยจำกัดแค่ว่าเขาคนนั้นเป็นเพศ "ชาย" หรือ "หญิง" แม้แต่การจัดหมวดแบ่งกลุ่ม LGBTQ+ เองก็แทบไม่ครอบคลุมสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศยุคนี้อีกต่อไป

สำรวจ \'ประชากร LGBTQ+\' รับกระแส Pride Month ครั้งแรกในไทย

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ อธิบายว่า วันนี้เราอาจได้พบศัพท์แสงที่นิยามตัวตนของคนในสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกย์ กะเทย หญิงรักหญิง เลสเบี้ยน ทอม ดี้ ชายข้ามเพศ ชายรักชาย คนรักสองเพศ (Bisexual) สาวประเภทสอง คนข้ามเพศ หญิงข้ามเพศ transgender เควียร์ (Queer) คนมีสองเพศ เพศกำกวม คนไม่ฝักใฝ่ทางเพศ (Asexual) คนนอกล่องเพศ หรือคนนอกระบบสองเพศ (Non-binary) ตลอดจนอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ อีกมาก ที่กำลังขยับขยายพื้นที่ตามแต่เสียงเรียกร้องภายในใจเพิ่มขึ้นในอนาคต

ด้วยความเชื่อว่าทุกคนคือ "ส่วนหนึ่งของสังคม" การทำความรู้จักเข้าใจความหลากหลายทางเพศจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่สังคมที่จะก้าวไปสู่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ 

"ผลการสำรวจครั้งนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนว่า มีประชากรที่อยู่ในกลุ่มนี้สัดส่วนเท่าไร ซึ่งเราคาดว่าจะได้ตัวเลขประชากร LGBTQ+ จากประชากรทั่วไปต่ำกว่ากลุ่มประชากรเยาวชน ซึ่งถ้าเราได้เป็นตัวเลขกลาง เชื่อถือได้ สถาบันฯ หวังว่าข้อมูลชุดนี้จะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ เช่น นำไปใช้เป็นชุดความรู้ การออกแบบนโยบายและประโยชน์ สิทธิต่างๆ ในหลายด้าน ตัวเลขจากการค่าประมาณของเก่าเคยมีนะ แต่เขาใช้วิธีการสำรวจจากการซื้อของหรือสำรวจในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้เราไม่อยากนำตัวเลขนี้มาใช้" รศ.ดร.กฤตยา กล่าว

สำรวจ \'ประชากร LGBTQ+\' รับกระแส Pride Month ครั้งแรกในไทย

กาญจนา ภู่มาลี ผู้อำนวยการกองนโยบายและวิชาการสถิติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ไทยไม่มีตัวเลขประชากรกลุ่มนี้ที่เป็นทางการ เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้ ส่วนมากยังถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดนำไปใช้อ้างอิง หรือขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่างๆ 

"สำนักงานสถิติแห่งชาติ เคยพยายามสำรวจผู้มีความหลากหลายทางเพศในปี 2562 โดยร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการนำร่องศึกษาแนวทางการเก็บข้อมูลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเพิ่มข้อถามเรื่องเพศ 1 ข้อ ในแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสอบถามหัวหน้าครัวเรือน หรือสมาชิกในครัวเรือน ตอบคำถามถึงลักษณะทางประชากร สังคม เศรษฐกิจของสมาชิกในครัวเรือนทุกคน จึงได้ตัวเลขประชากรกลุ่ม LGBTQ+ 0.7% และในกลุ่มอายุ 15-20 ปี คำตอบสูงขึ้นเป็น 1.5% ทั้งนี้ตัวเลขที่ได้จากการสำรวจต่างกันมาก ความพยายามทำการสำรวจ หรือประเมินขนาดกลุ่ม LGBTQ+ จึงมักต้องเผชิญกับข้อจำกัด และความไม่แม่นยำ แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมไทยควรขยายความเข้าใจต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ชีวิตและสุขภาพ"

สำรวจ \'ประชากร LGBTQ+\' รับกระแส Pride Month ครั้งแรกในไทย

ถูกถาม = ถูกนับ

"ถามว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้ เพราะทุกคนพูดถึงเราหมดเลย แต่ทุกคนจะมีคำถามย้อนกลับมาเสมอว่า แล้วประชากรกลุ่มคุณมีเท่าไร" เสียงสะท้อนจาก วาดดาว ชุมาพร ผู้แทนภาคประชาสังคมด้านประชากรเพศหลากหลาย เปิดใจในฐานะแกนนำ LGBTQ+ คนหนึ่งที่มีบทบาทขับเคลื่อนการยืนยันสิทธิในเรื่องต่างๆ

วาดดาว บอกว่า การไม่รู้สัดส่วนที่แท้จริงทำให้หลายครั้งการขับเคลื่อนงานด้านนี้ต้องสะดุด เราก็แปลกใจเหมือนกันที่เขามาถามเรา เพราะการสำรวจควรเป็นเรื่องของภาครัฐไม่ใช่หรือ ส่วนเอกชนเองบางครั้งก็นำข้อมูลที่ไหนมาไม่รู้มาใช้ ทั้งที่ไม่เคยมีใครมาถามเราเลยว่าเราเป็นเพศอะไร หรือแต่ละครอบครัวนั้นมีความหลากหลายมากแค่ไหน

"มันทำให้รู้สึกว่าพวกเราถูกนำไปใช้จากข้อมูลต่างๆ ทั้งที่ไม่ได้มาจากพวกเราจริงๆ ดังนั้น พอสำนักงานสถิติแห่งชาติและทีมอาจารย์กฤตยามาชวนให้ทำโครงการ เรารู้สึกดีใจ แต่เราไม่ได้ดีใจเพราะจะได้พบว่าประชากร LGBTQ+ จะมีจำนวนเท่าไร แต่เราอยากให้การเข้าไปถามพ่อกับแม่ หรือคนในครอบครัวครั้งนี้ แล้วทุกคนตอบได้ว่าเขามีลูกหลานหรือญาติเป็น LGBTQ+ หรือไม่ เพราะนั่นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องนี้มันถูกรับรู้ไปถึงระดับหมู่บ้านและชุมชนแล้ว"

วาดดาว กล่าวต่อไปว่า การสำรวจเบื้องต้นครั้งนี้ ไม่ได้มองว่าเป็นเงื่อนไขของการออกนโยบาย แต่กลายเป็นว่าที่ผ่านมาทุกคนใช้เงื่อนไขเรื่องนี้ในการเป็นเงื่อนไขกับข้อเรียกร้องเรามาตลอด ทุกคนมักถามว่าเรามีเยอะแค่ไหนถึงควรจะออกกฎหมายนี้ และเลือกที่จะปฏิเสธข้อเรียกร้องของเรา ดังนั้นแน่นอนว่าตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวเลขสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนกฎหมายต่อไปอีกหลายฉบับในอนาคต โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง Gender Recognition

เพราะตีเหล็กต้องตีตอนร้อน

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าวว่า การสำรวจขนาดประชากรของกลุ่ม LGBTQ+ ครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลสุขภาวะด้านร่างกาย จิตใจ ชีวิตความเป็นอยู่ รูปลักษณ์ ความสัมพันธ์ การตีตราและการถูกเลือกปฏิบัติ ที่น่าเชื่อถือ แม่นยำ สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลพัฒนานโยบาย และมาตรการทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ หรือใช้ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ในแง่มุมต่างๆ 

สำรวจ \'ประชากร LGBTQ+\' รับกระแส Pride Month ครั้งแรกในไทย

"สสส. สนับสนุนสถาบันวิจัยประชากร  มหาวิทยาลัยมหิดลในการออกแบบร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือและแม่นยำทางวิชาการของงานวิจัย เราคาดว่าจะได้ยินสถานการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงมากขึ้น ทั้งเชิงจำนวนและวิถีชีวิต อัตลักษณ์ต่างๆ เงื่อนไข อุปสรรคในการใช้ชีวิต ตลอดจนในเรื่องการเข้าถึงการบริการสุขภาพและปัญหาอย่างอื่นที่เราอาจยังไม่เคยทราบมาก่อน"

ภรณี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส. เคยทำงานกับหลายกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีบทบาทออกแบบ มีนวัตกรรมเพื่อต่างๆ แต่กลุ่มที่เราสนใจคือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับความสำคัญ หรือกลุ่มที่เขาอาจจะยังไม่ได้ประกาศออกมา รวมถึงโดยกลุ่มหญิงรักหญิงที่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องน้อย

"เราอยากรู้ว่ามีจำนวนเยอะขนาดไหน และปัญหาหรือประเด็นต่าง ๆ ที่เราเคยตั้งสมมติฐานไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงหลักประกันต่างๆ หรือการตีตราว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือนำมาของการติดเชื้อเอชไอวี ที่สังคมมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคู่รักแบบชายหญิง มันคือการนำปัญหาที่อยู่ใต้พรมมาพูดคุยกันให้ประจักษ์ชัดมากขึ้น ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่เราออกแบบนวัตกรรมต่างๆ ต่อไป โดยหลังจากได้ข้อมูลตัวเลขและสถานการณ์ที่ชัดเจนแล้ว ก็จะนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมต่างๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสนใจ ซึ่งจะเป็นผลงานชิ้นแรกที่มีความแม่นยำในเชิงสถิติที่เราเชื่อว่าจะเป็นรากฐาน จุดเริ่มต้นในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางเพศ"

สำรวจ \'ประชากร LGBTQ+\' รับกระแส Pride Month ครั้งแรกในไทย

สำรวจอย่างไรบ้าง?

สำหรับการดำเนินการสำรวจครั้งนี้ จะเป็นการสำรวจ 2 ลักษณะคือ สำรวจประชากรทั่วไปอย่างเป็นระบบใน จ.ราชบุรี 2,400 ครัวเรือน และการสำรวจเชิงพื้นที่นำร่องในสถานศึกษา 3 ระดับ ใน จ.นครปฐม 1,100 คน อายุระหว่าง 15 - 25 ปี และจะเปิดการสำรวจออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไป อายุ 15 ปีขึ้นไป จากจังหวัดอื่นๆ เข้าไปตอบแบบสำรวจด้วยตัวเอง จำนวน 1,500 คน ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายถึงกันยายนปีนี้

"เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลหลักคือ แบบสอบถาม โดยจะสำรวจครัวเรือนเพื่อทำการแจงนับบุคคลทุกคนในครัวเรือน และครัวเรือนใดที่พบว่ามีบุคคลเป็นคนหลากหลายทางเพศ จะขอสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามรายบุคคลที่มีคำถามครอบคลุมถึงสถานการณ์ชีวิตด้านต่างๆ ทั้งความรอบรู้ด้านสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตด้านเพศ ทั้งในด้านอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ รสนิยม และความรู้สึกดึงดูดใจด้านเพศ (Sexual Orientation) การมีข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับประชากร LGBTQ+ เป็นความจำเป็นข้อแรกๆ ของการสร้างสังคมที่ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำ และเท่าเทียมกันมากขึ้น" รศ.ดร.กฤตยา กล่าว

สำรวจ \'ประชากร LGBTQ+\' รับกระแส Pride Month ครั้งแรกในไทย

ส่วนการเลือกลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากมองว่า เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพพื้นฐาน ที่มีลักษณะทางสังคมเศรษฐกิจในระดับกลาง ไม่มีลักษณะเฉพาะที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นพื้นที่ที่มีประชากร LGBTQ+ มากหรือน้อยไป และมีความเป็นพื้นที่ชุมชนไม่ต่างกันมากระหว่างความเป็นพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบท

ทั้งนี้ ผู้ที่ทำการสำรวจเองจำเป็นต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับเรื่อง ความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะ และที่สำคัญต้องไม่มีอคติทางเพศ