บทบาทพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนักการเมืองของ ‘พิธา’ ในวันที่อนาคต 'ก้าวไกล' อาจไปไม่ไกลอย่างที่คาด

บทบาทพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนักการเมืองของ ‘พิธา’ ในวันที่อนาคต 'ก้าวไกล' อาจไปไม่ไกลอย่างที่คาด

“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดการทำงาน การใช้ชีวิต รวมทั้งวิธีสื่อสารกับตัวเอง และสมาชิกของพรรค ภายใต้ความเสี่ยง และแรงกดดัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องยุบพรรคก้าวไกล และนัดพิจารณาคดีในวันที่ 12 มิ.ย.2567

เป็นเวลากว่าห้าปีหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อช่วงปลายเดือนก.พ.2563 ที่ชื่อของ “ทิม - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โลดแล่นอยู่ในหน้าสื่อทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยท่าทีที่คล่องแคล่ว มั่นใจ และพูดจาฉะฉาน ภายใต้หมวกของการเป็น (อดีต) หัวเรือใหญ่พรรคก้าวไกล พรรคที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำ “ความเปลี่ยนแปลง” มาสู่สังคมไทย

เพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดการทำงาน การใช้ชีวิต รวมทั้งวิธีสื่อสารกับตัวเอง และสมาชิกของพรรค ภายใต้ความเสี่ยง และแรงกดดัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องการยุบพรรคก้าวไกล และนัดพิจารณาคดีในวันที่ 12 มิ.ย.​2567

“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” จึงขอนัดสัมภาษณ์พิเศษกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อพูดคุยในประเด็นดังกล่าว

บทบาทพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนักการเมืองของ ‘พิธา’ ในวันที่อนาคต \'ก้าวไกล\' อาจไปไม่ไกลอย่างที่คาด

1. ตั้งแต่เข้ามาทำงานทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีแรงกดดันว่าพรรค จะถูกยุบ กิจวัตรประจำวันเหมือนเดิมไหม

เหมือนเดิมครับ เฉลี่ยผมตื่นเจ็ดโมงครึ่งถึงแปดโมงครึ่ง แต่ถ้าวันไหนต้องไปส่งลูกก็ต้องหกโมงครึ่ง เพราะเขาต้องไปถึงโรงเรียนเจ็ดโมงครึ่ง ส่วนถ้ามีเวลาว่างตื่นมาก็อ่านกรุงเทพธุรกิจก่อน (หัวเราะ) อันนี้เรื่องจริง

ผมอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เสร็จแล้วก็รับประทานอาหารเช้าเบาๆ ตอนเช้าพยายามตากแดดเยอะๆ เพราะตอนกลางคืนเมลาโทนิน (Melatonin) จะได้หลั่งแล้ว และทำให้หลับสบาย

ถ้าวันไหนมีเวลาหน่อยก็อาจจะเล่นโยคะ ถ้ามีเวลามากขนาดนั้นนะ (หัวเราะ) เพราะมีโยคะสตูดิโอแถวบ้าน เดินทางประมาณชั่วโมงหนึ่ง แต่ถ้ามีประชุมสภาฯ คงเป็นไปไม่ได้

2. ด้วยอาชีพนักการเมือง และแรงกดดันที่อยู่รอบตัว มีช่วงเวลาไหนที่ชอบที่สุดของวันเพื่อที่จะได้อยู่เงียบๆ กับตัวเองไหม

คงเป็นช่วงที่ลูกหลับแล้ว ประมาณสองทุ่มครึ่งถึงสามทุ่มครึ่ง ช่วงเวลาที่เราพาลูกเข้านอนเสร็จ อ่านนิทานด้วยกันนิดหน่อย พอเขาหลับ ก็จะรู้สึกว่าภารกิจของทั้งวันเสร็จแล้ว จากนั้นจะใช้เวลาตรงนี้เหมือนเป็นเวลาวางแผนว่าวันพรุ่งนี้ อาทิตย์หน้า เดือนหน้า มีอะไรต้องทำบ้าง รวมถึงใช้เวลาตรงนั้นอ่านนิยาย อ่านหนังสือสัก 10-15 นาที หรือเขียน บันทึกเกี่ยวกับความคิด และความรู้สึก (Journal) นิดหน่อย ก็ทำให้หลับเร็วขึ้นครับ

บทบาทพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนักการเมืองของ ‘พิธา’ ในวันที่อนาคต \'ก้าวไกล\' อาจไปไม่ไกลอย่างที่คาด

 

3. หาสมดุลระหว่างบทบาทของพ่อ และบทบาทของนักการเมืองยากไหม

ยากแต่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ผมเริ่มต้นจากการไม่โทษตัวเองก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อ และท่านผู้ชมกรุงเทพธุรกิจที่อยู่ในโลกของไฟแนนซ์ โลกของพลังงาน อยู่ในโลก มาร์เก็ตติ้ง โลกของงานโฆษณา อะไรก็แล้วแต่  ก็คงจะรู้สึกผิด รู้สึกกิลตี้ (Guilty) ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกเลย แน่นอนว่าถ้าเราให้เวลากับลูกเยอะมันย่อมดี เพราะเด็กสะกดคำว่ารักด้วยเวลา คือ “Children Spell love T I M E” 

เป็นคำที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ในเมื่อเราไม่มีเวลา ก็สามารถให้คุณภาพแทนได้คือ ถ้าให้เลือกระหว่างปริมาณเวลากับคุณภาพ คุณภาพแค่สิบถึงสิบห้านาที บางทีจะทำให้เราเป็นคุณพ่อที่ดีสำหรับลูกได้มากกว่าการมีเวลาให้เขาตลอด แต่เล่นมือถือ ตอบแชต ตอบอีเมล ตลอดเวลา

คนเรารวมถึงคนที่อยู่ในห้องนี้ด้วยทั้งช่างภาพ และนักข่าว เรา พวกเรา โดยเฉพาะในวัยสามกว่าถึงสี่สิบปลายๆ เกือบห้าสิบ มันเหมือนกับว่า เราจะมีลูกแก้วที่ต้องโยนขึ้นฟ้าตลอดเวลาประมาณห้าถึงหกลูก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง พ่อแม่ สุขภาพ ลูก การงาน งานอดิเรก หรือความฝัน

ผมด้วยความที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อดีตว่าที่นายกรัฐมนตรี เรื่องพวกนี้ ผมต้องทิ้งไปเลย ผมต้องเลือกลูกแก้วที่ตกพื้นแล้วแตก อันไหนตกแล้วไม่แตกผมก็ปล่อย อย่างงาน หรือลูกสาว อันนี้ผมไม่ปล่อย ที่สำคัญผมก็ไม่มีทางจะรู้สึกผิดกับการให้เวลากับลูกสาวมากกว่าอย่างอื่น

ผมไม่เคยรู้สึกต้อง Apologize for Prioritizing (รู้สึกผิดที่จะต้องให้ความสำคัญ) กับลูกสาวเลย แต่เรื่องสุขภาพในวัยสามสิบแปดถึงสี่สิบสาม ทั้งหมดห้าถึงหกปีก็ต้องยอมรับว่าทิ้งไปเลย ส่วนเพื่อนฝูงก็เข้าใจกันเพราะทุกคนก็อยู่ในบริบทคล้ายๆ กัน อาจจะนานๆ ทีเจอกันบ้าง แต่ก็ยังกลับมาเป็นเพื่อนกันได้เหมือนเดิม ส่วนเรื่องดนตรี หรืองานอดิเรกต้องทิ้งมันไป

แต่กลับกันถ้าลูกสาวผมโตแล้ว เขาคงจะบอกว่าพ่อไปไกลๆ ไม่อยากให้พ่อมายุ่งอีกต่อไป ช่วงเวลานั้นผมค่อยมาห่วงสุขภาพ ผมว่าก็ยังไม่สายเกินไป ถึงเวลานั้นค่อยใส่ใจงานอดิเรก ความฝัน หรือความรื่นรมย์ของชีวิต แต่ช่วง 10 ปีนี้ ก็มีอยู่แค่เป็นพ่อที่ดี และเป็นนักการเมืองที่ดี มันก็ทำให้ชีวิตผมเบาลงเยอะ ดีกว่าการต้องแบกทุกอย่างไว้ เหมือนลูกแก้วห้าถึงหกลูกที่โยนขึ้นฟ้าแล้วพยายามไม่ให้มันตกสักลูก

  บทบาทพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนักการเมืองของ ‘พิธา’ ในวันที่อนาคต \'ก้าวไกล\' อาจไปไม่ไกลอย่างที่คาด

4. เคยได้ยินมาว่า ไม่ว่าจะอยู่ในเหตุการณ์คับขันหรือกดดันอย่างไรก็ตาม นักการเมืองมักจะไม่พูดความรู้สึกของตัวเองออกมา จริงไหม

ผมไม่แน่ใจ ผมพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่มั่นใจว่านักการเมืองที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง จะเป็นอะไรที่ทุกข์มากๆ เป็นอาชีพที่จะทุกข์มากๆ ถ้าคุณไม่เป็นตัวของตัวเอง และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราทำงานการเมืองแบบพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุน การทำงานแบบไม่นำงบประมาณจำนวนมากมาเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ว่าจะต้องระดมเงินจากทุนใหญ่ๆ มากมาย ทั้งหมดทำเพื่อให้เราสบายใจ

เมื่อเรารู้สึกว่าราคาน้ำมันดีเซลแพงเกินไป เราก็จะพูดตามนั้น ในเมื่อเรารู้สึกว่าราคาพลังงานมันสูงอย่างผิดปกติ เราก็จะพูดแบบนั้น เมื่อเรารู้ว่าระบบคมนาคมของประเทศ มันด้อยคุณภาพเราก็จะพูดตามนั้น เมื่อเรารู้สึกว่ามีสินค้าบางประเภทที่ผูกขาดตลาดมากเกินไป เราก็จะพูดตามนั้น ในใจรู้สึกยังไง เราก็จะสามารถพูดแบบนั้นได้

ในเรื่องความรู้สึกส่วนตัว พูดตรงๆ ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ผมพูดแบบนี้มาตลอดสองถึงสามปี ถ้าใครย้อนหลังกลับไปดูสัมภาษณ์ก็พูดตามนั้นว่ามันท้าทาย แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องบริหารจัดการ

5. จากทั้งคดี และความยากลำบากที่เจอในทุกวันนี้ ถ้าย้อนกลับไปในอดีตได้ อยากย้อนกลับไปบอกอะไรกับตัวเองในอดีตไหม

ไม่มีอะไรต้องบอก ผมคิดว่าถ้าผมไปบอกเขา มันจะทำให้ระยะเวลาที่เหลือผมจะไม่เป็นตัวเองในวันนี้ แต่ถ้าผมหลงคำถามคุณเมื่อกี้แล้วไม่ได้คิด ผมก็คงจะบอกว่ากลับไปบอกตอน มัธยมปลาย ตอนมหาวิทยาลัย ตอนทำงานแรกๆ ฝึกงานที่ บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร หรือ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) ซึ่งก็เป็นบริษัทที่คลุกคลีกับท่านผู้อ่านกรุงเทพธุรกิจ

ไปบอกตัวเองว่า ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าต้องเป็นที่หนึ่งตลอด ไม่จำเป็นต้องรู้สึกอยากแข่งขันตลอดก็ได้ ความสำเร็จมันไม่ต้องเอาไม้บรรทัดของคนอื่นมาวัด เราได้เกรดเท่าไร ทำงานได้เป็นอันดับต้นๆ ของรุ่นเราไหมในบริษัท ไม่ว่าจะตอนฝึกงานเป็นวาณิชธนากรหรือตอนที่เป็นที่ปรึกษาก็ตาม

ให้เรารู้สึกว่าอย่าเอาไม้บรรทัดคนอื่นมาวัดตัวเอง ไม่ต้องรู้สึกว่าต้องเป็นอันดับหนึ่งเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ กระบวนการในการที่จะไปถึงตรงนั้น หรือความพอใจ ความสบายใจของเรา มันก็มีอีกหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องผลลัพธ์หรือเรื่องของเพอร์ฟอร์แมนซ์ในการทำงาน แต่เป็นเรื่องของกระบวนการด้วยว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานมากกว่า

  บทบาทพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนักการเมืองของ ‘พิธา’ ในวันที่อนาคต \'ก้าวไกล\' อาจไปไม่ไกลอย่างที่คาด

6. จากประสบการณ์ใช้ชีวิตมาสี่สิบกว่าปี ถ้าแนะนำคนรุ่นใหม่ได้สองสามอย่าง อยากบอกอะไร

สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างแรกคือ เรียงลำดับความสำคัญ ให้รู้จักเร็ว ช้า หนัก เบา แล้วถ้าสามารถจัดอันดับความสำคัญได้ มันจะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็เหนื่อยน้อยลง

ในขณะเดียวกัน ต้องมีความสามารถที่จะแยกประเด็นออกมาได้ก่อน หรือการวิเคราะห์ให้เห็นก่อนว่าปัญหาที่มันมะรุมมะตุ้ม มันเป็นก้อนใหญ่แบบนี้ ถ้าเราซอยออกมาเป็นเรื่องๆ มันมีอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นนักวิเคราะห์ให้กับบริษัทหนึ่งที่กำลังจะไปลงทุนในต่างประเทศ แล้วไม่รู้จะไปประเทศไหน คราวนี้เราก็เครียด ไม่รู้จะเลือกยังไง สิ่งที่ผมแนะนำคือ คุณจะต้องแยกประเด็นว่าการที่เราจะไปลงทุนมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง มันมี กรอบแนวคิด (Framework Thinking) ยังไงบ้าง

ลองซอยออกมาเป็นเรื่องๆ อาจจะเป็นความเสี่ยงทางการเมือง อัตราการเติบโตของประเทศนั้น เรื่องภาษีในการส่งรายได้กลับมาประเทศไทย อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าคุณซอยออกมาได้เป็นข้อๆ แล้วคือ ซอยปัญหาก้อนใหญ่ๆ ให้มันเป็น Manageable Chunk (ชิ้นส่วนปัญหาเล็กๆ ที่สามารถแก้ได้) จากนั้นก็ค่อยๆ เรียงลำดับความสำคัญ แต่ละข้อนั้นว่าคุณจะทำอันไหนก่อน จากนั้นคุณก็จะรู้แล้วว่าบางประเด็นคุณไม่ต้องทำเองก็ได้ สามารถแบ่งงานให้เพื่อน หรือให้คนอื่นทำต่อ หรือจ้างบุคคลภายนอกทำ

แล้วสุดท้าย เขาเรียกว่า “ศิลปะแห่งความเพิกเฉย” เพราะมั่นใจได้เลยว่าคุณจะพลาดอยู่แล้ว วิเคราะห์ได้ เรียงลำดับความสำคัญได้ ถึงเวลาเจ้านายอาจจะบอกว่าคุณทำผิด มันก็ต้องยอมรับแล้วก็เรียนรู้กันไป คำแนะนำของผมคือ ให้รู้สึกว่ามันเป็น Ignorance Bliss คือ รู้สึกเพิกเฉยกับความผิดพลาดของเรา แล้วก็รู้สึกว่าไม่ว่ายังไงก็จะมีคนไม่เห็นด้วย และติการกระทำของเราอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แล้วค่อยนำคำติเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ เพื่อเดินหน้าทำสิ่งที่เราต้องการต่อไป ถ้าทำสองสามข้อนี้ได้ ความสำเร็จก็จะมาถึงไม่เร็วก็ช้า

7. เวิร์คไลฟ์บาลานซ์ของพรรคก้าวไกลเป็นยังไงบ้าง

ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ เพราะเราเป็นพรรคใหม่อายุสามขวบ ก็จะอารมณ์เหมือนเป็นสตาร์ตอัป แล้วก็เป็นช่วงที่เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งมาด้วย

แต่พอไม่มีการเลือกตั้งแล้ว ก็พยายามจะบริหารให้เวิร์คไลฟ์บาลานซ์ดีขึ้น มีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจิต (Mental Health) เรื่องเกี่ยวกับการออกกำลังกาย เรื่องของการพัฒนาในสิ่งที่แต่ละคนสนใจ

อย่างคนที่เป็นผู้อํานวยการฝ่ายโซเชียลมีเดีย (Social Media Director) ของผมตอนนี้ สนใจเรื่องการทำแอนิเมชัน ก็ให้ไปทำ ใครสนใจเรื่องภาษาอังกฤษก็ให้ไปเรียน

ผมคิดว่าตอนนี้ยังเป็นเหมือน “สตาร์ตอัปทางการเมือง” แต่พอทุกอย่างเข้าที่เข้าทางพรรคก้าวไกลมีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากขึ้น หลักปฏิบัติ (Norm) เหล่านี้ก็คงจะพัฒนามากขึ้น

บทบาทพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนักการเมืองของ ‘พิธา’ ในวันที่อนาคต \'ก้าวไกล\' อาจไปไม่ไกลอย่างที่คาด

8. ทำงานกับคนรุ่นใหม่ยากไหม เช่น น้องๆ บางคนไม่ชอบให้หัวหน้าไลน์มาเรื่องงานตอนหลังเวลาออฟฟิศหรือวันเสาร์-อาทิตย์ มีวิธีรับมือกับเรื่องนี้ยังไง

อืม ผมก็เป็น (นิ่งคิด) วิธีคือ การแก้ไขคือ สิ่งที่เรียกว่า “Expectation Management” หรือการบริหารความคาดหวังภายในทีม

ตอนที่ผมทำงานที่แรก เจ้านายถามเลยคุณเป็น Morning Person (คนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานช่วงเช้า) หรือ Evening Person (คนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานช่วงบ่าย) แล้วเขาก็จะได้บริหารทีมตามนั้น คนตื่นเช้าทำงานได้ดีตอนนั้น ตอนกลางคืน ขอเงียบ บางคนบอกว่า เอาลูกเข้านอนเสร็จแล้วถึงจะทำงาน แต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน การที่จะป้องกันไม่ให้มันมีความขัดแย้งกันในทีม จะดีที่สุดคือ เมื่อเรามีการบริหารความคาดหวังกันตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนเริ่มโปรเจกต์หรือก่อนเริ่มทีม

ทั้งหมดผมคิดว่าทำงานไม่ยาก ก็ไหลไปตามน้ำ ไปตามจังหวะของแต่ละชีวิต ผมไม่ค่อยจ้ำจี้จ้ำไชมาก ส่วนใหญ่แล้วก็เชื่อใจกันแล้วเอาผลลัพธ์มาเป็นตัวตั้ง หมายถึงว่า ไม่ต้องให้ผมเห็นหน้าตลอดเวลา บอกว่าต้องการแบบนี้ บางทีก็ให้โครงกระดูกไปก่อนแล้วค่อยไปเติมเนื้อ เติมหนัง มาให้ผม แค่นี้พอ

9. ช่วงนี้มีข่าวยุบพรรคก้าวไกลบ่อยมาก ถ้าเปรียบเป็นบริษัทพนักงานก็คงจะรู้สึกไม่มีความมั่นคงในการทำงาน (Job Security) แล้วอาจกระทบประสิทธิภาพในการทำงานไปด้วย มีวิธีสื่อสารกับทีมยังไง

ผมคิดว่าไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะเป็นครั้งที่สอง ในรอบห้าปี ที่มีเหตุการณ์แบบนี้  ดังนั้นครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่มีความเสี่ยงอะไรแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ผ่านไปได้ด้วยดี จากอนาคตใหม่มาเป็นก้าวไกล มันก็ขยาย เติบโต มีการระดมทุนได้ดีขึ้น (Fund Raising) มีงบประมาณจากการบริจาค การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ทั้งหมดก็ทำให้พวกเรามีสวัสดิการที่ดีมากขึ้น เพราะฉะนั้น อย่างมากที่สุดก็แค่เปลี่ยนบ้าน

ที่สำคัญ ผมคิดว่าคนที่ทำงานทางการเมืองแบบก้าวไกล ที่ผลตอบแทนไม่เท่าเอกชนอยู่แล้วถึงแม้ความสามารถเทียบเท่า เขารู้อยู่แล้วว่าเขาทำงานไปเพื่ออะไร

บางคนเขาทำงานเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลง ในระยะเวลาสองปีเขาจะทุ่มให้เต็มที่ แล้วหลังจากนั้นเขาก็ค่อยไปเอาเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ทีหลัง แบบนี้ก็มี

เขาคงไม่ต้องการ Job Security ในงานแบบนี้ แต่เขาต้องการ Job Satisfaction หรือความพึงพอใจในงานมากกว่า ซึ่งผมยังมั่นใจว่า อย่างน้อยปีที่ผ่านมา ก็เราก็สามารถให้กับพวกเขาได้

ให้โอกาสในการที่คนรุ่นใหม่ได้แสดงออก ให้เขารับบทบาทสำคัญๆ ในการทำระดับชาติ แล้วเราก็มั่นใจว่าไม่มีพรรคไหนที่อนุญาตให้คนรุ่นใหม่หรือคนอายุน้อยๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายหรือการสื่อสารของพรรคการเมืองแน่นอน 

พรรคก้าวไกลเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่จะทำให้เขาไปสู่องค์กรอื่นๆ หากวันหนึ่งเขาต้องการ Job security ก็ไปทำงานภาคเอกชนบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าทุกคนก็มีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู เราก็เข้าใจกันหรือใครที่อยากไปเรียนต่อก็ได้เข้ามหาวิทยาลัย ดีๆ มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งนั้น

คนที่ผ่านการทำงานกับพรรคก้าวไกลจะต้องผ่านการทำงานแข่งกับเวลา การที่จะต้องวิเคราะห์ข้อมูล การสื่อสารอย่างกระชับในการอภิปรายในสภาฯ เจ็ดนาที มันจะเป็นทักษะที่คุณหาจากที่อื่นไม่ได้

ดังนั้นก็ขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนคนรุ่นใหม่ มาสมัครงานกับพรรคก้าวไกลกันเยอะๆ (หัวเราะ)

10. สุดท้าย ขอหนึ่งคำที่อธิบายชีวิต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ตอนนี้หน่อย

 พอใจมาก (ยิ้ม)

บทบาทพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนักการเมืองของ ‘พิธา’ ในวันที่อนาคต \'ก้าวไกล\' อาจไปไม่ไกลอย่างที่คาด