'กรุณา บัวคำศรี' เมื่ออยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องหาเงินได้เอง

'กรุณา บัวคำศรี' เมื่ออยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องหาเงินได้เอง

ก้าวต่อไปของ "กรุณา บัวคำศรี" และ "รอบโลกเดลี่" พร้อม โปรเจกต์ TARA เมื่อสื่อต้องผันตัวเป็นผู้ประกอบการ บนแนวคิด หากอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องหาเงินได้เอง เพื่อทำงานที่เราเชื่อมั่น

หลังจากประกาศก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับรายการ "รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี" และ "รอบโลกเดลี่" ซึ่งจะยุติการออกอากาศทาง PPTV นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

ล่าสุดวันนี้ (29 มิ.ย.67) "กรุณา บัวคำศรี" ได้เปิดเผยถึง "ก้าวต่อไป" ของตัวเธอ และแบรนด์ "รอบโลกเดลี่" ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (Karuna Buakamsri) 

สำหรับ "ก้าวต่อไป" ของ กรุณา และ ทีมงาน จะประกอบไปด้วย 3 งานหลัก ได้แก่

รายการข่าวตระกูล “รอบโลก” ทางช่องทางออนไลน์

กรุณา ยืนยันว่า "ข่าวคือเลือดเนื้อและลมหายใจ" ดังนั้น "รอบโลก Daily" จะยังคงดำเนินต่อไปผ่านยูทูบช่อง "รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี" โดย จะออนแอร์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19:00-20:00 น. ตั้งแต่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป

พร้อมเตรียมจะเปิดรายการใหม่ เป็นรายการเช้า "รอบโลก Morning" มาเสริมด้วย รวมถึงจะนำ "รอบโลก Documentary" กลับมาอีกครั้งในช่องทางเดียวกัน

ก่อร่างสร้าง "TARA"

จากประสบการณ์การทำข่าวมายาวนาน ผ่านมาทั้งประเด็นสงครามกลางเมืองซีเรีย คลื่นอพยพเข้ายุโรปครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ อุบัติภัยด้านนิวเคลียร์เชอร์โนบิลและฟุกุชิมะ การแย่งชิงที่ดินในกัมพูชา น้ำจืดขาดแคลนในเนปาล ผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงญาที่หนีจากการถูกปราบปราม การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในอินเดีย และสงครามในยูเครน

สิ่งที่เธอค้นพบ นอกจากความทุกข์ยากของประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมากต่างถูกซ้ำเติมด้วย "Climate Crisis" หรือ "ภาวะโลกเดือด"

เธอเชื่อว่า Global Crisis (วิกฤติโลก) มีส่วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันกับ Climate Crisis (วิกฤติสภาพอากาศ) 

"แม้เราจะทำประเด็นข่าว Climate Crisis ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักยืนพื้น เราคือตัวอย่างของคนทำข่าวที่ติดหล่มอยู่กับความเป็น Now หรือความโครมครามของปัจจุบัน

ไม่มีข่าวที่ให้ความสำคัญถึงอนาคตมากนัก เพราะขายไม่ได้ 

แต่ Climate Crisis ไม่ใช่ภัยคุกคามในอนาคตอีกต่อไป นี่คือภัยคุกคามที่เป็นปัจจุบัน ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาก่อนที่จะเกิดระเบิดใหญ่และสายเกินแก้" เธอเขียนไว้แบบนั้น

พร้อมเผยถึงแผนงานใหม่ที่วางไว้ นั่นคือ การให้ความสำคัญกับประเด็น Climate Crisis อย่างจริงจัง 

แต่ทั้งนี้ การจะทำข่าวประเด็น Climate Crisis อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเป็นเรื่องท้าทายในสองประเด็น คือ 

- จะใช้วิธีใดในการสื่อสาร

- จะหาเงินเพื่อทำเรื่องนี้อย่างไร

กรุณาเผยว่า ตัวเองเริ่มคิดเรื่องนี้แบบจริงจังหลังจากได้คุยกับเจมส์ แนชต์เวย์ (James Nachtwey) ช่างภาพสงครามชื่อดังที่ตัวเธอมีโอกาสได้ไปช่วยงานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 

"เจมส์บอกเราว่า หากอยากมีพื้นที่ของการสร้างสรรค์เพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลง เราต้องเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) ด้วย หมายถึงเราต้องหาเงินได้เองเพื่อมาทำงานที่เราเชื่อมั่น

เราเก็บสิ่งที่เจมส์พูดไว้กับตัว และครุ่นคิดถึงมันเสมอในยามที่ไม่ได้วุ่นวายกับการไล่อัปเดตความเป็น Now ของข่าวสารที่ถาโถมเคลื่อนไหวไหลผ่านอย่างบ้าคลั่งในแต่ละวันมากนัก

เมื่อกลางปีที่แล้ว เรามีโอกาสได้เจอกับ พอล ธรรมธัชอารี จาก ttttwork และ The Studio Apollo ปัจจุบันเป็นอาจารย์ CommDe (Communication Design) คณะสถาปัตยกรรมจุฬาฯ แม้งบประมาณของเราจะน้อยนิด แต่พอลตอบตกลงทำงานให้เราอย่างเต็มใจ

7 เดือนเต็มหลังจากนั้น เราและพอลทำงานร่วมกันในการออกแบบแบรนด์ (Brand Identity)

งานในช่วง 2 เดือนแรกเป็นงานของเรา สิ่งที่เราต้องทำคือการตอบคำถาม 35 ข้อ หลักใหญ่ใจความที่ต้องตอบให้ได้แบบชัดเจนคือ

เราคือใคร เรากำลังจะทำอะไร และเราทำเช่นนั้นเพื่อใคร

หลังคำตอบชัดเจน กระบวนการออกแบบเริ่มขึ้น ก่อนจะเป็นที่มาของการก่อกำเนิดแบรนด์ที่มีชื่อว่า TARA"

ทำไมต้องเป็น "TARA"

สำหรับที่มาของชื่อ TARA กรุณา อธิบายว่า "TARA" แปลว่า "น้ำ" น้ำคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต แต่กำลังเหือดหายไปในหลายพื้นที่ของโลก

โดย "TARA" คือ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของกรีนพีซ (Greenpeace) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"ธารา บัวคำศรี เป็นลูกคนแรกของพ่อ ในอีกความหมาย TARA จึงเป็นการกลั่นกรองความรักและผูกพันทั้งหมดที่เรามีต่อพ่อ ผูกโยงไว้จนกว่าเราจะได้พบกันอีกครั้ง"

เธอบอกว่า แบรนด์ "TARA" มีโลโกเป็นดอกเดซี่สี Red Dahlia  ซึ่งเป็นสีที่ถูกออกแบบมาสำหรับแบรนด์โดยเฉพาะ

เดซี่เป็นพันธุ์ไม้ที่ทนทานและดูแลรักษาง่าย เมื่อถูกตัด เดซี่จะแตกกิ่งก้านและผลิดอกใหม่ ความหมายของ เดซี่สีเรด ดาเลีย ของ ธารา จึงคือ ความเรียบง่ายและทนทาน ผสมผสาน พลังการต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้

กรุณา ขยายความถึงแบรนด์ "TARA" ว่า จะเป็นแบรนด์สินค้าที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรอบคอบและรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยสินค้าหลักจะเป็นสินค้าที่จำเป็น (Essential) ผ่านการออกแบบ (Design) เพื่อคุณภาพที่ดีและใช้งานได้จริง

โดยภารกิจหลักของ "TARA" เรื่องแรก คือ การสร้างรายได้  เพื่อนำผลกำไรกลับมาสนับสนุนการทำข่าวและสารคดีเกี่ยวกับ Climate Crisis อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

และมีภารกิจที่ 2 คือ เป็นเครื่องมือในการรณรงค์เรื่องการใช้ทรัพยากรโลกอย่างรอบคอบและคุ้มค่า ผ่านผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบอย่างใส่ใจ

นอกจากนี้ เธอเผยว่า ด้วยความที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีพันธมิตร (Partner) ที่มีแนวคิดตรงกันจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ไปถึงจุดหมายได้ จึงมีแผนจะปั้นโปรเจกต์อื่นๆ ตามมา และจะเปิดเผยหลังจากนี้

ที่มา : Facebook : Karuna Buakamsri