ถอดบทเรียน จาก 'ล้อมรักษ์' สานพลังสู้ภัยยาเสพติดด้วย 'ชุมชน'
ถอดบทเรียน การป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด จากเวที "สานพลังชุมชนล้อมรักษ์" ผสานจุดแข็งของ 6 พื้นที่ภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนทั่วประเทศ ในการหาทางออกจากปัญหายาเสพติดอย่างมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน
ปัญหายาเสพติด เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทุกคนมองเห็นว่าเป็นปัญหา แต่ความจริงภายใต้น้ำแข็งด้านล่างคือสารพันปัญหาที่เป็นที่มา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ความเหลื่อมล้ำในสังคม เหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่เปราะบางมากขึ้น และสุดท้ายอาจจบลงที่การหันไปใช้ ยาเสพติด
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากมาตรการต่างๆ แล้ว การมี "ชุมชน" ร่วมเป็นพลังหนุนการทำงานกับภาครัฐเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่อาจแก้ไขได้แค่การใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสมาชิกในชุมชน
เรื่องเล่าของม๊อบ
สุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ (ม๊อบ) เยาวชนคนหนึ่ง อดีตเด็กส่งยาตั้งแต่วัยเด็ก หากในวันนี้ตนมีบทบาทกลายเป็นเยาวชนแกนนำในการร่วมรณรงค์พาน้องๆ เพื่อนๆ ให้ห่างไกลจากสิ่งเสพติดคนหนึ่ง
สุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ กล่าวว่า ที่บ้านไม่ใช่ผู้เสพติดยา เพราะเน้นขายอย่างเดียว แต่ก็มีอิทธิพลในชุมชนระดับหนึ่งในฐานะผู้ค้ารายใหญ่ ที่หลายคนให้ความเกรงกลัว แต่การอยู่ในวงจรแห่งความเสี่ยง ย่อมทำให้ต้องพบจุดจบชีวิตที่ไม่สวยงามก่อนวัยอันควรเสมอไม่มีข้อยกเว้น ตนเองเคยสูญเสียทั้งลุงและพ่อ เพราะยาเสพติดมาตั้งแต่วัยเด็ก ลุงเคยใช้ยาเกินขนาดจนเสียชีวิต ส่วนพ่อเป็นพ่อค้ายารายใหญ่ และถูกขึ้นบัญชีแดง สุดท้ายถูกวิสามัญเสียชีวิต หลังพ่อเสียก็อยู่กับย่าและป้า ส่วนป้าก็เข้าสู่วงจรยาเสพติดในฐานะผู้ขายด้วยชีวิตต้องกินใช้
จุดเปลี่ยน เกิดจากวันหนึ่ง "ม๊อบ" มีโอกาสร่วมกิจกรรมชุมชนเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่จุดประกายความคิดทำให้ค้นพบตัวตนอีกด้าน
"ผมเข้าร่วมกิจกรรมอย่างตั้งใจ แต่กลับมาบ้านก็ไปเดินส่งยาให้ป้า ชีวิตผมมันย้อนแย้งมากตอนนั้น ทุกครั้งที่ถูกใช้ไปส่งยาก็จะมีปฏิกิริยาต่อต้าน เพราะเราเป็นเด็กที่ต้องอาศัยอยู่กินกับเขา ทำให้เราไม่สามารถปฏิเสธได้" สุขวิชัย กล่าว
เลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกทางเดินเองได้
เมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับตน ทำให้เวลาว่างเมื่อไหร่ "ม๊อบ" เลือกที่จะขอออกจากบ้านมาทำกิจกรรมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เพราะนั่นคือความสุขที่เด็กคนหนึ่งสัมผัสได้
"โชคดีที่พอช่วงใกล้จบ ม.3 ป้าผมถูกจับ แต่กฎหมายบ้านเราไม่ได้แข็งแรงพอ ป้าเขาก็หาทางจนโทษน้อยลง แต่จากวันนั้นก็ทำให้เขาหยุดขายยาไปเลย พอกิจการทางบ้านผมหยุดไป ทำให้ผมมีความกล้าขึ้นที่จะออกมาทำกิจกรรมอย่างเต็มตัว" สุขวิชัย กล่าว
ต่อมาเขาได้เปลี่ยนจากภาพลักษณ์เด็กส่งยา กลายเป็นแกนนำเยาวชนที่ร่วมรณรงค์ให้เยาวชนในชุมชนอีกหลายคนหลุดพ้นวังวนไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจนถึงทุกวันนี้
"ผมคิดว่าผมรอดมาได้จากการร่วมกิจกรรมเหล่านี้มาแล้ว ผมอยากส่งต่อสิ่งเหล่านั้นให้น้องๆ คนอื่นเช่นกัน อยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ซึ่งตอนนี้มีหลายครอบครัวในชุมชนเชื่อมั่นในตัวเรา ให้เราเป็นคนดูแลชักจูงน้องๆ เพื่อให้พ้นจากยาเสพติด" สุขวิชัย กล่าว
"สุขวิชัย" เป็นคนหนึ่งที่ถูกสังคม ชุมชน หรือคนรอบตัวเคยตีตราว่า ชีวิตคงไม่พ้นอยู่ในวงจรยาเสพติดเหมือนครอบครัว แต่วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า แม้ทุกคนที่เกิดมาในสังคมหรือสิ่งแวดล้อมแบบนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น หากตนเองสามารถเลือกทางเดินชีวิตตัวเองได้
หากถามว่าทำไมตนอยู่ใกล้ขนาดนั้นแล้วไม่คิดเสพ หนึ่งเพราะมีภาพตัวอย่างให้เห็น เคยสูญเสียคนใกล้ตัวจากปัญหานี้เลยไม่อยากจบชีวิตแบบลุงกับพ่อ ตนเองตอนนี้ก็มีย่าต้องดูแล ถ้าวันหนึ่งเข้าสู่วงจรแบบลุงกับพ่อแล้วเกิดอะไรขึ้น ใครจะดูแลคนที่อยู่ข้างหลังต่อ ส่วนหนึ่งมองว่ามันคือปัญหา หากเวลาทำกิจกรรมตนไปสอนให้น้องเลิกยุ่งกับยา แต่ตัวเองยังอยู่มันก็ไม่สมเหตุสมผล
เขาเคยถูกที่บ้านถามว่า การออกไปทำกิจกรรมได้อะไร "สุขวิชัย" กล่าวว่า ได้ความสุข ตนได้เห็นพ่อแม่ผู้ปกครองจูงมือลูกมาทำกิจกรรม มันเป็นภาพที่เราไม่เคยมี
ทุกวันนี้ประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็ก และผลพวงจากการเป็นนักกิจกรรมหลอมรวมให้สุขวิชัยมีความสนใจงานด้านขับเคลื่อนสังคม สุขวิชัยภูมิใจกับบทบาทการเป็นนักรณรงค์กิจกรรม และยังคงทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง ยังเป็นทีม staff รุ่นใหม่ของทีมทำงาน ผู้ว่า กทม. อีกด้วย
สุขวิชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อยากเห็นสังคมดีขึ้นอยากเปลี่ยนแปลงสังคม และระบบในไทยที่ไม่มีความเท่าเทียมให้ทุกคนได้เติบโต ผมเคยไปทำกิจกรรมในสถานพินิจ มีน้องคนหนึ่งบอกว่าน้องถูกเป็นเหยื่อเป็นเครื่องมือคนมีอำนาจระหว่างคนค้ายากับเจ้าหน้าที่บางรายที่ต้องการล่อซื้อ เพื่อให้ตัวเองได้ยศตำแหน่ง ผมรู้สึกมันไม่แฟร์
สุขวิชัยเชื่อว่า ยังมีคนแบบเขา หรือเยาวชนอีกเยอะที่ไม่มีพื้นที่ในการออกมาพูด
"อยากฝากให้สังคมเป็นสังคมสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น พวกเราบอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ผมก็อยากให้น้องๆ ที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติจริงๆ เขาควรมีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตของเขาบ้าง" สุขวิชัย กล่าว
เพราะ "ชุมชน" คือปราการสำคัญ
เนื่องใน วันต่อต้านยาเสพติดโลก ที่ผ่านมา และเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดเวที "สานพลังชุมชนล้อมรักษ์" พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดกรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนทั่วประเทศ และถอดบทเรียน ผสานจุดแข็งของ 6 พื้นที่ภูมิภาค นำมาสู่การบูรณาการทำงานร่วมกัน ขยายประเด็นการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศอย่างยั่งยืน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด ชุมชนล้อมรักษ์ สสส. จะเข้าไปทำงาน ร่วมกับ กทม. ซึ่งมีหลายพื้นที่เป็นชุมชนเข้มแข็ง และมีหน่วยงานศูนย์บริการสำนักอนามัยและสาธารณสุขที่คอยช่วยเหลือบำบัดผู้ติดยา รวมถึงกระบวนการต่างๆ เพื่อนำผู้ติดยากลับคืนสู่สังคม เราจะเริ่มต้นจากชุมชนที่มีความพร้อมก่อน ที่ผ่านมา กทม. มีการดำเนินการแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งสสส. จะเข้าไปหนุนเสริมในเชิงวิชาการและเชิงวิธีการทำงานร่วม ส่งเสริมทำให้คนมองเห็นคุณค่าของตนเองได้ในการค้นหาตัวตนต้องดำเนินไปพร้อมกับการส่งเสริมอาชีพ
นพ.พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สสส. มีต้นทุนในการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ต้นแบบสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ เช่น พื้นที่ ตำบลตาดควัน อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย, พื้นที่ชุมชนบ้านคำเมย ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มเยาวชนสานฝันบ้านนาค้อใต้ ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ทำให้เกิดแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน นำไปสู่การสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ
"การแก้ไขปัญหา ยาเสพติด โดยใช้โมเดล ชุมชนล้อมรักษ์ ทำให้มีผู้เข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจ และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในชุมชนสังคม การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เปลี่ยนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม ทั้งนี้ สสส. จะเดินหน้าสานต่อกลไกที่สร้างร่วมกันเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศอย่างเข้มข้น" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ล้อมรักษ์ไว้ด้วยความเข้าใจ และเข้าถึง
สำหรับชุมชนล้อมรักษ์คือ กลไกสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขจัดแก้ปัญหายาเสพติด
นพ.พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนทั้งในมิติเศรษฐกิจ และสังคม โดยสสส. มองว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหายาเสพติดที่มีชุมชนเป็นตัวตั้ง นอกเหนือจากในแง่การป้องปรามบทบาทปราบปราม เชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้สำคัญ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของชุมชน หวังให้ผู้นำชุมชนต้นแบบมาเล่าถ่ายทอดให้แก่กันจะยั่งยืนกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของชุมชนต้องรวมพลังกันดูแลกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง หากชุมชนมีการป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก ตนว่าชุมชนรู้อยู่แล้วว่าใครมีความเสี่ยงหรือมีโอกาสติดยาเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าไปดูแล
"กทม. อาจมีความยากมากกว่าในแง่ความหลากหลายของชุมชน มีทั้งชุมชนที่มีรากฐานความผูกพันอยู่ร่วมกันมานาน และชุมชนแนวตั้งย้ายมาจากที่อื่น ทำให้มีความยากในการจัดการ ทั้งระบบบริการสาธารณสุขและการมีส่วนร่วม ดังนั้นการทำงานจึงจำเป็นต้องแบ่งเป็นกลุ่มและหาวิธีการที่เหมาะสมแต่ละกลุ่ม" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
สานพลัง สร้างกลไกบำบัดผู้ติดยาเชิงรุก
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่และได้เริ่มปฏิบัติการ Quick Win สกัดกั้นยาเสพ การจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ค้า และเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อน ชุมชนล้อมรักษ์ ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด โดยชุมชนมีส่วนสนับสนุนผู้ที่ต้องการเลิกยาเสพติด เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้การจัดเวทีถอดบทเรียนทั้ง 6 ภูมิภาคนี้ จะเป็นโมเดลร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่มีเครือข่ายต้นแบบชุมชนล้อมรักของกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ของกระทรวงมหาดไทย และเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ สสส. เพื่อเป็นการพัฒนาแนวทางในการหาทางออกจากปัญหายาเสพติดอย่างมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
"การสานพลังทั้ง 3 หน่วยงาน เป็นศูนย์กลางในการร่วมกัน เก่งคิด เก่งทำ เก่งประสาน สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง มีกระบวนการทำงานที่ดึงศักยภาพของบุคลากรที่แตกต่างกันตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง เปิดโอกาสให้ชุมชนมีบทบาทตัดสินใจร่วมกับกลไกการทำงานของภาครัฐ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อพัฒนาไปข้างหน้าร่วมกัน สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้จริงจัง เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก" สมศักดิ์ กล่าว
สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนสถานการณ์สิ่งเสพติดครั้งนี้ จะทำให้เข้าใจสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงต้นทุนการทำงานของพื้นที่ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเชื่อมกับกลไก พชอ. และ CBTx เพื่อเรียนรู้กลไกการทำงาน ความร่วมมือ และมาตรการนโยบายที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน